'ศรชัย พงษ์ศา' ผีในเมือง

'ศรชัย พงษ์ศา' ผีในเมือง

จากผีเมืองสู่ศิลปิน...หนุ่มเชื้อสายมอญที่ใช้ศิลปะและการศึกษาฝ่าฝันอุปสรรคจนได้รับสัญชาติไทย

“ผมอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ และความรู้สึกนั้นก็ผลักดันให้ผมทำอะไรที่คนอื่นมองว่ายุ่งยาก” ศรชัย พงษ์ศา พูดตอนหนึ่งในร้านกาแฟ ละแวกมหาวิทยาศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

คำว่า ‘ชีวิตที่ดี’ คงเป็นคำที่ต่างคนก็ต่างคำนิยาม เช่นเดียวกับเรื่องของ ‘ความดี’ ที่แต่ละคนก็มีมาตรฐานในแต่แบบ หากวันนั้นเขาเล่าความทรงจำในวัยเด็กที่พาตัวเองขวนขวาย ดิ้นรน มุ่งหาชีวิตที่ดีกว่า เริ่มตั้งแต่การเป็นลูกแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทย ชีวิตส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามแคมป์คนงาน ทำงานหนักแต่เด็ก มีข้าวคลุกน้ำมันโรยเกลือเป็นอาหารประทังชีวิต

“เราอยู่รวมกันในห้องสังกะสี ห้องหนึ่งอยู่กันประมาณ 4-5 คน ตอนเช้าต่างคนก็ต่างไปทำงาน ตกเย็นก็มุมใครมุมมัน ผมมีเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เขาเป็นลูกคนงานเหมือนกัน คนคนนี้เรียนหนังสือดีกว่าผมด้วยซ้ำ แต่เขาก็ไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม เรียนไปก็ไม่มีบัตร มาโรงเรียนก็ถูกเพื่อนล้อ เขาจึงเลือกทำงานอย่างเดียว และถึงวันนี้เขาก็ยังเป็นแรงงานอยู่ เจอคนจ้างดีก็ดีไป ถ้าไม่ใช่ก็ถูกเบี้ยวค่าแรง” ศรชัย ศิลปินจัดวาง อดีตแรงงานข้ามชาติ เล่าให้ฟังถึงวรจรชีวิตที่เขาคุ้นเคย

สภาพแคมป์คนงานก่อสร้างที่เขาเคยอาศัยอยู่

แรงงาน(ไม่)ไทย ไม่สบายดี

ในงานวันผู้ย้ายถิ่นสากลปี พ.ศ. 2561 (International Migrants Day 2018) เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ ระบุข้อมูลตอนหนึ่งว่า นโยบายการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ตามมติคณะรัฐมนตรีทำให้มียอดแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมายจำนวนทั้งสิ้น 1,187,803 คน

อย่างไรก็ตามยังมีข้อกังขาในเรื่องการจัดการศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จที่มีสภาพความแออัด นอกจากนั้นยังพบว่ามีการเสนอตัวเลขแรงงานที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการพิสูจน์สัญชาติที่ไม่ตรงกัน และรัฐบาลไม่สามารถยืนยันได้ว่ากลุ่มเป้าหมายของจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ต้องผ่านการพิสูจน์สัญชาติแท้จริงเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งความไม่ชัดเจนในการนำเสนอตัวเลขของรัฐบาล ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าอาจมีแรงงานข้ามชาติที่ตกหล่นและยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติมากถึง 811,437 คน

ย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน ศรชัยก็เป็นหนึ่งในครอบครัวแรงงานต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย เขาเล่าว่าตนและพี่น้องเกิดในประเทศไทยทั้งหมด แต่พื้นเพครอบครัวเป็นคนมอญที่อยู่ในเมียนมา โดยพ่อหลบหนีมาตามสันเขาชายแดน มาอาศัยอยู่ที่อำเภอสังขละบุรี ก่อนย้ายถิ่นฐานมาที่อำเภอไทรโยคน้อย และอาศัยร่วมกับชนกลุ่มน้อยคนอื่นๆ ที่เข้ามาประเทศไทยเช่นกัน

