ชูสเปครธน.ลดขัดแย้ง

ชูสเปครธน.ลดขัดแย้ง

มติวิปเคาะ"15สปช.-5คนนอก"ร่วมยกร่าง "เทียนฉาย"เปิดทางคนขั้วการเมืองผสมโรงปฏิรูป

สปช.ชี้หัวใจสำคัญ "รธน.ใหม่" ต้องตอบโจทย์ปฏิรูป-ลดขัดแย้ง "เสรี" ระบุต้องไม่กีดกันคนขั้วการเมืองร่วมยกร่าง ด้าน "ดิเรก" ย้ำเจตนารมณ์รธน."คุ้มครองเสรีภาพปชช.-สร้างความเป็นธรรม-ลดเหลื่อมล้ำ-สร้างเสถียรภาพทางการเมือง" ด้าน "เทียนฉาย” หนุนสปช. 1 คนร่วมปฏิรูปมากกว่า 1 คณะ สนช.เคาะ"วิทวัส"นั่งผู้ตรวจฯ-"ดิสทัต"เลขาฯกฤษฎีกา

สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หลายคน เริ่มออกมาพูดถึงเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนยุติธรรม กล่าวว่า ผู้ที่จะเข้าไปยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องยึดกรอบที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 35 กำหนดไว้เป็นสำคัญ เพราะหากขาดประเด็นใดในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ นอกจากนั้นหัวใจสำคัญคือ การเขียนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อตอบโจทย์การปฏิรูปและลดขัดแย้งด้วย

สำหรับผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องมีความรู้ ความเข้าใจในโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ รวมถึงเป็นผู้มีประสบการณ์ในด้านที่เข้าไปทำหน้าที่ เช่น การเมือง การเข้าสู่การดำรงตำแหน่ง หรือโครงสร้างการบริหารประเทศ ขณะที่การตัดสินใจส่วนตัวต่อการเข้าไปทำหน้าที่ดังกล่าวตนขอปฏิเสธ เพราะมีคุณสมบัติที่เป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว มาตรา 33 ว่าด้วยการสังกัดและดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองมายังไม่พ้นระยะ 3 ปี

นายเสรี กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับกรณีที่มีข้อเสนอห้ามให้บุคคลที่มีขั้วการเมืองชัดเจนเข้าไปยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากมองว่าหากนำความขัดแย้งหรือการแบ่งข้างไปถกเถียงกันในห้องประชุม อาจจะได้ข้อสรุปในทิศทางที่ดี โดยขอให้คู่ขัดแย้งเถียงกันให้จบดีกว่าให้ออกไปทะเลาะกันภายนอก

"ดิเรก"ชี้สเปครธน."ลดเหลื่อมล้ำ-เท่าเทียม"

ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง สปช.นนทบุรี กล่าวถึงการคัดเลือกบุคคลให้เข้าไปทำหน้าที่กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า ต้องเป็นบุคคลที่เข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ

1.เป็นกฎหมายของผู้ปกครองที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้ปกครองนั้น ต้องไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือมีความเป็นเผด็จการ 2.สร้างความเป็นธรรม และเสมอภาคให้กับสังคม โดยหัวใจสำคัญคือลดความเหลื่อมล้ำ สร้างการปฏิบัติที่เท่าเทียม และ 3.สร้างเสถียรภาพทางการเมืองให้กับรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลทำหน้าที่บริหารประเทศ

เมินร่วมยกร่าง-รอลงเลือกตั้ง

"ผมมองว่าหากผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยึดทั้ง 3 หลักดังกล่าวไว้จะสามารถสร้างเสถียรภาพให้กับการเมืองและสร้างกติกาตามหลักสากลให้กับประเทศไทยได้" นายดิเรก กล่าวและว่า ตนขอปฏิเสธที่จะเข้าไปทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากต้องการเปิดโอกาสและพื้นที่กรณีที่ตนจะนำความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อแนวทางการพัฒนาและปฏิรูปประเทศต่อไปในอนาคต เสนอแนะ

ทั้งนี้หากตนเข้าไปทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว อาจจะทำให้เป็นการปิดกั้นโอกาสดังกล่าว นอกจากนั้นตนยังต้องการลงสมัครรับเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้

