ใช้ใจนำ ทำอินทรีย์ สู่วิถีเกษตรยั่งยืน คุยกับป้าแจง - สุขกมล จิตสมร ที่บ้านริมสีม่วง

ใช้ใจนำ ทำอินทรีย์ สู่วิถีเกษตรยั่งยืน คุยกับป้าแจง - สุขกมล จิตสมร ที่บ้านริมสีม่วง

จากเกษตรกรวันหยุด ที่ทำเกษตรอินทรีย์แล้วไม่รู้จะขายใคร ตอนนี้ปัญหาก็คือจะผลิตอย่างไรให้พอขาย

“ปัญหาแรกๆ ของคนทำเกษตรอินทรีย์คือทำอย่างไรคนภายนอกถึงจะซื้อของจากเรา ซึ่งการผลิตไม่ใช่ปัญหาเลย แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าการตลาดไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เพราะปัญหาใหม่คือจะผลิตอย่างไรให้เพียงพอความต้องการของตลาดค่ะ ฮ่าๆ”

ป้าแจง - สุขกมล จิตสมร ประธานหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์บ้านริมสีม่วง ตำบลริมสีม่วง อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์

ศาสตร์พระราชา เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช

“ปัญหาของคนที่เริ่มทำเกษตรอินทรีย์คือบางคนไม่ได้ใช้ใจเป็นตัวนำในการเลิกทำเคมี มีหลายคนมาเรียนรู้แล้วกลับไปสู่วงจรเดิม แต่ก็มีอีกหลายคนเหมือนกันที่เค้าไปสุด ตรงนี้เพราะเค้าตั้งเป้าแต่แรกเลยว่าจะต้องทำอินทรีย์เท่านั้น ไม่แตะเคมีเด็ดขาด พอมีความมั่นใจในการทำแล้ว ความสุขก็เริ่มตามมา และพอมีคนแบบนี้หลายคนก็เกิดเป็นความเข้มแข็งของสมาชิกกลุ่มค่ะ”

40463892_1898650356856467_2832117218987212800_n

เนื่องจากการทำเกษตรอินทรีย์เป็นการป้องกัน ไม่ใช่การแก้ไข ดังนั้นจึงต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมตัวมากกว่าปกติ เพราะเมื่อดินดี พืชก็จะดีสมกับศาสตร์พระราชาที่ว่า ‘เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช’

“อย่างขิงหรือถั่วลันเตา เกษตรกรจะเชื่อว่าไม่สามารถปลูกที่เดิมได้ ปลูกครั้งหนึ่งต้องพักดินร่วม 10 ปี เพราะมันค่อนข้างอ่อนแอ ตัวขิงจะเกิดโรคโคนเน่า ส่วนถั่วลันเตาจะเกิดโรคราแป้งขาวเป็นประจำ และสารเคมีก็ควบคุมไม่ได้นะ ยิ่งใช้มันก็ยิ่งลาม ทีนี้เรามาสังเกตุว่าทำไมต้นไม้ในป่าถึงอยู่ได้ เลยกลับมาที่ดิน และในดินจะมีทั้งจุลินทรีย์ดีกับจุลินทรีย์ร้าย เราจึงต้องปรุงดินให้ดีก่อน เพื่อให้จุลินทรีย์ดีไปจัดการกับตัวที่ไม่ดี เราก็ศึกษาเรียนรู้ วิจัย และทดลองจนได้วิธีว่าถ้าทำอินทรีย์ คุณไม่ต้องพักดินทีเป็น 10 ปีนะ แค่พักสัก 2 เดือน อาจจะเป็นการปลูกปอเทืองแล้วไถกลบก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเกษตรกรต้องเปลี่ยนวิธีคิดก่อน”

จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ

“คือตัวป้าเป็นเกษตรกรวันหยุดเพราะยังเป็นครูอยู่ เราก็เลยต้องปลูกพืชที่เหมาะกับเรา หรืออีกอย่างคือปลูกอะไรที่อยากกินนั่นแหละ ส่วนมากก็จะเป็นพวกไม้ผล เช่น กล้วย มะละกอ ลันเตาหวาน ถั่วแขก แมคคาเดเมีย พริกไทย กะหล่ำนี่ก็หัวหนึ่งหนักเป็นโลนะ ใหญ่มาก

40406220_1897914153596754_2297195083973263360_n

"เรานำเอาคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ว่าปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง  1. คือให้พออยู่ หมายถึงไม้เศรษฐกิจปลูกไว้ทำที่อยู่หรือขาย 2. คือพอกิน ปลูกพืชเพื่อการกินและสมุนไพร 3. พอใช้ หมายถึง ปลูกไม้ไว้ใช้สอยโดยตรง อย่างเรื่องพลังงาน นี่ก็พวกไม้ฟืน ไม้ไผ่ และ 4. สุดท้ายสำคัญมากคือปลูกเพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ แต่ป้าว่าประโยชน์ไม่ได้มีแค่ 4 อย่างนะ มันมากกว่านั้นเยอะเลย ดูศาลานั่นสิ ก็ใช้ไม้ที่ปลูกนั่นแหละมาทำ ประหยัดไปเยอะเลยนะ”

ป้าแจงบอกว่า ต้นทางของอาหารอย่างผู้ผลิตต้องดีก่อน ถึงจะทำให้ผู้บริโภคที่เป็นปลายทางแบบพวกเราได้รับประทานอาหารดีๆ แต่ต้นทางจะดีได้อย่างไร หากผู้ผลิตยังไม่แข็งแรง ซึ่งสาเหตุสำคัญก็มาจากผลกระทบของสารเคมีที่พวกเขาใช้นั่นเอง

40421201_1897942990260537_8046614915454074880_n

“ป้าเชื่อว่าต้องทำอินทรีย์ถึงจะอยู่ได้ คนปลูกร่างกายต้องดี ต้องกินอาหารเป็น เราถึงจะมีแรงทำสิ่งดีๆ ให้คนภายนอกได้กิน อย่างป้า ช่วงที่ทำอินทรีย์แรกๆ มีความสุขมากเลยนะ เรามีความสุขจากการทำอาหารดีๆ ให้คนที่รักกิน เรามีความสุขจากการเป็นผู้ให้ อย่างครอบครัวป้าตอนนี้คือสังคมผู้สูงอายุเลย น้อยสุดคือ 60 ปี มากสุดคือ 83  ทุกคนแข็งแรงหมด เดินเหินสะดวก จะมีบ้างก็โรคชรา

40436311_1897964836925019_7325219405120405504_n

"พอร่างกายแข็งแรง มันก็ส่งผลถึงจิตใจ แล้วพอจิตใจดีมันก็ส่งผลกลับมาที่ร่างกายเหมือนกัน อย่างผักเนี่ย ถ้าเขาได้รับสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่เครียด จะกรอบ หวาน อร่อยมากเลยนะ อย่าให้พืชเครียดเด็ดขาด ไม่งั้นเขาจะผลิตสารที่ทำให้มีรสขมออกมา ซึ่งวิธีที่ทำให้พืชไม่เครียดคือ  1. น้ำต้องพอ 2. ความชื้นต้องสม่ำเสมอ และ 3 . คืออาหารก็ต้องให้อย่างไม่ขาดเหมือนกัน”.

