สยามคูโบต้าผุดศูนย์อะไหล่ฯลุยขยายตลาดอาเซียน

สยามคูโบต้าผุดศูนย์อะไหล่ฯลุยขยายตลาดอาเซียน

"สยามคูโบต้า"บริษัทเครื่องจักรกลการเกษตรรายใหญ่ ขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นในไทย รองรับตลาดเออีซีในปี2558

แม้ได้รับผลพวงหรือผลกระทบจากโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมา ที่ทำให้รายได้และกำลังซื้อสะดุดลงไป แต่ในปีนี้ยังคงตั้งเป้ารายได้ที่ 5 หมื่นล้านบาท หลังการเข้ามาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเดินหน้ากระตุ้นภาคเกษตรอย่างเต็มที่

นายฮิโรชิ คาวาคามิ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สยามคูโบต้าใช้ไทยเป็นศูนย์กลางเครื่องจักรกลทางการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน บริษัทได้สร้างศูนย์กระจายอะไหล่สยามคูโบต้าขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับการบริการหลังการขายและการจัดส่งสินค้าอะไหล่ให้กับลูกค้าได้อย่างสะดวก

ศูนย์ตั้งขึ้นภายในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร พื้นที่ 32 ไร่ งบประมาณ 500 ล้านบาท เป็นอาคารขนาดใหญ่สำหรับเก็บอะไหล่ ที่มีระบบบริหารภายใต้หลังคาเดียว สามารถจัดเตรียมอะไหล่ได้อย่างครบถ้วนและจัดส่งจากจุดเดียว ถือเป็นคลังอะไหล่ที่ใหญ่ที่สุดของคูโบต้ากรุ๊ป

"ศูนย์กระจายอะไหล่นี้จะทำให้การจัดส่งสินค้ามีความแม่นยำมากขึ้น การที่ญี่ปุ่นเห็นชอบให้ขยายการลงทุนในไทยครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าไทยมีศักยภาพและความพร้อม ในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งไปยังภูมิภาคต่างเหล่านี้"

คุณภาพของสินค้าและบริการหลังการขาย ลูกค้าแจ้งบริษัทรับทราบได้ใน 15 นาทีและสามารถส่งช่างเข้าไปซ่อมในพื้นที่ได้ภายใน 2 ชั่วโมง ทำให้คูโบต้ามีสัดส่วนการตลาดในประเทศมากถึง 70 % จากมูลค่าทางการตลาดประมาณ 7 หมื่นล้านบาท/ปี และเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน

ในปี 2557 นี้คาดว่ายอดขายของสยามคูโบต้าในไทย จะมีประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักๆ ที่มีการใช้เครื่องจักรไม่มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงการรับจำนำข้าว ที่สะดุดลงในช่วงกลางปี เกษตรกรจำนวนมากที่ไม่ได้รับเงินจากโครงการดังกล่าว การลงทุนจึงล่าช้า

อย่างไรก็ตามบริษัทมีการลงทุนในลาว กัมพูชา รวมทั้งมีการส่งออกไปพม่า ทำให้มีรายได้จากส่วนนี้เพิ่มขึ้น ประมาณ 20 %

อย่างไรก็ตามรายได้ส่วนใหญ่ยังมาจากการขายเครื่องจักรในประเทศ โดยในจำนวน 50,000 ล้านบาทดังกล่าวแยกเป็นการจำหน่ายอะไหล่ประมาณ 4,000 ล้านบาท ในส่วนของอะไหล่นี้แยกเป็นรายได้จากการส่งออก 800 ล้านบาท และการขายในประเทศ 3,200 ล้านบาท ที่เหลือเป็นรายได้จากการขายรถแทรกเตอร์ เช่นรถเกี่ยว รถปลูกข้าว เป็นต้น

