'ขายตรง'บูมรับเออีซีแตะแสนล้านใน2ปี

'ขายตรง'บูมรับเออีซีแตะแสนล้านใน2ปี

ส.ขายตรง เผยบริษัทข้ามชาติจ่อบุกไทย รับศูนย์กลางธุรกิจขายตรงอาเซียน เล็งมูลค่าทะลุ "แสนล้าน" ใน 2 ปี

นางภคพรรณ ลีวุฒินันท์ นายกสมาคมการขายตรงไทย (ทีดีเอสเอ) เปิดเผยภายหลังการรับตำแหน่งนายกสมาคมการขายตรงคนใหม่ว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 เป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับอุตสาหกรรมขายตรงซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูงต่อเนื่อง คาดใน 1-2 ปีข้างหน้ามูลค่าขยับขึ้นไปถึง 1 แสนล้านบาท จาก 7 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ระหว่างปี 2551-2555 ธุรกิจเติบโตเฉลี่ย 11.39% เนื่องจากการเข้ามาของบริษัทขายตรงรายใหม่ ๆ เป็นธุรกิจขายตรงหลายชั้น (MLM) มีสัดส่วน 82.7% ขายตรงชั้นเดียว (SLM) 18.9% และ รูปแบบอื่น ๆ อีก 2.5%

"จากศักยภาพและโอกาสดังกล่าว เมื่อเปิดเออีซีจะมีบริษัทขายตรงต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น ที่ผ่านมามีบริษัทจากในประเทศอาเซียนเข้ามาสำรวจตลาดบ้าง"

อย่างไรก็ดี สมาคมฯ เตรียมสานต่อแผนการจัดตั้งสมาพันธ์ขายตรงอาเซียน (ASEAN DSAs) โดยปลายปีนี้ จะมีการลงนามความร่วมมือกับสมาพันธ์ขายตรงเอเชีย เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมขายตรงในภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น

สมาคมฯ เตรียมสานต่อนโยบายต่างๆ ให้เกิดความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจเครือข่ายก้าวสู่สากลทั้งในเวทีประชาคมอาเซียน และของโลก โดยเฉพาะการผลักดันให้ธุรกิจขายตรงของไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจขายตรงของอาเซียน

หากมองโอกาสการเติบโตของขายตรงในกลุ่มเออีซีแล้ว นับจากฐานจำนวนประชากร พบว่าตลาดที่น่าสนใจมากสุด คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย มาเลเซีย ตามลำดับ แต่ถ้ามองศักยภาพของแต่ละประเทศแล้ว ไทยมีศักยภาพสูงสุด โดยตัวเลขของสมาพันธ์ขายตรงโลก ตลาดอาเซียนเติบโต 10% ยังไม่นับประเทศอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มก่อตั้ง เทียบกับขายตรงโลกที่มีการขยายตัว 5%

สำหรับภาพรวมตลาดอุตสาหกรรมขายตรงครึ่งปีหลัง จะการขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย ช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคกลับมา อีกทั้งการเข้าสู่เออีซี จะเป็นอีกแรงหนุนสำคัญต่อการขยายตัวของธุรกิจขายตรงในปีหน้า