พร้อมแค่ไหนกับ 4 วิกฤติโลกที่กำลังมาถึงในอีกไม่ช้า

พร้อมแค่ไหนกับ 4 วิกฤติโลกที่กำลังมาถึงในอีกไม่ช้า

ตระหนักรู้ ตั้งรับ 4 วิกฤติของปัจจุบัน ที่จะทวีความรุนแรงในอนาคต เพื่อหาทางปรับเปลี่ยนแก้ไขให้ดีขึ้น

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ปรากฏการณ์อันเกิดจากมลภาวะที่มนุษย์สร้างขึ้นที่ทำให้โลกร้อน นำมาซึ่งภัยธรรมชาติต่างๆ มากมาย ถึงตอนนี้นักวิทยาศาสตร์เปลี่ยนมาเรียกว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) กันแล้ว เพราะไม่ได้หมายถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมผลกระทบทุกอย่างเมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไป

เหตุหลักอยู่ที่คาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศที่ปล่อยออกจากกิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์ โดยเฉพาะการเติบโตของอุตสาหกรรมเมื่อราว 60 ปีที่แล้ว รวมถึงการตัดป่าไม้เพื่อใช้ประโยชน์จากผืนดินบนโลก การใช้โลกอย่างไม่ยั้งทำให้เกิดวิกฤติตั้งแต่น้ำ อาหาร ภัยธรรมชาติ การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า วงจรชีวิตที่อิงอาศัยกันถูกตัดขาดทีละห่วง และกำลังส่งผลกับมนุษย์อย่างหนักหน่วง

jud new year03

ตอนนี้โลกกำลังตอบรับวิธีการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ (และธรรมชาติ) จริงอยู่นโยบายของประเทศสำคัญเพราะสร้างผลกระทบสูง แต่ด้วยพลังของคนธรรมดาในยุคนี้สามารถสร้างความเคลื่อนไหวจากล่างขึ้นบนได้ โดยเริ่มจากตัวเองหากแต่ละคนช่วยกันก็น่าจะลดได้เยอะ เช่น เปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน งดขับรถหันมาใช้ขนส่งมวลชน การกินมังสวิรัติเพื่อไม่สนับสนุนปศุสัตว์ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ซื้อของที่มีคุณภาพใช้ได้นาน งดซื้อสินค้าราคาถูกแต่ต้องเปลี่ยนบ่อย งดเดินทางโดยเครื่องบินระยะไกล และคิดให้รอบคอบถ้าจะมีลูกเพิ่ม 1 คน คนๆ หนึ่งจะผลิตคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ชีวิตในแต่ละปีราว 5 ตัน (ขึ้นอยู่กับบริบท) คนรวยก็ผลิตมากกว่าคนจน เพราะบริโภคมากกว่า เดินทางมากกว่า ฯลฯ และอย่าคิดว่าเราทำคนเดียวจะไปมีผลอะไร โดยงานวิจัยแล้ว หากเราเริ่มทำอะไรอย่างจริงจัง จะมีผลชักจูงคนรอบข้างให้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

วิกฤติน้ำ

ความเป็นสังคมเมืองที่เติบโตรวดเร็วทำให้ศตวรรษนี้มีการใช้น้ำมากขึ้นถึง 7 เท่า น้ำปกคลุมพื้นที่โลกส่วนใหญ่ แต่ 97 เปอร์เซ็นต์คือน้ำเค็ม 2 เปอร์เซ็นต์คือน้ำแข็ง เราจึงมีน้ำสะอาดใช้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ในน้ำ 1 เปอร์เซ็นต์บนโลกถูกใช้ไปกับ กิจกรรมส่วนตัวประจำวันของมนุษย์ 8 เปอร์เซ็นต์ การเกษตร 70 เปอร์เซ็นต์ และอุตสาหกรรม 22 เปอร์เซ็นต์ แม้กับสินค้าที่มองไม่เห็นเป็นน้ำ ก็ยังมีการใช้น้ำแฝงมากมายในกระบวนการผลิต ที่ร้ายที่สุดคือปศุสัตว์อย่างวัวที่ใช้น้ำถึง 1,650 ลิตร ต่อเนื้อที่ใช้ทำแฮมเบอร์เกอร์ 1 ชิ้น

  jud new year01

UN รายงานว่าในปี 2040 เมืองใหญ่ส่วนใหญ่ของโลกจะมีน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละปี น้ำสะอาดเป็นทรัพยากรที่ทดแทนไม่ได้ น้ำคือทองคำเหลวแห่งศตวรรษนี้ การให้มูลค่าน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความขาดแคลน

เคป ทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ อาจเป็นเมืองแรกของโลกที่ไม่มีน้ำใช้ และจะเป็นเมืองแรกที่ปิดระบบน้ำประปา (Day Zero) ในปี 2019 ทำให้คน 4 ล้านคนไม่มีประปาใช้ ต้องไปรับปันน้ำจากส่วนกลางแทน และเมืองใหญ่ต่อไป นี้ เซาเปาโลก เมลเบิร์น จาการ์ตา ลอนดอน ปักกิ่ง อิสตันบูล โตเกียว บังกาลอร์ บาร์เซโลนา และเม็กซิโกซิตี้ ก็ต้องเจอเหตุการณ์นี้ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงการใช้น้ำ ทุกเมืองใหญ่ต่างใช้น้ำราวกับไม่มีวันหมดและไม่รักษาสภาพแหล่งน้ำ

แหล่งน้ำขึ้นอยู่กับที่ตั้งของเมืองและประเทศ ซึ่งหมายถึงความแห้งแล้วหรือชุ่มชื้นของแต่ละพื้นที่ ที่ผ่านมาภาวะขาดแคลนน้ำสร้างความขัดแย้งใหญ่หลวง เช่น การตั้งโรงงานเบียร์ในเม็กซิโกซิตี้ที่จะทำให้ประชาชนหลักล้านไม่มีน้ำใช้จนเกิดจลาจล ในไนจีเรียน้ำแม่น้ำที่แห้งหลายสายปะทุความขัดแย้งทำให้คนหลายแสนเสียชีวิตมาตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้น

หลายประเทศเริ่มหาน้ำสะอาดด้วยวิธีใหม่ เช่น การแยกเกลือออกจากน้ำทะเล แต่ปริมาณที่ได้ก็ยังไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของการใช้ และราคาแพง ส่งผลกระทบอุตสาหกรรม ขณะที่ UN ประกาศให้การเข้าถึงน้ำสะอาดคือสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่เมื่อมูลค่าของน้ำสูงขึ้น การเข้าถึงน้ำสำหรับคนยากจนก็จะยากยิ่ง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ต้องอาศัยการจัดการน้ำในนโยบายระดับประเทศ เช่น ที่เคปทาวน์ เมื่อประเทศประกาศนโยบาย Day Zero ก็ทำให้ประชาชนและทุกภาคส่วนปรับพฤติกรรมการใช้น้ำแบบพลิกฝ่ามือเพราะเห็นคุณค่าแท้จริง นโยบายและการตระหนักรู้จึงสำคัญยิ่งในตอนนี้

วิกฤติอาหาร

ที่จริงแล้วโลกผลิตอาหารได้เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์โลก แต่รายงานตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา มีคนถึง 815 ล้านคนทั่วโลกที่ไม่มีความมั่นคงด้านอาหาร (คิดเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรโลก) และรายงานในปี 2017 ก็มีข้อมูลผู้ที่ประสบภาวะขาดอาหารรุนแรงถึง 124 ล้านคนใน 51 ประเทศทั่วโลก

คาดว่าปี 2050 ที่ประชากรโลกจะสูงถึง 9.8 พันล้านคน ซึ่งจะมีความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์จากปัจจุบัน แต่สภาพแวดล้อมของโลกเปลี่ยนไปแล้ว ทั้งการขาดแคลนน้ำ มลภาวะ ดินที่เสื่อมโทรม ก็ยิ่งทำให้เกษตรกรรมเป็นไปได้ยากขึ้น

jud new year02

ความมั่นคงทางอาหารจึงเป็นหัวข้อที่ทั่วโลกพูดถึง ประเทศที่เผชิญวิกฤติอาหารอย่างหนัก มีสาเหตุหลักคือ ความยากจนและกลไกเศรษฐกิจ ที่ทำให้อาหารมีราคาแพงขึ้น รายงานจากธนาคารโลกบอกว่ามีคนที่ยากจนสุดขั้วอยู่ทั่วโลกราว 44 ล้านคน การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทำให้เกิดภัยธรรมชาติและมลภาวะต่างๆ ทำให้คน 39 ล้านคน ใน 23 ประเทศทั่วโลกประสบภาวะขาดแคลนอาหาร และ สงคราม ความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง ซึ่งบางครั้งมีที่มาจากวิกฤติน้ำด้วย ก็มักประสบวิกฤติทางอาหาร เช่น เยเมน ไนจีเรีย คองโก ซูดาน ซีเรีย และเมียนมา

