'หัสวุฒิ'ลั่นเข้าใจปชต.ต่างกันทำให้เกิดปัญหา

'หัสวุฒิ'ลั่นเข้าใจปชต.ต่างกันทำให้เกิดปัญหา

ปธ.ศาลปกครองสูงสุด ชี้ประชาธิปไตยเป็นระบบที่ดี แต่ความเข้าใจต่างกันทำให้เกิดปัญหา

นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ต้อนรับ คณะผู้แทนศาลประชาชนสูงสุด สปป.ลาว ร่วมอบรมตามความร่วมมือ MOU ด้านกฎหมาย 21 เม.ย - 2 พ.ค. ขณะที่ ปธ.ศาลปกครองสูงสุด ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ศาลปกครองในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย” ชี้ ปชต.เป็นระบบที่ดี แต่ความเข้าใจประชาธิปไตยต่างกันทำให้เกิดปัญหา ยิ่งฝ่ายบริหารใช้อำนาจไม่ชอบตาม รธน.- กม. ต้องตรวจสอบโดยอำนาจตุลาการ

นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ให้การต้อนรับ นายบัวทอง จันทะมาลิน หัวหน้าห้องการศาลประชาชนสูงสุด ที่นำคณะผู้แทนจากศาลประชาชนสูงสุดแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ( สปป.ลาว) เข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับหลักการปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ระหว่างวันที่ 21 เม.ย. - 2 พ.ค.นี้ ณ อาคารศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักกฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง สนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในกระบวนการยุติธรรมทางปกครองของทั้งสองประเทศ ตามที่ได้ลงนามร่วมกันในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding - MOU) ว่าด้วยความร่วมมือทางด้านกฎหมาย การศาล และการบริหารงานยุติธรรมทางปกครองระหว่าง 2 ประเทศ

นายหัสวุฒิ ได้ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ"ศาลปกครองในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย" ระบุว่า ระบอบการปกครองที่ดี ระบอบหนึ่ง คือระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ยังมีความเข้าใจไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่แต่ละฝ่ายอ้างประชาธิปไตยไม่เหมือนกัน หากเข้าใจเหมือนกันคงไม่เกิดข้อพิพาท และสิ่งที่ตนพูดในวันนี้คือประชาธิปไตย ตามความเข้าใจของตน และเป็นไปตามหลักทางวิชาการ ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็คือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน หากประเทศที่มีประชากรน้อยก็ไม่มีปัญหา แต่ปัจจุบันแต่ละประเทศมีประชากรจำนวนมาก จึงต้องมีผู้แทนของประชาชนขึ้นมาเป็นผู้ใช้อำนาจดำเนินการทำตามเจตนารมณ์ทางการเมืองแทนประชาชนทุกคน ซึ่งจะต้องยึดเสียงส่วนใหญ่ในการกำหนดทิศทางการปกครองและต้องคำนึงถึงเสียงส่วนน้อยที่อาจไม่เป็นด้วย แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การปกครองเดียวกันด้วย ทั้งนี้หากเสียงส่วนใหญ่ละเลยเสียงส่วนน้อย ไม่รับฟัง ไม่ให้มีส่วนร่วม ก็จะกลายเป็นเสียงข้างมากเผด็จการ ดังนั้นเสียงส่วนใหญ่ต้องให้โอกาสเสียงส่วนน้อยในการตรวจสอบและซักถาม จึงเป็นที่มาของการแบ่งแยกอำนาจ

นายหัสวุฒิ กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย คือฝ่ายบริหารใช้อำนาจตามที่กฎหมายให้ไว้หรือไม่ เพราะฝ่ายบริหารต้องใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญ และกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นหากประชาชนเห็นว่าฝ่ายบริหารใช้อำนาจไม่ชอบแล้วองค์กรที่จะตัดสินก็คืออำนาจตุลาการ ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจได้ หากไม่มีการตรวจสอบ การให้ การใช้ การมี อำนาจของฝ่ายบริหาร ก็ไม่อาจเรียกว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้