ทะเลทรายสีเขียวกับนกที่หายไป

ทะเลทรายสีเขียวกับนกที่หายไป

ย้อนมอง “ผลกระทบสิ่งแวดล้อม” จากการพัฒนาระดับเมกะโปรเจคของไทยใน "ผืนป่าที่ราบต่ำภาคใต้" ผ่านบรรดา “นก 7 ชนิด” ที่จนถึงวันนี้ก็ยังหาไม่เจอ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ครั้งหนึ่ง การก้าวเป็น “เสือแห่งเอเชีย” หรือ เป็นนิกส์ (NIC : ประเทศอุตสาหกรรมใหม่) ของภูมิภาค เคยเป็น “ความหวังร่วม” กันของสังคมไทย ถึงขนาดกระทรวงศึกษาธิการบรรจุไว้ในตำราเรียนให้ท่องจำว่า ไทยจะเป็น “เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย”  

จากนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ในสมัยพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดการหลั่งไหลของเม็ดเงินของนักลงทุนทั้งใน และนอกประเทศถาโถมลงมาด้วยความมั่นใจนำไปสู่โครงการพัฒนาที่ “ปูพรม” ไปทั่วประเทศ 

บนระนาบเดียวกันของการพัฒนาที่เกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ก็เกิดขึ้นตามไปด้วยจากการเปลี่ยนเฉดสีเขียวของ “ป่า” ให้กลายเป็นสีเขียวของ “พืชเศรษฐกิจ” แทน 

ทะเลทรายสีเขียวกับนกที่หายไป 20181216140756875

"มันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ป่าดิบที่ราบต่ำภาคใต้ถูกแผ้วถางทำลายอย่างบ้าเลือด" ดล - อิงคยุทธ สะอา คนใต้โดยกำเนิดสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านของเขามาตั้งแต่จำความได้  

เพราะป่าใต้ไม่ได้ถูกแทนที่ด้วย รีสอร์ท ไร่กระหล่ำ หรือ แปลงข้าวโพด แบบภาคเหนือหรือภาคอีสาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยางพารา และปาล์มน้ำมันได้ลดทอนความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ไปไม่ต่างกัน 

หากย้อนดูรายงานการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากกรมพัฒนาที่ดินตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันก็จะพบว่าสิ่งที่ ดลพูดนั้นไม่ใช่เรื่องเกินจริงนัก เพราะสัดส่วนของพื้นที่เกษตรกรรมมีเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 52.66 เป็น ร้อยละ 55.41 ของเนื้อที่ประเทศ ขณะที่พื้นที่ป่าลดลงจากร้อยละ 36.64 เหลือร้อยละ 33.01 อย่างมีนัยยะสำคัญ ขณะที่พื้นที่สิ่งปลูกสร้าง พื้นที่แหล่งน้ำ หรือพื้นที่เบ็ดเตล็ดมีความเปลี่ยนแปลงไม่เกินร้อยละ 1 เท่านั้น

45881435_2100591456670136_7762460892762996736_o

ในฐานะเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ประจำสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย เขาจึงได้ร่วมกับ อ.ดุ่ย - เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แอดมินเพจสิ่งละอันพันละนก และมือทำกราฟฟิก โอ๋ หรือ จิรัฐพล จอนสุข ร่วมกันประกอบชุดข้อมูลการหายไปของนก 7 ตัวเพื่อบอกเล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นผ่านอินโฟกราฟฟิกชุด “ทะเลทรายสีเขียว” หรือ Green Desert  

การ "หายไป" จากป่าต่ำแดนใต้ของนกเหล่านี้นั้น พวกเขายืนยันว่า ไม่ใช่แค่การ "ไม่เห็นแล้ว" แต่เป็นการสูญเสียมรดกทางพันธุกรรมที่ธรรมชาติส่งมอบต่อกันมาตั้งแต่อดีต โดยสาเหตุหลักๆ มาจากการตัดไม้ทำลายป่า และการล่า 

“หลายชนิดที่อยู่ในพื้นที่ราบต่ำที่เป็นถิ่นอาศัยของนกดั้งเดิม เมื่อป่าถูกทำลายลงแม้แต่เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ นกเหล่านั้นก็อยู่ไม่ได้แล้ว”

นักดูนกอย่างดลยืนยันว่า วันนี้แทบจะพูดได้อย่างเต็มปากแล้วว่านกชนิดที่เป็นตัวแทนของป่าดิบที่ราบต่ำภาคใต้อย่าง นกแต้วแล้วท้องดำ (Gurney’s Pitta) ได้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้วในทางทฤษฎี รวมทั้งคนเรายังได้ทำให้ นกเปล้าใหญ่ (Large Green-pigeon) ที่เคยมีอยู่ทั่วไปในป่าดิบที่ราบต่ำภาคใต้ แทบจะหมดไปจากแผ่นดินใหญ่ ทั้งๆ ที่นกเปล้าชนิดนี้เคยถูกให้สถานภาพไว้ว่า “พบได้บ่อย” ในคู่มือดูนกของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ฉบับปี พ.ศ. 2517

46090960_2100591550003460_7280469883165343744_o

“นกเงือกปากย่น และนกเปล้าใหญ่เป็นนกกินผลไม้ แต่ละช่วงเดือนก็จะมีลูกไม้ออกไม่ตรงกัน ทำให้พวกมันใช้พื้นที่ในการหากินกว้างมาก ซึ่งเมื่อเราวอยป่าผืนใหญ่ให้ค่อยๆ เล็กลงนกเหล่านี้ก็อยู่ไม่ได้ และหายไปในที่สุด” แอดมินเพจสิ่งละอันพันละนกให้ข้อมูลเพิ่มเติม

สิ่งที่ อ.ดุ่ยหมายถึงก็คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งในป่าดิบที่ราบต่ำ และป่าชายเลนได้ทำลายถิ่นอาศัยของนกหลายชนิดในภาคใต้จนแทบหมดสิ้น 

โดยเฉพาะป่าดิบที่ราบต่ำที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 200 เมตร จากระดับน้ำทะเลนั้นได้หายไปมากในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2528 เปิดทางให้ 2 พืชเศรษฐกิจหลักอย่าง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ได้เข้ามาอย่างเต็มที่

“ถ้าภาษาคนดูนก 7 ตัวนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ที่จะรู้กันว่าหาโคตรยาก ยกเว้นแต้วแร้วท้องดำที่เมื่อก่อนจะมีจุดดูค่อนข้างแน่นอน ส่วนที่เหลือนี่ไม่รู้จะไปหาดูจากไหน มันก็ถือเป็นซีเล็คชั่นที่ดีมากๆ ทั้งตัวที่หายไปแล้วไม่คิดว่าจะเจอ ก็กลับมาเจอ หรือตัวที่หายไปเลยโดยไม่รู้เหตุผลว่าทำไม แล้วจริงๆ อำนาจการทำลายของเราก็สูงขึ้น อย่างผัวเมีย 2 คนมีเลื่อยยนต์ 2 ผืน เขาถางทีเดียวเป็นร้อยไร่ได้เลย ทำให้พื้นที่มันไปเร็วมาก พอมนัเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ และเป็นฐานเสียง นักการเมืองก็ไม่มีใครที่จะขวาง มันก็หายไปหมดในที่สุด” เขาเปรียบเทียบ

ความเข้าใจผิดอีกเรื่องหนึ่งที่ภาครัฐเป็นมาตลอดเกี่ยวกับการดำรงสายพันธุ์ของนกก็คือ ความคิดทำนอง หากป่าที่ราบถุกถางไป นกก็สามารถเขยิบขึ้นไปหากินบนที่สูงได้ ซึ่งความจริงแล้วอย่างบรรดานกในป่าที่ราบต่ำก็จะถูกการวิวัฒนาการจำกัดเอาไว้ที่ 200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลเท่านั้น

“สมัยก่อนระบบกรมป่าไม้ และกรมที่ดินข้อมูลไม่ได้เชื่อมต่อกัน เมื่อมีการถางป่าสงวนแล้วไปแจ้งกรมที่ดินจึงสามารถออกใบ ส.ค.1 (ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน) จึงออกได้ มีโฉนดมีสิทธิครอบครองพอจะกลับไปไล่ก็ไล่ไม่ได้ แล้วคนที่อยู่ในพื้นที่เองก็ไม่ได้เป็นคนที่รู้จักนก หรือเข้าใจนกก็เลยไม่มีความสนใจ” เข็มทองชี้ปมปัญหาที่เกิดขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ความหลากหลายที่หายไปไม่ใช่เกิดขึ้นกับพื้นที่ป่าภาคใต้เท่านั้น ยังหมายถึงป่าที่ราบต่ำในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก “นกที่ราบต่ำ” ในบริเวณนั้นก็ต่างประสบชะตาไม่ต่างกัน

“สังเกตว่าพื้นที่อนุรักษ์ที่ประกาศง่ายที่สุดส่วนใหญ่เป็นเชิงเขาขึ้นไป เพราะคนไม่อยู่ แต่พอเป็นพื้นที่ราบอย่าง ป่าเต็งรังผืนใหญ่ๆ ในภาคอีสานไม่มีใครกล้าประกาศไปประกาศบริเวณยอดภู หรือที่ๆ ไม่มีคนมากกว่า ทั้งๆ ที่ความหลากหลายบนที่ราบมีมากกว่าเยอะ”

หรือหากมองในแง่ของความตระหนักบางอย่าง คนในสังคมไทยก็ยังมีน้อยอยู่ ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่ห่างจากชายแดนไทยไปไม่เกิน 8 กิโลเมตร กลับพบนกหลายตัวใน 7 ชนิดนี้อยู่กันอย่างอุดมสมบูรณ์

46301119_951265011749904_334985665013874688_n

จากซ้าย : จิรัฐพล จอนสุข อิงคยุทธ สะอา และ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

กราฟฟิกชุดนี้จึงเป็นเหมือนการดึงความสนใจของคนให้เห็นความสำคัญ และชุดข้อมูลเป็นความรู้ อย่างที่คนทำงานสายกราฟฟิกอย่าง โอ๋ เล่าว่ามีรุ่นน้องเห็นงานชุดนี้แล้วกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กลับไปดูนกที่บ้านตัวเองบ้าง  

แม้แต่คำว่าป่าที่ไม่ได้มีความหมายแค่ต้นไม้สูงๆ หรือใบไม้เขียวๆ เท่านั้น ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันค่อพื้นที่ที่มีความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมอยู่ ซึ่งทุกวันนี้จะเหลือน้อยลงเต็มที

“เอาแค่พื้นที่ชุ่มน้ำที่กำลังวิกฤตตอนนี้ เอาแค่น้ำจืด เราเห็นแค่นาข้าว แต่ยังมีบึงน้ำที่สมบูรณ์ มีกบ มีธูปฤาษีที่มันแน่นจริงๆ ไปแล้วจะได้ยินเสียงของ กระจิบหญ้าสีเรียบ กินแมลงกระหม่อมแดง แทบไม่มีแล้ว หายากมาก” อ.ดุ่ยยกตัวอย่าง 

หรืออย่างน้อยก็ให้รู้ว่า สีเขียวที่เห็นบนแผนที่ดาวเทียมประเทศไทยนั้น เป็นเฉดเขียวจากผืนป่า หรือเขียวจากแปลงเกษตรกันแน่

เพื่อไม่ให้เราสำลัก “ความสมบูรณ์” ตายโดยไม่รู้ตัว 

46086791_2100591696670112_8945712490046554112_o

ใครเป็นใครในทะเลทรายสีเขียว

1

นกเงือกปากย่น

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดนราธิวาสและยะลา ดูเหมือนจะเป็นผืนป่าแหล่งสุดท้ายในประเทศไทยที่สามารถพบนกเงือกที่สวยงามอย่างนกเงือกปากย่น ได้ในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเคยมีการพบที่ทะเลสองห้อง จ.ตรังเมื่อ ค.ศ.1896 มาแล้ว