อุตสาหกรรมอาหารก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่กระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ที่ถึงแม้จะผลิตอาหารได้จำนวนมากในราคาที่ถูกลง แต่การผูกขาดพันธุ์พืชก็ได้ทำลายความสมบูรณ์ของธรรมชาติ จำกัดสิทธิ์ในการเข้าถึงอาหารที่ดี (ซึ่งมีราคาสูง ทำให้คนมีเงินเท่านั้นที่จ่ายได้) และผู้คนที่รับประทานอาหารจากอุตสาหกรรมก็สูญเสียคุณค่าความหลากหลายของการบริโภคไปด้วย หลายองค์กรซึ่งทำงานเรื่องอาหารและวัฒนธรรม จึงพยายามเก็บรักษาความหลากหลายของพืชพันธุ์ธัญญาหาร รื้อฟื้นพืชท้องถิ่น และสูตรอาหารตำรับโบราณขึ้นมา

มีองค์กรที่ทำเรื่องความมั่นคงทางอาหารโลกทั้งหน่วยย่อยและระหว่างประเทศ ซึ่งให้ความช่วยเหลือทั้งกรณีฉุกเฉิน คือระดมทุนเพื่อจัดหาอาหารในเขตขาดแคลน ตั้งกองทุน สร้างเครือข่ายเผยแพร่องค์ความรู้ และผลักดันให้เป็นนโยบายระดับประเทศ

 

ความเป็นส่วนตัว

นอกจากวิกฤติเชิงกายภาพแล้ว ปัญหาด้านความเป็นส่วนตัว (Privacy) ในยุคเทคโนโลยีและบิ๊กดาต้าที่กำลังเป็นทรัพยากรราวกับบ่อน้ำมันแห่งใหม่ ทำให้เส้นแบ่งของความเป็นส่วนตัวเลือนลงไปทุกที เพราะเราต้องเอาข้อมูลต่างๆ ไปแลกกับการเข้าถึงเทคโนโลยีและบริการที่เราต้องการ ทุกวันนี้เรายังคิดถึงความเป็นส่วนตัวน้อยเกินไป ในขณะที่ผู้ให้บริการมีแต่ปุ่มให้เราคลิกยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ในการที่เขาจะเข้าถึงและนำข้อมูลเราไปใช้ แต่ผู้บริโภคอย่างเรากลับไม่มีทางเลือกที่จะปฏิเสธ แสดงสิทธิ์ในหรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจการนำข้อมูลไปใช้ต่อด้วยซ้ำ ข้อมูลความเป็นส่วนตัวของเราอาจถูกละเมิดโดยรัฐ โดยบริษัทเอกชน และแม้แต่ตัวเราเอง

เราอาจทำลายความเป็นส่วนตัวด้วยฝีมือของเราเอง จากการแชร์ข้อมูลในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นรูป เรื่องราว สถานที่ที่ตัวเองอยู่ การเชื่อมเพื่อนที่อยู่ใกล้เข้ามา การจดจำใบหน้า ฯลฯ รวมถึงคำค้นต่างๆ แอนเดรียส ไวเก้น ผู้เขียนหนังสือ Data for the People บอกว่าทุกวันนี้เราบอกความลับของเรากับกูเกิลลึกกว่าที่บอกคนรักเสียอีก ทุกอุตสาหกรรมต่างนำเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ เราคงไม่อยากให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่เก็บโดยโรงพยาบาลของเราหลุดออกไป เบอร์โทรเราจากการสมัครบัตรเครดิตก็หลุดไปอยู่ในมือบริษัทประกัน ฯลฯ นับวันความเป็นส่วนตัวของเรารุกล้ำมากขึ้นทุกที

jud new year04

ปัญหาการคุกคามความเป็นส่วนตัวกำลังจะมีแนวทางปฏิบัติที่ดีขึ้น เริ่มจากสหภาพยุโรปได้กำหนด GDPR (General Data Protection Regulation) เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด ให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องจัดการด้านความเป็นส่วนตัวแก่ผู้บริโภคสูงสุด ปกป้องผลกระทบด้านลบทางการเงิน และมีการเรียกเก็บค่าปรับกับบริษัทที่ละเมิดด้วย จากนั้นประเทศต่างๆ ก็เริ่มให้ความสำคัญและนำมาปรับใช้มากขึ้นด้วย

ควบคู่ไปกับนโยบายของกลุ่มประเทศ ประเทศ หรือบริษัท ในฐานะคนธรรมดาที่ใช้ข้อมูลแลกบริการ เครื่องมือของแอพพลิเคชั่นต่างๆ พยายามทำให้เรา “เปิดเผย” ทุกอย่างออกมา เรามีหน้าที่ต้องตระหนักรู้และคิดถึงความเป็นส่วนตัวของให้มากขึ้น และหากในอนาคตบริษัทต่างๆ เริ่มรุกล้ำมากขึ้น เราก็มีสิทธิที่จะรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้เกิดการปฏิบัติเรื่องนี้ให้รัดกุมยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

- - - - - -

อ้างอิง

http://www1.wfp.org/

https://www.globalchange.gov/

http://www.bbc.com/future/story/20181102-what-can-i-do-about-climate-change

https://www.ipcc.ch/