กสท.ถกช่อง3'ไร้ข้อสรุป' วางเงื่อนไขออนแอร์ดิจิทัล

กสท.ถกช่อง3'ไร้ข้อสรุป' วางเงื่อนไขออนแอร์ดิจิทัล

กสท.หารือช่อง3 นัดแรก"ไร้ข้อสรุป" เจรจารอบสอง18กย.นี้ "สุภิญญา"ระบุช่อง3ยอมออนแอร์คู่ขนานช่อง33

แบบมีเงื่อนไข ด้านบอร์ด กสทช.ถกปมช่อง 3 ยื่นหนังสือทบทวนมติ กสท.สั่งจอดำ โครงข่ายเคเบิล-ดาวเทียมวันนี้ ด้านเครือข่ายภาคประชาชนฯ ร้องตรวจสอบสัญญาสัมปทานช่อง 3 หวั่นขัดกฎหมาย สำนักงานฯ หารือโครงข่ายเร่งแผนขยายพื้นที่ส่งสัญญาณทีวีดิจิทัล รับโครงการแจกคูปองปีนี้ 42 จังหวัด

วานนี้ (17 ก.ย.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ประกอบด้วย พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท. และกรรมการอีก 3 คน คือ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ , พลโท พีระพงษ์ มานะกิจ และนายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ ส่วน พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า ไม่เข้าประชุม โดยแจ้งว่าติดภารกิจ

โดย บอร์ด กสท. ประชุมหารือแนวทางการออกอากาศคู่ขนานระบบอนาล็อกและดิจิทัล (simulcast) ช่อง3 อนาล็อก โดยมีผู้บริหารช่อง 3 บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ร่วมประชุมประกอบด้วย นายประวิทย์ มาลีนนท์ กรรมการ ,นายประสาร มาลีนนท์ รองประธานกรรมการบริหาร นายสุรินทร์ กฤติยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ นายฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน)

ถกนัดแรกไร้ข้อสรุป

หลังการประชุมร่วมกันประมาณ 2 ชั่วโมง พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท. กล่าวว่า การหารือร่วมกับผู้บริหารเกี่ยวกับแนวทางการออกอากาศช่อง 3 อนาล็อกคู่ขนานระบบดิจิทัล บรรยากาศการหารือเป็นไปด้วยดี เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อกัน แต่วานนี้ยัง"ไม่มี" ข้อสรุปแนวทางการดำเนินงาน โดยจะมีการหารือกันอีกครั้ง

"กสท.และช่อง 3 หารือด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน ที่จะทำประโยชน์ให้กับประชาชน และเป็นทางออกการแก้ไขปัญหาที่ดีต่อประชาชน ขอให้ทุกคนสบายใจได้ โดยยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดการหารือในห้องประชุมของทั้งสองฝ่าย" พ.อ.นที กล่าวว่า

วาง"เงื่อนไข"ออนแอร์คู่ขนานช่อง33

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสท.กล่าวว่า การหารือแนวทางการออกอากาศคู่ขนานกับผู้บริหารช่อง 3 วานนี้ ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเงื่อนไขการเจรจาได้ เนื่องจากยังไม่เป็นข้อสรุปของทั้ง 2 ฝ่าย โดยจะมีการหารือกันอีกครั้งในวันพฤหัส ที่ 18 ก.ย.นี้

ทั้งนี้ ข้อสรุปในการหารือ คือ "ช่อง 3 อนาล็อก" ยอมออกอากาศคู่ขนานกับ "ช่อง 33 เอชดี" แบบมีเงื่อนไข

สำหรับความคิดเห็นส่วนตัว มองว่าแนวทางที่ช่อง 3 เสนอให้พิจารณาเพื่อออกอากาศคู่ขนาน มีเงื่อนไขจำนวนมาก แต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ เพราะบางเงื่อนไขเสี่ยงต่อข้อกฎหมาย ,การเลือกปฏิบัติ และอาจถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ภาคเอกชน

"ช่อง3 มีเงื่อนไขเยอะในการออกอากาศคู่ขนาน จึงต้องการให้ ช่อง 3 ลดเงื่อนไขลง เพราะบางประเด็นไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจ กสท.ที่จะพิจารณาได้"นางสาวสุภิญญา กล่าว

