มหาวิชชาลัยจิตอาสา

มหาวิชชาลัยจิตอาสา

ตามไปดู มหาวิทยาลัย "จิตอาสา"ที่ มิได้มีเป้าหมายเหมือนมหาวิทยาทั่วไปที่ผลิตบัณฑิตออกมาแบบสำเร็จรูปเพื่อออกมาทำงานเท่านั้น

มหาวิทยาลัยแห่งนี้คือ"มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น"ซึ่งถือเป็นมหาวิยาลัยจิตอาสาแห่งแรกในเมืองไทยนั่นเอง

  • จากพระมาชนกสู่มหาวิชชาลัยเพื่อชุมชน

หากมองย้อนถึงต้นกำเนิดของมหาวิทยาลัยแห่งนี้แล้ว เกิดวาบความคิดมาจากชาดกเรื่อง"พระมาหาชนก"ที่ในหลวงทรงแปลให้ปวงชนชาวไทยได้อ่านกัน โดยพระมหาชนกคือมหาบุรุษผู้มีความเพียร ว่ายน้ำข้ามทะเลเพื่อให้บรรลุถึงฝั่ง สัญลักษณ์แห่งบุคคลผุ้กระทำในสิ่งที่ยากยิ่ง และมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จด้วยความเพียร พยายาม และด้วยสามารถขของตนเอง โดย"มหาวิชาลัย"คือสถาบันที่พระมหาชนกตั้งขึ้นเพื่อฝึกอาชีพให้กับประชาชาชน จากการที่พระองค์พบว่า ประชาชนไม่ประกอบอาชีพ รอการรับบริจาค เก้นกินผลผลิตของคนอื่น ซ้ำยังทำลายทรพยากรของท้องถิ่นตนเอง โดยไม่คิดปกปักรักษา

และจากเรื่อง"พระมหาชนก"กับคำว่า"มหาวิชชาลัย"ที่ปรากฏในชาดกเรื่องนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ"มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น"ดังที่ปรากฏขึ้นจริงในวันนี้ โดยเป็นการรวมตัวของกลุ่มอาจารย์และนักพัฒนาชุมชนประกอบด้วย เอนก นาคะบุตร ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ,น.พ.พลเดช ปิ่นประทีบ เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และ ดร.ศักดิ์ ประสานดี ผู้อำนวยการวิชชาลัยชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

"มันเริ่มต้นจากกลุ่มคนที่เคยทำงานในมูลนิธิพัฒนาชุมชนท้องถิ่นมาก่อน คือ อ.เอนก นาคะบุตร ,น.พ.พลเดช ปิ่นประทีบซึ่งเป็นตัวหลัก และคิดว่าการพัฒนาชุมชนด้วยการไปให้เงินไปสร้างสิ่งของโครงการต่างๆให้นั้น มันไม่ถาวร แต่การสร้างคนนั่นต่างหาก ที่มีความถาวร จึงคิดว่าการให้การศึกษากับผู้คนในชุมชนนั่นต่างหาก คือสิ่งสำคัญ เพราะสามารถจะสร้าง"คนของแผ่นดิน"ได้ นอกจากนี้แล้ว การศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆก็ ไม่ได้คนของแผ่นดิน แต่เป็นการปั๊มคนตามกรอบของการศึกษามากกว่า จบออกมาบางคนทำงานไม่เป็น คิดไม่ค่อยเป็น ด้วยเหตุนี้ อาจารย์กลุ่มนี้ซึ่งทำงานด้านพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอยู่แล้ว จึงมานั่งสุมความคิดกัน และนำความคิดเหล่านี้ไปปรึกษาหากับผู้หลักผู้ใหญ่ อย่างหมอประเวศ วสี และอีกหลายคน จนกระทั่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการในตอนแรก

ดร.ภญ.พัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร ผอ.มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น ศูนย์สถาบันอาศรมศิลป์และศูนย์ออนไลน์ และเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรผุ้ประกอบการสังคม ซึ่งได้รับการหมอบหมายให้เป็นผู้ถ่ายทอดข้อมูลในครั้งนี้ เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของการเกิดมหาวิชาชาลัยแห่งนี้ ซึ่งบุคคลที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญอีกคนหนึ่งก็คือดร.ศักดิ์ ประสานดี

"การเรียนการสอนเริ่มอย่างไม่เป็นทางการเริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 โดยมีศูนย์การเรียนการสอนอยู่ตามต่างจังหวัดทั่วประเทศ หลักสูตรหลักที่สอนก็คือผู้ประกอบการสังคม เมื่อเรียนจบก็จะได้ปัญญาบัตร...แต่เป็นเพราะสังคมไทยเรายังยึดติดอยู่กับใบปริญญา ดังนั้นจึงมีการนำแนวคิดการตั้งมหาวิชชาลัยนี้เพื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ"

