‘เกาท์’...กินไก่ได้นะ

‘เกาท์’...กินไก่ได้นะ

เกษตรกรยิ้มได้ คนรักสุขภาพไม่ต้องกังวลใจ เพราะ ‘ไก่ 3 โลว์’ ผ่านการพิสูจน์แล้วว่า ยูริคต่ำ ไขมันต่ำ คอเลสเตอรอลต่ำ

มีคนไทยจำนวนมากที่ต้อง ‘งดกินไก่’ เพราะความเจ็บปวดหลังการรับประทานตามอาการของคนป่วย ‘โรคเกาท์’ หรือโรคข้ออักเสบ จากรายงานทางการแพทย์ โดยมูลนิธิโรคข้อในพระราชูปถัมภ์ ระบุว่า โรคเกาท์มีความชุกของโรคอยู่ที่ 0.16 กล่าวคือ ในประชากรหนึ่งแสนคนจะมีผู้ป่วยโรคเกาท์อยู่ประมาณหนึ่งร้อยคน ซึ่งปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการ ‘กินไก่’ และสัตว์ปีกนั่นเอง 

และแม้ ‘ไก่’ จะเป็นสาเหตุที่รองลงมาจากปัจจัยด้านพันธุกรรมของตัวผู้ป่วยเอง แต่เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอาหารการกินโดยตรง ข้อจำกัดและความกังวลของผู้ป่วยโรคเกาท์จึงมีไม่น้อย ล่าสุดนับเป็นข่าวดีสำหรับผู้รักสุขภาพทั้งหลาย เมื่อ รศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และทีมวิจัย ค้นพบ ‘ทางเลือก’ ของผู้ป่วยโรคเกาท์ โดยการพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมือง ภายใต้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และ บริษัทตะนาวศรีไก่ไทย จำกัด

รศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา_1

รศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา กล่าวว่า นับตั้งแต่ ปี พ.ศ.2553 เริ่มพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์ไก่พื้นเมือง โดยการสร้าง ฝูงปู่-ย่าพันธุ์ ฝูงพ่อ-แม่พันธุ์ไก่พื้นเมืองพันธุ์ ‘ประดู่หางดำและชี’ ให้ได้สายพันธุ์ที่มีลักษณะ ‘โตดี ไข่ดก อกกว้าง’ ปัจจุบันทีมวิจัยได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์และเก็บรักษาพันธุ์ไก่พื้นเมืองอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ทีมวิจัยได้พัฒนาไก่สายพันธุ์ใหม่ ชื่อ ‘ไข่มุกอีสาน 2’ หรือ เคเคยู1 (kku1) ที่มีลักษณะพิเศษ คือ มีกรดยูริก ไขมัน และ คอเลสเตออล  (Low-Uric Low-fat Low- Cholesterol) ต่ำกว่าไก่ตลาด หรือไก่พื้นเมืองทั่วไปบางสายพันธุ์ ถึง 3 เท่า ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์สัตว์ตามประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่นเรียบร้อยแล้ว แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาด้านสายพันธุ์ของไก่พื้นเมืองไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ดี นอกจากความต้องการของตลาดและผู้บริโภค อาจารย์มนต์ชัยยังอธิบายถึงหัวใจสำคัญของงานวิจัยนี้ว่า การพัฒนาสายพันธุ์จำเป็นต้องคงพันธุกรรมด้านดีอื่นๆ ของไก่พื้นเมืองไว้ อาทิ คุณภาพเนื้อ ความทนทานต่อโรคและสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของไก่พื้นเมืองไทย ประการสำคัญไก่พื้นเมืองเป็นแหล่งพันธุกรรมตามธรรมชาติซึ่งมีความหลากหลายทางสายพันธุ์ที่ควรอนุรักษ์พันธุกรรมไว้เพื่อคงความหลากหลายทางชีวภาพ

ไก่พันธุ์พื้นเมืองจึงเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่ตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางอาหาร เป็นความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ตามนิยามขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ขณะเดียวกันการพัฒนาสายพันธุ์ไก่พันธ์พื้นเมือง ก็ไม่ใช่แค่การรักษาอาหารให้ยั่งยืน แต่ยังเป็นการรักษาความเป็นถิ่นฐาน หรือความบ่งชี้จำเพาะของท้องถิ่นนั้น ตลอดจนการสร้างอาชีพและรายได้ของชุมชนท้องถิ่นด้วย

