9 ที่กล้า 'Akha Ama' กาแฟดี สังคมดี

9 ที่กล้า 'Akha Ama' กาแฟดี สังคมดี

เปิดสูตร(ไม่)ลับของกิจการเพื่อสังคมที่มีสารตั้งต้นคือ กาแฟ คลุกเคล้าด้วยความฝัน ปรุงรสให้เข้ากันด้วยความมุ่งมั่น พร้อมเสิร์ฟความสุขแบบอุ่นๆ ทุกวัน

กลิ่นหอมชวนตื่นของกาแฟแก้วนั้น คือบทนำการสนทนาที่เจือทั้งหวานและขม กับหนุ่มอาข่า ลี-อายุ จือปา เจ้าของแบรนด์กาแฟ Akha Ama (อาข่า อามา) ที่หลายคนอาจจะคุ้นตากันมาบ้าง วันนี้เขาเปิดโรงบ่มความสุขแห่งใหม่ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ในชื่อ ‘Akha Ama Living Factory’ อีกหนึ่งความสำเร็จบนเส้นทางสายฝันที่ปูทางไว้เมื่อ 9 ปีที่แล้ว

  1547001272360

 

ชีวิตตามฝันจากแม่จันใต้

ลี เป็นเด็กหนุ่มที่เกิดและเติบโตที่บ้านแม่จันใต้ ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ที่นั่นต้นกาแฟเป็นสิ่งที่เขาคุ้นเคยตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคยคิดว่ามันจะเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ยากลำบากของชาวบ้านได้ กระทั่งเมื่อมาเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายในหลักสูตรนานาชาติ ความฝันที่จะใช้เมล็ดกาแฟจากบ้านเกิดสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนก็เริ่มก่อตัวขึ้น

“ด้วยความตั้งใจแรกที่จะทำงานกับองค์กรการกุศล ผมก็ได้ไปทำตามฝันตั้งแต่เป็นนักศึกษาฝึกงาน ทำงานกับมูลนิธิเกื้อฝันเด็ก ทำงานกับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ผู้ลี้ภัย คนที่อยู่ตามตะเข็บชายแดน คนไร้สัญชาติ ทำเรื่องสุขภาพ เรื่องสิทธิ เรื่องการศึกษา ขณะเดียวกันช่วงนั้นเราอยากให้มีพื้นที่สำหรับชาวบ้านในการกระจายสินค้าที่เป็นกาแฟ ก็เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับความฝันอีกอันหนึ่ง เพราะเรามองว่าที่ผ่านมาปัญหาที่เจอไม่ใช่ชาวบ้านปลูกไม่ได้หรือผลิตไม่ได้ แต่ปัญหาคือไม่มีตลาด ไม่มีใครมาช่วยเรื่องตลาดให้เขา”

ลีหันมาศึกษา ค้นคว้า และทดลองด้วยตัวเองในทุกขั้นตอน จากที่ไม่เคยดื่มกาแฟเลยก็กลายมาเป็นคอกาแฟ จากที่ไม่เคยลงมือคั่วก็ต้องหากระบวนการที่เหมาะสมที่สุดเพื่อดึงรสชาติที่ดีที่สุดออกมาให้ได้ และเพื่อให้กาแฟแม่จันใต้ได้รับการยอมรับ เขาส่งเมล็ดดิบไปให้องค์กาแฟนานาชาติทดสอบ จนได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในกาแฟชนิดพิเศษที่ใช้ในงานชิมกาแฟระดับนานาชาติ ไม่นาน...แบรนด์ อาข่า อามา ก็สามารถแนะนำตัวกับสังคม ซึ่งตอนนั้นเขาอายุยังไม่ถึง 25 ปีด้วยซ้ำ และในวันนี้ 7 ปีหลังจากที่ ‘จุดประกาย’ เคยสัมภาษณ์ลีเป็นครั้งแรก เขายังยืนยันที่จะเดินตามฝันบนเส้นทางเดิม คือการใช้กาแฟเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการในท้องถิ่น เปลี่ยนชีวิตลูกหลานของคนปลูกกาแฟให้ดีขึ้น

