ศาลปค.สูงสุดชี้28สนช.อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น

ศาลปค.สูงสุดชี้28สนช.อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น

ศาลปกครองสูงสุด ชี้28สนช.อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น เหตุอ้างไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องของพล.อ.นพดล อินทปัญญา และพวกรวม 28 คน ซึ่ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยื่นฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีขอให้เพิกถอนมติป.ป.ช.ลงวันที่ 14 ส.ค. 2557 และลงวันที่ 27 ส.ค. 2557 ที่ระบุให้สนช.ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช.

โดยศาลปกครองสูงสุดระบุเหตุผลว่า พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตามที่มีอยู่จริงในวันที่เข้ารับตำแหน่งหรือวันที่พ้นจากตำแหน่งต่อคณะกรรมการป.ป.ช.ทุกครั้ง ที่เข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งแล้วแต่กรณี ตามแบบที่คณะกรรมการป.ป.ช.ประกาศกำหนด ซึ่งป.ป.ช. เป็นคณะกรรมการที่กฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่ง มติใดๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคลถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 3 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542

แต่การที่ ป.ป.ช. มีความเห็นตอบข้อหารือตามหนังสือที่ ปช 0008/0147 ลงวันที่ 14 ส.ค.2557 และหนังสือที่ ปช 0008/0171 ลงวันที่ 27 ส.ค.2557 เกี่ยวกับบุคคลที่ดำรงตำแหน่งสนช.มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้น เป็นเพียงการให้ความเห็นตอบข้อหารือเกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมายของมาตรา 32 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของพล.อ.นพดลและพวก มติป.ป.ช.ดังกล่าวจึงไม่ใช่คำสั่งทางปกครองและไม่ได้ทำให้พล.อ.นพดลและพวกได้รับความเดือดร้อนหรืออาจเดือดร้อนเสียหาย จึงยังไม่มีสิทธิที่จะมาฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ดังนั้นการที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องและสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยว่าคำร้องอุทธรณ์ของพล.อ.นพดลกับพวกฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ ในศาลปกครองชั้นต้นแม้จะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา แต่เนื้อหาของการมีคำสั่งก็ได้ระบุความหมายของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ป.ป.ช. ที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไว้ค่อนข้างชัดเจนว่าหมายถึงผู้เอาภาระของบ้านเมืองเป็นภาระของตน ไม่ว่าจะโดยสมัครใจเข้าสมัครรับเลือกตั้ง หรือสมัครใจตามที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในการตรากฎหมายอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน และการสรรหาบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามารับใช้บ้านเมืองในตำแหน่งต่างๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติและอื่นๆ มีหน้าที่ต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจ จริงใจ เปิดเผยความจริง ว่าก่อนตนเข้ามาดำรงตำแหน่งมีทรัพย์สินใดบ้าง รวมทั้งภรรยาและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เพื่อให้สังคมรับรู้รับทราบถึงความโปร่งใสของผู้เข้ามารับภาระของบ้านเมืองว่าไม่ได้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ใดๆแก่ตนเองและครอบครัว หน้าที่ตามมาตรา 32 ของพ.ร.บ.ดังกล่าว จึงเป็นเรื่องส่วนตนโดยแท้ของผู้อาสาเข้ามารับใช้บ้านเมือง หาใช่หน้าที่ของป.ป.ช.ที่จะต้องมีคำสั่งให้ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามนัยมาตรา 32 หากผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามย่อมต้องรับโทษทางอาญา ตามมาตรา 119 แห่งพ.ร.บ.เดียวกันเป็นส่วนตน

ทำให้ในการยื่นคำอุทธรณ์ของพล.อ.นพดลกับพวกต่อศาลปกครองสูงสุด พล.อ.นพดลกับพวกได้โต้แย้งคำวินิจฉัยเกี่ยวกับมาตรา 32 นี้ ของศาลชั้นต้นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินตามความหมายมาตรา 32 นั้นต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะเจาะจง เช่น ส.ส.และส.ว. แต่สนช.ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส.และส.ว. จึงไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 32 และป.ป.ช.ไม่มีหน้าที่ต้องเรียกให้สนช.ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินดังกล่าว การที่ป.ป.ช.มีมติเช่นนี้ ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถ้าป.ป.ช.จะอ้างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 6 วรรคสอง ประกอบมาตรา 42 และมีความเห็นว่าสนช.เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นเดียวกับส.ส.และส.ว.ที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินนั้น ป.ป.ช.ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายไปในทางเดียวกันโดยมีมติให้หัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีหน้าที่ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย แต่ป.ป.ช.กลับไม่มีมติดังกล่าว จึงเห็นว่าการตีความและการบังคับใช้กฎหมายของป.ป.ช.ไม่มีมาตรฐานเดียวกันและเป็นการเลือกปฏิบัติ

อีกทั้งยังเห็นว่ามติของป.ป.ช.และการมีหนังสือมายังสำนักเลขาธิการวุฒิสภาไม่ได้มีลักษณะเป็นการตอบข้อหารือแต่เป็นคำสั่งทางปกครองที่กระทบต่อตนเองกับพวก และเมื่อป.ป.ช.มีมติดังกล่าว ตนกับพวกก็ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ถือว่าตนกับพวกถูกละเมิดจากคำสั่งที่ไม่ใช่ด้วยกฎหมาย จึงเป็นผู้ที่เดือดร้อนเสียหายและมีสิทธิ์ที่จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ แต่ศาลปกครองสูงสุดก็ระบุในคำสั่งวันนี้ว่าคำอุทธรณ์ดังกล่าวฟังไม่ขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม ในการนัดฟังคำสั่งในวันนี้ เมื่อถึงเวลานัดฝ่ายพล.อ.นพดลกับพวก ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดี ไม่ได้เดินทางหรือส่งตัวแทนมาฟังคำสั่งศาลแต่อย่างใด มีเพียงนายสิทธิพงษ์ ปึงวงศานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักคดี ป.ป.ช. ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากป.ป.ช.ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดี มาศาล จึงทำให้คณะตุลาการไม่ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่ง โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีไปคัดสำเนาคำสั่งดังกล่าวแทน