'เพียรหยดตาล' ความเพียรของคนทำน้ำตาลมะพร้าว

'เพียรหยดตาล' ความเพียรของคนทำน้ำตาลมะพร้าว

จุดไฟให้กับเตาเคี่ยวตาลที่ค่อยๆ ร้างไปทีละเตา ด้วยความตั้งใจของคนหนุ่มสาวที่เพียรอนุรักษ์อาชีพทำน้ำตาลมะพร้าวไม่ให้สูญหายจากชุมชนนางตะเคียน จ.สมุทรสงคราม พร้อมบทเรียนที่ต้องเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกัน

“เราตั้งชื่อกลุ่มว่าเพียรหยดตาลเพื่อสะท้อนความยากของการทำน้ำตาลและเตือนตัวเองเวลาเหนื่อยครับ และผมรู้สึกว่าการเป็นวิสาหกิจชุมชนมันก็เท่ได้ครับ”

            เอก - อัครชัย ยัสพันธุ์ หนึ่งในสมาชิกเพียรหยดตาล

เพียรหยดตาล

เพราะต้องการอนุรักษ์อาชีพดั้งเดิมของชุมชนนางตะเคียน จังหวัดสมุทรสงคราม ทำให้ เก๋ - ศิริวรรณ ประวัติร้อย และ เอก - อัครชัย ยัสพันธุ์ ก่อตั้งกลุ่ม “เพียรหยดตาล” ขึ้นมา

“เมื่อก่อนทุกบ้านทำน้ำตาลเป็นหมดครับ แต่พอช่วงปี 30 ทิศทางน้ำเปลี่ยน น้ำเค็มเข้ามาทำให้ชาวบ้านได้น้ำตาลน้อยลงเยอะมาก เพราะมันเค็มขนาดที่สามารถทำบ่อกุ้งได้เลย ชาวบ้านก็ค่อยๆ เลิกทำน้ำตาลกัน

"เตาที่เคยติดในแต่ละบ้านก็เริ่มร้างทีละเตา ทีละเตา จนตอนนี้เหลือไม่กี่เตาที่ใช้งานได้แล้วครับ และถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป สักวันภูมิปัญญาการทำน้ำตาลต้องหายไปแน่ๆ อีกอย่างคือส่วนตัวแล้ว ผมชอบกระบวนการทำน้ำตาลมะพร้าวด้วยครับ เราเลยมารวมกลุ่มกันเพื่ออนุรักษ์อาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าว แรกๆ คนในกลุ่มก็ไม่มั่นใจนะว่าการทำอินทรีย์มันจะเลี้ยงปากท้องครอบครัวเขาได้ เราเลยตัดสินใจลองพาคนภายนอกเข้ามาเรียนรู้การทำน้ำตาลมะพร้าวกันแบบทุกขั้นตอนดู ทีนี้พอผู้บริโภคได้เห็นความยากของการทำน้ำตาลมะพร้าว สิ่งสำคัญที่สุดที่เขาให้กลับมาคือกำลังใจครับ มันทำให้พวกเรารู้ว่ายังมีคนเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเราทำ จากที่เคยไม่มั่นใจก็เริ่มมีแรงขึ้นมา จากที่ตั้งใจทำอยู่แล้วก็อยากทำให้ดีขึ้นอีก ผมว่ามันเป็นการมอบคุณค่าให้กันและกันครับ”

DSC09103

สำหรับการแบ่งหน้าที่ในการทำงานนั้น เนื่องจากเก๋เป็นคนในชุมชนอยู่แล้ว จึงรับผิดชอบในส่วนของงานภายในทั้งหมดตั้งแต่การดูแลสถานที่ไปจนถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้านในกลุ่ม ส่วนเอกอาสาดูแลภายนอกในส่วนของการตลาดและประสานงานกับทุกภาคส่วนที่สนใจน้ำตาลหรืออยากมาร่วมกิจกรรมกับเพียรหยดตาล

DSC_1664

“ช่วงแรกที่เริ่มจัดกิจกรรม สิ่งหนึ่งที่ยากคือเราต้องอธิบายกับแม่ครัวว่าอย่าใส่ผงชูรส หรือซอสหอยนางรมในอาหารครับ เพราะคนมาเรียนรู้การทำอินทรีย์ แน่นอนว่าเขาก็ต้องคาดหวังจะได้กินอาหารที่ไม่ใส่สารพวกนี้ ทีแรกไม่ยอมเลย ยังไงก็ต้องใส่ให้ได้เพราะแม่ครัวไม่มั่นใจ กลัวอาหารไม่อร่อยครับ ฮ่าๆ เราก็ใช้วิธีค่อยๆ อธิบาย ค่อยๆ ตะล่อม เพราะจะให้เปลี่ยนทันทีคงเป็นไปไม่ได้ บางทีก็อาศัยลูกค้านี่แหละครับเป็นคนพูด พอได้ยินบ่อยเข้าๆ แม่ครัวก็ยอมเปลี่ยนตัวเองโดยธรรมชาติ และผลที่ได้คืออาหารก็ยังอร่อยอยู่ ทีนี้ปัญหาไม่มีแล้วครับ ฮ่าๆ”

การทำน้ำตาลมะพร้าว อาชีพที่ไม่มีวันหยุด

“กลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมแรกๆ ของเพียรหยดตาลจะเป็นคนที่สนใจการทำอาหาร ดังนั้นเขาก็จะให้ความสนใจกับรายละเอียดของน้ำตาลมากว่าเคี่ยวถึงระดับนี้ๆ รสชาติจะเป็นยังไง

B3B1D969-B307-498B-81C3-AECA595C3696

"ซึ่งการเคี่ยวน้ำตาลจะแบ่งหลักๆ เป็น 3 ระดับครับ ระดับแรกคือเดือดปกติจะเรียกว่าน้ำตาลสดที่ไว้ดื่มกันทั่วไปนั่นแหละครับ พองวดขึ้นมาอีกก็จะเป็นไซรัป - น้ำหวานดอกมะพร้าว พองวดขึ้นมาอีกก็จะเป็นน้ำตาลมะพร้าวครับ พอถึงจุดนี้จากน้ำตาลใสตอนแรก สมมติว่า 5 โล ก็จะเหลือแค่ 1 โลครับ ส่วนชื่อในการเรียกน้ำตาลมะพร้าว ก็จะแตกต่างกันไปตามภาชนะที่ใส่อีกนะครับ ถ้าใส่ปี๊ปก็เรียกน้ำตาลปี๊ป ใส่หม้อก็เรียกน้ำตาลหม้อครับ แต่น้ำตาลเราจะมีเอกลักษณ์เป็นรสเค็มนิดๆ ด้วยนะครับ

"กลับมาเรื่องผู้เข้าร่วมกิจกรรมนะครับ หลังๆ ก็จะมีกลุ่มครอบครัว กลุ่มเด็กนักเรียนเข้ามามากขึ้น เราก็ปรับกิจกรรมตามกลุ่มที่มาครับ มาคุยกันว่าจะเอากิจกรรมแบบไหนได้บ้าง ถ้าเป็นเด็กก็จะไม่เน้นอธิบายเรื่องน้ำตาลเยอะ เพราะเขาจะเบื่อ เราก็ไปเน้นที่การลงมือทำแทน เช่น การเก็บไข่ การทำอาหาร แต่ที่ชอบกันมากคือการศึกษาหนอนและแมลงในสวนครับ”

อีกหนึ่งความยาก นอกจากการที่ต้องเคี่ยวน้ำตาลท่ามกลางเตาที่ร้อนระอุตลอดเวลากว่า 2 ชั่วโมงแล้ว การขึ้นตาลก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ที่จะต้องทำทุกวันเช่นกัน

DSC_1539

“เราจะขึ้นตาลกัน 2 เวลาครับ รอบแรกตี 4 ตี 5 อีกรอบก็ 4 – 5 โมงเย็น ซึ่งรสชาติของน้ำตาลแต่ละรอบก็ไม่เหมือนกัน รอบเช้าจะอร่อยกว่า เพราะอากาศที่เย็นมีผลต่อรสชาติของน้ำตาลครับ ยิ่งถ้าเป็นช่วงหน้าหนาวยิ่งอร่อยครับ

DSC09017

"ความยากของการขึ้นตาลคือ จะหยุดไม่ได้เลย ถึงไม่สบายยังไงก็ต้องหาคนขึ้นไปปาดหน้างวดตาลไม่ให้ท่อน้ำตาลแห้งหรือตันก่อนครับ แต่ถ้าหาคนไม่ได้จริงๆ ก็ต้องปลดกระบอกปล่อยน้ำตาลใสทิ้งไป เพราะถ้าปล่อยให้น้ำตาลหยดใส่กระบอกไปเรื่อยๆ จะทำให้น้ำตาลในกระบอกเสียทั้งหมดเมื่อหมดฤทธิ์ของไม้พะยอมที่มีคุณสมบัติเป็นสารกันบูดตามธรรมชาติครับ ทีนี้ถ้าน้ำตาลบูดท่วมงวงตาลก็อาจทำให้ทั้งงวงเสียไปด้วยเลยครับ”

ขายดีจนเจ๊ง หยุดเพื่อเดินต่อ และคำสัญญาที่ให้ไว้

“หยุดจำหน่ายน้ำตาล (ชั่วคราว)” คือสิ่งที่เพียรหยดตาลบอกกับทุกคนที่ให้ความสนใจในน้ำตาลของพวกเขาทั้งที่มียอดสั่งจองน้ำตาลล่วงหน้ากว่า 2 เดือน

ขายน้ำตาล-06

“การทำงานแบบอาสากลายเป็นดาบสองคม แทนที่จะเป็นการอนุรักษ์อาชีพทำน้ำตาลของชุมชน กลับกลายเป็นว่าเรากำลังทำลายมันทางอ้อมครับ เพราะเราทำกันแบบอาสาจึงทำให้ในหลายๆ ส่วนไม่มีค่าใช้จ่ายเพราะคิดว่าช่วยๆ กัน เช่น คนขึ้นตาลที่ยอมได้เงินมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำนิดเดียว หรือเจ้าของเตาที่ไม่เคยคิดค่าเสื่อมเตาเลย และค่าการตลาดที่ไม่เคยถูกนำมาคิดรวมทำให้ฝ่ายขายเคยได้กำไรน้อยสุดคือไม่ได้อะไรเลย พอเป็นแบบนี้ราคาน้ำตาลที่ตั้งจึงไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง

"ผลของมันคือเราไม่สามารถหาคนภายนอกเข้ามาในระบบได้เลยแม้จะมีความต้องการน้ำตาลเพิ่มขึ้นขนาดไหนก็ตาม เราจึงตัดสินใจหยุดเพื่อทบทวนตัวเอง รวมถึงหาวิธีที่เป็นการอนุรักษ์อาชีพทำน้ำตาลมะพร้าวจริงๆ เท่าที่คิดกันน่าจะไม่เกินสองเดือนแล้วเราจะกลับมา

“สัญญาครับ และไม่ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร ที่สุดแล้วเราจะยึดมั่นในวิถีชุมชนและเกษตรอินทรีย์ไว้อย่างแน่นอนครับ”