รัฐไม่เอาโซล่าร์เซลล์ 'Solar Fund' จัดให้

รัฐไม่เอาโซล่าร์เซลล์  'Solar Fund' จัดให้

พัฒนาไปอีกขั้น ภาคประชาชนรวบรวมเงินบริจาคติดตั้งโซล่าร์เซลล์ให้โรงพยาบาลชุมชน เงินครบเมื่อไหร่ติดตั้งเมื่อนั้น

 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการใช้โซล่าร์เซลล์ในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ และปัจจุบันราคาถูกลง แต่ยังไม่มีการใช้ระบบนี้อย่างเป็นทางการ

เมื่อเร็วๆ นี้คน์ทำงานเพื่อสังคมหลายฝ่าย ตระหนักว่า หากมีการใช้โซล่าร์เซลล์จะช่วยประหยัดไฟฟ้าได้เยอะ จึงรวมกันจัดตั้งกองทุนแสงอาทิตย์ (Solar Fund) ระดมทุนครั้งแรก 7.7 ล้านบาท ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วย โซล่าร์เซลล์ให้โรงพยาบาล แห่งๆ ละ 30 กิโลวัตต์ คิดคำนวณแล้วประหยัดค่าไฟฟ้าได้แห่งละ 2 แสนบาทต่อปี เพียง 5 ปีก็คืนทุน 

หากคิดไปไกล อายุการใช้งานโซล่าร์เซลล์ 25 ปี เท่ากับว่าได้ใช้ไฟฟ้าระบบนี้ฟรี 20 ปี เรียกว่าเกินคุ้ม

ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของการเปิดตัวกองทุนแสงอาทิตย์ เพื่อพลังงานที่เป็นธรรม โดยระดมทุนจากการบริจาค

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา เล่าถึงการลงทุนติดตั้งโซล่าร์เซลล์ โดยโรงพยาบาลลงทุนเองมานานกว่า 13 เดือน เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าเดือนละ สองแสนห้าหมื่นบาทต่อเดือน ทั้งปีสามล้านบาท ทั้งๆ ที่เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก 72 เตียง 

“ก่อนหน้านี้เราเคยใช้มาตรการประหยัดค่าไฟฟ้าให้เปิดปิดเป็นเวลา นำมาซึ่งความทุกข์ของเจ้าหน้าที่ ผลออกมาค่าไฟฟ้าไม่ได้ลด เราจึงนึกถึงวิธีอื่นคือ พลังงานแสงอาทิตย์ ลงทุนไปเจ็ดแสนห้าหมื่นบาท ติดตั้งโซล่าร์เซลล์ 68 แผ่นบนหลังคา ประหยัดค่าไฟฟ้าได้หนึ่งแสนสองหมื่นบาทต่อปี

ผมคิดว่า ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ติดตั้งโซล่าร์เซลล์ ผมอยากบอกว่า ทุกๆ โรงพยาบาลควรติดตั้งโซล่าร์เซลล์ กองทุนที่ตั้งขึ้นครั้งนี้โดยภาคประชาชนช่วยกัน และเราคาดว่า การติดโซล่าเซลล์โรงพยาบาลแห่งที่ 8 น่าจะเป็นนโยบายภาครัฐทำเรื่องนี้”

ส่วน พระครูวิมล ปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม และ โรงเรียนพลังงานแสงอาทิตย์ จ.อุบลราชธานี ประธานกองทุนแสงอาทิตย์ บอกว่า เมื่อเทคโนโลยีไปไกล และความพร้อมของธรรมชาติ ค่าเฉลี่ยของแสงแดดดีมาก หลายๆ ด้านเอื้อให้ทำได้ โดยโรงพยาบาลที่เข้าร่วมจะติดระบบออนกริด (ใช้ไฟฟ้าได้ทั้งระบบส่วนกลางและโซล่าร์เซลล์)

“ถ้าเป็นระบบออนกริด 30 กิโลวัตต์ ลงทุนกิโลวัตต์ละ 35,000 บาท ระยะคืนทุน 4-5ปี อาตมาเคยทำให้โรงพยาบาล 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ์ ซึ่งตอนนี้ลดค่าไฟฟ้าลดไปสองแสนกว่าบาทต่อปี ถ้าติดตั้งหนึ่งพันเมกกะวัตต์จะลดค่าไฟฟ้าไปได้ เดือนละหกร้อยล้านบาท แต่ต้องใช้งบประมาณสี่หมื่นล้านบาท ถ้าเป็นแบบนี้ เอาเงินช่วยเหลือคนจนมาช่วยโรงพยาบาลได้ไหม”

ส่วนภาระค่าไฟฟ้า คุณหมอศักดิ์สิทธิ์ มหารัตนวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร หนึ่งในโรงพยาบาลที่จะได้ติดตั้งโซล่าร์เซลล์จากการระดมทุนครั้งนี้ เล่าว่า มีภาวะหนี้สินเรื้อรังเยอะ ถ้าจะลดค่าใช้จ่ายได้ ก็ต้องลดในหมวดพลังงาน 

"เราขยายตัวจาก90 เตียงเป็น 120 เตียงเพื่อรองรับผู้ป่วย ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเดือนละ 2-3 แสนบาท ปกติใช้ไฟฟ้าเดือนละห้าแสนบาท ปีหนึ่งก็หกล้านบาท ถ้าเราติดตั้งโซล่าร์เซลล์จะมีเงินเหลือเดือนละ สองแสนบาท ก็จะนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยด้านอื่นๆ ได้”

เหล่าคนรักแดดที่มารวมตัวกันขับเคลื่อนกองทุนแสงอาทิตย์ คาดว่า ต้นปีหน้า เงินบริจาคล้านแรกจะสามารถนำไปติดตั้งโซล่าร์เซลล์ให้โรงพยาบาลแห่งแรกได้เลย

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นคือ การปฏิรูปพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย

 “สักวันก๊าซธรรมชาติก็หมดลง ทางรอดประเทศไทยคงหนีพลังงานหมุนเวียนไม่พ้น ไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร มีแดดเยอะ พื้นที่เหมาะและมีศักยภาพมาก และทั่วโลกประเมินการณ์ว่า อีกยี่สิบปีข้างหน้า เราจะมีพลังงานลมและพลังงานแสงแดดมากขึ้น 4-7 เท่าขึ้นอยู่กับนโยบายประเทศนั้น จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าก็จะมีมากขึ้นถึงหนึ่งพันล้านคัน ทุกๆ สิบคนจะมีรถไฟฟ้าหนึ่งคัน ด้วยศักยภาพเหล่านี้ การผลิตพลังงานหมุนเวียนจะมีแนวโน้มถูกลง”

แม้คนมากมายจะอ้างว่า ประเทศไทยไม่พร้อมที่จะติดตั้งโซล่าร์เซลล์ เพราะมีราคาแพง และผลิตได้เฉพาะกลางวันเท่านั้น แต่สถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไป

“7 ปีที่ผ่านมา ราคาแผงโซล่าร์เซลล์และอุปกรณ์ถูกลง 4 เท่า และมีเทคโนโลยีเกิดขึ้นใหม่ สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ต้มเกลือให้เป็นของเหลว เกลือก็จะเก็บความร้อนผลิตไฟฟ้าตอนกลางคืนได้ แต่เทคโนโลยีแบบนี้ยังแพงอยู่ และเรามีเทคโนโลยีแบตเตอรีที่ราคาถูกลงเรื่อยๆ ในอนาคตรถไฟฟ้าจะแข่งขันกับรถพลังงานฟอสซิลได้” รศ.ดร.ชาลี เล่า

อีกไม่นานเกินรอ ทั้งเทคโนโลยีที่พร้อมและถูกลง จะเอื้อให้ประเทศไทยติดตั้งโซล่าร์เซลล์ได้มากขึ้น รศ.ดร.ชาลี เล่าต่อว่า โครงไฟฟ้าในอนาคตจะมีสมองกลควบคุม สามารถเลื่อนช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้าให้ถูกลงได้

“ถ้าจะหุงข้าว ก็ตั้งเวลาไว้ตั้งแต่กลางคืน ตอนเช้าก็หุงได้เลย จะมีเครื่องไฟฟ้าที่ใช้สมองกลเกิดขึ้นเยอะ ในอนาคตอาจมีการผสมผสานระบบไฟฟ้ากระแสตรงจากโซล่าร์เซลล์และระบบส่วนกลาง การผลิตไฟฟ้าของบ้านเรือนและชุมชน สามารถแลกเปลี่ยนไฟฟ้าไปมาได้

เรากำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคที่สอง คือ ประชาชนสามารถจัดการพลังงานไฟฟ้าเองได้ โดยมีระบบสายส่งอยู่บ้าง แต่ในอนาคตเมื่อเข้าสู่ยุคที่สาม จะไปสู่สมาร์ทกริด ระบบจัดการโครงข่ายอัจฉริยะ ไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อีกต่อไป ระบบเดิมมีไว้เพื่อใช้ไฟฟ้าสำรองกรณีภัยพิบัติ จะผลิตไฟฟ้าที่ไหนก็ใช้ที่นั่น ใช้ไฟฟ้าจากสายส่งน้อยลง และมีการโหลดไฟฟ้าในช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ด้วย”

เพราะโลกกำลังเปลี่ยนผ่าน จากการผลิตไฟฟ้ารวมศูนย์ ก้าวไปสู่ระบบการผลิตแบบย่อยๆ กระจายไปทุกแห่งและราคาถูกลง รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านพลังงาน บอกว่า กองทุนนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่

“พลังงานแสงอาทิตย์คือประชาธิปไตย ไม่มีการผูกขาด แต่ปัญหาคือ บ้านเราไม่ยอมเอาแสงอาทิตย์มาใช้ เพราะวิสัยทัศน์กลุ่มทุนและคนมีอำนาจรัฐ ก่อให้เกิดการผูกขาดและความเหลื่อมล้ำ เพราะพวกเขายืนบังแสงแดด

ขอย้ำอีกครั้ง มีนักการเมืองจากพรรคกรีนที่ผลักดันกฎหมายพลังงานหมุนเวียน คุยให้ฟังว่า ตอนแรกเขาไม่เคยคิดว่า พลังงานหมุนเวียนจะนำไปสู่การจ้างงาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเขา ปี 2553 มีการจ้างงานคนที่ทำงานด้านพลังงานหมุนเวียนจากสามหมื่นกลายเป็นสามแสนคน ขณะที่โรงงานพลังงานนิวเคลียร์ลดการจ้างงานจากสามหมื่นแปดเหลือสามหมื่น และปี 2555 ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนมีการจ้างงานสี่แสนคน ถ้าติดโซล่าร์เซลล์จะอยู่ได้ 25 ปี 

ดังนั้นการทำบุญให้กองทุนนี้ เป็นบุญที่ยั่งยืน เรามาร่วมกันเปลี่ยนสังคมเล็กๆ ด้วยมือของพวกเรา"

""""""""""""""""""""""""""""""""" 

-ติดตั้งโซล่าร์เซลล์ให้โรงพยาบาลชุมชน 7 แห่ง 7.7 ล้านบาท สามารถบริจาคผ่านออนไลน์ที่ www.thailandsolarfund.org หรือดูที่เฟซบุ๊ก กองทุนแสงอาทิตย์

 -กองทุนแสงอาทิตย์ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี429-017697-4 (ขอใบลดหย่อนได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)

-อยากทราบที่มาที่ไปเงินบริจาค สอบถามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทร 02 248 3737