และจากการที่ต้องให้เป็นไปตามระเบียบของ"สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา" หรือ "สกอ." โดยตามหลักอย่างหนึ่งแล้วจะต้องมีห้องเรียน มีสถานที่การศึกษา หรือมีศูนย์กลางใหญ่นั่นเอง จึงมีการนำเอาแนวการสร้าง"มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น"เข้ามาร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งจุดสำคัญเพราะมีแนวความคิดในการศึกษาที่อยู่ในแนวเดียวกัน โดยหลักสูตรหลักที่เพิ่มขึ้นมาและเป็นสาขาหนึ่งของสถาบันอาศรมศิลป์ที่เกิดจากแนวคิดของมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นก็คือหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการสังคม โดยมีดร.ศักดิ์ ประสานดี เป็นประธานวิชาการ

อ.สวรรยา กายราช กรรมการกลาง มหาวิชชาลัย เป็นอีกผู้หนึ่งที่เปิดเผยว่า "การจะจัดตั้งมหาวิชชาลัยให้เป็นไปตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา จะต้องมีสถานที่และห้องเรียน ดังนั้นจึงต้องมีนักศึกษาบางส่วนเข้ามาศึกษาในห้องเรียนของอาศรมศิลป์ ซึ่งในความจริงแล้ว มีศูนย์ภูมิปัญญา 60 กว่าศูนย์ก่อนแล้ว โดยดร.ศักดิ์ ไปเปิดไว้เพื่อเป็นห้องเรียนตามต่างจังหวัด เมื่อเข้ามาสู่ระบบตามที่สกอ.กำหนด จึงมีนักศึกษาส่วนหนึ่งซึ่งเป็นรุ่นแรกๆเข้ามาเรียนในสถาบันอาศรมศิลป์"

  • คนของแผ่นดินและจิตอาสา

การเปิดหลักสูตรหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการสังคม เน้นสำหรับผู้นำท้องถิ่นที่มีจิตอาสา และช่วยพัฒนาท้องถิ่นเป็นอันดับแรกผู้ เพราะหลักสูตรนี้มีเจตจำนงที่จะเสริมสร้างศักยภาพบุคคลเพื่อให้เป็นผู้ประกอบการสังคม กล่าวคือมีความสามารถในการประกอบสัมมาชีพเพื่อการพึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ มีความสำนึกรับผิดชอบต่อชุมชนท้องถิ่นของตนเองและความสำนึกในฐานะที่เป็นพลเมือง และการพัฒนาที่มีจิตอาสาทำงานให้กับชุมชนและสังคม โดยหลักสูตรได้รับการพัฒนาขึ้นจากการผสมผสานแนวคิดของการพัฒนา “นักธุรกิจเพื่อสังคมกับนักพัฒนาชุมชนและสังคม”ซึ่ง ผู้ประกอบการสังคม หมายถึง ผู้ที่มีความสามารถในการประกอบการธุรกิจที่เกื้อกูลต่อสังคม และมีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชนและสังคมได้ สามารถทำให้ตัวเอง “อยู่รอดด้วยการมีสัมมาชีพที่ทำให้พึ่งตนเองได้” และ“ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข”

สำหรับหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาผู้ประกอบการสังคม นี้ ได้รับอนุมัติจากสภาสถาบัน เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2554 และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 24 ต..ค.2555

หลักสูตรมีจำนวนทั้งหมด 135 หน่วยกิต 45 รายวิชา แบ่งออกเป็น 9กลุ่มวิชา เช่น

1.การวิเคราะห์ชุมชนและทุนทางสังคม

2.ความรู้และทักษะการประกอบการทางสังคม

3.การจัดทำแผนพัฒนาชุมชน

4.ระบบสังคมและโลกาภิวัตน์

5.การจัดกระบวนการเรียนรู้

6.สถาบันและการปกครองท้องถิ่น

7.ความรู้และทักษะการสื่อสารทางสังคม

8.การพัฒนาตนเอง

9.การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การทำงานจริง

แต่ละกลุ่มวิชาจะเรียนในแต่ละภาคการศึกษาตามลำดับ ยกเว้นกลุ่มวิชาที่ 8 และที่ 9 จะกระจายไปยังทุกภาคเรียน เพื่อให้นักศึกษาได้มีโครงงานฝึกปฏิบัติทุกภาคเรียน และได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ทุกภาคเรียนเช่นเดียวกัน

ดร.ภญ.พัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร บอกว่าการเรียนจะเน้นประสบการณ์และโครงการลงท้องถิ่นของผู้เรียนเป็นหลัก คือเรียนสิ่งที่ทำ ทำจากสิ่งที่เรียน สำหรับคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ที่จะเข้ามาศึกษานั้น ดร.ศักดิ์ ประสานดี เน้นที่ผู้นำท้องถิ่นที่มีจิตอาสา และต้องเป็นผู้ประกอบการสังคมในท้องถิ่นของตัวเองด้วย เพราะต้องการสร้างคนของแผ่นดิน คือคุณอยู่ที่ไหนก็ต้องไปพัฒนาของตนเองที่นั่น สมุติว่าอยู่ที่จังหวัดหนึ่ง แต่พอเห็นที่่จังหวัดน่านกำลังบูมเรื่องท่องเที่ยว จะไปทำธุรกิจที่นั่นไม่ได้ ต้องประกอบการในท้องถิ่นและช่วยพัฒนาท้องถิ่นของท้องถิ่นเท่านั้น นอกจากนี้แล้วต้องมีความสำนึกรับผิดชอบต่อชุมชนท้องถิ่นของตนเองและความสำนึกในฐานะที่เป็นพลเมือง และการพัฒนาบัณฑิตที่มีจิตอาสาทำงานให้กับชุมชนและสังคมด้วย

