ท่องเน็ตอย่างรู้ทันลดความเสี่ยงเหยื่อออนไลน์

ท่องเน็ตอย่างรู้ทันลดความเสี่ยงเหยื่อออนไลน์

การห้ามไม่ให้เยาวชนเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาแต่การให้เยาวชนได้เข้าถึงคอนเทนท์ที่ปลอดภัยและดีเป็นวิธีที่ถูกต้องที่สุด

สถิติจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีรวมกันราว 190 ล้านคน หรือเป็นสัดส่วน 30% จากประชากรทั้งหมด 628.6 ล้านคน ขณะที่ "ไทย" มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตราว 26.4 % ของประชากร อยู่ในลำดับ 7 จากทั้งหมด 11 ประเทศในภูมิภาค ซึ่งจัดว่าอยู่ในสถานะต้องเร่งพัฒนา เพื่อให้ประชากรสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ที่เชื่อว่าเป็นช่องทางเปิดโลกโดยใช้เป็นดัชนีวัดขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ จะทำให้ประชากรในประเทศทุกคนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะ "ไม่ใช่ทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ตจะเป็นของจริงทั้งหมด" แต่ผู้ที่สามารถเลือกนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาใช้งานได้อย่างเหมาะสมที่สุดจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีที่เรียกว่า "อินเทอร์เน็ต"

เตรียมพร้อมคนยุคดิจิทัล

นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า การขยายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมการใช้งานให้ได้มากที่สุดเพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการพัฒนาประเทศ แต่การหาวิธีให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะ "เยาวชน" ที่ยังแยกแยะความถูกต้อง หรือผิดถูกไม่ได้ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน

"วิชั่นของดีแทค คือ การทำให้ประชากรโดยเฉพาะเด็กๆ เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ สิ่งที่เราทำคือ การนำบริการอินเทอร์เน็ตเข้าไปให้บริการฟรีกับโรงเรียนทั่วประเทศผ่านโครงการ 1 ล้านชั่วโมงเพื่อเด็กไทย แต่สิ่งที่สำคัญ คือ เราต้องปกป้องเด็กให้ปลอดภัยจากการใช้อินเทอร์เน็ต และสามารถเติบโตเป็นประชากรยุคดิจิทัลที่ดีด้วย"

ใช้เน็ตต้องรู้ทัน

นอกจากความครอบคลุมของอินเทอร์เน็ตแล้ว "ภาษา" ก็เป็นอีกเรื่องท้าทายที่สำคัญสำหรับการสร้างประชากรที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการเตรียมสำหรับการเปิดประเทศในกลุ่มเออีซี ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาตั้งแต่ระดับเยาวชน และเพื่อให้รู้ทันภัยที่จะเกิดตามมาจากการมีอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า "การกลั่นแกล้งออนไลน์ (Cyber Bullying)" ที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือเพื่อกลั่นแกล้ง หรือทำให้ผู้ใช้ตกอยู่ในความเสี่ยงต่างๆ

ซีอีโอดีแทค ระบุว่า เมื่อมีอินเทอร์เน็ตใช้แล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักไว้ คือ ทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ตไม่ถูกต้องเสมอไป ผู้ที่สร้างคอนเทนท์ขึ้นมาต้องมีความรับผิดชอบด้วย ซึ่งผู้ที่โตแล้วส่วนใหญ่จะแยกแยะเรื่องที่ควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อได้ แต่สำหรับเยาวชนอาจทำไม่ได้ทั้งหมด

"ในฐานะที่เราเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต สิ่งที่เราทำได้นอกจากการช่วยทำให้เด็กๆเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต คือ การร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น กสทช. เพื่อทำให้โลกอินเทอร์เน็ตสะอาดขึ้น รวมทั้งมีเครื่องมือที่ช่วยพ่อแม่ปกป้องเด็กๆ จากการใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสม" ซีอีโอดีแทค กล่าว

เด็กไทย"แชท"เสี่ยง

นายโอลา โจ แทนเดร ผู้อำนวยการด้านการสร้างความยั่งยืน เทเลนอร์กรุ๊ป กล่าวว่า ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างองค์กรต่างๆ ไม่ใช่แค่หน่วยงานของรัฐ และต้องทำความเข้าใจว่า การปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ใช่ทางแก้ปัญหา แต่ควรสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชน เพื่อให้แยกแยะได้ว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรทำบนอินเทอร์เน็ต

ผลสำรวจขององค์กรนานาชาติ พบข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตของเยาวชนไทยว่า "สิ่งที่ทำให้เด็กไทยตกอยู่ในความเสี่ยงมากที่สุดจากการใช้อินเทอร์เน็ต คือ การแชทออนไลน์"

ผลสำรวจของ ECPAT ยังระบุว่า เยาวชน 24% เคยมีนัดกับเพื่อนที่รู้จักกันบนอินเทอร์เน็ต และอีก 42% มีความคิดที่อยากพบเพื่อนบนอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้กลุ่มวัยรุ่น 71% เคยเข้าไปดูเว็บไซต์เกี่ยวกับภาพอนาจาร และมีจำนวนถึง 52% ที่เชื่อว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเข้าไปดูและแลกเปลี่ยนภาพเหล่านี้ ทั้งเมื่อเจอปัญหา และตกเป็นเหยื่อของการถูกหลอกลวง โดยคู่สนทนาบนอินเทอร์เน็ต เด็ก 45% จะเก็บไว้โดยไม่เล่าให้ใครฟัง

นายแทนเคร ระบุว่า ความสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญเท่าเทียมกับความสามารถในการอ่านเขียนของเยาวชน แต่ขณะเดียวกันต้องให้คำแนะนำ รวมทั้งดูแลเยาวชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อบนอินเทอร์เน็ตด้วย แต่การห้ามไม่ให้เยาวชนเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง แต่การให้เยาวชนได้ใช้ และเข้าถึงคอนเทนท์ที่ปลอดภัยและดี เป็นวิธีที่ถูกต้องที่สุด

จากการเก็บข้อมูลทั้ง 12 ประเทศที่กลุ่มเทเลนอร์มีหน่วยธุรกิจตั้งอยู่ พบว่า ภายในปี 2560 คาดว่าจะมีเยาวชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ราว 176 ล้านคน และในจำนวนนี้เชื่อว่าจะเป็นการใช้อินเทอร์เน็ตครั้งแรกของเยาวชนผ่านโทรศัพท์มือถือ 85 ล้านคน ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก

ส่วนในไทยมีข้อมูลจากธนาคารโลก ระบุว่า ไทยมีเยาวชนมากกว่า 15 ล้านคน ในจำนวนนี้มากกว่า 25% ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือราว 0.1% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเมื่อรวมกับอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และอัตราการเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในแต่ละปี กลุ่มเทเลนอร์จึงคาดว่า จะมีเยาวชนไทยราว 10-15 ล้านคนเข้าสู่โลกออนไลน์ในปี 2560

"การสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก จะเป็นตัวกรองที่ทำให้ความเสี่ยง หรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีลดน้อยลง วิธีที่ดีที่สุดคือ ต้องพูดคุยกับเด็ก หรือถามว่าอะไรที่พวกเด็กๆ กำลังเจอบนโลกออนไลน์ และให้คำแนะนำที่เหมาะสม" ผู้บริหารเทเลนอร์กล่าว

พร้อมกับระบุว่า สำหรับภาพรวมของ "ไทย" มีจำนวนประชากรอินเทอร์เน็ตไม่สูงมาก และยังไม่พบว่ามีปัญหาตกอยู่ในความเสี่ยงจากการใช้อินเทอร์เน็ตมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะระบบการศึกษาที่ดี และวัฒนธรรมครอบครัวที่ดี แต่ยังไม่ควรวางใจ เพราะความเสี่ยงจากโลกอินเทอร์เน็ตสามารถเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ

เดินหน้า "เซฟ อินเทอร์เน็ต"

สำหรับดีแทค ได้เริ่มเปิดตัวโครงการเซฟ อินเทอร์เน็ต (Safe Internet) ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการ 1 ล้านชั่วโมงเพื่อเด็กไทย ที่ได้มอบบริการอินเทอร์เน็ตให้เด็กได้ใช้ฟรีตามโรงเรียนต่างๆ ขณะที่ "เซฟ อินเทอร์เน็ต" จะเป็นโครงการต่อเนื่องอีก 3 ปี ที่เน้นการให้ความรู้กับเยาวชนเกี่ยวกับวิธีการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และสอนให้รู้ทันภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการออนไลน์ และการแก้ไขที่ถูกต้องเมื่อเกิดปัญหา

ทั้งนี้ เพื่อการเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นประชากรยุคดิจิทัลของประเทศ โดยใช้ความร่วมมือจากพนักงานจิตอาสา และความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเข้าไปให้ความรู้ตั้งแต่พื้นฐานของอินเทอร์เน็ตตามโรงเรียนต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำได้ 200 โรงเรียนภายในปีนี้