กายวิภาคของความเงียบ: ความทรงจำ ภาพสุดท้ายของผู้ตาย

กายวิภาคของความเงียบ: ความทรงจำ ภาพสุดท้ายของผู้ตาย

การสำรวจเรื่องเล่าในอดีต ที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน ความตายของคนธรรมดาที่อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

งานสร้างสรรค์ต่างเรียกร้องเวลาในการเสพ งานโฆษนาต้องจับความสนใจภายใน 4 วินาที เพลงใช้ 3 นาที ภาพยนตร์ใช้ 2 ชั่วโมง หนังสือเป็นวันถึงขั้นเป็นปี (บางทีก็อ่านไม่จบ) ส่วนศิลปะนั้นใช้เวลาชมเพียงครู่ ครู่ของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน เวลาในการเสพนั้นเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ขณะที่วรรณกรรมเรียกร้องเวลามาก แต่ก็ยังมีพรรณนาโวหารมาอธิบายเพื่อให้คนเห็นภาพตาม แต่กับศิลปะนั้น ศิลปินต้องอาศัยภาพเดียวเพื่อสร้างเรื่องราวในห้วงคิดของผู้ชม ซึ่งทุกวันนี้ก็สละเวลาให้น้อยเต็มทีที่จะพัฒนาความคิดที่มีต่องานศิลปะสักชิ้น

Innocent Blue

Innocent Blue

หลายครั้งตามมิวเซียมหรือแกเลอรี่ก็เป็นที่ที่คนมาถ่ายภาพเช็คอิน นั่งเล่นสมาร์ทโฟน แล้วก็จากไป

งานศิลปะจึงเรียกร้องความมี “คุณภาพ” ตามแต่วิสัยทัศน์หรือมาตรวัดของเจ้าของสถานที่ และที่ Artist+Run อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ก็บอกว่าเขามีมาตรวัด “ใจสั่น” ที่ทำหน้าที่คัดเลือกงานศิลปะมาแสดง มาตรวัดนี้อาจเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่บุคคลที่สะสมประสบการณ์ในการเสพ คิด พิจารณาศิลปะมายาวนาน (รวมทั้งสร้างงานเองด้วย) ก็ย่อมเรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ

เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่การดั้นด้นออกจากบ้านมาดูงานสักชิ้น ส่วนตัวก็มีมาตรวัดของงานที่ต้องสร้างแรงสั่นสะเทือนในใจได้เช่นกัน

1 Undergrowth with Lovers

Undergrowth with Lovers

ภาพเขียนชื่อ “Undergrowth with Lovers” ภาพงานแต่งงานสีขาวดำของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ระบุว่าเป็นอากงกับป้าอุ๊ - อำพลและรสริน ตั้งนพคุณ ถ้าใครเคยอ่านข่าว “อากง” ซึ่งต้องโทษคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อปี 2553 เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ไปยังโทรศัพท์มือถือของเลขาฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อากงเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขัง รอยยิ้มของทั้งคู่ที่เดินไปในป่าสีเทาพร่าเลือนเป็นความสุขและความเศร้าที่เราต่างอธิบายได้เองตามประสบการณ์การรับรู้

งานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในนิทรรศการ กายวิภาคของความเงียบ: ผลสืบเนื่อง ของ พชร ปิยะทรงสุทธิ์ ซึ่งเป็นชุดที่สองต่อเนื่องจากการวิจัยวิกฤตการเมืองไทย ตั้งแต่ 40 กว่าปีที่แล้ว บทโหมโรงเริ่มที่นาบัว และประตูแดงที่พบศพถูกแขวนคอของสองแนวร่วมประท้วงการกลับเข้าเมืองไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อปี 2519

2 What a Wonderful World_Parallel Side of the Red Gate

What a Wonderful World: Parallel Side of the Red Gate

ภาพ “What a Wonderful World: Parallel Side of the Red Gate” ทิวทัศน์ธรรมดา แต่นั่นคือภาพฝั่งตรงข้ามประตูแดงแห่งนั้น ทีแปรงและมิติของภาพแฝงความหมายแทนภาพจำสุดท้ายของผู้ตาย ประตูแดงยังคงสภาพเดิมเหมือนอดีต เพียงแต่ได้บันทึกความรุนแรงบทหนึ่งเอาไว้ แต่เราส่วนใหญ่ไม่เคยรู้

3 The Sun is Gone but I Have a Light

The Sun is Gone but I Have a Light

ผ่านสายตาของผู้ตาย งานอีกชิ้นที่ถูกสีขาวเททับจนมองไม่ออก “The Sun is Gone but I Have a Light” นี่คือภาพมุมมองจากใต้สะพานลอยจุดที่นวมทอง ไพรวัลย์ แขวนคอตายหลังจากขับรถแท็กซี่พุ่งชนรถถังของคณะรัฐประหารเมื่อปี 2549 ล้างคำสบประมาทที่ว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้” อังกฤษบอกว่าพชรเพนท์ภาพมุมนี้ไว้สวยและละเอียดมาก แล้วเลือกที่จะกลบด้วยสีขาว อาจหมายถึงช่วงเวลาสุดท้ายที่ดวงตากำลังปิดลง หรืออีกนัยคนต่างเลือกที่จะกลบมันไว้ใต้ความเงียบ

Singin in the Rain

Singin' in the Rain

ในช่วง 5 ปีมานี้มีงานศิลปะที่สื่อสารถึงแรงกดทับที่มีในยุคที่การแสดงออกถูกควบคุมและครอบงำ ศิลปะคือภาษาหนึ่งในการแสดงออก จึงเกิดแรงปะทุเป็นงานขึ้นมากมายที่พูดถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างของทั้งการเมืองและสังคม หากเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน ศิลปะร่วมสมัยสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละยุค พชรพูดถึงอดีตที่ยังคงส่งผลพวงมาถึงปัจจุบัน ความจริงที่ควรถูกชำแหละกลับบดบังไว้ด้วยความเงียบ

นิทรรศการ กายวิภาคของความเงียบ: ผลสืบเนื่อง ของ พชร ปิยะทรงสุทธิ์ จัดแสดงที่แกเลอรี Artist+Run ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 22 จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม นี้