แง่มุมน่ารู้เกี่ยวกับพายุโซนร้อน ‘ปาบึก’

แง่มุมน่ารู้เกี่ยวกับพายุโซนร้อน ‘ปาบึก’

พายุหมุนเขตร้อน เหตุการณ์แรกในรอบ 68 ปี ที่เกิดขึ้นในเดือนมกราคมและในประเทศไทย

พายุโซนร้อน ‘ปาบึก’ ที่ขึ้นฝั่งที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันศุกร์ที่ 4 มกราคม มีแง่มุมสำคัญที่ควรสนใจหลายอย่าง (ตามที่เคยได้ให้ข้อมูลไว้แล้ว) แต่ยังมีข้อมูลสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่คิดว่าน่าเน้นย้ำและบันทึกไว้ดังนี้ครับ

ประเด็นแรก: นับเป็นครั้งแรกที่เดือนมกราคมมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย
ข้อมูลสถิติพายุหมุนเขตร้อนของศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าในช่วงปี พ.ศ. 2494-2560 (67 ปี) เดือนที่ไม่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยเลย ได้แก่ มกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม

ทั้งนี้หากคิดรวมข้อมูลพายุในปี พ.ศ. 2561 ด้วย ข้อสรุปที่ได้ก็ยังคงเป็นเช่นเดิม
แต่เมื่อพายุโซนร้อน ‘ปาบึก’ เคลื่อนเข้าสู่ประเทศ วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2562 ข้อสรุปจึงเปลี่ยนไป เพราะนี่คือ เหตุการณ์แรกในรอบ 68 ปีที่เดือนมกราคมได้มีพายุหมุนเขตร้อนเข้ามาในบ้านเรา

กราฟ-สถิติพายุหมุนเขตร้อน-รายเดือน การที่พายุหมุนเขตร้อนเข้าสู่ประเทศไทยในเดือนมกราคมเป็นเรื่องสำคัญ ในเชิงวิชาการ ควรมีการตรวจสอบสาเหตุ (เช่น เหตุการณ์นี้บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือไม่) ส่วนในเชิงการจัดการ ควรมีการให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน และการเตรียมพร้อมในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ เพื่อรับมือผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อนให้ทันท่วงที

ประเด็นที่สอง: หากพิจารณาบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกทางแถบตะวันตกเฉียงเหนือ พบว่า ‘ปาบึก’ เป็นพายุโซนร้อนที่ก่อตัวขึ้นเร็วที่สุด เพราะยกระดับจากพายุดีเปรสชันกลายเป็นพายุโซนร้อนในวันแรกของปี คือวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562

น่ารู้ด้วยว่าในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกทางแถบตะวันตกเฉียงเหนือนี้) พายุดีเปรสชันได้ยกระดับเป็นพายุโซนร้อนอลิซ (Tropical Storm Alice) เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1979 (พ.ศ. 2522) ด้วยเช่นกัน โดยในอีก 4 วันต่อมา คือวันที่ 5 มกราคม พายุอลิซลูกนี้ได้ทวีกำลังแรงขึ้นกลายเป็นพายุไต้ฝุ่น

ประเด็นที่สาม: ช่วงเดือนธันวาคม พายุหมุนเขตร้อนที่เข้าสู่ประเทศไทยผ่านอ่าวไทยและขึ้นฝั่งทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก

ภาพแสดงเส้นทางพายุหมุนเขตร้อนจานวน 9 ลูกที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในเดือนธันวาคม (ข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494-2560) มีข้อสังเกตว่า พายุที่เข้ามาใกล้ปลายปีมากที่สุด คือ พายุดีเปรสชันคิท (Kit) ซึ่งขึ้นฝั่งทางภาคใต้ของไทยเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2517

พายุหมุนเขตร้อนเข้าไทย-ธันวาคม ประเด็นที่สี่: กระแสตื่นตัวอย่างมากเกี่ยวกับพายุโซนร้อน 'ปาบึก' ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่พายุลูกนี้มีกำลังแรงในระดับเดียวกับพายุโซนร้อนแฮเรียต และขึ้นฝั่งในบริเวณใกล้เคียงกัน

พายุโซนร้อนแฮเรียตขึ้นฝั่งที่แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2505 และสร้างความเสียหายอย่างหนักจนเป็นที่จดจำและมีการสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ ตะลุมพุก มหาวาตะภัยล้างแผ่นดิน ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2545

TS Harriet 1962 track (ภาพเส้นทางการเคลื่อนที่ของพายุโซนร้อนแฮเรียต)

ประเด็นที่ห้า: การพยากรณ์เส้นทางพายุจากแหล่งข้อมูลต่างๆ มีความคลาดเคลื่อนมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

เนื่องจากเส้นทางการเคลื่อนที่ของพายุหมุนเขตร้อนขึ้นกันปัจจัยหลายอย่าง เช่น สนามของลมโดยรอบพายุหมุน ความกดอากาศที่อยู่ใกล้เคียง การเลื่อนบีตา และลมเฉือน เป็นต้น ดังนั้นการพยากรณ์เส้นทางจึงเกิดความคลาดเคลื่อนได้ (อาจจะมากในบางกรณี) ในปัจจุบันการพยากรณ์มักจะทำล่วงหน้าราว 3 วัน

2019-01-04-TS Pabuk-Track Forecast-HongKongObs (ภาพการพยากรณ์เส้นทางการเคลื่อนที่ของพายุ โดย Hong Kong Observatory
ที่มา > http://www.hko.gov.hk/wxinfo/currwx/tc_gis_e.htm)