แนวทางการหารือกับช่อง 3 ต้องการให้ได้ข้อสรุปก่อนคำสั่งจอดำผ่านโครงข่ายเคเบิลและดาวเทียมจะมีผลภายใน 15 วัน แต่หากไม่ได้ข้อสรุปร่วมกัน และช่อง3 ไม่ลดเงื่อนไขลงบ้าง ก็อาจเกิดสถานการณ์จอดำได้เช่นกัน

เครือข่ายฯชงสอบสัมปทานช่อง3

วานนี้เครือข่ายภาคประชาชนเฝ้าระวังสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ยื่นหนังสือถึง พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้บอร์ด กสทช. พิจารณาเรื่อง การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่าเครือข่ายฯ ยื่นหนังสือ เพื่อขอให้ กสทช. พิจารณาข้อกฎหมายการดำเนินงานของบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ผู้บริหารช่อง 3 ว่าเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 หรือไม่

ประเด็นหลักที่เครือข่ายฯ กล่าวหา ช่อง 3 ตามมาตรา 9 ที่ระบุว่า "ใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับใบอนุญาตจะโอนแก่กันมิได้ ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จะต้องประกอบกิจการด้วยตัวเอง การแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการให้กระทำได้ตามกหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการตามพ.ร.บ.กำหนด

โดยเครือข่ายฯ มองว่า บริษัทคู่สัญญาสัมปทาน ช่อง 3 คือ บริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด มอบหมายให้บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบกิจการแทน จึงเห็นว่าอาจขัดกับ พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ จึงขอให้ กสทช. พิจารณาในประเด็นดังกล่าว

ชงบอร์ดกสทช.หารือวันนี้

นายฐากร กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้บรรจุวาระเพิ่มเติม เพื่อให้บอร์ดใหญ่ กสทช. พิจารณาจากหนังสือของเครือข่ายฯ พร้อมนำส่งหนังสือดังกล่าวให้ กรรมการ กสทช. ทั้ง 10 คน พิจารณาล่วงหน้า

ในการประชุมบอร์ด กสทช.วันนี้ (17 ก.ย.) เตรียมการพิจารณาหนังสือ จากบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ที่ขอให้ บอร์ด กสทช. พิจารณาทบทวนมติ กสท.ใน 3 ประเด็น คือ 1. ทบทวนมติ กสท. วันที่ 8 ก.ย.2557 ที่เห็นชอบให้ออกคำสั่งทางปกครองโครงข่ายเบิลและดาวเทียมห้ามเผยแพร่ช่อง 3 อนาล็อก 2. ทบทวนมติ กสท. วันที่ 3 ก.พ.2557 ที่เห็นชอบให้ทีวีอนาล็อก รวมทั้งช่อง 3 สิ้นสุดการทำหน้าที่โทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (ฟรีทีวี) หลังจากทีวีดิจิทัล ออกอากาศครบ 30 วัน หรือในวันที่ 25 พ.ค.2557 โดย มติ กสท. ขยายเวลาอีก 100 วัน หรือสิ้นสุดในวันที่ 1ก.ย.2557

และ 3. ในช่วงที่ บอร์ด กสทช. พิจารณาหนังสือทบทวน มติ กสท. ของช่อง 3 ขอให้มีมาตรการเยียวยาให้ช่อง 3 อนาล็อก สามารถออกอากาศผ่านโครงข่ายเคเบิลและดาวเทียมต่อไป จนกว่าบอร์ด กสทช.จะมีข้อยุติในการพิจารณา มติ กสท.

"หนังสือที่เครือข่ายฯ มายื่น เป็นเพียงข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหา แนวทางการพิจารณา กสทช. ต้องตั้งคณะอนุกรรมการ ขึ้นมาศึกษาข้อมูลอีกครั้ง โดยสำนักงาน กสทช.ยืนยันว่า จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในการพิจารณาประเด็นข้อเท็จจริงต่างๆ โดยจะพิจารณาทั้งหนังสือช่อง3 และเครือข่ายฯ ไปพร้อมกัน" นายฐากร กล่าว

เล็งส่งกสท.พิจารณาสัมปทาน

นายฐากร กล่าวว่า บอร์ด กสทช. มีอำนาจตรวจสอบสัญญาสัมปทานตามกฎหมาย โดยอาจพิจารณาส่งเรื่องการตรวจสอบสัมปทานช่อง 3 ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ที่รับผิดชอบโดยตรงเป็นผู้พิจารณาข้อเท็จจริง จากนั้นให้ส่งข้อมูลการตรวจสอบให้ บอร์ดใหญ่ กสทช. พิจารณาอีกครั้ง

หากบอร์ด กสท. เคยมีการตรวจสอบสัญญาสัมปทาน ช่อง 3 มาก่อนแล้ว และหากเห็นว่าดำเนินการถูกต้องแล้ว ให้ยืนยันการตรวจสอบสัญญาที่ผ่านมา ให้บอร์ด กสทช. รับทราบอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) แจ้งรายงานผลประกอบการประจำปี 2556 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่าเป็นผู้ถือหุ้น บริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด สัดส่วน 99.99% ซึ่งเป็นผู้บริหาร ช่อง 3 และถือหุ้น 99.99% บริษัทบีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด เจ้าของใบอนุญาตโทรทัศน์ระบบดิจิทัล 3 ช่อง คือ ช่อง 33 เอชดี ช่อง3 เอสดี และช่อง 3 แฟมิลี่

ถกโครงข่ายเช็คพื้นที่แจกคูปอง

นายฐากร กล่าวว่า วานนี้ (16 ก.ย.) สำนักงาน กสทช. ได้หารือกับผู้ประกอบการโครงข่าย (Mux) ส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัล 4 ราย ประกอบด้วย ไทยพีบีเอส, อสมท, ททบ.5 และกรมประชาสัมพันธ์ ด้านความพร้อมแผนการขยายโครงข่ายรองรับโครงการแจก "คูปอง" ส่วนลดซื้ออุปกรณ์รับชมทีวีดิจิทัล มูลค่าคูปองละ 690 บาท โดยกำหนดแจกในวันที่ 10 ต.ค.นี้ รวม 21 จังหวัด เป็นพื้นที่ที่โครงข่ายส่งสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ 80%

พร้อมทั้งหารือแนวทางการขยายโครงข่ายอีก 21 จังหวัด ในล็อตที่สอง หรือจังหวัดลำดับที่ 22-42 ซึ่ง กสทช. กำหนดแจกคูปองในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ ปัจจุบันอีก 21 จังหวัดที่ กสทช.เตรียมแจกคูปองในล็อตที่สอง โครงข่ายส่งสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ ในสัดส่วน 17-60%

โดยผู้ประกอบการโครงข่ายเตรียมแผนเร่งขยายโครงข่ายในพื้นที่จังหวัดที่ 22-42 ด้วยติดตั้งสถานีส่งเสริมในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมทั้งเสนอให้ สำนักการ กสทช. แจกคูปองเป็นรายอำเภอ ที่สัญญาณโครงข่ายครอบคลุมพื้นที่ 80% แทนการแจกคูปองพร้อมกันทั้งจังหวัด

วานนี้ กรมการปกครอง ได้ตอบหนังสือมายังสำนักงาน กสทช. ว่าอนุญาตให้ใช้ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ สำหรับนำไปใช้เป็นข้อมูลแจกคูปองให้กับครัวเรือน ที่มีเจ้าบ้านและผู้อยู่อาศัย โดยสิ้นปีนี้ สำนักงาน กสทช.กำหนดแจกคูปอง 42 จังหวัด รวม 8 ล้านคูปอง

ไทยพีบีเอส-ททบ.5เร่งขยายโครงข่าย

นายฐากร กล่าวว่าโครงข่ายไทยพีบีเอส และ ททบ.5 ชี้แจ้งแล้วว่าสามารถขยายสถานีส่งหลักครบทั้ง 39 สถานีทั่วประเทศภายในเดือน มี.ค.2558 เร็วกว่ากำหนดในเดือน มิ.ย.2558 ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมพื้นที่ส่งสัญญาณ 80% ส่วนโครงข่าย อสมท กำหนดขยายสถานีส่งหลักครบ 39 สถานี ตามแผนเดิมในเดือนมิ.ย.2558

สำหรับกรณี โครงข่าย อสมท ขัดข้อง ในวันที่ 11 ก.ย.และวันที่ 14 ก.ย. ส่งผลกระทบต่อการออกอากาศทีวีดิจิทัล ระบบภาคพื้นดิน ของผู้เช่าใช้บริการ 5 ช่อง คือ ไทยรัฐทีวี สปริงนิวส์ วอยซ์ทีวี เอ็มคอท แฟมิลี่ และ ช่อง 9 เอชดี สำนักงาน กสทช.ได้เรียกโครงข่าย อสมท มาชี้แจ้งข้อมูล และให้ อสมท ทำรายงาน มาอีกครั้ง เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมบอร์ด กสท. พิจารณาในวันที่ 22 ก.ย.นี้