คลังรับเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ'ชะงักงัน'

คลังรับเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ'ชะงักงัน'

"สมหมาย" ยอมรับคนไม่กล้าใช้จ่ายจริง-นักเศรษฐศาสตร์ชี้ครัวเรือนขาดรายได้ รับเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ"ชะงักงัน"

กระทรวงคลัง ยอมรับเศรษฐกิจไทยเข้าสู่"ภาวะชะงักงัน" สะท้อนผ่านคนจนไม่มีเงินจ่าย คนรวยขาดความเชื่อมั่น ด้านนักเศรษฐศาสตร์ เผยแม้ความเชื่อมั่นฟื้น แต่บริโภคจริงไม่เกิด เหตุราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ครัวเรือนขาดรายได้ หวังลงทุนรัฐดันพ้นภาวะชะงักงัน ส่วนปัญหาหนี้นอกระบบ "สมหมาย" เตรียมดัน "นาโนไฟแนนซ์" ช่วยผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงสินเชื่อ วงเงินไม่เกิน 1.2 แสนบาท ดอกเบี้ย 36% ต่อปี

แม้ความเชื่อมั่นการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับมาดีขึ้น แต่ภาพรวมเศรษฐกิจโดยเฉพาะตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประกาศออกมา ยังไม่พบสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการบริโภคหรือการลงทุนภาคเอกชน ตลอดจนภาคการส่งออกก็ยังหดตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้ายังเป็นไปอย่างเชื่องช้า

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ เรียกได้ว่าอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน หรือ Stag Flation ซึ่งเป็นภาวะที่ ไม่มีการใช้จ่ายเกิดขึ้น กล่าวคือ คนจนก็ไม่มีเงินที่จะใช้จ่าย ขณะที่คนรวยมีเงินก็ไม่รู้ว่า ไม่รู้ว่าจะนำเงินไปลงทุนอะไร หรือใช้จ่ายอะไร จะได้ผลตอบแทนเพราะยังมีความกังวล จึงทำให้ไม่มีการใช่จ่าย ไม่มีการลงทุน เพราะขาดความเชื่อมั่น

"ภาวะดังกล่าว ไม่ได้ถือเป็นภาวะเสี่ยงของเศรษฐกิจ เพราะฐานะการคลังยังแข็งแกร่ง ขณะนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อว่าภาวะดังกล่าวจะผ่านพ้นไป โดยเราจะได้มีการประเมินผลของมาตรการในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณนี้" นายสมหมาย กล่าว

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ใกล้เคียงกับภาวะชะงักงัน คือ เศรษฐกิจแทบไม่มีการเติบโต ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำ ที่สำคัญ คือ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแม้ดีขึ้น แต่ยังไม่มีเงินมาจับจ่ายใช้สอย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ระดับต่ำด้วย

“นิยามของคำว่า Stagflation (ภาวะชะงักงัน) คือ เศรษฐกิจเติบโตใกล้ 0% และเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ พูดง่ายๆ คือ เศรษฐกิจไม่โต และมีภาวะเงินฝืด ซึ่งเศรษฐกิจไทยเองก็น่าจะใกล้เคียงกับคำนี้ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า เราจะออกจากภาวะนี้ได้อย่างไร”นายอมรเทพกล่าว

เขากล่าวด้วยว่า ช่วงเวลานี้จะเห็นว่าความเชื่อมั่นแม้จะฟื้นกลับมา แต่การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคจริงยังไม่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้ครัวเรือนในภาคเกษตรไม่มีเงินมาจับจ่าย ส่งผลต่อการบริโภคโดยรวม ซึ่งเป็นเหตุให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ยังไม่ฟื้นกลับมา

ลุ้นลงทุนรัฐดันพ้นภาวะชะงักงัน

สำหรับการลงทุนของภาครัฐที่เป็นความหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เวลานี้ภาคเอกชนกำลังรอดูว่านโยบายรัฐดังกล่าวจะยั่งยืนต่อเนื่องได้หรือไม่ เพราะแม้มีนโยบายออกมา แต่นักลงทุนไม่มั่นใจว่าจะได้รับการสานต่อในระยะยาว ก็มีผลทำให้ภาคเอกชนไม่กล้าที่จะลงทุนตามด้วย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นการจะหวังให้เศรษฐกิจฟื้นตัวก็คงลำบากด้วย

“ความจริงแล้วภาครัฐยังมีเครื่องมือในเรื่องของการเร่งเบิกจ่าย หรือการลงทุน ที่จะดึงให้เศรษฐกิจไทยหลุดพ้นจากภาวะชะงักงันนี้ได้ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าจะสร้างความมั่นใจให้เอกชนกล้าลงทุนตามได้มากน้อยแค่ไหน”นายอมรเทพกล่าว

นอกจากนี้ นายสมหมาย ยังกล่าวถึงแผนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบด้วยว่า ภายใน 10 วันนับจากนี้ เขาจะเสนอให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยกระทรวงการคลังมีแนวทางที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั่วไปเข้ามาปล่อยสินเชื่อให้แก่ประชาชนรายย่อย หรือ ที่เรียกว่า นาโนไฟแนนซ์

"พิจารณาภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์นับจากนี้ และหลังจากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาต่อไปโดยเร็วที่สุด"นายสมหมาย กล่าว

ปล่อยกู้1-1.2แสนบาท/ราย-ดบ.30-36%

สำหรับหลักการของนาโนไฟแนนซ์ คือ กระทรวงการคลังจะออกประกาศให้ผู้ประกอบการ ที่สนใจสามารถเข้ามาปล่อยสินเชื่อให้แก่ประชาชนรายย่อยได้รายละประมาณ 1-1.2 แสนบาทต่อราย อนุญาตให้คิดอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูงกว่าปกติ แต่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนอกระบบ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะอยู่ในอัตราระหว่าง 30-36%ต่อปี

"ปกติเราให้สถาบันการเงินเข้ามาช่วยปล่อยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้นอกระบบ โดยเรียกระดับการปล่อยกู้นี้ว่า ไมโครไฟแนนซ์ ให้เงินกู้รายละประมาณ 2 แสนบาท คิดดอกเบี้ยที่ 28% ต่อปี แต่เสียงที่นายแบงก์เขาบอกมาว่า ทำยาก และแก้ปัญหาไม่ได้ ฉะนั้น ปัญหาหนี้นอกระบบก็บานปลายไปมาก เป็นเรื่องที่เราต้องสรุป และคิดว่านาโนไฟแนนซ์ คือ ตัวสุดท้ายที่จะเข้ามาช่วย" เขากล่าว

สำหรับแนวทางปฏิบัติของผู้ประกอบการที่สนใจ คือ จะต้องเข้ามาขอจดทะเบียนต่อกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล เพื่อขอทำธุรกิจดังกล่าว โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีทุนจดทะเบียน ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

"รายละเอียดอื่นๆ จะต้องมีการหารือเพื่อให้มีการตกผนึกออกมาโดยเร็วที่สุด ทั้งในส่วนจำนวนเอกชนที่จะเข้าร่วม ทุนจดทะเบียนต้องจำกัดไว้เมื่อไหร่ และเมื่อเสนอครม.แล้ว จะประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด" นายสมหมาย กล่าว

ลดหย่อนภาษีให้ผู้ประกอบการครึ่งหนึ่ง

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะให้แรงจูงใจทางด้านการลดหย่อนภาษีแก่ผู้ประกอบการ โดยจะอนุญาตให้นำรายได้เพียงครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด มายื่นชำระภาษี ดังนั้นในส่วนนี้ จึงต้องดึงกรมสรรพากรมาดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย เพราะเอกชนที่เข้ามาจดทะเบียน ถือเป็นนิติบุคคลต้องมีการเสียภาษี แต่จะลดอัตราภาษีให้ครึ่งหนึ่ง

"ผมเชื่อว่า แนวทางดังกล่าวจะไม่เพิ่มภาระหนี้ครัวเรือนอย่างที่หลายฝ่ายกังวล แต่จะช่วยลดภาระหนี้นอกระบบได้ แม้ว่า เราจะไม่มีการจำกัดว่า เขาจะกู้ไปเพื่อทำอะไรก็ตาม" นายสมหมาย กล่าว

สำหรับแนวคิดเรื่องการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าปล่อยสินเชื่อในลักษณะนาโนไฟแนนซ์ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลที่แล้ว โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นตรงกันกับแนวทางดังกล่าว เพื่อลดปัญหาหนี้นอกระบบ และให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น

"ผมได้หารือกับแบงก์ชาติแล้ว ซึ่งก็เห็นด้วยและสนับสนุนเต็มที่ ผมยืนยันว่าโครงการนาโนไฟแนนซ์ ไม่ได้เป็นการเพิ่มปัญหาหนี้ให้ครัวเรือน แต่จะเป็นการทดแทนหนี้ครัวเรือนในส่วนที่เป็นหนี้นอกระบบ จะทำให้สถานการณ์ส่วนนี้ดีขึ้น หนี้ครัวเรือนที่สูงไม่ได้เกิดจากการกู้อย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและหลายๆส่วนด้วย ต้องไปดุในรายละเอียด"รมว.คลัง กล่าว

ดึงแบงก์รัฐร่วมแก้ปัญหาแต่ไม่สำเร็จ

นายสมหมาย กล่าวว่า เมื่อประชาชนต้องการสินเชื่อเพื่อดำเนินธุรกิจขนาดเล็ก แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือบุคคลค้ำประกัน จึงหันไปกู้เงินนอกระบบที่คิดอัตราดอกเบี้ยแพงกว่า ทำให้เกิดปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาสังคม

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่จะจัดเก็บนั้น จะต้องช่วยลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการ เพราะเป็นเงินกู้แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่อัตราดอกเบี้ยจะต้องต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยหนี้นอกระบบ

นายสมหมาย กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ได้ประสานกับสถาบันการเงินของรัฐให้ปล่อยกู้ผ่านโครงการไมโครไฟแนนซ์ไปแล้ว แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ โดยได้ชี้แจงว่า ทำได้ค่อนข้างยาก และเป็นการแก้ปัญหาไม่ต้องจุด และทำให้ปัญหาเรื่องหนี้บานปลายมากขึ้น กลายเป็นความเสี่ยง

วางเงื่อนไขเอกชนมีทุนจดทะเบียน10ล้าน

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตามแนวทางที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เสนอนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการจะดำเนินธุรกิจดังกล่าว จะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และไม่อนุญาตให้บริษัทที่ดำเนินธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ ระดมเงินฝากจากประชาชนได้เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ แต่จะระดมทุนได้จากผู้ถือหุ้น การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนด เพื่อเกิดความชัดเจนในการประกอบธุรกิจและผู้ลงทุนก็สามารถแบกรับภาระความเสี่ยงได้ด้วย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ 1 แห่งจะสามารถดำเนินธุรกิจดังกล่าวได้ภายในพื้นที่ที่จำกัดเช่น ภายในจังหวัดเชียงใหม่ หรือจังหวัดอุทัยธานีเท่านั้น ห้ามข้ามเขต เพราะถือเป็นธุรกิจสินเชื่อที่ให้บริการเฉพาะภายในพื้นที่