ทุนหยวนป่วนไทย?

ทุนหยวนป่วนไทย?

จำนวนนักท่องเที่ยวจีนมหาศาลไม่ได้มีความหมายแค่รายได้เข้าประเทศ แต่ยังมาพร้อมนายทุนตี๋หมวยที่เห็นช่องรวย แต่อาจซวยผู้ประกอบการไทยหากไม่พร้อม

โอกาสทางธุรกิจบนแผ่นดินอื่น ดึงดูดชาวจีนจำนวนมหาศาลให้เข้าไปลงทุน ทั้งในธุรกิจขนาดเล็ก กลาง ไปจนถึงใหญ่ จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณอาจได้เดินเข้าไปอุดหนุนร้านโชห่วยสัญชาติจีนที่ขายของ Made in China ตั้งตระหง่านอยู่ในย่านธุรกิจของเมืองวาเลนเซีย ประเทศสเปน หรืออาจได้ลิ้มรสอาหารจีนที่ปรุงโดยพ่อครัวหน้าตี๋เป็นมื้อกลางวันที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

การปรับตัวเก่งและหัวการค้าของลูกหลานมังกรอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจของจีนไปโผล่ที่นั่นที่นี่ เติบโตจนบางทีเจ้าถิ่นก็แอบหวั่นใจ อย่างในบ้านเราก็มีหลายคนกังวลว่าทุนจีนจะเข้ามากลืนกินไทยหรือเปล่า

  • จีนกินไทย?

ความวิตกที่เกิดขึ้นในไทย ไม่ได้มีใครมโนไปเอง แต่มันมาพร้อมกับปรากฏการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดและโตต่อเนื่อง แง่ดีธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของคนไทยจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่อีกแง่หนึ่งผู้ประกอบการจีนก็เห็นช่องทางธุรกิจด้วยเหมือนกัน และพวกเขาพร้อมนำเงินหยวนเข้ามาทุ่มในธุรกิจที่สุดท้ายแล้วก็จะได้เงินหยวนของนักท่องเที่ยวบ้านตัวเองกลับไปพร้อมกับโกยเงินบาทและเงินของนักท่องเที่ยวชาติอื่นเช่นกัน

ไม่ว่าจากกระแสภาพยนตร์หรือการโปรโมทต่างๆ หลายปีผ่านมาจนปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่กลายเป็นจุดหมายของชาวจีนทั้งด้านการท่องเที่ยวและการลงทุน ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดโครงการวิจัย เรื่อง ‘การลงทุนของจีนกับผลกระทบต่อความมั่นคงทางธุรกิจท่องเที่ยวในภาคเหนือของไทย’ ภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยเน้นที่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และที่ดิน ธุรกิจสินค้าของที่ระลึก ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจโรงแรมและที่พัก เป็นต้น

อรัญญา ศิริผล หัวหน้าชุดโครงการวิจัยนี้อธิบายว่า อันที่จริงผลกระทบจากทุนนิยมมีเยอะแยะ แต่เหตุที่ต้องพูดถึงกลุ่มทุนจากจีนเพราะปัจจุบันการเคลื่อนย้ายของชาวจีนค่อนข้างมาก เกิดจากการสนธิกำลังของทุนต่างๆ อาทิ เงิน คน ความคิด ความรู้ เครื่องมือต่างๆ กับคุณสมบัติของชาวจีนที่มองว่าทุกอย่างเป็นการทดลอง ปรับเปลี่ยนได้ ลำดับต่อมาคือความยืดหยุ่นมาก มากถึงขั้นเป็นการไฮบริดระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่งได้ เรียกว่ามีศักยภาพการปรับตัวขั้นสุด

“สิ่งที่เราสนใจมากคือผลกระทบต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจท่องเที่ยว โดยจำแนกเป็นเศรษฐกิจชุมชนที่ทำท่องเที่ยวมาก่อนหน้าแล้วเกิดผลกระทบ แม้ข้อมูลปัจจุบันยังให้คำตอบชัดเจนไม่ได้ แต่สิ่งที่เข้ามาทั้งนักท่องเที่ยวจีนและผู้ประกอบการจีน ก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนจริงหรือเปล่า หรือไปทุบเขา หรือไปสร้างข้อจำกัด สร้างความขัดแย้งในชุมชน”