“พ่อผมเป็นคนมอญ เข้ามาในไทยในปี ค.ศ. 1979 ตอนนั้น รัฐเข้ามาควบคุมรายได้ชนกลุ่มน้อย พ่อรู้สึกว่าทนอยู่สภาพสังคมแบบนั้นไม่ได้ เลยตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้า หนีตามเพื่อนๆ โดยอพยพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ แล้วก็เริ่มย้ายเข้ามาจากด่านเจดีย์สามองค์ไปไทรโยคน้อย ผมเกิดที่หมู่บ้านชาวมอญ ด้วยหมอตำแยประจำหมู่บ้านชื่อป้าราตรี”

“จำได้ว่าตอนเด็กอยู่กับชุมชนผู้อพยพ เป็นแคมป์ของคนที่อพยพมาด้วยกัน ในนั้นมีทั้งกะเหรี่ยง พม่า มอญอยู่ด้วยกัน เหมือนสลัม ชุมชนแออัด ด้านหลังมีน้ำเน่า อยู่แต่ในนั้นไม่ได้ออกไปไหน คนที่อยู่ก็ต่างหาช่องทางทำงาน ไปก่อสร้างบ้าง ไปรับจ้างทำไร่บ้าง จำได้ว่าพี่สาวเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 10 ขวบ บางครั้งทำงานมาเป็นอาทิตย์แล้วไม่ได้เงิน เพราะถูกเขาโกงก็มี”

โชคดีหน่อยที่ศรชัยยังได้เรียนหนังสือพ่วงกับช่วยพี่สาวทำงานขุดมันสำปะหลัง แม้จะไม่เคยได้เรียนเต็มสัปดาห์เพราะต้องแบ่งเวลามาทำงาน แต่ก็ยังไม่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ จุดเปลี่ยนคือเขาย้ายจากจังหวัดกาญจนบุรี มาที่จังหวัดสมุทรสงคราม ทำงานในโรงงานน้ำมันมะพร้าว และย้ายมาเรียนในโรงเรียนเล็กๆ ที่นักเรียนส่วนใหญ่ก็บุตรหลานของคนในโรงงาน

“เถ้าแก่รู้จักกับโรงเรียน แล้วนักเรียนก็น้อย ไม่ใช้เอกสารอะไรมาก เขาเลยให้เรียน ผมชอบโรงเรียนเกือบทุกอย่างเพราะคุณภาพชีวิตที่โรงเรียนดีกว่าที่บ้านมาก อาหารของโรงเรียนที่เพื่อนบอกว่าไม่อร่อยแต่สำหรับเรามันดีมาก เพราะได้กินข้าว มีกับข้าว ได้นั่งบนเก้าอี้ มีโต๊ะให้ทำการบ้าน”

“ เพื่อนๆ ก็จะล้อว่าเราเป็น ‘เด็กดอย’ เพราะรู้ว่าเราไม่ใช่คนไทยแต่มันก็ไม่แย่นะ เพราะเราก็ยังเด็ก เพื่อนก็เด็ก แต่ที่แย่คือวันหนึ่งมีตำรวจชายแดนมาอบรมเรื่องยาเสพติดที่โรงเรียน แล้วช่วงหนึ่งเขาก็พูดขึ้นว่า “ไหน…ใครไม่ใช่คนไทยให้ลุกขึ้นมาข้างหน้า” ซึ่งพอพูดจบทั้งห้องก็เงียบ และทุกคนมองมาที่เรา เราก็รู้สึกว่าแรงกดดันทำให้เราต้องไปแสดงตัว พอเราออกไป เขาก็ดึงคอเสื้อ แล้วบอกว่า “ไอ้พ่อแม่คนพวกนี้แหละ คือคนที่เอายาบ้ามาขายลูกหลานพวกเรา” เหตุการณ์วันนั้นมันทำให้เราอาย เพื่อนก็ไม่กล้าจะคุยกับเรา บางคนก็ล้อเรา หาว่าเป็นคนเถื่อน เป็นต่างด้าว ไอ้ขายยา รู้สึกเสียใจมาก โกรธมาก เพราะพ่อแม่เราก็ไม่ได้ทำแบบนั้น ตั้งแต่นั้นมาเราก็ไม่ชอบที่จะไม่เปิดเผยตัวตนกับใคร”

วิถีชีวิตคนงานก่อสร้าง_1

ชีวิตเปลี่ยนด้วยการศึกษา

ระหว่างเรียนอยู่ชั้นมัธยมฯ เขายังคงทำงานแบกมะพร้าวในโรงงาน แลกกับการได้ค่าแรงมาเป็นค่าอาหาร และยิ่งโตขึ้นเอกสารสำคัญก็ยิ่งจำเป็น ในขณะนั้นศรชัยใช้บัตรคนต่างด้าวเป็นเอกสารยืนยันตัวตนมาตลอด แต่นั่นก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาได้รับโอกาส ได้รับทุนการศึกษาต่างๆ ทั้งที่มีความสามารถ โดยเฉพาะการวาดรูปที่เขามักจะได้รับรางวัลชนะเลิศมาโดยตลอด

“พอชนะก็ได้ชื่อเสียง กลายเป็นที่รู้จักในชุมชน ใช้การวาดรูปดันตัวเองมาเรื่อยๆ ได้เงินรางวัลก็เก็บออมไว้ใช้เรียน จนกระทั่งครั้งหนึ่งเราลองส่งผลงานในระดับประเทศ ได้รางวัลจากสมเด็จพระเทพฯ ทำให้โรงเรียนเป็นที่รู้จักระดับจังหวัด ถูกแนะนำปากต่อปากว่าเป็นเด็กต่างด้าววาดรูปเก่งที่อยากได้บัตร เริ่มมีคนอยากช่วยเหลือ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ”

วันหนึ่งมีใบปลิวที่บอกว่ามหาวิทยาลัยศิลปากรกำลังรับนักศึกษาใหม่ ซึ่งวิธีการหนึ่งคือการสอบตรง และยื่นผลงาน ทำให้เราสอบติด ได้รับคัดเลือกเข้าไป จนกระทั่งวันสอบสัมภาษณ์ เขารู้ว่าเราไม่ใช่เด็กที่มีสัญชาติไทย จึงเรียกเข้าไปคุย อาจารย์ท่านหนึ่งเขาเสนอว่า ให้เรียนไปก่อนแล้วระหว่างนั้นให้ไปทำเรื่องมา เราทำมาเรื่อยๆ

“เรื่องการอยากมีเอกสารสำคัญเป็นสิ่งที่ครอบครัวผมทำมาตลอด ในอดีตต้องจ่าย 5,000 บาทให้กับนายหน้า เพราะเชื่อว่าจะได้เอกสาร โดยที่ไม่รู้เลยว่าถูกเขาหลอก เงินที่จ่ายไปแต่ละเดือนสูญเปล่า จนกระทั่งเมื่อได้เรียนมหาวิทยาลัยเริ่มมีเค้าลางมากขึ้น ช่วง 1-2 ปี ที่ได้เข้ามหาวิทยาลัย ระหว่างนั้นผมเดินทางบ่อยมาก ต้องไปสมุทรสงคราม ไปกาญจนบุรีเพื่อหาหลักฐาน หาพยานที่จะมายืนยันตัวตนจริงๆ ว่าเราเข้าข่ายการขอสัญชาติ เหมารถไปไม่รู้กี่เที่ยว ไปหาคนที่ยืนยันในช่วงที่เราเกิด ไปตามหาผู้ใหญ่บ้าน หมอตำแย หาครู ทำอยู่แบบนี้มานานจนเหนื่อย ช่วงนั้นไม่คิดอะไรแล้ว ขอให้ได้ทำทุกอย่างที่มีช่องทาง เคยมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเขาคิดว่าเราเข้าข่ายพิจารณาขอสัญชาติ ตามพ.ร.บ. แต่ก็ไม่กล้าทำเรื่องให้เพราะกลัวจะโดนคนอื่นหาว่ารับเงินมาช่วยเหลือ”

 “จำได้ว่าตอนอยู่ปี 2 เทอม 2 วันนั้นเรานั่งเรียนวิชาปั้นอยู่ ก็มีโทรศัพท์โทรเข้ามา เป็นอำเภอที่สมุทรสงคราม เขาบอกให้มาปฏิญาณตนว่าเป็นคนไทย เราดีใจมากวันนั้น วันที่เขานัดก็ไปอำเภอ เขาให้เข้าไปในห้อง ให้เราร้องเพลงชาติ ปฏิญาณตนว่าต่อไปนี้จะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แล้วก็ลงไปถ่ายรูป ตอนที่เห็นบัตรของตัวเอง มันเป็นความรู้สึกที่ยากจะบรรยาย ถ่ายรูปส่งให้ที่บ้าน”

“สำหรับคนต่างด้าว การพูดถึงเรื่องทำเอกสารเป็นอะไรที่ยาก วุ่นวาย บางคนล้มเลิกเพราะไม่อยากเสียเวลาทำมาหากินมาทำเรื่อง แต่เพราะผมอยากหลุดพ้นจากตรงนั้น เลยมีแรงผลักดันทำในสิ่งที่คนอื่นมองว่ายุ่งยาก”

ศิลปินผีในเมือง

 ทุกวันนี้ ศรชัยเรียนจบปริญญาโทที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นศิลปินจัดวางอิสระที่ผลงานโดดเด่น ทั้งยังได้รับทุนไปแลกเปลี่ยนในหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี

ผลงานของเขาที่ชื่อ ‘ผีมอญ’ ได้รับทุน Mobility funding ไปแสดงงานที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งเขาบอกว่า เป็นงานที่สะท้อนถึงความเชื่อของคนมอญที่ทุกตระกูลจะมีผีประจำตระกูล เพราะแต่ละตระกูลนับถือสัญลักษณ์ผีประจำตระกูลของตนแตกต่างกันไป ต้องมีกราบไหว้ แสดงความนับถือเป็นประจำทุกปี ในอีกแง่หนึ่งคือการกลับมาพบกันของครอบครัว และการนับถือผีของคนมอญ ก็คือการนับถือบรรพบุรุษ นับถือตัวเอง ที่ใช้หยาดเหงื่อแรงกายสร้างครอบครัวให้แก่คนรุ่นหลัง

AC3

ส่วน ‘ผีในเมือง’ หรือ Alien Capital งานจัดวางชิ้นล่าสุดของศรชัย บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร คืองานที่เขาและแรงงานผู้ลี้ภัยร่วมกันจัดสร้างขึ้นภายใต้โครงการบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

“งานชิ้นนี้ประกอบด้วยไม้ไผ่ลักษณะเป็นนั่งร้าน ซึ่งสร้างขึ้นด้วยแรงงานต่างด้าว จำลองงานก่อสร้างปกคลุมตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนคอนเทนเนอร์ด้านในโชว์วิดีโอสารคดี ที่เก็บมาระหว่างแรงงานมาทำงานให้เรา บัตรต่างด้าว หรือสิ่งต่างๆ ที่พูดถึงตัวเขา”

“กรุงเทพฯ ในอุดมคติของแรงงานมีการหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติมากที่สุด เพราะทุกคนเชื่อว่ามากรุงเทพฯจะได้งานแน่ๆ หลายคนเลยทำทุกวิถีทางที่จะมาที่นี่ เราเลยจำลองไซต์ก่อสร้าง แล้วให้สัญญาแรงงานมาทำงาน 1 เดือนเต็ม”

ผีในเมืองจึงไม่ใช่การพูดถึงวิญญาณในรูปแบบของการเคารพ กราบไหว้บูชา แต่ว่าเป็นลักษณะของการไม่มีตัวตน การไม่ปรากฏให้เห็นชัดๆ จึงเปรียบได้กับสถานะทางสังคมของแรงงานต่างด้าวในกรุงเทพฯ หรือในประเทศไทย ซึ่งไม่มีตัวตน บางคนต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ

ผลงานผีในเมือง_1

 “คนต่างด้าวก็เหมือนคำเรียกของคนอพยพมาจากที่อื่น และผมมองว่าคนกลุ่มนี้มักทำงานในประเภทงานที่คนไทยไม่ทำ อยู่ตามโปรเจคก่อสร้าง ในธุรกิจประมง ธุรกิจเกษตรที่ทำรายได้ อย่างน้อยก็อยากให้มองและปฏิบัติกับพวกเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง”