เสวนา10ปีตากใบ'อังคณา'แนะเร่งปฏิรูปความมั่นคง

เสวนา10ปีตากใบ'อังคณา'แนะเร่งปฏิรูปความมั่นคง

เสวนา10ปี ตากใบ "อังคณา"แนะรัฐเร่งปฏิรูปความมั่นคง วอนญาติผู้เสียชีวิตเดินหน้าสู้คดีเอาผิดจนท.

ที่ห้องสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเเห่งประเทศไทย สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี จัดเสวนา "10 ปีตากใบ สะท้อนภาพไทย ; สิทธิ ความจริงและความชอบธรรม" โดยมี นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ นางสาวภาวิณี ชุมศรี ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นายฮากิม พงตีกอ รองประธานฝ่ายการต่างประเทศ สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี เป็นคณะผู้บรรยาย โดยมีนักเรียน นักศึกษา ประชาชนร่วมรับฟังกว่าร้อยคน

นายฮากิม กล่าวว่า เหตุการณ์ปล้นปืนก่อนกรณีตากใบในเดือนม.ค. จากคนกลุ่มหนึ่งที่อาจมีแรงจูงใจบางอย่างที่มีค่ามาก แต่แรงจูงใจเหล่านี้มีค่าอะไรที่สำคัญกับชีวิต ที่ตนนึกได้คือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จากการถูกรัฐอีกรัฐซ้อนอยู่ หรือการอำนาจรัฐที่มาปกครองตัวเองให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมในพื้นที่ แต่ถ้าสิ่งที่เป็นอยู่คงทำให้ลูกหลานไม่ได้อยู่บนอัตลักษณ์ของตัวเอง จึงกลายเป็นการต่อสู้ของคนกลุ่มหนึ่งขึ้นมา แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งออกมาต่อสู้อีก 10 เดือนที่ตากใบ จากแนวทางความเชื่อของตัวเองในการเมือง แต่รัฐกลับเชื่อว่าการชุมนุมเป็นภัยต่อความมั่นคง และเป็นการก่อการร้าย ครั้งนั้นจึงมีผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดมาในพื้นที่เหตุการณ์จึงเลยเถิดไปกันใหญ่

นายฮากิม กล่าวอีกว่า ไม่กี่ชั่วโมงรัฐก็เข้าไปสลายการชุมนุมคนเป็นพันคนจากการใช้แก๊ซน้ำตาผสมน้ำฉีดเข้าไป และเข้าไปใช้ความรุนแรงหลากหลาย เช่น มัดมือไขว้หลัง ให้คลาน ถีบหน้า จี้ด้วยอาวุธปืน หรือการกราดยิงจนมีผู้เสียชีวิต พอสลายเสร็จก็ขนคนขึ้นรถทหารมีการซ้อนกันหลายชั้นเพื่อไปค่ายทหารระยะทางร้อยกิโล จนมีผู้เสียชีวิต 78 คน รวมเสียชีวิตในเหตุการณ์ 85 คน แต่ชาวบ้านยังบอกยังมีศพอีกหลายศพที่ไม่รู้เป็นใครก็นำไปฝังที่นราธิวาส และมีการนำคนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีก ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ต้องถอดบทเรียนกัน

"ในกรณีตากใบมีหลายมุมมอง ใครเป็นคนผิด ตอนนั้นทักษิณ(ชินวัตร อดีตนายกฯ) ต้องรับผิดชอบโดยตรงในฐานนายกฯ ซึ่งโครงสร้างอำนาจรัฐมีอะไรน่าคิด จริงๆแล้วไม่ว่า คนเป็นรัฐบาลทหารก็เป็นทหารอยู่ดี ตกลงคนสั่งการคือทักษิณ หรือทักษิณสั่งการทหารไม่ได้กันแน่" นายฮากิม กล่าว

นายฮากิม กล่าวว่า ลองคิดตามว่ากรณีตากใบกระทบอะไรบ้าง ตนคิดว่ากระทบต่อทัศนคติคนในพื้นที่ในการต่อสู้ในพื้นที่ทางการเมือง เพราะในกรณีตากใบเป็นการต่อสู้ทางการเมืองสุดท้าย เชื่อว่าการชุมนุมยังพอมีอยู่ แต่จากนั้นคนในพื้นที่ไม่กล้าออกมาเรียกร้องเชิงการเมือง หลังกรณีตากใบจึงมีคนหันมาใช้อาวุธทำให้ปัญหาในชุมชนเกิดเพิ่มขึ้น ตนเชื่อว่าถ้าเรายังไม่ชำระประวัติศาสตร์ตากใบ ความเชื่อทางการเมืองไม่เกิดขึ้น คนคิดสู้จะต่อสู้ต่อไป บางคนสู้ไม่ได้ ก็เอาเงินมาก่อน บางคนสู้ได้อาจไม่สู้ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ รัฐไทยไม่เคยถอดบทเรียนเรื่องนี้ จึงต้องมาถกว่าวิธีการทหารตอบโจทย์หรือไม่

"คนเอาคนขึ้นรถผิดแน่ กองทัพก็ผิดที่สั่งการ แต่คนที่รับผิดชอบโดยตรงคือรัฐไทย ไม่ใช่ผิดคนที่ทำ รัฐไทยต้องรับผิดโดยตรง ใครคือรัฐไทย ผู้ปกครองที่ใช้อำนาจต้องออกมารับผิดชอบ รัฐไทยต้องเปลี่ยนทัศคติในการมองปัญหาเรื่องนี้" นายฮากิม กล่าว

นางสาวภาวิณี กล่าวว่า ตากใบ 10 ปี กฎอัยการศึกก็ครบ 100 ปีพอดี ตอนนั้นทหารใช้กฎอัยการศึกเพื่อให้ทหารออกมาใช้อำนาจได้ ถ้าไม่มีกฎหมายนี้ทหารจะมาละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้ ช่วงนั้นเมื่อประกาศแล้วกองทัพจึงส่งกำลังไปปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจอำเภอตากใบ จึงไม่แปลกใจว่าเมื่อมีการใช้กำลังจึงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายตามมา การกระทำวันนั้นใช้อำนาจล้วนๆโดย ทหารเป็นฝ่ายนำ ทั้งที่พลเรือนไปชุมนุม แต่ทหารใช้กฎหมายทางสงคราม จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้องในการจัดการ จากนั้นก็มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืน เสียชีวิตขณะปฏิบัติให้นอนซ้อนกัน 78 คน

นางสาวภาวิณี กล่าวต่อว่า จากนั้นเมื่อมีผู้เสียชีวิตต้องมีการไต่สวนการตายว่าใครเป็นใคร ตายอย่างไร สาเหตุเป็นอย่างไร และพฤติการต่างๆเป็นอย่างไร ที่สำคัญใครทำให้ตาย เพื่อจะนำไปสู่คดีอาญาต่อผู้กระทำผิด ซึ่งในกระบวนการนี้มีความสำคัญมาก ว่าต้องมีผู้รับผิดหรือไม่ กรณีนี้มีพยานเป็นร้อยปาก ใช้เวลาสืบสวน 5 ปี ตนก็ได้มาต่อยอดเรื่องนี้ หลังศาลจังหวัดสงขลาสั่งว่าผู้เสียชีวิตขาดอากาศหายใจ แต่รายละเอียดได้ระบุถึงความจำเป็นต่างๆ เช่น การปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า รถไม่มี คนต้องซ้อนกัน และระบุประมาณว่าการใช้อำนาจเต็มที่ได้เท่านี้ และอัยการก็ส่งไม่ฟ้องอาญา แต่คนทั่วไปก็ไม่เข้าใจคำสั่งศาล เพราะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

"คำสั่งศาลลักษณะนี้ไม่นำไปสู่การค้นหาความจริงที่เป็นธรรม จึงมีการยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพราะถ้ายื่นคำร้องต่อศาลสงขลาอาจเกิดความเอนเอียง จึงส่งศาลอาญาว่าเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ศาลก็ตีตกไป แต่เราต้องท้าทาย เพราะเราไม่ยอมรับต่อคำสั่งนี้ ก็ยื่นอุทธรณ์คำสั่งอีกศาลอุทธรณ์ก็ยก บอกว่าคำสั่งถึงที่สุดแล้ว เราจึงไม่รู้ความจริงว่าใครทำผิดพลาดอะไร" นางสาวภาวิณี กล่าว

นางสาวภาวิณี กล่าวอีกว่า เมื่อญาติผู้เสียชีวิตจะฟ้องคดีอาญา แต่ค่อนข้างลำบากมา เพราะชาวบ้านไม่มีอำนาจสอบสวนเหมือนเจ้าหน้าที่ แต่การเข้าถึงการฟ้องคดีเป็นเรื่องลำบาก มีปัญหาเรื่องเงิน เรื่องความปลอดภัย ตอนข่าวนี้ออกมาช่วงนั้นก็มีผู้นำชาวบ้านถูกทหารค้นบ้าน ชาวบ้านเลยตัดสินใจให้คณะกรรมสิทธิมนุษยชนเป็นโจทย์ฟ้องคดีเอง ตอนนี้เรื่องอยู่ที่กรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งล่าสุดทราบว่าชาวบ้านไม่ประสงค์ให้กรรมการสิทธิมนุษยชนฟ้องคดีแล้ว หลังจากมีการจ่ายค่าเสียหายจาก 4.5 ล้านบาทให้ญาติผู้เสียชีวิตกรณีตากใบ ทำให้การดำเนินคดีผู้กระทำผิดเป็นไปยากลำบาก เพราะมีหลายปัจจัยมาลดทอนกำลังตรงนี้

นางสาวภาวิณี กล่าวด้วยว่า ตนยังเห็นว่าการใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่ยังคงอยู่ และอาจหนักหน่วงยิ่งขึ้น ในพื้นที่ยังใช้กฎอัยการศึกเรื่อยมา รวมถึงพ.ร.ก.ฉุกเฉินตั้งแต่ปี 2548 และพ.ร.บ.ความมั่นคงปี 2551 เรามีกฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับก็ยังไม่เห็นว่าสถานการณ์เหมาะแก่ยาชนิดใด เพราะยังมีการใช้กฎหมายมาละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนมาก มีการตอกย้ำซ้ำเติมความผิดพลาดจากกรณีตากใบจนถึงทุกวันนี้ แต่เมื่อมองไปลึกๆในสิ่งที่คงอยู่ มีทหาร มีด่านตรวจ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอด 10 ปี การถอดบทเรียนยังไม่มีอะไรดีขึ้น ยิ่งทำให้ปัญหาซับซ้อนมายิ่งขึ้น ถ้ายกเลิกอัยการศึก หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชาวบ้านอาจจะกลับมาฟ้องร้องกรณีตากใบ หรือมาร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพเพื่อให้มีการพูดคุยกันมากขึ้นก็ได้

"อาจเป็นแค่ผักชีโรยหน้า ง่ายๆจ่ายเงินจบ แต่นโยบายผิวเผินไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงอยากเรียกร้อง ให้ยกเลิกกฎหมายความมั่นคงบางฉบับ เพราะมีการให้อำนาจเจ้าหน้าที่มาเกินไป เช่นกฎอัยการศึกควรจะยกเลิกได้แล้วทั้งในพื้นที่และทั้งประเทศ" นาวสาวภาวิณี กล่าว

ด้านนางอัคณา กล่าวว่า ในปี 2547 มีเหตุการณ์ต่างๆในภาคใต้ตั้งแต่การปล้นปืน เหตุการณ์ครือเซะ และเหตุการณ์ตากใบ 25 ต.ค.2547 แต่ตนจะพูดในฐานะคนนอกเข้าไปคลุกคลีกับคนใน ในทัศนะผู้หญิง ของเหยื่อ และผู้ที่มีประสบการณ์ร่วม โดยที่ผ่านมามีการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ตากใบ เช่น ในปีของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแลในช่วงปี 2548 ในช่วงปีแรกชาวตากใบกำลังต่อสู้ให้ผู้ที่ถูกจับกุมจำนวน 58 คน ที่ถูกคดียุยงให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง จากนั้นปีที่ 2 ในการเกิดรัฐประหารปี 2549 ช่วงนั้นพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกระฐมนตรี ก็เป็นครั้งแรกที่พล.อ.สุรยุทธ์ได้ออกมากล่าวขอโทษ

นางอังคณา กล่าวต่อว่า ต่อมาญาติผู้เสียชีวิตได้ร้องศาลแพ่งให้มีการเยียวยา ตอนนั้นรัฐบาลได้เยียวยาให้ญาติผู้เสียชีวิตรวม 42 ล้านบาท และมีสัญญาว่าต้องไม่มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อมาปีที่ 3 มีการนำคดีไต่สวนการตายในเหตุการณ์นั้น และเมื่อครบรอบปีที่ 5 ของเหตุการณ์ ศาลสงขลาได้อ่านคำสั่งไต่สวนต่างๆ แต่ญาติรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ต่อมาปีที่ 7 ญาติผู้เสียชีวิตส่วนหนึ่งยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนเพื่อให้ฟ้องร้องคดีแทนผู้เสียหาย พอมาปีที่ 8 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นรัฐบาลในปี 2555 ส่วนตัวเชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณรู้สึกผิดกับชาวตากใบ และคนมลายูมุสลิม จึงได้ตั้งคณะกรรมการเยียวยาทุกคนทั้งผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บพิการ และผู้ที่เชื่อว่าเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ให้ได้รับเงินเยียวยาสูงสุด 7.5 ล้านบาท

นางอังคณา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในกรณีตากใบ ตนเป็นคณะกรรมการเยียวยาอยู่ด้วย มีพล.ต.อ.ประชา พรมหนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในตอนนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมการเยียวยา ซึ่งครั้งนั้นได้มีการเยียวยาครอบครัวทนายสมชาย นีละไพจิตรด้วย เพราะเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐและเกี่ยวข้องกับสิทธิประชาชนในภาคใต้ ซึ่งตนได้ถามว่ากรณีเยียวยาชายแดนภาคใต้ ผู้เสียหายจะถูกตัดสิทธิ์ด้วยหรือไม่ ถ้าการจ่ายเงินแล้วไม่เข้าถึงความยุติธรรมครอบครัวของสมชาย ตนก็ไม่ประสงค์จะรับการเยียวยา ต่อมาพล.ต.อ.ประชาแจ้งว่ากรณีภาคใต้ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายในการฟ้องร้องคดีด้วยตัวเอง ดังนั้นคดีกรือเซะ ตากใบ อุ้มหาย เหยื่อมีสิทธิชอบธรรมในการนำคดีขึ้นสู่ศาลได้

นางอังคณา กล่าวว่า พอครบรอบปีที่ 9 ของเหตุการณ์ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาให้ผู้เสียหาย แต่ศาลได้เห็นพ้องตามศาลชั้นต้นไม่รับพิจารณาไต่สวนการตาย พอมาปีนี้ญาติได้ยื่นหนังสือถึงกรรมการสิทธิมนุษยชนว่า ขอถอนเรื่องที่ให้กรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นโจทก์แทนผู้เสียหาย เพราะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ให้ผู้ร้องมานั่งคุยว่า ญาติต้องมาขึ้นศาลในฐานะเป็นโจทก์ร่วมกัน ญาติก็คิดว่าใครจะมาเป็นพยาน การได้เงินมา 7.5 ล้านบาทจึงไม่มีใครอยากมีเรื่องแล้ว อยากอยู่อย่างสงบ จึงมีการถอนเรื่องนี้ตามมา แต่ตนคิดว่าในปี 11 , 12 ,13 ของเหตุการณ์อยากให้ทางญาติได้กลับมาคุยกันอีกครั้ง

"หวังว่าในปีต่อไปญาติคนตากใบจะลุกขึ้นมาเข้มแข็ง ลุกขึ้นมาต่อสู่เพื่อรับทราบความจริง เพราะศักดิ์ศรีความเป็นธรรมของมนุษย์ไม่สามารถแลกได้ด้วยเงิน เหตุการณ์ที่ตากใบเรียนรู้ว่าการรับผิดเจ้าหน้าที่ไม่เคยถูกลงโทษหลังจากมีข้อมูลแล้ว ดิฉันอยากบอกว่าการยอมรับผิดไม่ได้เป็นการเสียหน้า การยอมรับผิดเป็นความกล้าหาญ เป็นสันติวิธี การปรองดองได้ต้องมีการรับผิด ไม่ใช่ว่าจ่ายเงินอย่างเดียว แต่ญาติไม่สามารถรู้ว่าะเกิดอะไรขึ้น" นางอังคณา กล่าว

นางอังคณา กล่าวว่า ก่อนการเยียวยาในทุกปีเดือนรอมฎอน ผู้สูญเสียจะนึกถึงคนในครอบครัว ปีแรกๆชาวบ้านหวาดกลัวไม่มีกิจกรรมอะไร แต่ปีที่ 5-6 ชาวบ้านเริ่มทำบุญให้ผู้เสียชีวิตเล็กๆ จากนั้นชาวบ้านอยากทำบุญใหญ่ อยากทำบุญร่วมกัน ตนก็ไปนอนกับชาวบ้าน มีการเชิญเจ้าหน้าที่มาละศีลอด จึงเป็นปีแรกๆที่มีการร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน พอมาปีที่ 7 ก็มีกิจกรรมใหญ่เพราะชาวบ้านรู้สึกมีความชอบธรรมที่จะจัดงาน มาปีที่ 8 ชาวบ้านได้รับเงินเยียวยา แต่การจัดงานหายไป ส่วนตัวขอตั้งคำถามว่าทำไมไม่จัดงาน พอถามชาวบ้านหลายคนว่าได้รับความยุติธรรมอย่างไร บางคนก็บอกว่าฟ้องไปไม่มีประโยชน์ อย่างไรก็ไม่ได้รับความยุติธรรม บางคนบอกรู้ว่าใครทำ จึงไม่จำเป็นต้องฟ้อง บางคนรู้สึกได้รับความยุติธรรมแล้ว จ่ายเงินแล้วพอใจ บางคนอยากอยู่อย่างสงบไม่อยากฟ้องใคร

"แต่ในหลักสิทธิมนุษยชนการมีความทรงจำต่อเหยื่อ ต้องมีความรู้สึกต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เพื่อยุติการยกเว้นโทษ เพราะความยุติธรรมจะส่งผลโดยตรงต่อการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และจะมีผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของผู้คนได้ ทุกฝ่ายต้องมีการถอดบทเรียนร่วมกัน ความคิดต้องการเป็นอิสระไม่ใช่สิ่งผิด แต่ตนขอต่อต้านการไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ ต่อผู้หญิง และเด็กไม่ว่ากรณีใดๆ ดังนั้นกระบวนการต้องทบทวน" นางอังคณา กล่าว

นางอังคณา กล่าวว่า ถ้าถามว่า 10 ปีที่ผ่านมา เห็นว่ารัฐปรับตัวดีขึ้นหลายประการ ภายหลังปี 2547 มีการชุมนุมประท้วงปิดถนนทุกเดือน เมื่อประชาชนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่หลังกรณีตากใบรัฐสามารถทำข้อตกลงการชุมนุมได้ทุกครั้ง โดยไม่มีผู้เสียชีวิต รวมถึงการกระจายอำนาจส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิมอย่างเดียว วันนี้ถือว่ามีการกระจายอำนาจมากขึ้น ส่วนความยุติธรรมเห็นว่าปัญหากระบวนการบุติธรรมเป็นปัญหาทั่วทุกจังหวัดในประเทศนี้ ปัญหานี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแก้ไข ดังนั้น จึงปฏิรูปความมั่นคง ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปทหาร เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าใจความมั่นคงของชาติ และเข้าใจความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงต้องการฟื้นฟูเยียวยาเพื่อคืนศึกดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

"เหยื่อจะไม่ให้อภัยได้เลย ถ้าไม่รู้ว่าจะให้อภัยกับใคร ตรงนี้เป็นความท้าทายในการถามคนมาลายูว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้นำศาสนายังอ้างว่ากลัว แล้วเด็กผู้หญิงที่เสียชีวิตรายวันจะอยู่อย่างไรท่ามกลางความหวาดกลัว สันติวิธิคือความกล้าหาญ ในการเผชิญกับความเสี่ยง ดังนั้นสันติวิธีคือการแสดงความกล้าหาญเช่นกัน" นางอังคณา กล่าว