เปิดทางสปช.นั่งกมธ.ปฏิรูปได้มากกว่า1คณะ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธาน สปช.กล่าวว่า หน้าที่สำคัญของการปฏิรูปประเทศคือ ลดความขัดแย้งและสร้างความสมานฉันท์ ส่วนจำนวนของคณะกรรมาธิการปฏิรูป ทั้ง 11 ด้าน มองว่าสมาชิกสปช.จะรับบทบาทในกรรมาธิการฯ ที่มากกว่า 1 คณะได้ อีกทั้งควรมีบุคคลภายนอก ทั้งในส่วนของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น สปช. ที่ไม่ผ่านการคัดเลือก และผู้ที่มีความรู้จากภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาร่วมทำงานด้วย ส่วนหลักเกณฑ์ที่จะใช้คัดเลือกนั้น เบื้องต้นต้องมีกรอบไว้ ส่วนรายละเอียดจะเป็นวิธีใดนั้นตนยังตอบไม่ได้ เพราะต้องรอการหารือจากที่ประชุมวิปสปช.ก่อน

ส่วนกรณีที่มีการตีความและตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานสปช. และรองประธาน สปช.ทั้ง 2 ตำแหน่ง ถูกล็อกสเปคและมาจากสายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ตนมองว่าคนที่อยู่ในรุ่นเดียวกับตน จบจากมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่แห่ง ดังนั้นประเด็นนี้อาจเป็นกรอบจำกัด และเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ที่ได้รับบทบาทมาจากสถาบันเดียวกัน แต่ไม่ถือว่าเป็นความผิดใด ๆ อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าสมาชิกสปช.ที่มาจากต่างสถาบัน เมื่อเข้ามาทำหน้าที่สปช.แล้วล้วนมีจุดหมายเดียวกัน คือประเทศไทยและสวมเสื้อสีเดียวกัน คือ สีธงชาติ

นายเทียนฉาย ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ สปช.ไม่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินว่า ตนยืนตามความเห็นของ ป.ป.ช. ในฐานะหน่วยงานผู้มีหน้าที่พิจารณาว่าบุคคลใดที่สมควรจะยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน อย่างไรก็ตาม เรื่องการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินนั้น ส่วนตัวไม่มีปัญหา เพราะที่ผ่านมาเคยยื่นมาแล้วถึง 16 ครั้ง

วิปเคาะ"15สปช.-5คนนอก"ร่วมร่างรธน.

ขณะเดียวกันภายหลังการประชุม คณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) ชั่วคราว นายอลงกรณ์ พลบุตร สปช. แถลงว่า ที่ประชุมมีมติกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสรรหาบุคคลเข้าไปเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในสัดส่วน สปช.จำนวน 20 คน โดยจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิก สปช. จำนวน 15 คน มาจากการคัดเลือกโดยคณะปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน และภาคจังหวัด ทั้ง 4 ภาค

และในสัดส่วนของบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็น สปช. อีก 5 คน โดยในกรณีของบุคคลภายนอก จะเป็นหน้าที่ของวิปสปช.ชั่วคราวไปพิจารณาบุคคลที่เหมาะสม ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะขอความเห็นชอบจากที่ประชุม สปช.อีกครั้ง ในการประชุมรอบต่อไปวันที่ 27 ต.ค. หากที่ประชุมลงมติเห็นชอบ ในวันเดียวกันจะให้ สปช.ทั้ง 11 ด้านและสปช.ภาคจังหวัดทั้ง 4 ภาค ไปประชุมเพื่อพิจารณาชื่อบุคคลให้เข้ามาเป็นกรรมาธิการ โดยยึดหลักเกณฑ์ความสมัครใจ และคุณสมบัติ รวมถึงลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนด และเมื่อขั้นตอนดังกล่าวแล้วเสร็จ จะนัดประชุมนอกรอบอีกครั้งวันที่ 28 ต.ค. เพื่อลงมติยืนยัน

เปิดทาง"คนขั้วการเมือง"สมัครใจยกร่าง

ด้านนายเทียนฉาย กล่าวขยายความในประเด็นที่สปช. เปิดโควตาบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิก สปช.ว่า ได้พิจารณาถึงความหลากหลาย อีกทั้งเห็นว่ายังมีผู้รู้ ผู้ทรงภูมิ รวมถึงคนที่เหมาะสมอีกจำนวนหนึ่งไม่ได้เข้ามาร่วมในวงงานปฏิรูป รวมถึงบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางสปช. และกลุ่มขั้วทางการเมือง พรรคการเมือง จึงต้องการระดมความเห็นที่หลากหลายดังกล่าวไว้รอบนี้ด้วย ซึ่งบุคคลดังกล่าวต้องสมัครใจ เพราะตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มีข้อกำหนดห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 2 ปี หลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้

"คุณสมบัติของคนภายนอกที่จะมาเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของสปช. 5 คน ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย หรือมีประสบการณ์ยกร่างรัฐธรรมนูญมาก่อน เพราะผู้ที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาจเข้ามาเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการฯ ได้อยู่แล้ว"

เลือก"เลิศรัตน์"นั่งปธ.ยกร่างข้อบังคับสปช.