สำหรับปี 2558 คาดว่ารายได้ของสยามคูโบต้าจะเติบโตขึ้นอีก 10 % โดยนโยบายของรัฐบาลที่จะมีการปรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะช่วยให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น เมื่อเศรษฐกิจเติบโตชาวนามีรายได้ การจับจ่ายใช้สอยจะเพิ่มขึ้น แม้จะไม่มีโครงการรับจำนำข้าว แต่เกษตรกรไทยยังมีอาชีพทำนา ซึ่งการขาดแคลนทางด้านแรงงานจึงต้องหันไปใช้เครื่องจักรมากขึ้น

นอกจากนี้ในส่วนของพืชไร่ เช่น อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ยังมีราคาดี และเกษตรกรขยายพื้นที่การเพาะปลูกมากขึ้น

“ความต้องการใช้เครื่องจักรยังมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น ทั้งตลาดในประเทศ และอาเซียน อย่างไทยที่ต้องการเน้นปลูกข้าวเฉพาะตลาด เป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าว นั้นยิ่งต้องใช้เครื่องจักร เพราะจะมีความปลอดภัย และสามารถลดต้นทุนได้ถึง 20 % ในกรณีที่ใช้รถปักดำ เพราะต้นข้าวมีขนาดใกล้เคียงกัน มีช่องว่างไม่แออัด แดดเข้าถึงได้ดี ต่างกับนาหว่านที่มีชิดกันมาก ข้าวไม่มีคุณภาพ ดังนั้นเมื่อพื้นที่ข้าวในประเทศลดลงเพราะการจัดโซนนิ่ง เครื่องจักรจะเข้าถึงกลุ่มเกษตรกรได้ง่ายขึ้น"

การให้บริการของสยามคูโบต้า ไม่เพียงแต่ขายเครื่องจักรเท่านั้น ยังให้บริการต้นกล้าข้าวคุณภาพดี เพื่อใช้ร่วมกับเครื่องจักรด้วย กรณีที่เกษตรกรไม่สามารถกู้เงินในการจัดซื้อได้ ก็มีแผนกเพื่อปล่อยสินเชื่อด้วยเช่นกัน ซึ่งในประเทศไทยที่มีเกษตรกรรวม 5.2 ล้านครัวเรือนในปัจจุบัน มีการใช้รถแทรกเตอร์เพียง 300,000 คันเท่านั้นถือว่าน้อยมาก

ขณะที่อาเซียนยังมีการใช้เครื่องจักรเหล่านี้น้อยกว่าไทยอีก ทั้งลาว กัมพูชา และพม่า ทำให้ภาพการเติบโตของยอดขายในประเทศเหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากสยามคูโบต้าเข้าไปลงทุนที่ ลาว และกัมพูชา ยกเว้นพม่า ที่ไม่มีแนวคิดการลงทุนแต่จะใช้วิธีการส่งออกจากไทยแทน

"กัมพูชาถือว่ามีการเติบโตมากกว่าลาว เพราะที่ผ่านมาการทำการเกษตรที่ดียังพัฒนาไม่มากนัก ตามมาคือพม่า เนื่องจากนโยบายของรัฐบาล ต้องการผลักดันให้ส่งออกข้าวได้อีกครั้ง ทำให้เกษตรกรมีการปรับตัว ส่วนลาว ยังมีข้อจำกัด เรื่องพื้นที่ แต่ในภาพรวมแล้ว ทั้งหมดมีแนวโน้มความต้องการเครื่องจักรสูง"

การเจาะตลาดอาเซียนยังมีอุปสรรคที่สำคัญคือ เครื่องจักรจากจีนเข้ามาบุกตลาดมาก และเสนอขายในราคาต่ำกว่าคูโบต้า ทำให้เกษตรกรที่มีรายได้ไม่สูงมาก เลือกใช้สินค้าจากจีน แต่ความคงทนและบริการหลังการขายสู้คูโบต้าไม่ได้ เรื่องนี้เกษตรกรต้องคิดให้รอบคอบ