เปิดเหตุผลตุลาการเบรก!พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง

เปิดเหตุผลตุลาการเบรก!พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง

(รายงาน) เปิดเหตุผลตุลาการเบรก!พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง

ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งอยู่ในวาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาเมื่อผู้บริหารศาลปกครองและผู้พิพากษาศาลปกครองทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ แสดงความไม่เห็นด้วย พร้อมทั้งเข้าชื่อทำหนังสือถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ลงวันที่ 17 กันยายน 2557 ชะลอการพิจารณาเพื่อนำร่างกลับมาแก้ไขเนื้อหาที่ยังคงสับสนทั้งกระบวนการร่างเป็นอย่างไร และใครเป็นผู้เสนอร่างต่อ สนช. ซึ่งเป็นสิ่งที่ตุลาการต่างอยากทราบข้อเท็จจริง

สำหรับร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่...)พ.ศ....สรุปดังนี้

1.คณะตุลาการศาลปกครองเห็นว่า คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ที่มีอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ยังคงมีสถานภาพเป็นคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) โดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อย่างต่อเนื่องและตามปกติ กล่าวคือ

1.1 คณะตุลาการศาลปกครองเห็นว่า การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีความจำเป็นเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง และได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ได้มีความประสงค์ที่จะให้การดำเนินงานต่างๆ ของศาล รวมทั้งการบริหารงานบุคคลในองค์กรศาลต้องประสบข้อขัดข้องหรือต้องถูกยุบเลิกไปตามการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่ประการใด

1.2 การถือว่าคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ( ก.ศป.) ที่มีอยู่ตามปกติ และต่อเนื่องกัน ต้องเป็นอันหมดสิ้นสถานะไปเพราะเหตุที่ได้มีการยกเลิกกฎหมายหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการขัดแย้งต่อแบบแผนและประเพณีทางการปกครองและทางการนิติบัญญัติของไทยที่ยึดถือกันมาอย่างมั่นคง ดังจะเห็นได้จาก

1.2.1 เมื่อครั้งที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข ได้ออกประกาศฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน 2549 กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ.2540 สิ้นผลใช้บังคับนั้น ก็ได้กำหนดให้ศาลทั้งหลายนอกจากศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามกฎหมายและตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต่อมาเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกประกาศ ฉบับที่ 13 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งมีผลให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ.2550 สิ้นผลใช้บังคับ ก็ได้กำหนดให้ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมายและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติต่อไปเช่นกัน

1.2.2 ในครั้งที่มีการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 ซึ่งมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ก็ปรากฏว่า ในการประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 12/2549 ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อและตรวจสอบประวัติและความประพฤติของบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิตามความในมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ในส่วนวุฒิสภา

อันเป็นกรณีที่แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรผู้ใช้นิติบัญญัติในขณะนั้น ที่ได้ยอมรับการยังคงสถานภาพของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ว่ายังคงมีอยู่ต่อไปโดยมิได้มีข้อขัดข้อง หรือผลกระทบจากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสิ้นผลบังคับใช้ลงไป และในขณะนั้นคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ที่มีอยู่ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติและต่อเนื่องกันจนครบวาระ

ดังนั้น โดยนัยแห่งการใช้และการตีความกฎหมายที่สอดคล้องกัน เมื่อมีประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งมีการใช้ถ้อยคำดุจเดียวกัน คณะตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ที่มีอยู่ในขณะนี้จึงย่อมมีสถานภาพโดยชอบด้วยกฎหมายต่อไป หาได้มีสิ่งใดมาล้มล้างไม่ซึ่งความเห็นในแนวทางนี้ คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ที่ดำรงตำแหน่งจนถึงขณะนี้และคณะตุลาการศาลปกครองจำนวนเกือบทั้งหมดได้เห็นพ้องต้องกันมาโดยตลอด

2.นอกจากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนใดๆ ที่ต้องแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ในส่วนของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ตามร่างที่เสนอในครั้งนี้แล้ว คณะตุลาการศาลปกครองยังมีความเห็นว่า บทบัญญัติบางมาตราที่กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่...) พ.ศ.... มีเนื้อหาที่ขัดต่อหลักการตามที่กล่าวในข้อ 1 และจะก่อให้เกิดความเสียหายและความแตกแยกอย่างรุนแรงในองค์กรศาลปกครองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

โดยบทบัญญัติมาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 14 ของร่างดังกล่าวจะมีผลเป็นการยุบเลิกคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ที่มีสถานภาพโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วในขณะนี้ ให้หมดสิ้นสภาพไปโดยอำเภอใจ อีกทั้งยังให้องค์กรอื่นซึ่งได้แก่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดตามมาตรา 68 วรรคสอง มาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ไปพลางก่อนจนกว่าจะมี ก.ศป.ตามร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองที่เสนอนี้

ทั้งที่ ก.ศป.เป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลมีไว้เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของตุลาการศาลปกครองในการปฏิบัติหน้าที่ตุลาการ โดยประกอบด้วยบุคคลผู้ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของตุลาการศาลปกครองในขณะที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเป็นองค์กรที่มีไว้เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดี

ขอให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รับฟังความเห็นคัดค้าน และเปิดโอกาส อย่างเป็นธรรมให้ตัวแทนตุลาการศาลปกครองได้เข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง