ละคร ‘ชั้นครู’ ในเทศกาล Bangkok Theatre Festival 2018

ละคร ‘ชั้นครู’ ในเทศกาล Bangkok Theatre Festival 2018

รสชาติของละครใหญ่ในเทศกาล Bangkok Theatre Festival จากบทละครคุณภาพระดับอมตะนิรันดร์กาลที่บอกเล่าผ่านลีลาสดใหม่ตามสไตล์ของผู้สร้างงานแต่ละคน

ช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นเวลาที่คอละครในประเทศไทยจะได้อิ่มเอมไปกับรสชาติของละครใหญ่เล็กหลากหลายในเทศกาล Bangkok Theatre Festival ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี กับการแสดงจำนวนห้าสิบกว่ารายการ ณ สถานที่แสดงต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ โดยในปีนี้ ก็มีการแสดงดี ๆ ให้ได้ชมกันตลอดทั้งเดือนตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ถึง 2 ธันวาคม ซึ่งก็น่าสังเกตว่าเทศกาลละครกรุงเทพในปีนี้มีผลงานที่สร้างจากบทละครอมตะ ‘ชั้นครู’ หลาย ๆ ชิ้นจากฝีมือของนักการละครรุ่นใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์มามากมาย เปิดโอกาสให้คอละครรุ่นใหม่ได้สัมผัสถึงคุณภาพระดับอมตะนิรันดร์กาลของบทละครดี ๆ ในลีลาสดใหม่ตามสไตล์ของผู้สร้างงานแต่ละคน

A Life in Theatre 1_ภาพโดย วิชย อาทมาท

ภาพโดย วิชย อาทมาท

กลุ่มละครที่ถือว่าจัดเจนที่สุดในการนำงานผลดั้งเดิมมาแสดงหรือดัดแปลงให้เป็นเรื่องราวใหม่ก็คือกลุ่ม New Theatre Society ที่มีละครร่วมเล่นในเทศกาลปีนี้ถึง 3 เรื่อง และผลงานที่ถือเป็นไฮไลต์โดดเด่นที่สุดก็คือละคร duo เรื่อง A Life in Theatre จากงานประพันธ์ของ David Mamet ปรมาจารย์ด้านการละครชาวอเมริกันซึ่งเปิดแสดงครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977  ซึ่งในฉบับนี้ก็มี ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ รับหน้าที่เป็นผู้กำกับ เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในห้องแต่งตัวของนักแสดงชายสองราย รายหนึ่งเป็นนักแสดงรุ่นใหญ่วัยดึกผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ นานามามากมายจนเข้าใจถึงครรลองต่าง ๆ ของการเป็นนักแสดง ทั้งกระบวนการ audition การเจรจาต่อบทระหว่างกัน การเปิดรับฟังความคิดเห็น การรับมือกับนักแสดงฝีมือแย่ที่ร่วมซีน ความเบื่อระอากับลีลาภาษาของเหล่านักวิจารณ์ และภาวะแห่งการอิ่มตัวที่ไม่ต้องการความสำเร็จใด ๆ อีกแล้ว กับนักแสดงรุ่นหนุ่มไฟแรงที่เหมือนจะเป็นเงาในอดีตของเขาและกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นของชีวิตการทำงาน สลับกับฉากการแสดงสั้น ๆ ที่พวกเขาจะได้รับบทบาทเป็นตัวละครต่าง ๆ

ละครฉบับนี้ได้นักแสดงรางวัลศิลปาธร ประดิษฐ ประสาททอง มารับบทเป็นนักแสดงอาวุโส และ จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ รับบทเป็นนักแสดงหนุ่ม ซึ่งทั้งคู่ก็สามารถถ่ายทอดเรื่องราวในบทละครออกมาได้อย่างกลมกลืนลื่นไหลเหมือนเป็นบทที่เขียนมาให้พวกเขาเลยจริง ๆ

 

โดยเฉพาะ ประดิษฐ ประสาททอง ในบทนักแสดงวัยชรา ที่ส่งจังหวะตลกฮาแบบหน้าตายได้อย่างแม่นยำโดยไม่เห็นถึงความพยายาม สะท้อนความเก๋าด้านการแสดงที่ทำให้ทุกอย่างแลดูเป็นเรื่องง่ายแม้ว่าเทคนิคทั้งหลายยังคงต้องใช้ทักษะฝีมือมากพอดูจึงจะทำให้ละครสนุกคึกครื้นได้ถึงเพียงนี้ ซึ่งก็ต้องนับถือลีลาในการกำกับของผู้กำกับ ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ ด้วยที่นอกจากจะเข้าใจตัวบทเป็นอย่างดี ก็ยังนำเสนอความหรรษาคมคายต่าง ๆ ออกมาได้อย่างมีรสนิยม น่าเสียดายที่ละครไม่ได้เข้าร่วมในการประกวดของเทศกาลด้วย มิเช่นนั้นทั้งละครและนักแสดงก็น่าจะคว้ารางวัลสำคัญ ๆ ไปได้แบบนอนมา

ละครอีกเรื่องของกลุ่ม New Theatre Society คือการดัดแปลงบทละครเรื่อง The Woman Who Cooked Her Husband ของ Debbie Isitt มาเป็นฉบับ queer โดยใช้ชื่อ ‘ชิมผัวในครัวผม’ กำกับและแปลงบทโดย ศิรเมศร์ อัครภากุลเศรษฐ์ ที่ปรับมาจากบทภาษาไทยเรื่อง ‘เพราะรักช้ำจึงหม่ำผัว’ ของ ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ อีกทอดหนึ่ง

เรื่องราวรักสามเส้าระหว่างเกย์หนุ่มสามนายจนกลายเป็นสงครามปลายจวักเมื่อหนุ่มหล่อตัดสินใจทิ้งแฟนหนุ่มเนิร์ดที่รักในการปรุงอาหารไปหาคนใหม่ที่ 'แซ่บ' กว่าทว่าไม่เคยเข้าครัวเลย จนเกิดเป็นความหึงหวงและต้องทวงความแค้นคืนด้วยอาหารมื้อพิเศษ ก็ดูจะเข้ากันกับชีวิตร่วมสมัยของชายเกย์ในยุคปัจจุบันอย่างดีจนไม่มีจุดขัดเขิน จะเสียดายก็แต่การแสดงของนักแสดงทั้งสามยังดูล้นฟูมฟายและมิติเดียวจนทำให้ละครมีความ monotone มากเกินไป ไม่เห็นสีสันเหลี่ยมมุมทางอารมณ์ของพวกเขามาเท่าไหร่

ผิดกับสีสันทางการแสดงอันจัดจ้านแพรวพราวจากละครอีกเรื่องของกลุ่มละครนี้ นั่นคือ ‘เรื่องเล่าจากโรงน้ำชา’ ที่ผู้กำกับ ปานรัตน กริชชาญชัย ได้ขอลองเทียบชั้นกับมือเขียนบทละครรางวัล Pulitzer Prize อย่าง John Patrick ดัดแปลงเรื่องราวจากนิยายอเมริกันชื่อ The Teahouse in the August Moon (1951) ของ Vern Sneider มาเป็นบทละครเฮฮาฉบับใหม่ในแนวทางของตัวเองจนแทบไม่เห็นเค้าโครงเดิม ด้วยการจำลองตัวละครบุรุษสามพี่น้องชาวญี่ปุ่นนักเล่าเรื่องราวระดับโลกมาเล่าเหตุการณ์ความพยายามของทหารอเมริกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่จะเปลี่ยนแปลงเมืองเล็ก ๆ อย่างหมู่บ้านโทบิกิให้มีอะไรทันสมัยเหมือนเมืองใหญ่แห่งอื่น ๆ ในญี่ปุ่น ซึ่งปานรัตน กริชชาญชัย ก็ท้าทายตัวเองด้วยการจำกัดพื้นที่แสดงให้นักแสดงทั้งสามนั่งเรียงหน้ากระดานสลับกันร่ายเล่าบนแท่นดื่มชาโดยไม่เคลื่อนที่ไปไหนเลย แล้วออกแบบบทพูดประกอบการเคลื่อนไหวร่างกาย สร้างสีสันการแสดงที่ขบขันและลื่นไหล กลายเป็นละครตลกที่ดูดีมีรสนิยมมากอีกเรื่องจนสามารถคว้าทั้งรางวัลการแสดงยอดเยี่ยมและการแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงชายสำหรับ เกรียงไกร ฟูเกษม ในการประกวดของเทศกาลไปได้อย่างไร้ข้อกังขา กระทั่งต้องขยายเวลาเพิ่มรอบการแสดงที่ Sliding Elbow ไปจนถึงวันที่ 2 ธันวาคม

Woyzeck_ภาพโดย ชัยวัฒน์ คำดี

ภาพโดย ชัยวัฒน์ คำดี

คณะละครอีกกลุ่มที่สร้างผลงานมายาวนานเช่นกัน ก็คือ พระจันทร์เสี้ยวการละคร ก็มาร่วมสร้างสีสันให้เทศกาลในปีนี้ด้วยการหยิบเอาบทละครที่แต่งไม่จบ Woyzeck (1913) ของนักเขียนบทละครชาวเยอรมัน Georg Buchner มาเล่าในฉบับภาษาไทยโดยยังคงโครงสร้างค้างเติ่งไม่สมบูรณ์ไว้ตามต้นฉบับเดิมโดยไม่แต่งเติมเสริมเรื่องและใช้ชื่อว่า Woyzeck, the Unfinished Story แปลบทโดย อรดา ลีลานุช และกำกับโดย สินีนาฏ เกษประไพ ผู้กำกับหญิงเจ้าของรางวัลศิลปาธรอีกราย

ละครเรื่องนี้เล่าถึงชะตากรรมของนายทหารชั้นล่างชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่กินกับภรรยา โดยในขณะที่เขาพยายามหารายได้เสริมมาเลี้ยงครอบครัวด้วยการเป็นหนูทดลองทางวิทยาศาสตร์ให้แพทย์ด้วยการไม่ทานอะไรนอกจากถั่ว ภรรยาของเขาก็ดันนอกใจหันไปหลงใหลคฑากรหนุ่มหล่อแทน ความโดดเด่นของละครฉบับนี้อยู่ที่ลีลาการแสดงและการกำกับศิลป์แบบ German Expressionist อันบูดเบี้ยวและขึงขัง ซึ่งนักแสดงทั้งหมดก็ดูจะเข้าใจลีลาการแสดงอันแห้งแล้งหน้าตายแบบจงใจเหล่านี้ได้ดีจนเหมือนอยู่ในโลกใบเดียวกัน

ซึ่งจุดที่พิเศษก็คือเมื่อลีลาอันแข็งกระด้างเหล่านี้ถูกนำเสนอโดยผู้กำกับหญิง มันกลับมีความน่ารักละเอียดอ่อนเป็นส่วนประกอบซึ่งไม่สามารถพบเห็นได้จากลีลา Expressionist ในแบบผู้ชาย ให้รสชาติการชมละครขนบเยอรมันที่แตกต่างได้อย่างมีสีสันดี ละครเรื่องนี้คว้ารางวัลทั้งด้านการกำกับศิลป์และการกำกับการแสดงยอดเยี่ยมจากการประกวดของเทศกาล

The Bear_ภาพโดย Drama Arts Chula

ภาพโดย Drama Arts Chula

ปิดท้ายด้วยละครสั้นชั้นครูจากบทประพันธ์ของปรมาจารย์ด้านการละครรัสเซีย Anton Chekov จำนวนสองเรื่องคือ The Bear (1888) และ The Proposal (1890) โดยภาควิชาการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแสดงแบบ double bill สองเรื่องควบ ฝีมือการกำกับโดย พันพัสสา ธูปเทียน ซึ่งละครทั้งสองเรื่องก็เล่าเรื่องราวพ่อแง่แม่งอนของหนุ่มสาวที่แท้แล้วมีใจให้กัน แต่มีเหตุอันจุกจิกยียวนจนทำให้พวกเขาต้องกลายมาเป็นมีปากเสียงจนเกือบจะแตกหักไม่ลงรอยกันเสียอย่างนั้น

บทละครชวนหัวที่สะท้อนความอ่อนไหวในการเจรจาพาทีของมนุษย์ทั้งสองเรื่องนี้ ดูจะเหมาะกันดีกับลีลาตลกออกท่าทางจิกกัดความเปราะบางในการยึดติดอัตตาของมนุษย์ที่ผู้กำกับ พันพัสสา ธูปเทียน เลือกนำเสนอ และถึงแม้ผู้เขียนเองจะเคยชมการแสดงจากบทละครของ Anton Chekov มาหลายเรื่อง แต่ก็ไม่เคยมีชิ้นไหนที่เลือกจะใช้ดีกรีความตลกคะนองแบบเต็มสูบอย่างสองเรื่องนี้ ชวนให้คิดว่าจริง ๆ แล้วบทละครของ Anton Chekov ก็ช่างเสียดสีจี้จุดอ่อนของมนุษย์ได้อย่างแสบสันและเหมาะจะแดกดันกันด้วยความหฤหรรษ์ถึงระดับนี้จึงจะสาแก่ใจกับความ ‘ไม่น่ารัก’ ทั้งหลายของตัวละคร

ได้ชมละครระดับคุณภาพหลาย ๆ เรื่องในเทศกาล Bangkok Theatre Festival ปีนี้ จึงคล้ายได้สำรวจวัฒนธรรมแห่งวงการละครหลากชาติหลายยุคสมัยจากปลายปากกาของนักประพันธ์ระดับอมตะจำนวนมากมาย สะท้อนว่างานสร้างสรรค์ที่มีความอมตะเหนือกาลเวลายังสามารถจับหัวใจผู้ชมต่างยุคสมัยได้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อมันส่องสะท้อนไปได้ถึงแก่นแกนแห่งจิตวิญญาณภายในของการเป็นมนุษย์

หมายเหตุ : ขอบคุณภาพประกอบจากละคร A Life in Theatre โดย วิชย อาทมาท, Woyzeck, the Unfinished Story โดย ชัยวัฒน์ คำดี และ The Bear โดย Drama Arts Chula