“หลายปีที่ผ่านมาเป็นประสบการณ์ที่ถือว่าเป็นบทเรียนที่ดี ปีแรกเรามีออฟฟิศ มีร้านกาแฟเล็กๆ ปีที่สองเราก็หวังว่าจะเอาทุนคืนได้จากที่เราลงทุนไป ปีที่สามเริ่มคิดว่าจะเก็บออมเพื่อขยายกิจการ ในปีที่สี่เราก็ทำได้ตามเป้า เพราะเรามีความตั้งใจและมีแผน คนอาจจะมองว่าเราเดินมาเหมือนไม่มีอุปสรรคเลย แต่จริงๆ เราเป็นคนที่คิดมาก เป็นคนที่วางแผน เพราะเราไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีอันจะกินอะไร เรามาจากครอบครัวเล็กๆ ฐานะก็ไม่ได้ดี โดยเฉพาะเรื่องเงินเรื่องทุนเรามีน้อยมาก”

ทุนน้อยแต่หัวใจใหญ่ พาเขาเดินมาไกลจากจุดเริ่มต้นมาก แต่ไม่เคยมีสักวันที่จะไม่หันหลังกลับไปมอง บ้านแม่จันใต้ยังเป็นฐานที่มั่น ขณะที่ธุรกิจในฝันต่อยอดออกไปเรื่อยๆ แม้จะออกตัวว่าไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดด หรือมีกำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่ถ้าใช้ความคาดหวังแต่แรกเป็นตัวชี้วัด ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของ ‘อาข่า อามา’ คือ ก้าวที่กล้าของ ‘อายุ จือปา’ คนนี้

  1547001272481

 

กาแฟแบรนด์ไทยใส่ใจโลก

กลิ่นเปลือกส้มบางๆ กับรสหวานของน้ำผึ้งติดปลายลิ้น คือเสน่ห์ของ ‘มานี มานะ’ กาแฟซิกเนเจอร์ที่ อาข่า อามา ภูมิใจนำเสนอ

ลีบอกว่า เขาเลือกใช้กาแฟที่ปลูกในประเทศทั้งหมด ส่วนใหญ่มาจากเชียงรายและแม่ฮ่องสอน เพราะต้องการให้กาแฟไทยมีที่ยืน

“อันนี้ไม่ใช่หยิ่งนะ การที่เราเน้นกาแฟไทย เราอยากหนุนเสริมให้กาแฟไทยมีที่ยืน ให้เติบโต ให้รู้ว่ากาแฟไทยก็มีคุณภาพ ถามว่ากินกาแฟนอกได้ไหม เราไม่ว่าหรอก แต่ลองกินกาแฟไทยดูสิ มันทำให้มีความสุขร้อยเท่า ลองกินดูสิมันทำให้คนที่อยู่เมืองไทยมีโอกาสขึ้นอีกร้อยเท่า มันทำให้เราตื่นมาทุกวันแล้วมีความสุขว่าเราได้มีโอกาสหนุนเสริมสังคมให้ดีขึ้น”

และเพราะเป้าหมายคือ ‘สังคมที่ดีขึ้น’ ไม่เพียงเมล็ดกาแฟเท่านั้นที่เขาเลือกสรร แต่ทุกองค์ประกอบในร้านกาแฟแห่งนี้ก็ถูกคัดสรรด้วยความตระหนักในเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม

ลี หยิบหลอดสแตนเลสจากแก้วขึ้นมา ก่อนจะเล่าถึงสิ่งที่เขาคิดว่า “เราเก็บเกี่ยวจากโลกนี้ไปเยอะแล้ว อะไรที่ทำให้คนรู้สึกว่าใช้อันนี้ก็ได้นี่นา มันล้างได้ ใช้ซ้ำได้ ผมว่านี่คือการปลูกฝังอย่างหนึ่ง อีกร้อยปีอาจจะทำให้ทุกคนใช้แบบนี้ก็ได้ ไม่รู้ แต่ต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ แบบนี้”

ไม่ใช่แค่เรื่องเล็กๆ อย่างหลอด เขายังให้ความสำคัญกับต้นไม้ใบหญ้า ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ภายในร้าน เลยไปถึงการให้ส่วนลดสำหรับคนที่นำแก้วหรือกระบอกมาใส่กาแฟด้วย

“เมื่อก่อนมาอยู่นี่แห้งแล้ง ผมก็ปลูกต้นไม้ คนแถวนี้หาว่าบ้า ซื้อที่มาปลูกต้นไม้ พอสร้างโรงงานเขาถามว่านี่เป็นโรงแรมเหรอ ทำไมโรงงานทำสวยจัง คือผมคิดว่าคนที่อยู่กับเราต้องมีความสุขไปพร้อมกับสิ่งที่เรารังสรรค์ขึ้นมา ทำกาแฟชาวบ้านก็ต้องมีความสุข น้องๆ ที่มาชงกาแฟก็ต้องมีความสุข คนกินกาแฟก็ต้องมีความสุข นี่คือโมเดลของธุรกิจเลย นี่เป็นตัวตนของอาข่า อามา มันไม่ได้เกิดจากการรู้ทุกอย่างแล้วมาทำเลย ค่อยๆ ปะติดปะต่อ วันนี้ทำได้เท่านี้ พรุ่งนี้ก็อาจจะมีสิ่งที่เราทำได้อีก”

  1547001272461

 

กำไรคือความสุขมวลรวม

ไม่ใช่แค่กลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของกาแฟเท่านั้นที่กระตุ้นสมองและความรู้สึก แต่บรรยากาศและเรื่องราวของอาข่า อามา ทำให้กาแฟแต่ละแก้วเติมความกระปรี้กระเปร่าได้เกินฤทธิ์ของคาเฟอีน

“เราทำกาแฟแบบสามัญชน ธรรมดา ธรรมชาติให้มากที่สุด แล้วก็ให้คนเข้าถึงได้ง่ายที่สุด แต่กาแฟทุกแก้วที่เราเสิร์ฟต้องตอบได้ว่าปลูกที่ไหน ใครเป็นคนปลูก ถ้าเราเป็นคนกินก็คงรู้สึกดีที่ได้รู้ว่านายคนนี้ปลูก ปลูกที่ไหน ปลูกอย่างไร ถ้าอยากไปดูก็ไปได้ ทุกวันนี้ก็มีคนไปดูไร่กาแฟที่แม่จันใต้เรื่อยๆ มันทำให้รู้สึกว่าไม่ใช่อะไรที่อยู่ไกลจนเขาแตะไม่ได้ แล้วคนที่มากินกาแฟเขาไม่ได้มากินเพราะกาแฟเราดีอย่างเดียว แต่เขารู้สึกสบายใจว่ามาที่นี่แล้วจรรโลงใจ ได้เจอเพื่อนๆ ได้เจอบาริสต้าที่คอยแนะนำ ได้เห็นกระบวนการทำงาน บางคนไม่ได้กินกาแฟ ถามว่ามาเดินเที่ยวได้ไหม ได้ มาเลย”

เพราะเป้าหมายของ Akha Ama Living Factory หรือโรงงานมีชีวิตแห่งนี้ คือการส่งต่อแรงบันดาลใจ สิ่งที่อยากสื่อสารจึงง่ายๆ แค่ว่า “ขอให้ทุกคนที่กลับไปมีคำถามกับตัวเองว่า ฉันจะไปทำอะไรต่อ...”

และถ้าใครคิดถึงธุรกิจร้านกาแฟ ลี บอกว่าเขาไม่ใช่นักขายฝัน ความจริงที่ควรรู้ก็คือ มันไม่ใช่เรื่องง่าย

“ถ้าอยากมีร้านกาแฟอย่างเดียวโดยที่ไม่มีแก่น ไม่ต้องเปิดครับ แค่คิดจะเปิดก็เจ๊งไปแล้ว ไม่ใช่ว่าฉันมีร้านกาแฟของตัวเอง ถ่ายรูปลงอินสตาแกรมแล้วจะรุ่ง พรุ่งนี้ร้องไห้แน่นอน เพราะสิ่งที่เห็นจากร้านกาแฟมันมีแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ อีก 80 เปอร์เซ็นต์ที่คนไม่เห็น มันคือความรู้ คือทักษะ คือการวางแผน คือการจัดการ คนมักจะคิดว่าฉันทำได้ คุณมีเครื่องบดฉันซื้อเครื่องบดได้ คุณมีเครื่องชงฉันซื้อเครื่องชงได้ พวกนี้คือเจ๊งก่อน แต่ถ้าเป็นคนที่มีแก่นมีแผนเขาจะค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ เรียงลำดับว่าต้องทำอย่างนี้ก่อน ทำอย่างนั้นทีหลัง อย่างนี้จะเจริญ อันนี้ผมพูดจากประสบการณ์ล้วนเลยนะ”