หมู่บ้านหัวใจอินทรีย์

ด้วยความที่บ้านริมสีม่วง เป็นชุมชนที่ทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง จึงทำให้ได้รับเลือกเป็นหมู่บ้านแรกจาก 1 ใน 8 หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ต้นแบบของประเทศไทย และแน่นอนว่า AmaZone Organic Farm ของป้าแจงก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งเธอบอกว่าหมู่บ้านนี้เกิดขึ้นได้เพราะการรวมตัวของคนที่มีหัวใจเดียวกัน นั่นคือ ‘หัวใจอินทรีย์’ ซึ่งที่นี่นอกจากเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบที่ปลอดภัยจากสารพิษแล้ว พวกเขายังยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้มาเยือนทุกคน

26992203_780463622142543_5207973963866843926_n

“ใครกำลังมองหาที่เที่ยวดีๆ ที่สามารถสร้างสรรค์เวลาได้อย่างคุ้มค่า เราขอเชิญชวนนะคะ หมู่บ้านเราเย็นสบายตลอดปี เพราะมีภูเขาล้อมรอบอยู่ อากาศดีมาก แต่ขออย่างหนึ่งว่าให้ติดต่อล่วงหน้าก่อน

“โปรแกรมหลักๆ เริ่มด้วยการสอนวิธีปลูกผักอินทรีย์ จากนั้นก็พาไปเก็บผักปลอดสารแล้วทำอาหารกินกันเองเลย แล้วถึงไปนั่งแพกลางน้ำพักผ่อนชมบรรยากาศกัน ใครจะหว่านแหหรือตกปลาเราก็มีให้บริการ ซึ่งที่นี่ยังมีสอนการทำน้ำด่างมะนาวด้วย สรรพคุณคือช่วยต้านมะเร็งและช่วยให้ระบบขับถ่ายดีค่ะ

46482919_964691657053071_9068968675528146944_n

"สุดท้ายจะพาไปดูการเลี้ยงไก่เลี้ยงหมูแบบอินทรีย์ ที่นี่เราเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี กับหมูดำคุโรโบตะ อาหารของมันก็จะเป็นพวกข้าวโพดหรือถั่วที่ปลอดสารพิษค่ะ และมูลของมันเราก็สามารถมาหมักทำปุ๋ยได้อีก ถ้าใครสนใจฐานไหนเป็นพิเศษก็สามารถถามได้เลย ที่นี่ทุกคนยินดีให้ความรู้กันแบบเต็มที่ แต่โปรแกรมที่บอกไปคือสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมเช่นกัน ใครอยากหนัก อยากลงลึกเรื่องไหนเป็นพิเศษก็สามารถบอกได้ค่ะ”

40479054_1897854560269380_5663782177918156800_n

ตอนนี้พระอาทิตย์ดูเหมือนต้องไปพักผ่อนหลังกรำงานหนักมาทั้งวันแล้ว และก็เหมือนทุกวันที่พระจันทร์จะเข้ามารับไม้ต่อแทน ป้าแจงก็ดูเหมือนจะรู้ใจเจ้ากระเพาะตัวดีของเรา เลยไม่รีรอที่จะเอ่ยปากชวนไปกินอาหารพื้นบ้านอร่อยๆ ที่เตรียมไว้ให้ก่อนเข้านอน เราเลือกไปกางเต๊นท์นอนกลางธรรมชาติแบบสบายๆ เพื่อชาร์จพลังจากขุนเขาก่อนกลับไปลุยงานต่อให้เต็มที่ (ถ้าใครอยากนอนโฮมสเตย์ที่นี่ก็มีให้บริการ)

45577664_956989787823258_3387575894745808896_n

และก่อนที่จะแยกย้ายกันไปพักผ่อน ป้าแจงได้ฝากข้อคิดบางอย่างให้มาเล่าสู่กันฟังว่า ‘อย่าฆ่าตัวเองตายด้วยมือของเรา’ ซึ่งมีความหมายคืออยากให้ทุกคนตระหนักเรื่องการกินอาหารให้เป็นยา ถ้ากินดี อยู่ดี ชีวิตก็จะดี แต่ถ้ากินอย่างไม่ระมัดระวัง แน่นอนว่าไม่นานโรงพยาบาลคงต้องถามหา

และมันดีแล้วหรือที่เราจะนำเงินที่หามาอย่างยากลำบากไปเสียให้กับวงจรการซ่อมแซมสุขภาพที่ไม่มีวันสิ้นสุด