ในงานวิจัยพบว่ามุมมองของผู้ประกอบการไทยถือว่าผู้ประกอบการจีนในธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุคคลกลางที่ตัดราคาและได้ขายสินค้าไทย โดยไม่เสียภาษีให้รัฐในแง่การตั้งร้านค้า นอกจากนี้ค่าตอบแทนหรือกำไรจากการขายนักท่องเที่ยวก็มีอำนาจสูงในการต่อรองราคา และมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ครอบงำ

ซึ่งอาจกระทบต่อผู้ประกอบการท้องถิ่น ทั้งในมิติผู้ประกอบการธุรกิจเอง และนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มองว่าไม่ได้รับราคาที่ยุติธรรม ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่อาจติดลบ เป็นสาเหตุให้ผู้ประกอบการไทยรวมทั้งคนไทยบางส่วนเชื่อว่าจะเป็นปัญหาต่อคนท้องถิ่นที่ไม่ได้รับการอุดหนุนสินค้าและบริการมากเท่าเดิม

  • คำให้การของลูกหลานมังกร

จากแบบสอบถามนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า จำนวน 200 คน เป็นชาย 68 คน และหญิง 132 คน ในคำถามที่ว่าหากต้องการมาลงทุนด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ จะนึกถึงสิ่งใดเป็น 3 อันดับแรก ผลคือ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มนำโด่งมาที่ 280 คะแนน ตามมาด้วยธุรกิจที่พักแรม ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจสินค้าของที่ระลึก ฯลฯ ตามลำดับ

ต่อจากนี้คือคำให้การจากปากนักธุรกิจชาวจีนตัวจริงเสียงจริง...

ซ่งตาน เจ้าของร้าน MISS LIANGPI ร้านอาหารจีนในตัวเมืองเชียงใหม่ เล่าว่ามาเมืองไทยครั้งแรกตอนเป็นอาสาสมัครสอนภาษาจีนที่สระบุรี หลังจากนั้นก็หลงใหลประเทศนี้จนอยากมีธุรกิจส่วนตัวในประเทศไทย แต่ด้วยความที่สระบุรีไม่ค่อยมีคนจีนมาเที่ยว ประจวบเหมาะกับเห็นว่าในเชียงใหม่ยังไม่ค่อยมีร้านอาหารจีนแท้ๆ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของร้านนี้

“แต่กว่าจะหาทำเลได้ก็ลำบากเหมือนกัน อีกเรื่องคือการขอจดทะเบียนบริษัทเพื่อเปิดร้านอาหารต้องรอนานพอสมควร นานถึง 3 เดือน ตั้งแต่เปิดร้านมาถือว่าขายดี ซึ่งลูกค้ามาจากหลายช่องทาง บางคนดูรีวิว บางคนเพื่อนแนะนำมา จนเมื่อปี 2017 ร้านนี้ได้ถูกจัดอันดับเป็น Popular Rank จากเว็บไซต์จีน ‘ต้าจ้งเตี่ยนผิง’ “

ความตั้งใจของซ่งตานคือต้องการทำธุรกิจนี้ให้เติบโต และวางอนาคตว่าในระยะอย่างน้อย 5 ปีนี้จะลงหลักปักฐานที่เชียงใหม่ ทำร้านอาหารเป็นรายได้หลัก

ในงานวิจัยระบุว่า ผู้ประกอบการชาวจีนมองว่าการทำธุรกิจในไทยมักเจอปัญหาหลายมิติ เช่น ไม่เข้าใจเรื่องข้อตกลง การถูกหลอกลวงทั้งจีนหลอกไทยและไทยหลอกจีน จึงต้องการให้มีบริษัทตัวกลางให้คำแนะนำและช่วยเหลือการดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ไม่ต้องคาราคาซังแบบที่ซ่งตานต้องเสียเวลากว่า 3 เดือนเพียงเพื่อขอจดทะเบียนบริษัท

ด้าน เชอร์รี่ (นามสมมติ) นักธุรกิจสาวจากมณฑลเสฉวน เปิดเผยว่าธุรกิจโรงแรมของเธอเริ่มต้นจากเมื่อ 5 ปีก่อนได้มาเที่ยวเชียงใหม่แล้วประทับใจใน 3 ประเด็นหลัก คือ หนึ่ง ใกล้ประเทศจีน สอง อากาศดี และสาม คนเชียงใหม่น่ารัก อัธยาศัยดี จึงคิดว่าเมื่อจะมาพักผ่อนที่ประเทศไทยน่าจะมีที่พักของตัวเอง จึงคิดทำทำโรงแรมเล็กๆ เพื่อเป็นทั้งที่พักและเป็นธุรกิจ

“เมื่อก่อนเวลามาเชียงใหม่ก็มาพักที่นี่ ตอนนั้นมีผู้บริหารคนเดิมเป็นคนไทย พอเขาจะปล่อยให้เซ้งก็เลยเข้ามาทำต่อ”

เธอเล่าว่าการเข้ามาบริหารธุรกิจในประเทศไทยมีขั้นตอนยุ่งยากพอสมควร ตั้งแต่การขอ Work permit (ใบอนุญาตทำงาน) ขอ Work Visa (วีซ่าทำงาน) ประสานงานกับบริษัทให้คำแนะนำเรื่องการทำธุรกิจในประเทศไทย แต่หลังจากเข้ามาทำธุรกิจนี้ก็พบว่าจุดแข็งของการเป็นโรงแรมที่บริหารโดยคนจีนมีมากทีเดียว แม้จะเทียบไม่ได้กับโรงแรมหรูอื่นๆ แต่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าจีนได้ค่อนข้างดี

“มี 4 ข้อ ที่เป็นปัจจัยในการตัดสินใจของลูกค้าโดยเฉพาะชาวจีนที่เลือกมาเข้าพักที่โรงแรมเรา คือ ทำเลที่ตั้งเหมาะสมกับการเดินทางไปไหนมาไหน แบบนี้คนจีนชอบ, พนักงานส่วนมากสื่อสารภาษาจีนได้, โรงแรมนี้เปิดมานานจึงมีลูกค้าเก่าขาประจำ และการใช้ช่องทางขายออนไลน์ ซึ่งลูกค้ามาจาก booking.com มากที่สุด”

เป็นธรรมดาที่ยิ่งเป็นทุนนอกประเทศเข้ามาประสบความสำเร็จ ย่อมมีแรงต้านจากเจ้าบ้านบางรายทั้งกลัวว่าจะเสียประโยชน์และที่เสียประโยชน์เรียบร้อยแล้ว เชอร์รี่รับรู้เรื่องนี้ดี แต่กับตัวเธอยังไม่ค่อยเจอแรงเสียดทานที่ว่าในเชียงใหม่ ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เธอเลือกจังหวัดนี้เป็นฐานที่มั่น

“โดยส่วนตัวมองว่าการที่ชาวต่างชาติมาลงทุนที่เชียงใหม่ ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น มีการจ้างแรงงานคนไทย เป็นการผลักดันเศรษฐกิจประเทศไทยได้ทางหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ฉันได้ลองไปทำธุรกิจที่ประเทศฟิลิปปินส์แล้วรู้สึกว่าบรรยากาศเชียงใหม่น่าลงทุนมากกว่า”

  • ทุนไทยเอาไงดี

การขยายธุรกิจในต่างแดนของชาวจีนมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ จะมองเป็นวิกฤตก็ได้เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการลงทุนแต่ละครั้งต้องหวังผลกำไร ด้วยความที่ทุนจีนส่วนมากค่อนข้างทรงพลัง ความหวังจะต่อกรด้วยคงเป็นไปได้ยาก คนที่น่าจะได้รับผลกระทบชัดเจนสุดน่าจะเป็นผู้ประกอบการชาวไทยซึ่งมีธุรกิจทับไลน์หรือใกล้เคียงกับที่ชาวจีนมาลงทุน

ธรรมนูญ ตันชุลีพร ผู้จัดการทั่วไปโรงแรม Brique เชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์ทุนจีนรุกไทยว่า ปัจจุบันการเปิดกิจการของชาวจีนในไทย โดยเฉพาะในธุรกิจโรงแรมที่พัก ส่งผลต่อรายได้แล้วอย่างเป็นรูปธรรม แม้จะเป็นโรงแรมขนาดเล็กหรือเกสต์เฮาส์ก็ตาม แต่ก็ยอมรับว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นดีต่อเศรษฐกิจแน่นอน

“การเข้ามาทำธุรกิจโรงแรมและที่พักของชาวจีน มีทั้งเช่าต่อจากเอกชนและเข้าไปซื้อต่อกิจการก็มี หลังจากนั้นก็พากลุ่มนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการที่เขา แต่พูดตามตรงหลายแห่งไม่ได้มีใบอนุญาตที่ถูกต้อง ผมไม่มั่นใจด้วยว่าบางแห่งมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน เช่น อย่างที่กฎหมายกำลังเข้มงวดเรื่องทางหนีไฟ ถ้าเป็นโรงแรมยุคเก่าก็อาจไม่มีทางหนีไฟ แต่เหตุฉุกเฉินเกิดได้ทุกเมื่อ เราไม่รู้ว่ามาตรการความปลอดภัยเขามีแค่ไหน”

ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ใช่แค่นักธุรกิจรายย่อย แต่ปัจจุบันเริ่มมีกลุ่มทุนรายใหญ่จากจีนเข้ามาซื้อกิจการโรงแรมในเชียงใหม่บ้างแล้ว รวมถึงการจดทะเบียนบริษัทแล้วเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อปล่อยเช่า

แน่นอนว่าเมื่อแรงกระเพื่อมมากระทบผู้ประกอบการ ต้องมีความสะทกสะท้านกันบ้าง ผู้ประกอบการอย่างธรรมนูญบอกว่าอยากให้มีการจัดการจากภาครัฐ มิเช่นนั้นเค้กก้อนนี้ก็จะถูกมังกรแบ่งไปกินจนหมด

“ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์เหล่านี้มีมิติอื่นๆ ที่ได้ผลประโยชน์ต่อประเทศ แต่โดยรวมอาจจะไม่ค่อยมากเท่าไร เท่าที่คุยกันยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนเพื่อป้องกัน แม้ตอนนี้ผู้ประกอบการจีนยังไม่เยอะมาก และยังเป็นรายเล็ก กอปรกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาหลักสิบล้านคนซึ่งยังแบ่งตลาดกันพอได้ อย่างโรงแรมของเรามีลูกค้าชาวจีนมากถึง 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ ก็มีความเสี่ยงมาก

ส่วนการแก้ปัญหาจากทางเราต้องเรียนว่า การจะเข้ามาท่องเที่ยวและพักผ่อนเขาจัดการจบตั้งแต่ประเทศเขาแล้วผ่านทราเวลเอเจนซี่ ซึ่งตรงนี้หากเข้าตามระบบถูกต้องอาจมีหลายโรงแรมของคนจีนที่ยังไม่ถูกกฎหมายจนอาจจะยังเข้ามาอยู่ในระบบไม่ได้”

ถ้าส่งสารไปยังภาครัฐได้ ตัวแทนผู้ประกอบการคนนี้ก็ต้องการเพียงว่าให้รัฐดูแลผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติอย่างยุติธรรม คือ ทุกคนต้องทำถูกต้องตามขั้นตอน มิเช่นนั้น ผู้ประกอบการคนไทยที่มีใบอนุญาตถูกต้องเรียบร้อยจะมีต้นทุนแพงกว่า ในระยะยาวจะแข่งขันกับทุนต่างชาติที่แข็งแกร่งได้ยาก

ในขณะที่มีคำถามมากมายเกี่ยวกับการรุกเข้ามาของทุนจีน ท่ามกลางความหวาดระแวงต่างๆ ยังมีความจริงที่ว่า “เราหนีจีนไม่พ้นแน่นอน” เหมือนกับที่นักธุรกิจจีนอย่างเชอร์รี่ออกความเห็นว่า นักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาเที่ยวประเทศไทยอีกจำนวนมากและอีกนาน จุดเด่นของประเทศไทยทั้งค่าครองชีพ เสน่ห์ และการเดินทางมาสะดวกสบาย 

ย้อนกลับไปที่ผู้ประกอบการไทยสักหนึ่งรอบว่า จะสู้หรือจะถอย จะมองวิกฤตเป็นปัญหา หรือจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส จะเดินหนีทุนจีนหรือจะปรับตัวแล้วแข่งขันกันอย่างสุดความสามารถ

“ถ้าจะแข่งขันกันต้องแข่งขันให้สมน้ำสมเนื้อ” ธรรมนูญกล่าว

40402594_1922614344464035_1743044114087149568_o

40435415_1922614277797375_5516330350009122816_o