50 ปี โครงการหลวง...จากยอดดอยสู่ซูเปอร์ฟู้ด

50 ปี โครงการหลวง...จากยอดดอยสู่ซูเปอร์ฟู้ด

ปีหน้า 2562 โครงการหลวง ก็จะมีอายุครบ 50 ปี ของการก่อตั้ง จาก “สวนสองแสน” ที่สถานีวิจัยดอยปุย เมื่อปี พ.ศ.2512 วันนี้คำว่า “โครงการหลวง” เป็นคำที่ประทับแน่นอยู่เต็มหัวใจของคนไทยทุกคน

20181112_143417_2

 

          ปีนี้ ได้เวลาที่ มูลนิธิโครงการหลวง และ ศูนย์การค้าสยามพารากอน จัดงาน รอยัล โปรเจ็คต์ แกสโตรโนมี เฟสติวัล แอท สยามพารากอน (Royal Project Gastronomy Festival @Siam Paragon) ที่นำผลผลิตพืชผักและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากโครงการหลวงมาจำหน่ายในรูปแบบตลาดนัดร่วมสมัย พร้อมชวนชมนิทรรศการ 10 ซูเปอร์ฟู้ด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวเขา เพื่อสุขภาพชีวิตที่ดีของชาวเรา ให้เลือกชมและช็อปอย่างเพลินใจ

          คอนเซปต์ตลาดนัดร่วมสมัยปีนี้ ชูเรื่องอาหารกินดีบำรุงสุขภาพ และเพื่อฉายภาพให้เห็นชัดเจนขึ้น “สยามพารากอน” จึงชวนไปเยือนแหล่งผลิตซูเปอร์ฟู้ด ขึ้นเขาไต่ดอยไปชมของจริง พร้อมชิมอาหารเมนูใหม่ที่ปรุงจาก “ซูเปอร์ฟู้ด” ณ สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จ.เชียงใหม่

02rere_1

         เชฟนนทวรรธ โรจนศักดิ์ชัย, ธณพร ตันติยานนท์ ผู้บริหารสยามพารากอน, เมธัส กิจโอภาส, เชฟหฤษฎ์ เวชากุล

          เมธัส กิจโอภาส ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายตลาด มูลนิธิโครงการหลวง บอกว่า

          “ผลผลิตผักผลไม้กว่า 60% เป็นซูเปอร์ฟู้ดที่กินดีต่อสุขภาพ เพราะโครงการหลวงส่งเสริมการปลูกด้วยดิน ไม่ใช้สารเคมีที่เกินกว่ามาตรฐานกำหนด เคยมีเชฟมาชิมผักที่ปลูกจากแปลงเลย เขาบอกว่า ถ้าดินไม่ดีก็จะปลูกไม่ได้รสชาติดีอย่างนี้”

          ซูเปอร์ฟู้ด หมายถึงพืชผักที่มีคุณค่าสารอาหารสูง มีวิตามิน แร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย มีสารต้านอนุมูลอิสระและสารไฟโตนิวเทรียนท์สูง มีสรรพคุณป้องกันหรือต้านทานโรคบางอย่างได้ โดย 10 สุดยอดอาหารประจำปีนี้ ได้แก่

ควินัว_1

         ควินัว

       ข้าวกล้องดอย พันธุ์ข้าวท้องถิ่นของชนเผ่าบนพื้นที่สูงมี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวกล้องเหลือง พันธุ์ข้าวเจ้าของชนเผ่าปกาเกอะญอและละว้า ข้าวกล้องไก่ป่า พันธุ์ข้าวเจ้าของชนเผ่าปกาเกอะญอ อุดมด้วยสารแกมม่า โอไรซานอล ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ลดคอเลสเตอรอล ควินัว สุดยอดธัญพืชที่อุดมด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบ 10 ชนิด

20181112_143203rere_1

       เห็ดพอร์โทเบลโล่และเห็ดปุยฝ้าย

      เห็ดพอร์โทเบลโล่ แหล่งโปรตีนไร้ไขมัน ให้แคลอรี่ต่ำ มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อรางกาย เห็ดปุยฝ้าย หรือ เห็ดยามาบูชิตาเกะ มีสรรพคุณทางยาสูง มีโพลีแซคคาไรด์ ช่วยยับยั้งการเกิดและการเติบโตของเซลล์มะเร็ง

เคปกูสเบอร์รี่_1       เคปกูสเบอร์รี่

          กลุ่มผักผลไม้ ได้แก่ มะเขือเทศเชอร์รี่ บร็อกโคลี ถั่วแดงหลวง ถั่วขาว กะหล่ำปลีแดง มะเดื่อฝรั่ง อโวคาโดพันธุ์แฮส เสาวรส เคปกูสเบอร์รี่ มีวิตามินซีสูงเป็นสองเท่าของมะนาว ป้องกันไข้หวัดและโรคภูมิแพ้

14_4

         ปลาเรนโบว์เทราต์กับปลาสเตอเจี้ยน

       เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไก่ เช่น ไก่กระดูกดำ หรือไก่ดำตุ๋นยาจีน ไก่เบรส/ รมควัน ปลาเรนโบว์เทราต์ ปลาสเตอเจี้ยน/ รมควัน และ คาเวียร์

 

ซูเปอร์ฟู้ดเชิดชูสุขภาพ

          เชฟหฤษฎ์ เวชากุล แห่งร้าน Another Hound Cafe นำเสนอเมนูจากสุดยอดอาหาร ได้แก่ ปลาเรนโบว์เทราต์ย่างน้ำปลาหวานกับผักร็อคเก็ต เชฟบอกว่า

ข้าวควินัวผสมกับข้าวกล้อง_1

        ข้าวควินัวกับข้าวกล้องดอยหุงผสมกัน

        “เริ่มที่หุงข้าวกล้องดอยผสมกับควินัว ผมใช้สัดส่วนข้าว 2 ควินัว 1 ส่วนน้ำ 1.75 เท่า ควินัวถ้าอยากให้นิ่มแช่น้ำก่อนสัก 1 ชม.จะนิ่มลง พอนุ่มก็เอาไปผสมกับข้าวกล้องที่ซาวสัก 1-2 รอบ ไม่อยากให้เสียวิตามินเยอะ ควินัวจะเข้าไปแทรกระหว่างข้าว ผมคิดว่าพยายามทำให้ทานง่าย ๆ ไม่เห็นเป็นเม็ด ๆ ส่วนปลาแล่เป็นชิ้นไม่ต้องหมักอะไรครับ ลงทอดเอาด้านหนังลงก่อน ทอดธรรมดาเลยครับใส่เนยนิดน้ำมันมะกอกหน่อย โรยเกลือนิดหน่อย ถ้าหมักแล้วจะทำให้น้ำออกจากตัวปลามากไปจะทำให้ปลาแห้ง รับประทานกับน้ำจิ้มคล้าย ๆ สะเดาน้ำปลาหวาน เหมือนปลาเทราต์ย่างกับน้ำพริกสะเดาแต่เปลี่ยนจากสะเดาเป็นผักร็อคเก็ต อยากให้ลองดูว่าร็อคเก็ตทานกับอย่างอื่นก็ได้ไม่จำเป็นต้องบัลซามิคเดรสซิ่ง บีบมะนาวลงนิดหน่อย พริกแห้งอีกนิด ถ้าชอบผักชีก็ได้ครับเข้ากันดี”

ปลาเทราต์กับควินัว_1

         ปลาเทราต์ย่างน้ำปลาหวานกับผักร็อคเก็ต

         ทุกคนชิมแล้วขอเพิ่มอีกจาน... เชฟบอกว่าเมนูนี้กับอีก 5 เมนูรวมเป็น 6 เมนูพิเศษ มีในร้าน Another Hound Café ตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือนมกราคม ปีหน้า

ซูเปอร์เบอร์รี่ มิราเคิล แพนเค้ก_1

       ซูเปอร์เบอร์รี่ มิราเคิล แพนเค้ก  

      เชฟขนม เชฟนนทวรรธ โรจนศักดิ์ชัย แห่งร้าน บริกซ์ (Brix) ใช้ผลผลิตซูเปอร์ฟู้ดทำขนมสีสวย ในเมนู ซูเปอร์เบอร์รี่ มิราเคิล แพนเค้ก หม่ำแล้วสดชื่นกับเนื้อเค้กเด้งดึ๋งนวลเนียน หวานน้อย กับสารพัดเบอร์รี่สด แต่งด้วยดอกไม้กินได้จากโครงการหลวง ไปแวะชิมกันได้ที่ร้าน Brix สยามพารากอน