"อีกกลุ่มหนึ่งที่มหาวิชชาลัย"มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น"ต้องการให้โอกาสก็คือคนจนที่ไม่มีได้เรียนในระบบ เช่นปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีความรู้ในท้องถิ่นนั้นๆ มีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน ก็สามารถจะนำผลงานที่เป็นรูปธรรมที่เกิดจากประสบการณ์มาเทียบเป็นหน่วยกิตได้ อีกกลุ่มหนึ่งก็คือผู้ที่ด้อยโอกาสทางสังคม รวมทั้งผู้พิการด้วย"

  • “เรียนฟรี สอนฟรี” หลักสูตรแรกในไทย

ปัจจุบันศูนย์การเรียนการสอนของมหาวิอชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นมีทั้งหมด 61ศูนย์ โดยส่วนมากจะอยู่ตามจังหวัดต่างๆ มีนักศึกษาทั้งหมด 2,500คน

อ.สวรรยา กายราช บอกว่า"ในส่วนของอาจารย์ที่มาสอนนั้น จะต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และแต่ละศูนย์นั้นจะต้องมีผู้ที่จบระดับปริญญาโท ซึ่งอาจารย์จะมาจากหลากหลายวิชา เข้ามาสอนด้วยจิตอาสา และส่วนมากแล้วจะเป็นคนที่อยู่ในท้องถิ่นใกล้เคียงกับศูนย์ ไม่มีเงินเดือน เป็นการสอนฟรี ....เช่นเดียวกับนักศึกษาที่เข้ามาเรียน แม้นักศึกษาจะไม่ได้จ่ายค่าเล่าเรียน หรือฝึกอบรม แต่นักศึกษาจะร่วมบริจาค 100 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเช่นค่าถ่ายเอกสาร ค่าเครื่องดื่มของว่าง ส่วนอีก 100 บาท จะเป็นเงินออมของนักศึกษาเอง เพื่อการลงทุนในโครงงานธุรกิจเพื่อสังคมของนักศึกษา ซึ่งเป็นฝึกการออมไปในตัวด้วย"

สำหรับสำนักงานในส่วนกลางของ"มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น"นั้น นอกจากจะเป็นที่สถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันการศึกษาเอกชน ถ.พระราม2 ซอย33 เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ แล้ว อีกแห่งคือซอยวิภาวดี 18 ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ

ถ้าจะบอกว่า "มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น"เริ่มต้นจากศูนย์โดยไม่ใช้เงินทุนใดๆมาก่อตั้งก็ย่อมได้ แต่ด้วยแนวคิดที่ดีนี่เอง จึงคนเห็นด้วยและสนับสนุน เช่น ชัย วีระไวทยะ ได้สนุนเงินจำนวน 1 ล้านบาท เพื่อให้มาจัดตั้งเป็นกองทุนมีชัยเพื่อธุรกิจเพื่อสังคม สำหรับการสนับสนุนนักศึกษาของหลักสูตร รวมถึงนักศึกษาที่เข้าอบรมของศูนย์การเรียนรู้และมหาวิชชาลัยทั่วประเทศ รวมทั้งเครือข่ายช่างของชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ที่สนใจจะร่วมมือพัฒนาผู้เรียน เพื่อให้สามารถมีความรู้เพียงพอที่จะเข้ามาศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขา ผู้ประกอบการสังคมของสถาบัน นอกจากนี้แล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจากสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม GURU TV เพื่อการสื่อสารเผยแพร่การเรียนรู้ และข่าวคราวของมหาวิชชาลัย ตลอดจนได้รับการร่วมมือจากมหาวิทยาลัย UIDSGlobal สหรัฐอเมริกาด้วย

ส่วนคณะผู้บริหารปัจจุบัน ประกอบด้วย เอนก นาคะบุตร เป็นประธานมหาวิชชาลัย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป และ รศ.ดร.ประเสริฐ กิติรัตน์ตระการ เป็นรองประธาน, ดร.ศักดิ์ ประสานดี เป็นผู้อำนวยการ และมีคณะผู้บริหารจำนวนหนึ่งที่ประกอบด้วยผู้แทนนักวิชาการ นักพัฒนา ผู้แทนมหาวิชชาลัยและศูนย์การเรียนรู้ เป็นองค์คณะ

และนี่ก็เป็นอีกคำตอบหนึ่งว่า...บางทีการลงทุนทางการศึกษาเพื่อสร้างคนนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเสมอไป ...ขอเพียงแค่มีจิตอาสาเท่านั้น!