เปิดกรอบภารกิจและแผนทำงานการมีส่วนร่วมสปช.

เปิดกรอบภารกิจและแผนทำงานการมีส่วนร่วมสปช.

เปิดกรอบภารกิจและแผนทำงาน รับฟังความเห็นกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วม สปช.

เปิดกรอบภารกิจและแผนทำงาน รับฟังความเห็น กมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วม สปช. เขียนปฏิทินงานการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็น 3 ช่วง พบรายละเอียดเปิดเวทีนำร่างรธน.ร่างแรกให้ปชช.สะท้อนความเห็นก่อน กมธ.ยกร่างรธน. แก้ไข-ส่งฉบับสมบูรณ์ให้ สปช. เห็นชอบ ด้าน “เลขาฯกกต.”ทำจดหมายของบ 13 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนงานรับฟังความเห็น ด้าน “ประชา” เล็งลดบทบาทจาก ปธ.กมธ.วิสามัญฯ เป็นที่ประธานที่ปรึกษา เพื่อลุยงานยกร่างรธน.ให้เต็มที่ เสนอ “นพ.พลเดช” ขึ้นปฏิบัติหน้าที่ปธ.กมธ.ฯ แทน

นายประชา เตรัตน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ชลบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สปช. เปิดเผยกับเครือเนชั่นว่า หลังจากที่กมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วมฯ ได้ตั้งคณะอนุกมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วมประจำ 77 จังหวัดแล้วเสร็จ ตนจะลดบทบาทการทำงานฐานประธาน กมธ.ฯ ไปเป็นประธานที่ปรึกษา กมธ.ฯ แทนและให้ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รองประธาน กมธ.ฯ คนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ประธาน กมธ.ฯ เนื่องจากตนมีฐานะเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยและคาดว่าจะมีภาระงานที่เพิ่มและทำงานหนักมาขึ้นหลังจากนี้ ส่วนความคืบหน้าการตั้ง อนุกมธ.ฯ ประจำ 77 จังหวัดนั้น ขณะนี้มีจังหวัดต่างๆ ได้ทยอยส่งรายชื่อคณะอนุกมธ.ฯ ในจังหวัดต่างๆ เข้ามาแล้ว ทั้งนี้จะเป็นอำนาจของตนและรองประธาน กมธ.ฯ ลงนามแต่งตั้งโดยไม่ต้องขอมติจากที่ประชุม ขณะที่เนื้อหาของการรับฟังความเห็นของเวทีจังหวัดต่างๆ นั้นจะมีการพิจารณาอีกครั้งในที่ประชุม กมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วมฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงกรอบภารกิจและแผนการดำเนินงาน กมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วมฯ ตามที่ที่ประชุมได้เห็นชอบ มีสาระทำงานหลัก คือ เป้าหมายการทำงาน ต้องเสริมสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของการปฏิรูปของประชาชน พลเมืองในทุกจังหวัดและชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศไทย รวมถึงรวบรวมข้อคิดเห็นจากประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อนำเสนอต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และ กมธ.ปฎิรูป ทั้ง 11 คณะ อย่างตรงประเด็น ทันเวลา และเป็นรูปธรรม ทั้งนี้มีการกำหนดปฏิทินทำงานประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1.ก่อนวันที่ 19 ธ.ค. 57 จะตั้งวงระดมความเห็นขนาดเล็ก เพื่อทำสรุป ข้อเสนอแนะอย่างรวดเร็ว สำหรับประเด็นที่อยากกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

2.ก่อนวันที่ 17 เม.ย. 58 จะเปิดเวทีประชาชนเสวนา เพื่อระดมความเห็น รวมถึงทำแบบสำรวจ สื่อสารต่อสังคม ประเด็นรัฐธรรมนูญใหม่กับการปฏิรูปการเมือง หรือในมิติที่เครือข่ายสนใจ อย่างน้อย 1-2 ครั้ง เพื่อสรุปสาระสำคัญนำเสนอต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นร่างแรก

และ 3.ก่อนวันที่ 28 ก.ค. 58 เปิดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก โดยมีแนวทางคือดูภาพรวมทั้งฉบับหรือลงรายละเอียดทุกมาตรา หรือตามความสนใจ ประมาณ 2-3 ครั้ง โดยจะจัดทีมวิชาการสรุปข้อคิดเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไข ปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ก่อนที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะนำไปปรับเพื่อแก้ไขเป็นร่างรัฐธรรมนูญแบบก่อนเสนอให้สปช. ลงมติเห็นชอบหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่าสำหรับปฏิทินเวลาในการทำเวทีปฏิรูป จำนวน 18 ประเด็นปฏิรูปนั้น ในช่วงเดือนม.ค. - ก.ย. 58 จะทำงานร่วมกับกมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 คณะ และเครือข่ายทางสังคมในการออกแบบการปฏิรูปประเทศไทย ตามวิสัยทัศน์ และเป้าหมายแม่บทรวมถึงร่างกฎหมายการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม, ช่วงเดือนต.ค. - ธ.ค. 58 จะร่วมกับสปช. ทั้ง 250 คน ทำกิจกรรมส่งเสริมและมอบผลงาน ผลผลิต คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และโร้ดแม็พปฏิรูปทุกด้าน” ให้กับสังคม รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พรรคการเมือง ขณะที่ในส่วนของการจัดเวทีระดับจังหวัดนั้นจะใช้กลไกเครือข่ายภาคสังคม สถาบันวิชาการในพื้นที่ดำเนินงาน โดยมีกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดและกรุงเทพฯเป็นฝ่ายธุระการ

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่าหลังจากที่ กมธ.วิสามัญ มีแนวคิดให้ กกต.จังหวัดและกทม. ดำเนินงานจัดเวทีในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนไว้วางใจและลดความอึดอัดใจต่อการแสดงความเห็นภายใต้การบริหารประเทศในปัจจุบัน นายภุชง นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. ได้ส่งจดหมาย ถึง กมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วม เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการดำเนินงานของ อนุ กมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วมฯ โดยมียอดรวม 13,022,200 บาท อย่างไรก็ตามงบประมาณส่วนดังกล่าวทางอนุกมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วมฯ ได้ขอนำรายละเอียดไปพิจารณาก่อนให้ความเห็นชอบ