 

จากไร่ฝิ่นสู่เกษตรอินทรีย์

        ขึ้นเขาปีนดอยไปชมสถานีวิจัยประมงพื้นที่สูงอินทนนท์ ชมการเลี้ยงปลาสเตอเจี้ยน ปลาเทราต์ ต่อด้วยโรงเพาะเลี้ยงเห็ดปุยฝ้าย เห็ดพอร์โทเบลโล่ แปลงเคปกูสเบอร์รี่ มะเดื่อฝรั่ง ควินัว ฯลฯ จุดหมายสุดท้ายคือ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง อ.หางดง พื้นที่แรกของโครงการหลวงที่ทำการเกษตรอินทรีย์เป็นผลสำเร็จ

อ.สุพัตรา บุตรกลาง_1

       อ.สุพัตรา บุตรกลอง

       อ.สุพัตรา บุตรกลอง ผู้อำนวยการศูนย์ฯ เล่าถึงที่มาของพื้นที่ปลอดสารเคมีโดยสิ้นเชิงว่า

     “เริ่มจากราษฎรมาฎีกากับพระองค์ท่านว่า มีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ เมื่อปี 2522 จึงทรงให้หน่วยงานต่าง ๆ มาบูรณาการจัดสรรพื้นที่ให้เกษตรกร โดย 1 ครอบครัว ไม่เกิน 15 ไร่ พอโครงการหลวงเข้ามาทำวิจัยตั้งแต่ปี 2525 ก็ให้เกษตรกรปลูกไม้ผลยืนต้นอโวคาโด เพื่อให้เป็นป่าและเก็บขายได้รายปี ส่วนรายเดือนปลูกผักทุกชนิดที่วางจำหน่ายในร้านโครงการหลวง ต่อมาผลิตภายใต้ระบบ GAP, ออร์แกนิคไทยแลนด์, IFOAM ให้เป็นผลผลิตที่รับรองมาตรฐานส่งขายทุกตลาดได้”

แปลงผักอินทรีย์ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง_1

    อาจารย์เล่าพลางพาเดินชมแปลงฟักแฟงแตงกวา ยอดฟักแม้ว ถั่วแขก ฯลฯ ที่ดูรก ๆ ด้วยพืชชนิดอื่นขึ้นแซม

         “ดูเหมือนรกแต่เป็นวัชพืชที่มีคุณค่า เป็นหญ้าที่มีคุณค่าให้กับดิน จะทำเป็นปุ๋ยหมักปรับปรุงโครงสร้างของดิน เกษตรอินทรีย์ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี เราใช้ปุ๋ยคอก จากมูลสัตว์ ปุ๋ยหมัก และใช้จุลินทรีย์ชีวพันธุ์ เช่น เมื่อก่อนยังไม่มีจุลินทรีย์ เราก็ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ตอนหลังมีจุลินทรีย์เกี่ยวกับโรคเน่าในดินมาใช้ เรื่องดินก็ต้องสร้างความสมบูรณ์ให้กับผืนดินเพื่อปลดปล่อยธาตุอาหารสร้างความสมดุล เช่น ประจุไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งเกี่ยวกับการสลายปุ๋ยอินทรีย์มาให้พืชกินได้ ส่วนเรื่องแมลงเราใช้สารสมุนไพรทุกอย่างที่มีรสขม เผ็ด เปรี้ยว ฝาด ฉุน แทนสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชทุกอย่าง ยังมีจุลินทรีย์เกี่ยวกับโรคราน้ำค้าง โรครากเน่า โรคราสนิม เป็นเชื้อโรคที่เกิดในแถบร้อน เราจะใช้จุลินทรีย์พวกนี้ทดแทน เกษตรอินทรีย์ทุกอย่างไม่ใช้เคมี ปลูกให้เข้ากับธรรมชาติมากที่สุด