กลยุทธ์ทางการตลาดอาจ’ใช่’สำหรับคนอื่น แต่สำหรับหนุ่มอาข่าคนนี้ คุณภาพและคุณค่า คือสิ่งที่ใช้มัดใจลูกค้า ก่อนจะคืนกลับมาเป็นกำลังใจให้กับคนทำ

“ผมถามตัวเองเสมอ สิ่งที่เราทำมันสร้างผลกระทบที่ดีให้แก่สิ่งแวดล้อม ให้กับสังคมไหม เราขายดีแล้วทำให้ชาวบ้านอยู่ดีขึ้นไหม เราขายดีแล้วทำให้ชาวบ้านทำกาแฟให้ดีขึ้นได้ไหม ทำให้การศึกษาในชุมชนดีขึ้นไหม คนมีอันจะกินขึ้นไหม อันนี้ต่างหากที่ควรจะมอง ไม่ใช่ว่าผมทำร้านกาแฟขึ้นมา แบรนด์ดังเลย มันแค่เปลือกไง แต่แก่นของมันคืออะไร ทำให้ชาวบ้านมีกำลังใจ เด็กๆ คนรุ่นใหม่บนดอยมีความหวัง คนตัวเล็กๆ ที่เกิดในชุมชนรู้ว่าเขาสามารถทำอะไรได้มากมาย” 

สำหรับคนหนุ่มเจ้าของกิจการเพื่อสังคมที่ถือเป็นโมเดลของใครหลายคน กำไรคือความสุขไม่ใช่แค่วาทกรรมสวยๆ  และไม่ใช่แค่ดอกผลที่งอกเงยในบัญชีส่วนตัว แต่หมายถึงการพาคนใกล้ชิด คนในชุมชน คนร่วมสังคม...ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

“อยากที่ผมเคยบอกกับทุกคนตั้งแต่วันแรกว่า เราทำมาหากิน เราต้องดูแลตัวเอง ดูแลปากท้อง แต่ทำอย่างไรให้สิ่งที่เราทำมันสร้างผลกระทบที่ดีให้สังคมได้ อันนี้คือเป้าหมายใหญ่ๆ แต่ทีนี้เราต้องสร้างบนพื้นฐานของระบบที่ไม่ใช่เขาอยู่ได้เพราะเรานะ เขาต้องอยู่ได้เพราะเขาพัฒนาตัวเอง แล้ววันหนึ่งถึงแม้จะมีเราหรือไม่มีเรา เขาก็อยู่ได้

นี่คือสิ่งที่ทำให้เราต้องการสร้างคนรุ่นใหม่ ดึงลูกหลานของคนที่ปลูกกาแฟให้มาทำงานกับเรา มันคือวิธีการที่มองแล้วว่าวันหนึ่งถึงแม้เขาจะจากตรงนี้ไป ไปอยู่ที่ไหนเขาก็จะมีเมล็ดพันธุ์ที่เติบโตในใจ นี่ต่างหากเป็นสิ่งที่สวยงาม”

จะมีสักกี่ครั้งที่การดื่มกาแฟทำให้เราอิ่มเอม ลี- อายุ จือปา ไม่ใช่บาริสต้าระดับโลก ไม่ใช่เจ้าของธุรกิจกาแฟยักษ์ใหญ่ ไม่ใช่แม้แต่คนปลูกกาแฟโดยอาชีพ แต่หนุ่มวัย 33 ปีคนนี้มีความฝันที่ตั้งต้นจากกาแฟ และใช้ความตั้งใจดีหล่อเลี้ยงความฝันนั้นให้ดำเนินต่อไปในโลกของความเป็นจริง ซึ่งมาถึงวันนี้คนอื่นอาจมองว่าเป็นความสำเร็จ แต่สำหรับเขา...

“ความฝันเราโตขึ้น จากคำว่า Social ก็กลายมาเป็น Social Enterprise จากกิจการมาเป็นกิจการเพื่อสังคม เพราะฉะนั้นชีวิตผมไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย มันมีแค่โตขึ้น ความฝันของผมโตขึ้นจากจุดเล็กๆ ที่เราอยากมีความสุขที่พูดภาษาไทยได้ก็พูดได้ อยากพูดภาษาอังกฤษให้ได้ก็พูดได้ อยากทำเพื่อสังคมก็ได้ทำ อยากทำกาแฟก็ได้ทำ ผมมีความสุขมาก”