เรื่องข้าวๆโกงกันสนุก นิพนธ์ พัวพงศกร

เรื่องข้าวๆโกงกันสนุก นิพนธ์ พัวพงศกร

ทำการเกษตรมีแต่หนี้สินจริงหรือ นักวิชาการคนนี้บอก ยังมีทางเลือกและทางรอด ถ้ารู้จักใช้เทคโนโลยีให้ถูกที่ถูกทาง สร้างเครือข่ายโยงใยกันทั้งประเทศ

ปัจจุบันการเกษตรบ้านเรามีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และไม่ใช่แค่การทดลอง แต่เกิดขึ้นจริงในหลายพื้นที่ เพราะเกษตรกรหัวก้าวหน้ามีความเชื่อว่า ถ้านำเทคโนโลยี ผนวกกับการตลาด การสร้างเครือข่ายและพันธมิตร การเกษตรประเทศนี้ก็จะมีความหวังมากขึ้น

นี่เป็นสิ่งที่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชวนคิดเรื่องการเกษตรในหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องนโยบาย รัฐจะสนับสนุนให้เกษตรกรก้าวเดินต่อไปอย่างไร หากเกษตรกรยังทำเกษตรแบบเดิมๆ ไม่ปรับตัวจะเกิดอะไรขึ้น

อาจารย์นิพนธ์ บอกว่า อย่าเอาคนจนมาทำการเกษตร เพราะพวกเขาพยายามดิ้นรนออกจากภาคเกษตร พวกเขามีรายได้จากภาคเกษตรแค่ 30-40 เปอร์เซ็นต์  และรายได้หลักมาจากนอกภาคเกษตร 60-70 เปอร์เซ็นต์

นั่นหมายถึง ภาคเกษตรต้องปรับตัว หากเกษตรพันธสัญญาไม่ได้เลวร้าย และเกษตรพอเพียงไม่ใช่ทิศทางหลักในการพัฒนาประเทศ แล้วเกษตรแบบไหนเป็นอนาคตของชาติ...

สถานการณ์ราคาข้าวไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ปีนีี้ราคาข้าวค่อนข้างดี โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ เพราะสต๊อกโครงการรับจำนำข้าวขายหมดแล้ว รัฐบาลสามารถขายข้าวที่บริโภคได้และบริโภคไม่ได้ออกไปแล้ว สถานการณ์ข้าวปีนี้ผมจึงอยากเรียกว่า หลุดพ้นจากพันธนาการ

ที่บอกว่า หลุดพ้นจากพันธนาการ คือ รัฐบาลไทยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าว ไม่มีสต๊อกของรัฐบาลแล้ว เพราะประเทศเราผลิตอาหารเกินอยู่แล้ว คือส่งออกครึ่งหนึ่ง บริโภคภายในประเทศครึ่งหนึ่ง ยกตัวอย่างง่ายๆ ทันทีที่เรามีสต๊อกข้าวอยู่ 18 ล้านตัน จำนวนแค่นั้นก็กดราคาตลาดข้าวได้แล้ว เพราะอะไรรู้ไหม ทั้งๆ ที่อินเดียและจีนมีข้าวร่วมล้านตัน แต่ไม่สามารถกดราคาในตลาดโลก เพราะเขามีไว้บริโภคและไม่พอ ไม่ได้ส่งออก แต่ข้าีวไทยส่งออก

ถ้าอย่างนั้นเมื่อใดที่ไทยมีสต๊อกข้าว คนประมูลราคาข้าว จะไม่กล้าประมูลสูงๆ เพราะรู้ว่าถ้าประมูลราคาสูง คนจะไม่ซื้อข้าวจากชาวนา ถ้าราคาข้าวสูงขึ้นจะเกิดอะไรขึ้น พวกเขากลัวว่ารัฐบาลไทยจะขายข้าว ถ้าทำอย่างนั้นคนขายข้าวก็จะขาดทุน จึงต้องกดราคาข้าวเอาไว้ แต่ทันทีที่ข้าวในสต๊อกหมดแล้ว พันธนาการก็หมด ราคาก็เคลื่อนไหวตามปกติ

สรุปตัวเลขการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวจากรัฐบาลอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เป็นจำนวนเท่าไหร่ 

สิ้นเดือนกันยายน 2561 ปิดบัญชีแล้ว ตัวเลขขาดทุนใกล้ๆ หกแสนล้านบาท เพราะตอนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เข้ามาบริหาร ซึ่งตอนนี้ข้าวในสต๊อกหมดแล้ว ราคาก็จะเป็นไปตามกลไกตลาด ปีนี้เกษตรกรอีสานโชคดีที่ข้าวหอมมะลิราคาดี ถ้ายังมีสต๊อกข้าวอยู่ คนอีสานก็จะขายข้าวไม่ได้ราคาขนาดนี้ 

เหตุใดจึงทำวิจัยเรื่องข้าวมาต่อเนื่องยาวนาน

คนที่มีอิทธิพลต่อผมมากคือ อาจารย์อัมมาร สยามวาลา และอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตอนที่ผมเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ เรื่องความยากจนและความเหลื่อมล้ำ มันฝังหัวผม ทำให้ผมทำงานวิจัยด้านการเกษตรอย่างมีความสุข ต่างจากงานวิจัยอุตสาหกรรม เวลาผมไปถามผู้ประกอบการ ผมถูกหลอกและโกหกเรื่องตัวเลข ซึ่งต่างจากเกษตรกรในชนบท แม้จนแต่ซื่อสัตย์ แต่ตอนนี้เกษตรกรในภาคกลางฉลาด และไม่ง่ายที่จะทำงานด้วย

อาจารย์ศึกษาวิจัยเรื่องข้าวมากี่ปี

ตอนนั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  คือ อาจารย์เมธี ครองแก้วต้องการหาคนทำงานด้านป้องกันการทุจริต ไม่ใช่เกิดคอรัปชันแล้วค่อยปราบปราม ทำให้ผมได้ทำเรื่องข้าวให้ทีดีอาร์ไอ ตั้งแต่โครงการรับจำนำข้าวของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ถึงรัฐบาลอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ตอนทำวิจัยผมก็สร้างเครือข่าย เริ่มรู้ว่าคนไหนไว้ใจได้  ทั้งเรื่องโรงสีข้าว การส่งออก ชาวนา ซึ่งสำคัญต่อการทำวิจัย ยิ่งในช่วงรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ ผมทำแต่งานวิจัยเรื่องข้าวอย่างเดียว มีคนส่งข้อมูลที่ไม่เปิดเผยให้ และเรื่องเหล่านี้โกงกันสนุก

ปีต่อไปเราจะทำงานใหญ่ขึ้น เรื่องนโยบายการเกษตร เทคโนโลยีข้าว จะรวมทีมนักวิชาการหลายๆ สำนัก ซึ่งโครงการนี้ไม่ง่าย ก่อนหน้านี้เราไม่เคยคิดว่า ชาวนาจะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ใช้ดิจิตอล จนได้ไปเห็นกลุ่มหนองสาหร่าย จ.กาญจนบุรี รวมตัวกันใช้เทคโนโลยีโดรน

ชาวนารุ่นใหม่เริ่มนำเทคโนโลยีมาปรับใช้และแก้ปัญหาเรื่องข้าวอย่างไร

กลุ่มนี้ได้รับความช่วยเหลือจากดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยรังสิต แรกๆ ให้กู้เงินตั้งโรงสี ปรากฎว่าเจ๊ง เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายในการทำโรงสีขนาดใหญ่ ต้องมีคนบริหารที่มีความสามารถ

จนเมื่ออาจารย์พีระพงศ์ สาคริก (ลูกชายอาจารย์ระพี สาคริก)ไปคุยกับแรม เชียงกา หัวหน้ากลุ่มหนองสาหร่าย พวกเขาทำนาในเขตชลประทาน ได้ผลผลิต 800 กิโลกรัมต่อไร่ ปกติต้องปลูกข้าวได้ 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ปัญหาใหญ่ของพวกเขาคือ เพลี้ย แต่ละแปลงปลูกข้าวไม่พร้อมกัน  ถ้าแปลงหนึ่งฆ่าเพลี้ย มันก็จะไปอยู่อีกแปลงหนึ่ง ดังนั้นต้องแก้ปัญหาโดยการปลูกข้าวพร้อมกัน ใส่ปุ๋ยยูเรียพร้อมกัน 

ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยรังสิต จึงซื้อโดรนมาให้ชาวนา เพื่อถ่ายรูปทำจีพีเอส พยากรณ์อากาศส่งเข้ามือถือเกษตรกร จากนั้นตามดูเพลี้ย เพราะกรมส่งเสริมการเกษตรมีตัวเลขเพลี้ยในแปลงข้าวเหล่านี้อยู่แล้ว เมื่อตามดูรู้ว่า เพลี้ยระบาดไปในทิศทางไหน  เกษตรกรทุกแปลงก็จะหยุดใส่ปุ๋ยยูเรีย ทำแค่สองฤดูกาล ผลผลิตเพิ่มเป็น 1,100 กิโลกรัมต่อไร่ นี่คือการใช้เทคโนโลยีในพื้นที่ 100 กว่าครัวเรือน โดยแต่ละครัวเรือนมีที่ดินปลูกข้าว 30 กว่าไร่ แรกๆ ชุมชนนี้แก้ปัญหาด้วยการตั้งโรงสี แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะพวกเขามีปัญหาผลผลิตน้อย จึงเลือกใช้โดรนติดตามการระบาดของเพลี้ย

กลุ่มที่อาจารย์กล่าวถึง นำเทคโนโลยีอื่นๆ มาใช้ด้วยไหม

เริ่มนำเซนเซอร์มาวัดความชื้นในดิน เพราะความชุ่มชื้นของดินสำคัญต่อพืช ซึ่งเทคโนโลยีแบบนี้ คนๆ เดียวทำไม่ได้ ต้องรวมกันเป็นเครือข่าย แม้กระทั่งการใช้โดรน ก็ต้องมีการคำนวณแปรผลจากคอมพิวเตอร์ และเกษตรกรที่ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ ต้องเป็นกลุ่มทีี่ปลูกพืชมูลค่าสูง ถ้าเป็นเกษตรกร 40-50 ไร่จะทำแบบนั้นไม่ได้ ต้องมีพื้นที่พันกว่าไร่ถึงจะลงทุนได้ สำหรับเกษตรกรรายย่อย ต้องใช้วิธีการรวมกลุ่มกัน ก็จะมีช่องทางนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาได้

ถ้าจะพัฒนาด้วยเทคโนโลยีการเกษตร รัฐบาลต้องช่วยเหลือยังไง

ไม่ใช่ว่า รัฐซื้อเทคโนโลยีแล้วใส่ทุกอย่างเข้าไปในฟาร์ม ถ้าทำอย่างนั้นเจ๊ง รัฐต้องช่วยเรื่องความรู้ให้นักวิจัยเข้าไปศึกษาปัญหาและแก้ ผมขอยกตัวอย่าง มังคุดที่อร่อยที่สุดในจังหวัดนครศรีธรรมราช เคยมีปัญหายางแก้วในมังคุด กินไม่อร่อยแก้ปัญหาไม่ได้ ทางอาจารย์จากศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาพบว่า ไม่มีธาตุอาหารในดินคือสังกะสี เพราะเกษตรกรปลูกมานาน พอวิเคราะห์เรื่องนี้ได้ ก็แค่ใส่ธาตุสังกะสี ผลผลิตกลับมาดีเหมือนเดิม นี่คือการใช้เทคโนโลยีเฉพาะ งานแบบนี้รัฐไม่ทำ ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ มหาวิทยาลัยก็มีความรู้ ภาคเอกชนช่วยเรื่องตลาดได้ ถ้าทำงานร่วมกันจะดีมาก จริงๆ แล้วเทคโนโลยีแบบนี้มีอยู่แล้ว แต่ราคาสูง 

ถ้าอย่างนั้น ต้องเปลี่ยนแนวคิดยังไง

ต้องเปลี่ยน ต่อไปทำการเกษตรต้องคิดว่าทำแล้วรวยส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยได้เหมือนคนอื่น มีคนบอกว่า ต้องทำแบบเศรษฐกิจพอเพียง ก็เป็นทางเลือก ไม่ใช่ทางออกใหญ่ของภาคเกษตรไทย ทางออกใหญ่ของเรายังเป็นเกษตรเชิงพาณิชย์ ประเทศไทยมีความสามารถด้านนี้ เป็นประเทศที่ส่งออกด้านการเกษตรอันดับ 10 -12 ของโลก และเราโชคดีที่คนไทยมีที่ดินต่อหัวเยอะ เราเป็นระบบเกษตรเสรี ถ้าเป็นสังคมนิยม...เจ๊งครับ

ภาคเกษตรยังมีความหวัง ?

จะไม่มีความหวังได้ยังไง ปี 2000 ประเทศไทยเติบโตครั้งแรกจากกลไกในภาคเกษตร แต่ตอนนี้ไม่ใช่ตัวขับเคลื่อน แต่เป็นตัวหาเงินให้ประเทศ ไม่ใช่เกษตรอย่างเดียว ยังมีอาหารและสินค้าอื่นๆ อีก ตอนนี้เรามีแรงงานภาคเกษตรเยอะไป ถ้าจะทำการเกษตร 300-400ไร่ต้องใช้เครื่องมือ  ผมเจอเกษตรกรคนหนึ่งมีพื้นที่ 400 ไร่ทำนาในจังหวัดนครปฐม เขาจบแค่ระดับปวช. แต่ฉลาดมาก ทำนาสองฤดูไม่ทำสามฤดู เพราะไม่มีน้ำ และดินไม่ได้พัก เขาคิดตั้งแต่การจัดระดับที่ดินเพื่อเอาน้ำเข้านา ต่างจากสมัยก่อน ปู่ย่าตายายทำตามธรรมชาติ แต่ปัจจุบันต้องมีความรู้สมัยใหม่มาจัดการ แม้ภาคราชการจะอ่อนแอ แต่โชคดีภาคเอกชนเข้มแข็ง

อย่างเอกชนกลุ่มคูโบต้าทำแปลงสาธิต ใครอยากทำนาแปลงใหญ่มาดูได้ หรือ นาเฮียใช้  จ.สุพรรณบุรี ทำฟาร์มแปลงนาสาธิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้คนเข้ามาดู บริษัทหงษ์ทองพยายามทำข้าวหยอดหลุม คนพวกนี้เอาจริงเอาจังและเอาเทคโนโลยีมาใช้ เรียนรู้เก็บตัวเลข ปีแรกทำแล้วประสบความสำเร็จ ปีต่อมาฝนตกเยอะ ล้มเหลว เนื่องจากน้ำท่วมจะทำข้าวหยอดหลุมไม่ได้ ก็เรียนรู้ เทคโนโลยีเรื่องเกษตรต้องใช้ความรู้เฉพาะถิ่น อีกอย่างเราโชคดีที่มีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยแม่โจ้สร้างคนเก่งๆ เยอะ ถ้าเราเอาคนพวกนี้มาทำงานกับเกษตรกรได้ เราจะสามารถสร้างอนาคตบ้านเมือง

ถ้าจะเอาเทคโนโลยีมาใช้กับการเกษตรต้องทำยังไง

ในเรื่องแปลงเกษตรสมัยใหม่ แปลงใหญ่ในที่นี่ไม่จำเป็นต้องทำในนามบริษัท ทำไมครัวเรือนเกษตรจะเป็นเจ้าของแปลงเกษตร 500 ไร่ 1,000 ไร่ไม่ได้ เราเข้าใจผิด มีคนบอกว่ากฎหมายเช่านา เจ้าของที่ดินเอาเปรียบชาวนา ปัจจุบันเจ้าของที่นากลัวจะแย่แล้ว เพราะไม่มีคนเช่าทำนาแล้ว

ตอนนี้คุณซื้อกล้วยหอมกินได้ทุกที ซื้อในร้านสะดวกซื้อก็ได้ กล้วยหอมเหล่านี้ผลิตโดยเกษตรกรรายหนึ่ง เปิดบริษัทบริหารจัดการเอง เขาไม่ได้ทำเองแต่ขายความรู้ เราต้องมีเกษตรกรที่ขายความรู้ มีเกษตรกรอีกกลุ่มที่ร่ำรวยอยู่ในภาคกลางเป็นเจ้าของเครื่องเกี่ยวข้าว คนพวกนี้มีความรู้ช่างอยู่ที่นครปฐม ผมไปเจอมีเครื่องเกี่ยวข้าว 12 ตัวๆ ละ 3 ล้านบาท และมีรถเทรลเลอร์คันละ 2-3ล้าน ชุดหนึ่งประมาณ 5 ล้านบาท รวมๆ 10ตัวมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท นี่เป็นเกษตรกรที่เราต้องส่งเสริม เป็นเกษตรกรที่พัฒนาตัวเอง จนสามารถให้บริการทั่วประเทศ

เหตุใดอาจารย์บอกว่า  เกษตรพันธสัญญา ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายคนคิด ?

ที่ผ่านมาเพราะเราไปดูแต่ภาพลบของเกษตรพันธสัญญา ไม่ได้ดูภาพบวก ไทยเกือบจะเป็นชาติเดียวในเอเชียที่เกษตรพันธสัญญาประสบความสำเร็จ เพราะรัฐบาลไม่ยุ่ง บริษัทก็โกงเกษตรกร เกษตรกรก็โกงบริษัท ในที่สุดล้มเหลว แล้วก็เจ๊ง แต่ก็มีกลุ่มที่ประสบความสำเร็จ  คุณรู้ไหมมะเขือเทศ เริ่มต้นจากเกษตรพันธสัญญา ส่งเสริมที่จังหวัดสกลนคร เราส่งออกกระเจี๊ยบ ถั่วญี่ปุ่น และเวลาธนาคารพัฒนาเอเชีย(เอดีบี) จะทำเรื่องเกษตรพันธสัญญา เขาต้องมาดูงานในเมืองไทย เพราะมีก้าวหน้าเรื่องนี้  

จะทำยังไงให้เกษตรกรรอบรู้และจัดการแปลงเกษตรของตัวเองได้

การเกษตรอย่าเอาคนจนมาทำ คนจนที่ทำเกษตร จะดิ้นรนออกจากเกษตร ในบรรดาครัวเรือนเกษตรกรที่จนที่สุดและรวยที่สุด ครัวเรือนเกษตรกรที่จนที่สุด มีรายได้จากภาคเกษตรแค่ 30-40 เปอร์เซ็นต์ รายได้หลักมาจากนอกภาคเกษตร 60-70 เปอร์เซ็นต์  ส่วนครัวเรือนเกษตรที่ร่ำรวย รายได้ส่วนใหญ่มาจากการเกษตรมีที่ดิน 50 ไร่ ปลูกข้าวสองฤดูโดยมีที่ดินอุดมสมบูรณ์มาก ถ้าพวกเขามีต้นทุน 4,000 บาทต่อไร่ จะขายได้ในราคา 8,000 บาทต่อไร่ ทำสองฤดูกาลได้เงินปีละสี่แสนบาท

จริงๆ แล้วทำนาไม่ต้องดูแลเหมือนการปลูกผลไม้ ทิ้งไว้ได้เลย ถ้าเป็นเกษตรกรที่มีที่ดินแค่ 20 ไร่ เขาก็ต้องหารายได้เสริม  โดยเฉพาะในภาคอีสานทำนาครั้งเดียว แม้จะมีที่นา 30 ไร่ทำให้ตายก็ไม่พอกิน ส่งลูกเรียนไม่ได้ ก็ต้องไปทำงานในเมือง เกษตรกรกลุ่มนี้ รัฐไม่ต้องไปจัดที่ดินที่ไม่มีคุณภาพให้ เพราะกลุ่มนี้จะไม่สร้างความรู้เรื่องการเกษตร การเกษตรต้องมีความรู้เฉพาะมากๆ ดังนั้นต้องสร้างงานในชนบทให้พวกเขามีรายได้สูงกว่าภาคเกษตร และพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้พวกเขาด้วย

แล้วอนาคตเกษตรกรในเมืองไทยจะเป็นอย่างไร

วันนี้เรากลัวเรื่องคอรัปชันจนขึ้นสมอง  ถ้าเอาเรื่องคอรัปชันนำหน้าจะแก้ปัญหาไม่ได้ แต่จะทำอะไรต้องทำให้โปร่งใสตั้งแต่ต้น ต้องเอาแนวคิดการพัฒนามาก่อน ในอนาคตต้องมีการใช้ความรู้ ในทางการเกษตรไม่ใช่ปัญหาเรื่องข้าวอย่างเดียว ยังมีเรื่องมันสำปะหลัง ยาง ฯลฯ 

แต่จะให้เกษตรกรทุกคนหาความรู้ก็เป็นไปไม่ได้อีก เขาสามารถเรียนรู้จากคนอื่น ปัญหาในอนาคตคือ คนชราเยอะมีที่ดินแต่ขาดแรงงาน ก็ต้องใช้ความรู้จัดการ เพราะดินฟ้าอากาศเราได้เปรียบเวียดนาม ไม่ได้เจอพายุ 200 ลูกเหมือนฟิลิปปินส์

นโยบายเกษตรกรควรเน้นเรื่องไหนเป็นพิเศษ

ประเทศไทยยังไงๆ ก็ต้องส่งออก การผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงพลเมืองโลก อย่าคิดว่าต้องขายราคาแพงๆ ถ้าแพงกว่าก็สู้ประเทศอื่นไม่ได้ ถ้าเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง ไทยมีฐานที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ไม่น่าห่วง 

และรัฐบาลไม่ต้องไปบอกหรอกว่า พืชอะไรคือความหวังของประเทศ ถ้าราคาตกต่ำ รัฐรับผิดชอบได้ไหม อย่างรัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณที่เคยประกันราคายาง และที่ผมกลัวมากก็คือ จะมีโครงการวัวล้านตัวกลับมาอีก ตอนนั้นคนไปกู้เงินมาเลี้ยงวัวก็เจ๊ง ดังนั้นผมอยากบอกว่า รัฐบาลต้องให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีและการตลาด รวมถึงบอกความเสี่ยง ส่วนเกษตรกรมีหน้าที่ตัดสินใจ