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุม สปช. โดยที่ประชุมมีมติให้ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เป็นประธานคณะกรรมาธิการ นายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นรองประธาน คนที่ 1 นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นรองประธาน คนที่ 2 พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ เป็นเลขานุการ นายบุญเลิศ คชายุทธเดช เป็นโฆษก และนางสีลาภรณ์ บัวสาย เป็นรองโฆษก

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า จะเร่งดำเนินการร่างข้อบังคับการประชุมสปช. ให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาภายใน 15 วัน คาดว่าจะดำเนินการร่างเสร็จในวันที่ 29 ต.ค. และวันที่ 31 ต.ค.อาจจะเชิญสมาชิกสปช.เข้าร่วมประชุม เพื่อให้ข้อเสนอแนะการยกร่างข้อบังคับเพิ่มเติม หากไม่มีการแก้ไข ก็จะสรุปรายงาน และเสนอต่อประธานสปช. เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 4 พ.ย.

เคาะ"วิทวัส"นั่งผู้ตรวจฯ-"ดิสทัต"เลขาฯกฤษฎีกา

ขณะที่ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการ ได้แจ้งสมาชิกให้ไปรับเอกสารสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ได้ที่เจ้าหน้าที่ห้อง 102 อาคารรัฐสภา 2 นอกจากนี้ยังแจ้งให้สมาชิกที่ต้องการทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สัดส่วน สนช. จำนวน 5 คน ให้แจ้งความจำนงได้ถึงวันที่ 28 ต.ค. โดยช่วงบ่ายวันเดียวกันจะมีการประชุมวิป สนช. เพื่อพิจารณารายชื่อสมาชิกและคัดเลือกเหลือ 5 คนเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ สนช.ต่อไป

จากนั้นเข้าสู่วาระประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อคือ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเป็นการประชุมลับ และได้ลงมติลับ ปรากฏว่า ที่ประชุมเห็นด้วยให้ พล.อ.วิทวัส ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการฯ ด้วยคะแนน 170 ต่อ 3 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง

นอกจากนี้ยังให้ความเห็นชอบ นายดิสทัต โหตระกิตย์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมาธิการกฤษฎีกา ด้วยคะแนน 174 คะแนน และงดออกเสียง 4 คะแนน

"บิ๊กขรก.-อดีตส.ว."แห่สมัครผู้ตรวจฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานสรรหา ได้เปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาแทนนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งครบวาระตำแหน่ง โดยเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 16-22 ต.ค. ปรากฏว่า มีผู้มาสมัครทั้งหมด 16 คน ประกอบด้วย

1.นายวัส ติงสมิตร ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม 2.หม่อมหลวงฤทธิเทพ เทวกุล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม 3.พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ อดีตส.ว. 4.นายชวรัตน์ รุกขพันธุ์ กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์/ร้องทุกข์ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) 5.นายสามารถ จิตมหาวงศ์ อดีตผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ภาค 9

6.ศ.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7.นายพิสิฐ ประเสริฐศรี ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดอุบลราชธานี 8.พล.ต.ต.สังวรณ์ ภู่ไพจิตรกุล อดีตผู้บังคับการสถาบันฝึกอบรมและวิจัยการพิสูจน์หลักฐานตำรวจ 9.นายประสาร หวังรัตนปราณี อดีตเลขานุการรมว.อุตสาหกรรม 10.พล.อ.กะสิณ ทองโกมล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 11.พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 12.นายอนุชา วงษ์บัณฑิตย์ กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม(สำนักงานก.พ.) 13.นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา 14.พล.อ.รัตนพันธุ์ โรจนะภิรมย์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ

15.นายช่างทอง โอภาสศิริวิทย์ อดีตเลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 16.ร.ศ.นพ.ศุภชัย ถนอมทรัพย์ อาจารย์พิเศษคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ทั้งนี้คณะกรรมการสรรหา จะประชุมอีกครั้งวันที่ 6 พ.ย. เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 1 คน ก่อนเสนอชื่อให้ สนช.ให้ความเห็นชอบหรือไม่ต่อไป