สวนสุขภาพลัดโพธิ์ : พื้นที่สีเขียวด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

สวนสุขภาพลัดโพธิ์ : พื้นที่สีเขียวด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

สวนสาธารณะพร้อมพื้นที่ออกกำลังกายและเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่เก้า กับส่วนจัดแสดงรายละเอียดข้อมูลการก่อสร้างและส่วนประกอบ 'สะพานภูมิพล'

สวนสุขภาพลัดโพธิ์ เป็นชื่อสวนสาธารณะ ตั้งอยู่ที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ บนพื้นที่ที่เรียกว่าศูนย์กลางทางแยกต่างระดับ(Central Interchange)บริเวณใต้ ‘สะพานภูมิพล ๑’ และ ‘สะพานภูมิพล ๒’ ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาใน ‘โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม’ ที่ กรมทางหลวงชนบท รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้าง

"สืบเนื่องมาตั้งแต่การก่อสร้างสะพานภูมิพล ๑ และสะพานภูมิพล ๒, กรมทางหลวงชนบทเล็งเห็นว่า พื้นที่เซ็นทรัลอินเตอร์เชนจ์ที่เหลืออยู่ เป็นพื้นที่ค่อนข้างกว้าง อยากให้ประชาชนที่อยู่บริเวณนี้ได้รับประโยขน์เพิ่มเติม จึงมีความคิดสร้างพื้นที่ส่วนนี้เป็นสวนสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่บริเวณนี้นอกจากใช้เส้นทางสะพานเพื่อสัญจร ก็ยังใช้พื้นที่เหลือด้านล่างเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้ ประกอบกับสอบถามความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ ว่าอยากได้อะไรอีกบ้างนอกเหนือจากสวนสาธารณะ พบว่าประชาชนอยากมีอุปกรณ์ออกกำลังกาย ลานกิจกรรม ลู่วิ่ง กรมทางหลวงชนบทก็พยายามปรับปรุงมาเรื่อยๆ ตามงบประมาณที่มี" พุทธิพงศ์ หะลีห์รัตนวัฒนา วิศวกรโยธาปฏิบัติการ สำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความเป็นมาของ ‘สวนสุขภาพลัดโพธิ์’ ซึ่งมีพื้นที่ 75 ไร่

‘ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม’ เป็นโครงการที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแนวพระราชดำริเมื่อพ.ศ.2538 ให้ก่อสร้างเป็นโครงข่ายถนนรองรับการขนถ่ายและลำเลียงสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพ(คลองเตย)ไปยังพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการและภูมิภาคอื่นของประเทศ เพื่อมิให้รถบรรทุกขนาดใหญ่แล่นเข้าไปในตัวเมืองอันเป็นสาเหตุของการจราจรติดขัดโดยรอบ

ในเวลานั้น กรมโยธาธิการ (กรมทางหลวงชนบทในปัจจุบัน) สนองแนวพระราชดำริ เสนอให้ก่อสร้าง ‘โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม’ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2539

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2543 ณ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งถนนพระรามที่ 3 เขตยานนาวา กรุงเทพฯ

ในโครงการนี้ กรมทางหลวงชนบทต้องดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 2 สะพานต่อเนื่องกัน ซึ่งต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานชื่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองแห่งนี้ว่า ‘สะพานภูมิพล ๑’ และ ‘สะพานภูมิพล ๒’

กรมทางหลวงชนบท ดำเนินงานก่อสร้าง สวนสุขภาพลัดโพธิ์ แล้วเสร็จพร้อมสะพานฯ ในปีพ.ศ.2549 ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และดำเนินการปรับปรุงมาโดยลำดับ 

20181203103804211

สวนสุขภาพลัดโพธิ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 

ขณะนี้ภายใน ‘สวนสุขภาพลัดโพธิ์’ มีลู่วิ่งระยะทาง 2 กิโลเมตร สนามเด็กเล่น สนามบาสเก็ตบอล ลานอเนกประสงค์ที่ประชาชนสามารถใช้เล่นกีฬาแบดมินตัน ตะกร้อ และบึงน้ำที่ประชาชนสามารถหย่อนใจด้วยการให้อาหารปลา

เนื่องจากบริเวณนี้น้ำทะเลท่วมถึง สภาพดินจึงมีลักษณะของ ‘ดินเค็ม’ พันธุ์ไม้ใน ‘สวนสุขภาพลัดโพธิ์’ จึงเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่น เช่น ลั่นทม ที่คุ้นเคยและสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ในลักษณะของดินประเภทนี้ และต้น ‘ราชพฤกษ์’ ที่ประชาชนและกระทรวงคมนาคมร่วมกันปลูกเพิ่มเติม

สวนสุขภาพลัดโพธิ์ เป็นสถานที่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ประดิษฐาน พระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพระอิริยาบถประทับยืนขณะทรงงาน

20181203103801986

20181203103802271

พระบรมรูปทรงงาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 

โดยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคจากท่าน้ำโรงพยาบาลศิริราชไปยัง คลองลัดโพธิ์ ทรงทำพิธีเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์และสะพานภูมิพล หลังจากเสด็จกลับไปประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ทรงมีพระราชดำริจัดสร้างพระบรมรูปของพระองค์ขณะ ‘ทรงงาน’

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ประทับยืนขณะทรงงานให้นาย ธวัชชัย ทวีศรี อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำสาธารณรัฐอินเดีย เพื่อเป็นต้นแบบจัดสร้าง พร้อมกับทรงมีกระแสรับสั่งความว่า 

‘อย่าทำให้ใหญ่มากนัก ทำแต่พอดีพองาม ถ้าจะสร้างองค์ใหญ่ นำงบประมาณไปพัฒนาอย่างอื่นดีกว่า’ 

พระบรมรูปทรงงาน มีความสูง 2.30 เมตร ถอดแบบมาจาก พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะทรงงาน ณ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่อาวน้อย อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2535 เวลา 16.00 น. ดำเนินงานขึ้นต้นแบบขนาด 60 เซนติเมตรและปั้นโดยอาจารย์กิตติชัย ตรีรัตน์วิชชา

รายละเอียดต้นแบบพระบรมรูปทรงงาน ได้รับการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเป็นระยะ เพื่อให้ถูกต้องตามพระบรมฉายาลักษณ์ โดยเฉพาะรายละเอียดสิ่งของประจำพระองค์ขณะทรงงานในพื้นที่ คือ แผนที่อัตราส่วน 1:50,000 วิทยุสื่อสาร กล้องถ่ายรูป ดินสอตรวจแบบ ดินสอมาร์คแผนที่ ดินสอธรรมดาที่ปลายแท่งเป็นยางลบ แม้กระทั่งฉลองพระบาท

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจิมแผ่นทอง เงิน นาค เพื่อนำไปประกอบพิธีเททองหล่อพระบรมรูปฯ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2555 ณ ห้องชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช

ต่อมา กรมทางหลวงชนบท ได้รับการประสานงานจากกองงานส่วนพระองค์ สำนักพระราชวัง ให้จัดหาพื้นที่เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปหล่อจำลองพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขณะทรงงาน ณ สวนสุขภาพลัดโพธิ์ สะพานภูมิพล ๑ สะพานภูมิพล ๒

กรมทางหลวงชนบทจึงดำเนินการออกแบบ พื้นที่ประดิษฐานพระบรมรูปฯ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้กรมทางหลวงชนบทดำเนินต่อไป โดยกรมฯ เริ่มปรับปรุงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2556 ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2556

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ ทรงหล่อ 'พระบรมรูปทรงงาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช' และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะผู้จัดสร้างและผู้แทนกรมทางหลวงชนบทเข้าเฝ้า ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2556

กรมทางหลวงชนบทดำเนินการประดิษฐาน พระบรมรูปทรงงาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ภายในสวนสุขภาพลัดโพธิ์ โดยมีพิธีบรรจุแผ่นศิลาจารึกพระราชทานในเวลา 09.00 น. และมีพิธีอัญเชิญพระบรมรูปฯ ขึ้นประดิษฐานยังแท่นฐานในเวลา 15.39 น. ของวันที่ 1 สิงหาคม 2556

บริเวณด้านหน้าของสวนสุขภาพลัดโพธิ์ยังมี แผ่นหินประติมากรรมนูนต่ำ แสดงพระอิริยาบถขณะทรงงานของ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ พร้อมพระบรมราโชวาท พระราชทานไว้ในโอกาสต่างๆ จำนวน 9 แผ่นป้าย 

20181203103805486

20181203103806083

แผ่นหินประติมากรรมนูนต่ำพระอิริยาบถขณะทรงงานของ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ พร้อมพระบรมราโชวาท

พระบรมราโชวาททั้ง 9 แผ่นป้าย เปรียบเสมือนหลักการและหลักธรรมดำเนินชีวิตให้เป็นมงคลกับตนเองและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม อาทิ  พูดจริง ทำจริง : ผู้หนักแน่นในสัจจะ พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น จึงได้รับความสำเร็จพร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือ และความยกย่องสรรเสริญ จากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือ พูดจริงทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด และสร้างเสริมความดี ความเจริญให้เกิดขึ้น ทั้งแก่บุคคลและส่วนรวม : พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 10 กรกฎาคม 2540

นอกจากนี้ กรมทางหลวงชนบทยังได้ก่อสร้าง พิพิธภัณฑ์วงแหวนอุตสาหกรรม ไว้ในสวนสุขภาพลัดโพธิ์

20181203103803017

อาคารพิพิธภัณฑ์วงแหวนอุตสาหกรรม (หลังคาซ้อนชั้นสีเขียว) ภายในสวนสุขภาพลัดโพธิ์

"เป็นความตั้งใจขณะก่อสร้างสะพาน เนื่องจากสะพานเป็นโครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่เก้า ตัวโครงสร้างสะพานมีลักษณะพิเศษ เสาสูงของสะพานมีรูปทรงเป็นเหลี่ยมเพชร โคนเสาสอบเข้าหากัน แทนที่จะกางออก เป็นการออกแบบเพื่อรบกวนการเวนคืนที่ดินชาวบ้านให้น้อยที่สุด และยังคล้ายกับลักษณะการพนมมือไหว้แสดงความเป็นไทย โครงสร้างสะพานขึง สวยงาม กรมฯ ก็เลยมีความตั้งใจทำเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่เก้า กับส่วนที่เป็นรายละเอียดข้อมูลการก่อสร้างและส่วนประกอบตัวสะพาน" พุทธิพงศ์ กล่าว

อาคารพิพิธภัณฑ์วงแหวนอุตสาหกรรมมีรูปแบบเป็น สถาปัตยกรรมร่วมสมัยแบบไทยรามัญ เพื่อให้ความเคารพกับวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายมอญซึ่งเป็นชุมชนเดิมในพื้นที่

นิทรรศการแบ่งเป็น 9 พื้นที่ แต่ละพื้นที่ได้รับการออกแบบอย่างมีมาตรฐาน นำเสนอด้วยเทคโนโลยีทันสมัยเช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ชั้นนำ

20181203103334074

ประติมากรรมทำด้วยวัสดุ 9 ชนิด สะท้อนพระอัจฉริยภาพงานช่างของ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ ในห้องโถงที 1 ของ ‘พิพิธภัณฑ์วงแหวนอุตสาหกรรม’

IMG_4208 (1)

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีเปิด ‘สะพานพระนั่งเกล้า’ พ.ศ.2528, ‘สะพานพระราม 7’ พ.ศ.2535, สะพาน ‘สะพานพระราม 5’ พ.ศ.2545 (นิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์วงแหวนอุตสาหกรรม)

พื้นที่ที่ 1: ห้องโถงใหญ่จัดแสดงพระราชประวัติ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ และภาพพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี(พ.ศ.2549), พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และพระราชกรณียกิจด้านการคมนาคม, กลางห้องโถงจัดแสดงประติมากรรมทำด้วยวัสดุ 9 ชนิด สะท้อนพระอัจฉริยภาพงานช่างของ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’

พื้นที่ที่ 2, จัดแสดงวีดิทัศน์ ‘ปิ่นฟ้าคมนาคม’ แสดงพระราชกรณียกิจ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ ด้านคมนาคมทั้งทางบก อากาศ และทางน้ำ

พื้นที่ที่ 3, จัดแสดงภาพถ่ายและวีดิทัศน์การดำเนินงานจัดสร้างพระบรมรูปทรงงานฯ โดยอาจารย์กิตติชัย ตรีรัตน์วิชชา และการสร้างแท่นพระบรมรูปฯ โดยกรมทางหลวงชนบท

พื้นที่ที่ 4, จัดแสดงภาพถ่ายและวีดิทัศน์พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พื้นที่ที่ 5, ‘พ่อมองเห็นเราเสมอ’ จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์และบรมสาทิสลักษณ์ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ เสมือนรูปที่มีทุกบ้านไม่เคยจางหาย 

พื้นที่ที่ 6, จัดแสดงโครงการสร้างถนนและสะพานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลของกรมทางหลวงชนบท

พื้นที่ที่ 7, จัดแสดงวีดิทัศน์แนะนำกิจกรรมและแหล่งท่องเที่ยวในบริเวณบางกะเจ้าและนครเขื่อนขันธ์ 

พื้นที่ที่ 8, จัดแสดงวีดิทัศน์และโครงสร้างจำลองของสะพานภูมิพล ๑ สะพานภูมิพล ๒ ตลอดจนความเป็นมาและส่วนประกอบการก่อสร้างสะพาน อาทิ ส่วนประกอบภายในสายเคเบิล ประติมากรรมเชิงสะพาน 

พื้นที่ที่ 9, จัดแสดงวีดิทัศน์พระอัจฉริยภาพ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ สามารถนั่งชมโครงการหญ้าแฝก หน่วยแพทย์พระราชทาน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โครงการฝนหลวง กังหันชัยพัฒนา เป็นอาทิ

 

20181203103336495

พื้นที่จัดแสดงภาพถ่ายและวีดิทัศน์การดำเนินงานจัดสร้างพระบรมรูปทรงงาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยอาจารย์กิตติชัย ตรีรัตน์วิชชาและการสร้างแท่นพระบรมรูปฯ โดยกรมทางหลวงชนบท

IMG_4245A

พื้นที่ที่ 4, จัดแสดงภาพถ่ายและวีดิทัศน์พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

IMG_4229

พื้นที่ที่ 7, จัดแสดงวีดิทัศน์แนะนำกิจกรรมและแหล่งท่องเที่ยวในบริเวณบางกะเจ้าและนครเขื่อนขันธ์ 

20181203103800282

พุทธิพงศ์ หะลีห์รัตนวัฒนา อธิบายวัสดุและส่วนประกอบโครงสร้างสะพานภูมิพล ๑ และสะพานภูมิพล ๒

ขณะนี้กรมทางหลวงชนบทกำลังดำเนินการปรับปรุง 'พิพิธภัณฑ์วงแหวนอุตสาหกรรม' ให้มีความสมบูรณ์พร้อมยิ่งขึ้นก่อนเปิดให้ประชาชนเข้าชมในโอกาสต่อไป

นอกจากมีโอกาสขึ้นไปยืนอยู่บนสะพานภูมิพล(จำลอง)ใน 'พิพิธภัณฑ์วงแหวนอุตสาหกรรม' กรมทางหลวงชนบทยังจำลองประติมากรรมสำคัญเชิงสะพานภูมิพลมาไว้ในสวนสุขภาพลัดโพธิ์ให้ชมกันอย่างใกล้ชิด จำนวน 2 ชิ้นงาน

ประติมากรรมชิ้นแรกชื่อ พระบริบาล  ตั้งอยู่บนสะพานภูมิพล ๑ (ฝั่งถนนพระรามที่ 3) ประติมากรรมยอดสูงด้านบนเป็น ‘อุณาโลม’  หมายถึงหยาดน้ำพระราชหฤทัยของ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ ใบเสมาใต้อุณาโลมแทนขอบเขตอันกว้างใหญ่ไพศาลของประเทศไทย ตั้งอยู่บนรากฐานดอกบัว สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ความสุข และความเจริญก้าวหน้า

20181203103804697

ประติมากรรม ‘พระบริบาล’ 

20181203103805011

ประติมากรรม ‘เหนือเกล้า’ 

ประติมากรรมชิ้นที่สองชื่อ เหนือเกล้า ประติมากรรมรูปทรงหยดน้ำสีทองบนสะพานภูมิพล ๒ (ฝั่งถนนปู่เจ้าสมิงพราย) ประกอบด้วยส่วนบนเป็น ‘อุณาโลมสีทอง’ สัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ ล้อมรอบด้วยยอดแหลมแทนพสกนิกรชาวไทย สะท้อนถึงความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยที่ถวายแด่ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’

สวนสุขภาพลัดโพธิ์.. พื้นที่สีเขียวและเต็มไปด้วยความทรงจำถึง ‘พ่อ’

IMG_4251

สวนสุขภาพลัดโพธิ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เปิดบริการทุกวัน เวลา 05.00-21.00 น.