สลัดผักออร์แกนิค_1

      สลัดผักออร์แกนิคที่สวนกุหลาบหลวง

     อย่างแรกเลยกว่าที่เกษตรกรจะยอมรับได้ใช้เวลา เพราะเกษตรเคมีจะเป็นเคิร์ฟที่จากต่ำไปสูง คือรายได้จะได้น้อยไม่ค่อยตอบสนองเท่าไหร่ แต่พอต่อ ๆ ไปถ้าดินดีขึ้นสัก 3-4 ปี รายได้จะมากขึ้น เช่นปีแรกผลผลิตได้กลับคืนมา 30% ปีที่ 2-3 ราว 50% เข้าปีที่ 3 แล้ว 80-95% เป็นเคิร์ฟจากต่ำไปสูง และเกษตรอินทรีย์ผลผลิตจะแพงกว่าเกษตรธรรมดา 20% แล้วตอนนี้ตลาดต้องการมาก อนาคตอาหารแปรรูปจากเกษตรอินทรีย์ตลาดก็จะกว้างขึ้น

    แต่ถ้าเคิร์ฟสารเคมีจากสูงแล้วไปต่ำ พระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ท่านบอกว่า หนทางที่ยั่งยืนต้องเริ่มจากศูนย์ไปถึงสิบ”

    นักวิจัยและทีมงาน รวมถึงเกษตรกรต้องใช้ความพากเพียรหลายปี อ.สุพัตราเล่าว่า เกษตรออร์แกนิคเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2546

เคปกูสเบอร์รี่สุกสีเหลืองสด_1

        “ตอนแรก ๆ อยู่ในระยะปรับเปลี่ยน เราต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรอย่างมาก เริ่มได้ผลผลิตจริง ๆ ปี 53-54 ต้องใช้ความอดทนสูงมาก... เกือบ 10 ปี ตอนนี้ 100% แล้วค่ะ

    แต่ก็มีข้อกำหนด เช่น มาตรฐานผักไม่เกิน 10 รู แต่ถ้าผลผลิตเรามีสัก 15 รู ไม่สามารถส่งตลาดโครงการหลวงได้ ถือว่าตกเกรดเราก็นำไปแปรรูปทำอาหารที่ สวนกุหลาบหลวง (ศูนย์ทุ่งเริง ร้านอาหารและจำหน่ายผลผลิตโครงการหลวง) ซึ่งช่วยเกษตรกรได้เยอะ หลายที่หยิบเราเป็นต้นแบบ ต้องเตรียมดิน เตรียมคน ใครสนใจมาศึกษาดูด้วยตัวเขาเองเพราะจำเป็นต้องผลักดันแม้จะยากลำบาก ประโยชน์คือเป็นต้นน้ำ จำเป็นมากที่ต้องไม่ใช้สารเคมีเลย ภาคเหนือเรามี 14 ชนเผ่า เราต้องเข้าใจวิถีชีวิตเขาแล้วค่อย ๆ ผลักดัน”

ลาบไก่_1

  ชุดน้ำชายามบ่ายที่สวนกุหลาบหลวง (ศูนย์ทุ่งเริง)_1     อาหารและชุดน้ำชายามบ่ายที่สวนกุหลาบหลวง

       พื้นที่จัดสรรราว 200 ไร่ ปลูกอโวคาโด 7 สายพันธุ์ ที่ระดับความสูง 650 (พันธุ์แฮสต้องสูงระดับ 800 เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป) ผักได้แก่ ยอดฟักแม้ว ถั่วแขก ผักกาดกวางตุ้ง ถั่วฝักยาว มะเขือเทศเชอร์รี่ เบบี้ฮ่องเต้ คะน้า ฯลฯ เมื่อเห็นคำว่าเกษตรอินทรีย์จากโครงการหลวง วางใจได้ว่าผ่านการเคี่ยวกรำกว่า 10 ปี

        อิงลิชโรส_1  

       “มูลนิธิโครงการหลวง 39 ศูนย์ ตอนนี้มีจำนวน 23 ศูนย์ ที่ทำเกษตรอินทรีย์ เป็นต้นทุนที่ให้คุณค่า ตอนนี้เราสามารถสูดออกซิเจนได้สบาย โจทย์ที่พ่อให้มาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่าไม้ ต้องสมดุล ชุมชนมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ เกษตรกรสามารถอยู่ได้ และเป็นตัวแทนให้กับคนเข้ามาเรียนรู้ แม้กระทั่งทำการตลาดให้ด้วย

           ตลอด 50 ปี ที่เราทำตามหลักวิชาการ มีงานวิจัย เดินตามรอยที่พ่อสอน ตอนนี้พ่ออยู่บนฟ้า...”

 

ภาพ: สยามพิวรรธน์, ธัชดล ปัญญาพานิชกุล