กินไก่ ไม่เกาท์-ไม่อ้วน

อาจารย์มนต์ชัย เล่าถึงแนวคิดในการพัฒนาสายพันธุ์ไก่ให้ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพว่า ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารมากขึ้น เพราะการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และ โรคเบาหวาน อันเป็นผลมาจากการรับประทานอาหารประเภทไขมันมากเกินความต้องการของร่างกาย เช่นเดียวกับอาหารที่มีปริมาณพิวรีนสูง อาจส่งผลต่อปริมาณยูริคในเลือด และเป็นโรคเกาท์ตามมา ความกังวลเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะ ‘ไก่’

งานวิจัย ‘ไก่ 3 โลว์’ (Low-Uric Low-fat Low- Cholesterol) ถือเป็นการตอบโจทย์อาหารสุขภาพ Function food ยกตัวอย่างอาหารประเภทไก่บนโต๊ะอาหารทั่วไป มีพิวรีนประมาณ 6 มิลลิกรัมต่อกรัม ซึ่งสารชนิดนี้เมื่อรับเข้าไปแล้วจะย่อยสลายกลายเป็นกรดยูริค ทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยมีอาการเจ็บปวดตามข้อตามมา จนเป็นสาเหตุให้ต้องงดบริโภคไก่ในที่สุด

รศ.ดร.มนต์ชัย อธิบายต่อถึงกระบวนการพัฒนาคุณภาพไก่ว่า ทีมวิจัยได้นำ ‘ไก่พื้นเมืองพันธุ์ชี’ ซึ่งเป็นไก่ที่มีขนสีขาว มาผสมกับไก่พันธุ์ปกติที่ใช้ในทางการค้า โดยการเจาะเลือดดูพันธุกรรมของไก่ และคงระดับพันธุกรรมเดิมในเลือดที่ 25% โดยใช้กระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ หรือเครื่องหมายทางพันธุกรรม (Gene marker) ที่สัมพันธ์กับปริมาณกรดยูริค ไขมัน ในการคัดเลือกไก่ มาพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ไก่ที่มีไขมันและยูริคต่ำ ซึ่งนอกจากจะได้ไก่ที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี

ไก่เคเคยู1

ที่สำคัญสามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมทั้งในส่วนของการส่งออกไก่สดและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น ไก่ผงชงดื่ม ซุปไก่สกัด ผงปรุงรสซุปไก่ สารสกัดต่างๆ ปัจจุบันทางศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถผลิตลูกไก่จำหน่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่สัปดาห์ละ 2,000 ตัว ในราคาตัว 20 บาท โดยมีระยะเวลาการเลี้ยงอยู่ที่ 30-35 วัน สำหรับผลิตไก่เป็นน้ำหนักประมาณ 1.2-1.4 กิโลกรัม ในราคาตัวละ 100 บาท ซึ่งสามารถทำกำไร 40 บาทต่อตัว

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายและความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น ทางศูนย์เตรียมผลิตลูกไก่เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ตัว ต่อสัปดาห์ หรือประมาณปีละ 1 ล้านตัว ป้อนเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยโครงการและเป้าหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการเสนอแผนงานโครงการ Spearhead ด้านเศรษฐกิจและฝ่ายเกษตร สกว.

ไก่ 3 โลว์ ขุนเศรษฐกิจให้โต

โลว์ ยูริค, โลว์ แฟต, โลว์ คอเลสเตอรอล เป็นทั้ง ‘จุดเด่น’ และ ‘จุดขาย’ ของไก่จากงานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเองก็เห็นโอกาสทางการตลาด กณพ สุจิฆะระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทตะนาวศรีไก่ไทย จำกัด กล่าวว่าการพัฒนาสายพันธุ์ไก่ลูกผสมพื้นเมืองในช่วงระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา จากไก่พื้นเมือง 100% ลดลงมาเหลือ 50% และ 25% สายพันธุ์เคเคยู1 ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับอุสาหกรรม ถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมของไทย

หลังจากนี้ศูนย์เครือข่ายวิจัยฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะต้องทำหน้าที่ในการผลิตลูกไก่ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม ควบคู่กับการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ได้นำไปเลี้ยง พร้อมทั้งหาช่องทางการจำหน่าย และขยายฐานตลาดนอกจากการป้อนให้กับประชารัฐร่วมใจ เช่นการนำไก่มาแปรรูปให้อยู่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์รวมถึงเนื้อไก่คุณภาพประเภท Muscle food หรือ fitness diets จะเพิ่มมูลค่าได้ถึง 2-5 เท่า นับเป็นช่องทางให้อุตสาหกรรมเนื้อไก่แปรรูปขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วและมีความยั่งยืนเนื่องจากเป็นการเพิ่มมูลค่าตลอดห่วงโซ่อุปทาน

อย่างไรก็ตาม ไก่พันธุ์พื้นเมืองของไทยถือเป็นไก่คุณภาพดี มีปริมาณไขมันไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลต่ำกว่าเนื้อไก่สายพันธุ์ต่างประเทศอยู่แล้วจึงทำให้ราคาไก่พื้นเมืองของไทย และลูกผสมพื้นเมืองไทยมีราคาจำหน่ายสูงกว่าเนื้อของไก่ทางการค้า ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้โดยการนำไก่มาชำแหละขายเฉพาะส่วน เป็นการเพิ่มมูลค่าอีกทางหนึ่ง

ในมุมของเกษตรกร ศุภนุช ศตคุณ เล่าว่าหลังจากตัดสินใจหยุดค้าขายที่กรุงเทพฯ กลับมาอยู่บ้านเกิดในจังหวัดขอนแก่น ทำให้ช่วงก่อนหน้านี้ว่างงาน เพื่อนบ้านจึงชวนไปอบรมอาชีพกับกลุ่มสตรีจังหวัดและโครงการประชารัฐร่วมใจ

"เขาแนะนำไก่ เคเคยู 1 ก็รู้สึกสนใจทั้งที่ไม่มีความรู้เรื่องการเลี้ยงมาก่อน แต่เมื่ออยากเลี้ยงก็ต้องเรียนรู้ และในครั้งแรกก็ประสบความสำเร็จ คือลูกไก่ที่เลี้ยงในโรงเรือนที่สร้างไว้หลังบ้านขนาด 6 X 6 จำนวน 600 ตัว เจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี โดยใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 30-35 วัน จากนั้นบริษัทประชารัฐเข้ามารับซื้อกิโลกรัมละ 100 บาท เพื่อส่งขายให้กับฟู้ดแลนด์และวิลล่ามาร์เก็ต"

1X6A8358

ไก่ 3 โลว์จึงไม่เพียงเป็นทางเลือกในการบริโภคให้กับผู้ป่วยโรคเก๊าท์และผู้รักสุขภาพทั้งหลาย แต่ยังเป็นความหวังให้เกษตรกรในท้องถิ่นที่ต้องการความมั่นคงทางอาชีพและรายได้อีกทางหนึ่ง

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการศึกษาการพัฒนาพันธุกรรมและการปกป้องพันธุกรรมไก่พื้นเมืองของไทยอย่างต่อเนื่อง โดยฝ่ายเกษตรสกว. ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาไก่พื้นเมืองจนได้ฝูงต้นพันธุ์ (Foundation Stock) ซึ่งมีลักษณะประจำพันธุ์พร้อมจดทะเบียนพันธุ์และสายพันธุ์ (Breed and Strain)จากกรมปศุสัตว์จำนวน 4 ฝูง คือ ประดู่หางดำ, เหลืองหางขาว, ชี และแดง ไก่พื้นเมืองดังกล่าวมีความสม่ำเสมอของลักษณะประจำพันธุ์ประมาณ 85-95 % ซึ่งยังคงลักษณะเด่นของไก่พื้นเมืองในแง่ต่างๆ อย่างครบถ้วน โดยความหลากหลายทางพันธุกรรมของไก่พื้นเมืองทำให้เห็นถึงศักยภาพในการสร้างและปรับปรุงพันธุ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน 

ที่สำคัญยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการในการยกระดับการพัฒนางานวิจัยเพื่อรองรับการก้าวสู่การผลิตที่ได้มาตรฐาน การถ่ายทอดงานวิจัยจนถึงการสร้างเครือข่ายการวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และนักวิชาการ ทำให้ได้อาหารจากเนื้อไก่พื้นเมืองและไก่ลูกผสมพื้นเมืองที่มาจากฐานพันธุกรรมของประเทศที่มีคุณภาพ รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ของประเทศซึ่งยังคงลักษณะเด่นของไก่พื้นเมืองไทย

เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยกินได้ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจ