เลขาฯสพฐ.หารือปปช.ป้องกันทุจริตในองค์กร

เลขาฯสพฐ.หารือปปช.ป้องกันทุจริตในองค์กร

"กมล"เลขาฯสพฐ. เข้าหารือ ป.ป.ช.เพื่อหามาตราการป้องกันทุจริตในองค์กร คาดเป็นต้นแบบให้หน่วยงานราชการอื่น

ที่สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะตัวแทนสพฐ.เดินทางมาประชุมร่วมกับนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช.ถึงเรื่องกรอบแนวทางการป้องกันการทุจริตของสพฐ.

นายสรรเสริญ กล่าวว่า ในการหารือครั้งนี้มีการเซ็น MOU ร่วม เพื่อดำเนินตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามทุจริตแห่งชาติโดยเฉพาะ การหามาตราการป้องกันการทุจริตงบประมาณรายจ่าย การประเมินหน่วยงาน การแต่งโยกย้ายอย่างไร จึงจะทำให้เกิดการยอมรับ ทั้งจะมีการขยายโรงเรียนสุจริต โดยตั้งเป้าว่า ปี 2560 จะขยายให้ได้ทั่วประเทศ พร้อมทั้งมีการหารือถึงการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมให้กับครูและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ส่วนราชการอื่นๆจะดำเนินการตามสพฐ.เพื่อเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และเพื่อให้เป้าหมายการเพิ่มภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (CPI) เพิ่มขึ้นตามเป้าร้อยละ 50 ในปี 2560

นายกมล กล่าวว่า การหารือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์อยากให้สพฐ.เป็นหน่วยงานใสสะอาด ตามที่เคยลงนามร่วมกันในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตว่า กระบวนการการศึกษาเป็นภาระหนักหน่วง และเมื่อเราทำงานพบว่า มีบางเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการเงิน เพราะมีโครงการขนาดใหญ่ การดำเนินการบางครั้งอาจไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และส่งผลกระทบต่อองค์กร ทำให้งบประมาณด้านการศึกษาไม่คุ้มค่า กัดกร่อนองค์กร ไม่ให้ก้าวหน้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงต้องวางระบบป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต จึงมีการหารือกับ ป.ป.ช. ใน 2 ส่วน คือ ป้องกันปัญหาในเชิงให้ความรู้ และป้องกันการจัดการที่มีผลกระทบต่องบประมาณ

นายกมล กล่าวอีกว่า ต่อไปจะมีการวางระบบให้ความรู้กับครู ผู้บริหารสถานศึกษาเขตพื้นที่อาจมีการสอบวิชากฎหมาย ป.ป.ช. แจ้งทบทวนการปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้าง วางระบบให้ ป.ป.ช. จังหวัดช่วยในการทำโครงการขนาดใหญ่ หรือการใช้กรอบแนวคิดไอทีเอ ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง ให้เป็นแนวปฏิบัติ โดยหวังว่าป้องกันได้โดยให้ความรู้และวางระบบ จะทำให้อนาคต สพฐ. ใสสะอาด เป็นที่ยอมรับในสังคม จนเป็นแบบอย่างได้ อย่างไรก็ดีการประชุมในวันนี้ไม่ได้หารือกันเรื่องสนามฟุตซอลแต่อย่างใด

"โดยท่าน รมว.ศึกษาธิการ เคยพูดว่า ให้ความสนใจและติดตามผลในเรื่องนี้ อยากให้กรณีทุจริตสนามฟุตซอล เป็นกรณีศึกษาตัวอย่าง และไม่ควรเกิดกรณีแบบนี้อีกในวงการศึกษา" นายกมล กล่าว

เมื่อถามว่า หากเทียบเคียงกรณีปัญหาสนามฟุตซอลซึ่งมีหลายฝ่ายเสนอให้กันครูที่เซ็นรับสนามฟุตซอลดังกล่าวเป็นพยาน นายสรรเสริญ กล่าวว่า หากผู้ที่ต้องการถูกกันเป็นพยาน ให้การเป็นประโยชน์และสามารถนำคำพยานเบิกความในศาลได้ ก็สามารถกันเป็นพยานได้ เพราะป.ป.ช.มีกฏหมายคุ้มครองพยานอยู่แล้ว ทั้งนี้ ผู้ที่จะถูกกันเป็นพยานได้ ต้องไม่ใช่ตัวการหลักที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต

ทั้งนี้ มีกระแสข่าว ระบุว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งเอกสารการตรวจสอบสนามฟุตซอล 20 จังหวัดให้กับ ป.ป.ช. นายสรรเสริญ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และต้องพิจารณาว่า ป.ป.ช. มีอำนาจในการไต่สวนคดีหรือไม่ หากมีอำนาจก็จะตั้งอนุกรรมการไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริง ทั้งนี้ต้องดูกรอบการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ป.ป.ท. และ สตง. ที่เข้าไปตรวจสอบร่วมด้วย