2

นกแต้วแร้วท้องดำ

เคยมีรายงานพบนกแต้วท้องดำในประเทศไทยใน8 จังหวัด ไล่ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต และตรังนกชนิดนี้ถูกวิวัฒนาการมาให้ปรับตัวให้อาศัยอยู่ “จำเพาะ” กับป่าดิบชื้นที่ราบต่ำแบบไทย ซึ่งวันนี้ค่อนแน่ชัดแล้วว่า ประชากรกลุ่มสุดท้ายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม และพื้นที่โดยรอบในเขตจังหวัดกระบี่และตรัง นั้นไม่มีรายงานพบมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 แล้ว

3

นกเค้าใหญ่สีคล้ำ

"ความลึกลับ” ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่อยู่เคียงข้าง “นกเค้าใหญ่สีคล้ำ” ในคาบสมุทรมลายูมาตลอดเวลากว่าร้อยปีที่ผ่านมา หากมองจากตัวอย่างสตัฟท์ของนกเค้าใหญ่สีคล้ำ ที่มีอยู่ไม่ถึง 10 ตัวที่ถูกนักปักษีวิทยาเก็บได้ แต่เหมือนปาฏิหาริย์มีจริงเมื่อ นกชนิดนี้ถูกค้นพบอีกครั้งที่อุทยานแห่งชาติทะเลบัน จ.สตูล ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2015ซึ่งสร้างความฮือฮาให้วงการดูนกเมืองไทยมาก

44

กลุ่มนกกระทาดงและไก่ฟ้า

เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่จัดว่า ย่ำแย่เข้าขั้นวิกฤต บางชนิด เช่น นกกระทาดงปักษ์ใต้ นั้นพบว่า รายงานการพบเห็นตัวครั้งสุดท้ายในไทยต้องย้อนไปถึง เมื่อปี ค.ศ. 1990 ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองพระยา จังหวัดกระบี่ หลังจากนั้นก็ไม่มีรายงานพบที่ไหนในเมืองไทยอีกเลย ทิ้งให้เป็นคำถามว่าพวกมันยังเหลือรอดอยู่ไหนสักแห่งในประเทศนี้อีกหรือเปล่า

55

นกเปล้าใหญ่

“ภาวะขาดแคลนอาหาร” เป็นสิ่งแรกๆที่นกกินผลไม้ขนาดใหญ่หลายชนิดต้องเผชิญหลังจากที่ ”ผืนป่าดิบที่ราบต่ำ” ถูกทำลาย นกเปล้าใหญ่ ถือเป็นนกอีกชนิดที่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ มีงานวิจัยในมาเลเซียที่ชี้ชัดว่านกเปล้าใหญ่นั้นชอบกินลูกไทรหรือมะเดื่อขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างกว่า 24 มิลลิเมตรขึ้นไป การตัดไม้ทำลายป่าในที่ราบอย่างกว้างขวางจึงเปรียบเสมือนการทำลายแหล่งอาหารโดยตรงของนกเปล้าขนาดใหญ่ที่สุดชนิดนี้

66

นกจู๋เต้นลาย

ไม่ต่ำกว่า 30 ปีที่แล้ว “ป่าดิบที่ราบต่ำเขานอจู้จี้” หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ- บางคราม จังหวัดกระบี่ ดูเหมือนจะเป็นพื้นที่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่นักดูนกพอจะหาดู นกจู๋เต้นลาย ได้ในธรรมชาติ จนรายงานเมื่อปี ค.ศ. 2004 ได้กลายเป็น “รายงานการพบเห็นนกชนิดนี้ครั้งสุดท้ายในเมืองไทย”

77

นกปากกบยักษ์

เป็นหนึ่งในนกที่หายสาปสูญไปจากเมืองไทยยาวนานที่สุด นกกลางคืนที่แสนจะลึกลับนี้ ถูกเก็บตัวอย่างได้ครั้งเดียวที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี ค.ศ. 1890 หรือเมื่อราวๆ 126 ปีแล้ว เคยมีรายงานว่ามีผู้ได้ยินเสียงร้องที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดนราธิวาส ในช่วงราวปี ค.ศ. 2000 แต่รายงานดังกล่าวไม่ได้รับการยืนยันเนื่องจากขาดหลักฐานที่เป็นภาพถ่าย