แบงก์ชาติเล็งผ่อนเพิ่ม ลงทุน'หุ้น-บอนด์'ตปท.

แบงก์ชาติเล็งผ่อนเพิ่ม ลงทุน'หุ้น-บอนด์'ตปท.

"แบงก์ชาติ"เผยอยู่ระหว่างประเมินผลเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายเฟสแรก ยอมรับบางเรื่องล่าช้า ทำงานที่ไม่ต่อเนื่อง

ชี้ส่วนใหญ่ ธปท. ออกประกาศเองได้ โดยไม่ต้องรอคลัง เล็งผ่อนคลายให้นำเงินไปลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เพิ่มเติม

“แบงก์ชาติ” จับตาซื้อขายเงินบาทล่วงหน้า หลังตลาดหุ้นสิงคโปร์เพิ่มเป็นสินค้าจดทะเบียนซื้อขาย ย้ำการเคลื่อนไหวเงินบาทส่วนใหญ่เกิดจากกิจการซื้อขายในประเทศเป็นหลัก ส่วนแผนเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายยังเดินหน้า เผยอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบจากเฟดแรก เตรียมผ่อนคลายเพิ่มเติมให้นำเงินไปลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มได้

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรณีที่ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เพิ่มสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฟิวเจอร์) สกุลเงินบาทเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ธปท. คงจะติดตามดูว่า นักลงทุนในตลาดสิงคโปร์ สนใจลงทุนในสัญญาซื้อขายดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน

การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ขึ้นอยู่กับปริมาณการค้า การลงทุน และความจำเป็นของผู้ร่วมตลาดในการป้องกันความเสี่ยง ซึ่งกิจกรรมหรือธุรกรรมรองรับส่วนใหญ่จะอยู่ในตลาดในประเทศ (ออนชอร์) เป็นหลัก

“การที่สิงคโปร์นำผลิตภัณฑ์สัญญาล่วงหน้าเงินบาทไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เป็นเรื่องที่ธปท. ต้องติดตามว่า นักลงทุนในตลาดสิงคโปร์ จะสนใจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน” นางจันทวรรณ กล่าว

นอกจากนี้ นางจันทวรรณ กล่าวด้วยว่า ธปท. อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบจากการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายตามแผนงานเฟส1 ซึ่งขณะนี้ยังผ่อนคลายบางเรื่องจากเฟส1 ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เพราะล่าช้าออกไปจากช่วงครึ่งปีแรกที่การทำงานไม่ได้ต่อเนื่อง

การผ่อนคลายส่วนนี้เป็นเรื่องที่ ธปท. ในฐานะเจ้าพนักงานสามารถออกหนังสือเวียนเองได้ โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเพิ่มความยืดหยุ่นให้เอกชน สามารถยกเลิกการประกันความเสี่ยง (FX Hedging) เงินลงทุนในต่างประเทศ และเงินกู้ยืมจากต่างประเทศได้ จากเดิมสามารถดำเนินการได้เฉพาะในส่วนของการยกเลิกค่าสินค้าและบริการ จึงไม่ได้มีประเด็นเรื่องการรอกระทรวงการคลังตัดสินใจ เพราะอยู่ในกรอบที่กระทรวงการคลังเคยอนุมัติไว้แล้ว

สำหรับการผ่อนคลายในระยะต่อไป ก่อนที่ ธปท. จะเสนอกระทรวงการคลังอนุมัติการผ่อนคลายใดๆ ธปท. จะต้องเสนอกรอบการผ่อนคลายให้กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบก่อน เช่น การผ่อนคลายการส่งเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มเติม โดยธปท.อยู่ระหว่างดำเนินการ

ก่อนหน้านี้ นางจันทวรรณ ระบุว่า ธปท.ยังคงเดินหน้าในการผลักดันแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่อง แม้ในระยะข้างหน้าประเทศไทยอาจเผชิญกับความเสี่ยงในเรื่องของเงินทุนไหลออก จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตรียมลดขนาดการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) ลง

"ต้องบอกว่า แผนมันมีความยืดหยุ่นในตัวเอง คือ ตามแผนที่เราดำเนินมา ขณะนี้กำลังเข้าสู่เฟส 2 ตามแผนบอกเอาไว้ว่า เมื่อเราเปิดแล้ว เราสามารถทบทวนก่อนจะเปิดในเฟสต่อไปได้ และการเปิดในเฟสต่อไปเรายังพอมีเวลาอยู่" นางจันทวรรณ กล่าว

แผนแม่บทของ ธปท. ไม่สร้างแรงกดดันให้เงินทุนยิ่งไหลออกอย่างแน่นอน เพราะตัวแผนมีความยืดหยุ่น อีกทั้งแม้จะมีประกาศออกไปแล้ว แต่ธปท. ยังมีอำนาจในการปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม ดังนั้นแม้สถานการณ์จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมากขึ้น ธปท. มีเครื่องมือต่างๆ เสริม สามารถนำมาใช้ในการดูแลได้

ในกรณีที่มีเงินทุนไหลออกมากๆ ธปท.มีอำนาจในการทบทวนแผนที่เคยประกาศออกไป เช่น อาจปรับลดวงเงินที่เคยอนุญาตให้นำออกไปได้เช่นกัน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแผนรับมือของธปท.

นางจันทวรรณ กล่าวว่า แผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ มีเป้าหมายหลัก เพื่อสนับสนุนการกระจายการลงทุนของคนไทย กระตุ้นการพัฒนาตลาดการเงินของไทย และสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อให้เกิดความสมดุลของเงินทุน

ส่วนวิธีการนั้น จะเน้นผ่อนคลายเกณฑ์เงินทุนขาออก โดยมีมาตรการรองรับยามฉุกเฉิน และลดความซับซ้อนของเกณฑ์และมาตรการทางการ รวมทั้งส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้คนไทย โดยเฉพาะผู้ลงทุนรายย่อย

สำหรับประโยชน์ที่ได้จากการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายมากขึ้นนั้น ในฐานะผู้ส่งเงินลงทุนจะสามารถขยายฐานการผลิต การตลาดได้ เพราะเศรษฐกิจอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตสูง กระจายเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศลงทุนโดยตรงและหลักทรัพย์อาเซียนมากขึ้น

ในฐานะผู้รับเงินลงทุนนั้น ประเทศในอาเซียนมีเงินออมส่วนเกินจำนวนมาก เป็นแหล่งเงินทุนที่มั่นคง ช่วยให้การระดมทุนของธุรกิจไทยมีต้นทุนต่ำลง การรวมตัวของอาเซียนจะดึงดูดเงินทุนจากภูมิภาคอื่นเข้าเพิ่มขึ้นได้