ยอดผลิต9เดือนลดฮวบ27% ค่ายรถหั่นราคา-อัดแคมเปญสู้

ยอดผลิต9เดือนลดฮวบ27% ค่ายรถหั่นราคา-อัดแคมเปญสู้

อุตสาหกรรมรถยนต์คาด ยอดผลิตปีนี้ร่วงเหลือ 1.9 ล้านคัน เผยยอด 9 เดือนผลิตได้ 1.4 ล้านคัน ลดลง 27%

หวังงานมหกรรมยานยนต์ เปิดรถใหม่ท้ายปี ดันยอดขายถึงเป้า 2.1 ล้านคัน ด้านส่งออกพลิกกลับมาติดลบ 1% รับผลกระทบอีโบล่า สงครามตะวันออกกลาง ขณะ 19 ค่าย อัดแคมเปญลดกระหน่ำครั้งยิ่งใหญ่ในงานมหกรรมรถยนต์ หั่นส่วนลดสูงสุดจูงใจลูกค้า พร้อมฟรีเงินดาวน์ 130,000 บาท หวังกระตุ้นยอดขาย

แม้แนวโน้มภาคการผลิต และยอดขายรถยนต์ปีนี้จะลดลงต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ แต่ผู้ประกอบการรถยนต์ ก็ยังมีความหวังว่า โค้งสุดท้ายของปีนี้จากการกระตุ้นยอดของรถยนต์ทุกค่าย ผ่านแคมเปญ การเปิดรถยนต์รุ่นใหม่ และงานแสดงรถยนต์ปลายปี

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. คาดยอดการผลิตรถยนต์ปี 2557 เหลือ 1.9 ล้านคัน แต่ผู้ประกอบการรถยนต์ยังมีความหวังว่าช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะสามารถกระตุ้นยอดขายในประเทศจากงานแสดงรถยนต์ การเปิดตัวรถยนต์อีโคคาร์รุ่นใหม่ของบางค่ายรถยนต์ และกระตุ้นส่งออกให้ยอดผลิตกลับมาอยู่ระดับ 2.1 ล้านคันได้ แต่ก็ลดลงจากปีก่อน 14.53% แบ่งเป็น ยอดขายภายในประเทศ 9 แสนคัน ลดลง 32.62% และส่งออก 1.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 7.02%

โดยในรอบ 9 เดือน มียอดผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 1,408,540 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 27.03% แบ่งเป็นยอดผลิตของรถยนต์นั่ง 548,758 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 35.5% รถกระบะขนาด 1 ตัน ผลิตได้ทั้งสิ้น 845,303 คัน ลดลง 18.36% รถยนต์บรรทุก ผลิตได้ทั้งสิ้น 859,333 คัน ลดลง 20.34% และรถยนต์โดยสารผลิตได้ 449 คัน ลดลง 26.39%

ปีนี้ยอดส่งออกรถยนต์ผันผวน

ขณะที่ ยอดการส่งออกรถยนต์ของปีนี้ค่อนข้างผันผวน เพราะช่วงครึ่งปีแรกยอดส่งออกยังดีอยู่ขยายตัวมากกว่า 10% แต่ช่วง 2-3เดือนที่ผ่านมายอดส่งออกลดลงมากทำให้ตลอด 9 เดือน ไทยส่งออกติดลบ 1% จำนวน 8.38 แสนคัน สาเหตุหลักมาจากปัญหาสงครามในตะวันออกกลาง การแพร่ระบาดของเชื้ออีโบล่า และตลาดหลักอย่างออสเตรเลียนำเข้าลดลง เพราะนำเข้าจากยุโรปตะวันออกซึ่งรถยนต์มีราคาถูกกว่าไทย รวมทั้งตลาดเอเชียนำเข้ารถยนต์จากไทยน้อยลงเพราะเศรษฐกิจชะลอจากการส่งออกสินค้าไปจีนลดลง อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ที่ยังขยายตัวคือ ยุโรปและสหรัฐ ที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวทีละน้อย

เมื่อนำมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปรวมกับการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ แบ่งเป็นเครื่องยนต์ มีมูลค่าการส่งออก 2.33 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.26% ชิ้นส่วนรถยนต์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 1.53 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.49% และอะไหล่รถยนต์ มีมูลค่าการส่งออก 1.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.91% ซึ่งเมื่อรวมยอดการส่งออกทั้งหมดจะมีมูลค่า 5.87 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5%

"การส่งออกในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ที่เติบโตสูงมาก เนื่องจากหลายประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียนได้มีบริษัทผลิตรถยนต์ได้เข้าไปตั้งโรงงานประกอบรถ ทำให้เปลี่ยนจากการนำเข้ารถยนต์ทั้งคันมาเป็นการนำเข้าชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น" นายสุรพงษ์ กล่าว

ด้านยอดขายภายในประเทศในรอบ 9 เดือน มีจำนวน 6.48 แสนคัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 37.3% เพราะภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวต่อเนื่อง การเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังไม่มากพอ ราคาสินค้าเกษตรลดลง อีกทั้งสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากหนี้ในภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง

สำหรับยอดประมาณการผลิตรถยนต์ในเดือนต.ค.-ธ.ค.2557 มีจำนวน 546,825 คัน เปรียบเทียบกับยอดผลิตจริงเดือนก.ค.-ก.ย.2557 ซึ่งมีจำนวน 456,435 คัน เพิ่มขึ้น 90,390 คัน หรือ 19.8% และเมื่อเปรียบเทียบกับยอดผลิตจริงเดือนต.ค.-ธ.ค.2556 มีจำนวน 526,828 คันแล้ว เพิ่มขึ้น 19,997 คัน หรือ 3.8%

ด้านประมาณการการผลิตรถจักรยานยนต์ในปี พ.ศ.2557 ได้คงเป้าการผลิต ประมาณ 2 ล้านคัน ลดลงจากปีก่อน ที่ผลิตได้ 2.21 ล้านคัน หรือลดลง 9.85% โดยเป็นการผลิตเพื่อส่งออก คงเป้าผลิตเดิม 3 แสนคัน ลดลงจากปีที่แล้วที่ผลิตได้ 3.33 แสนคัน หรือลดลง 10.12% ขณะที่การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ คงเป้าผลิตเดิม 1.7 ล้านคัน ลดลงจากปีที่แล้ว 9.81%

เชื่อลูกค้ารอแคมเปญงานมหกรรมยานยนต์

นางฉันทนา วัฒนารมณ์ ประธาน บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดรถยนต์ที่ถดถอยลง เนื่องจากได้รับผลกระทบมาต่อเนื่องยาวนาน แม้ว่าช่วงนี้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถผลักดันตัวเลขขึ้นได้มากนัก

ทั้งนี้เห็นว่าในช่วงนี้ กำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัว แต่ในด้านของตลาดรถยนต์เชื่อว่าในช่วงเดือน พ.ย. จะยังไม่เห็นผลด้านบวกมากนัก เนื่องจากผู้บริโภคต้องการรอดูรายละเอียดของรถ และแคมเปญในงานมหกรรมยานยนต์ ช่วงปลายเดือน ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ

ส่วนแนวทางการทำตลาดของค่ายรถ เชื่อว่า การจัดแคมเปญยังเป็นสิ่งจำเป็น หลังจากที่ใช้กันมาตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตามในส่วนของวอลโว่ จะพยายามไม่เข้าไปเล่นแคมเปญในส่วนของราคามากนัก แต่จะเน้นในเรื่องของการสร้างแรงจูงใจด้วยความคุ้มค่า หรือของแจกแถมมากกว่า

เน้นหั่นส่วนลดราคาสูงสุดจูงใจ

นางสาวสุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี รองประธานกรรมการบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กำลังซื้อในช่วงนี้ยังไม่ดีนัก ดังนั้นค่ายรถจึงต้องพยายามที่จะกระตุ้นตลาด ผ่านแคมเปญต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าช่วงนี้มีแคมเปญที่รุนแรงออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ดอกเบี้ย 0% ผ่อนนาน หรือว่า ส่วนลดราคาที่ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาพบว่าแคมเปญมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจซื้อของลูกค้า

นายสมบูรณ์ วรปัญญาสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปซิฟิค พาร์ค ศรีราชา จำกัด ผู้จัดการแปซิฟิค มอเตอร์โชว์ กล่าวว่า ตลาดรถยนต์ช่วงปลายปี เชื่อว่าจะมียอดขายที่ดี เนื่องจากค่ายรถมีแคมเปญกระตุ้นในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี เช่น การจัดงานปีนี้ ซึ่งมีค่ายรถเข้าร่วม 19 ค่าย มีการจัดแคมเปญ เช่น ผ่อนนาน 72 เดือน ดอกเบี้ย 0% ฟรีประกันภัยชั้นหนึ่ง ดาวน์ต่ำ ส่วนลดเงินดาวน์ สูงสุดถึง 130,000 บาท หรือการแถมอุปกรณ์ตกแต่งมาให้ครบแต่จำหน่ายราคาเดิม นอกจากนี้ยังมีปัจจัยกระตุ้น คือ การเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ รุ่นไมเนอร์ เชนจ์ เป็นต้น

"แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศจะยังไม่ฟื้นตัว แต่ภาคการเมืองนับว่ามีเสถียรภาพ ล่าสุดได้เร่งผลักดันโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ออกมาต่อเนื่อง ทั้งการแก้ไขปัญหาต่างๆ เฉพาะหน้า และหามาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน เช่น ข้าวและยางพารา การเร่งใช้งบประมาณกับโครงการใหญ่ๆ ซึ่งจะทำให้มีเงินเข้ามาไหลเวียนในระบบมากขึ้น เกิดการจ้างงานสูงขึ้นตามมา" นายสมบูรณ์ กล่าว