จดหมายเหตุ ‘ดุสิตธานี’

จดหมายเหตุ ‘ดุสิตธานี’

ถอดรหัสความทรงจำเพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้าใจอดีต

20170705180129544 (1) (Large)

สิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน

ชนินทธ์ โทณวณิก รองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงที่มาของโครงการ Artistice Heritage ว่า “หลักการ คือ มีความผูกพันกับอาคารโรงแรมดุสิตธานีค่อนข้างมาก ผมไม่รู้ว่ามีใครพยายามทำในสิ่งที่เราทำหรือเปล่า การร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน การรื้อของขนาดนี้ก็ไม่คิดที่จะทำ”

เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน กล่าวได้ว่า ดุสิตธานี เป็นโรงแรมแรกในเมืองไทยที่ทำสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนเมื่อ 50 ปีที่แล้วหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของโรงแรมที่สร้างเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมทรงสอบสูง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระปรางค์วัดอรุณ ความตั้งใจนำความเป็นไทยสอดแทรกไปในทุกอณูของโรงแรมทั้งสถาปัตยกรรมภายในและภายนอก รวมทั้งการตั้งชื่อโรงแรมเป็นภาษาไทย ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีใครทำกันในช่วงเวลานั้น

“คุณแม่ (ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย)ต้องการสร้างโรงแรมให้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าความเป็นไทยดีอย่างไร มีความร่วมสมัยได้อย่างไร ผมพอเข้าใจว่าคุณแม่ประสบปัญหาในการตั้งชื่อดุสิตธานีพอสมควร เพราะสมัยนั้นธุรกิจโรงแรมอยากให้มีชื่อเป็นฝรั่งเพื่อให้ชาวต่างชาติเรียกได้ง่าย หลายคนทักท้วงว่าไม่ควรใช้ชื่อไทย

ส่วนชื่อดุสิตธานีนั้น มาจากการที่โรงแรมเราตั้งอยู่ตรงข้ามพระบรมรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงสร้างเมืองจำลองประชาธิปไตยชื่อ ดุสิตธานี คุณแม่ทำพิธีขอพระองค์ท่านนำชื่อ ดุสิตธานี มาใช้เป็นชื่อบริษัทด้วย ชาวต่างประเทศไม่เคยบ่นเรื่องชื่อเลยสักคำ มีแต่คนไทยที่บ่น สมัยนั้นคนมีฐานะนิยมชื่อฝรั่ง ต้องใช้เวลาสักพัก” คุณชนินทธ์ เล่า

“การออกแบบอาคารคนสมัยนั้นก็ว่าไม่ดี การสร้างตึกที่นำสถาปัตยกรรมมาเป็นต้นแบบ แม้แต่น้องคนเล็กของแม่ก็บอกกับผมว่า แม่เราเป็นคนชอบทำอะไรแปลกๆ แม้ว่าเราจะทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนแต่ข้อดีคือเราทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นซึ่งทำงานใหญ่ครั้งแรกนอกประเทศ จึงมีจิตใจที่เปิดในการทำอะไรใหม่ๆ แม้ว่าวิธีการออกแบบจะยาก ไม่ว่าจะเป็นหลังคา เสา หรือแม้แต่ฝ้าเพดาน ทุกอย่างมีรายละเอียดหมด แต่เราก็ภูมิใจที่เราได้ทำ และอยากเก็บความรู้สึกนี้ไว้ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ วิดีโอ เราอยากรู้ว่าอะไรเป็นจุดที่ยูนีคของดุสิตธานีที่ผลักดันให้โรงแรมใหม่ควรมี”

เริ่มต้นที่เสียงดนตรี

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม เอ่ยถึงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยศิลปากรกับทางโรงแรมว่ามีจุดเสียงดนตรีเป็นสื่อประสาน

“คุยกับอาจารย์คณะดุริงยางคศาสตร์ในเรื่องการสนับสนุนให้นักศึกษามีเวทีในการแสดง คุยกันหลายเรื่องจนอาจารย์มีไอเดียคิดแต่งเพลงเกี่ยวกับดุสิตธานี พอเริ่มเดินสำรวจโรงแรมเห็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรม การตกแต่ง และจิตรกรรม ทำให้เห็นว่าทุกอย่างในโรงแรมมีความหมายและคุณค่าน่าจะเก็บองค์ความรู้นี้ไว้ จึงได้เชิญอาจารย์จากคณะโบราณคดี สถาปัตยกรรมศาสตร์ และจิตรกรรม เข้ามาร่วมพูดคุย”

020 (Large)

ตั้งต้นที่เสาท่านกูฏ

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง และลวดลายประดับบนเสากลมขนาดใหญ่ 2 ต้น ภายในห้องอาหารเบญจรงค์ ผลงานของศิลปิน “ชั้นครู” ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ เป็นหนึ่งในผลงานศิลปะชิ้นเอกของดุสิตธานีที่คณะโบราณคดีและจิตรกรรมร่วมมือกันเก็บข้อมูล พร้อมเตรียมขั้นตอนในการอนุรักษ์ โดยมีข้อสรุปว่าจะตัดเสา (น้ำหนักต้นละ 5 ตัน) และผนังออกไปเก็บรักษาไว้ รอนำไปติดตั้งในห้องอาหารเบญจรงค์ในโรงแรมที่สร้างใหม่

031 (Large)

021 (Large)

ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี กล่าวถึงงานในส่วนรับผิดชอบที่กำลังดำเนินอยู่ว่า

“เริ่มจากเสาท่านกูฏ 2 ต้นที่ทางดุสิตธานีอยากจะอนุรักษ์ทั้ง 2 ต้นเอาไว้ คุยกันไปจนถึงว่าถ้าทางดุสิตต้องการอนุรักษ์ทุกอย่างที่มีความหมายเอาไว้ก็ควรจะทำ Archives หรือจดหมายเหตุรวบรวมไว้เป็นหลักฐานสำหรับการค้นคว้าอ้างอิง ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อ

เราก็ไปทำการบ้านกันมีคณะโบราณคดี จิตรกรรมฯ สถาปัตยกรรมฯ มีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาช่วยด้วย งานแรกคือ การทำ Archives เรื่อง The Journey of Dusit Thani คณะโบราณคดีดูแล 2 ส่วน คือ อนุรักษ์เสา 2 ต้นในห้องหารเบญจรงค์ กับจิตรกรรมฝาผนังภายในห้องนี้ เริ่มต้นคือ ตัดเสาและผนังออก โดยทำงานร่วมกับคณะจิตรกรรมฯ อ.ไพโรจน์ วังบอน จะพานักศึกษามาลอกลายบนเสาและผนังก่อน

คณะโบราณคดีจะดำเนินการอนุรักษ์โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ ใช้น้ำยาเคลือบก่อนแล้วใช้วิธีเฝือกดามด้วยเหล็กแล้วตัดออก ตอนรื้ออาคารขอเสาเป็นที่สุดท้าย เก็บไม้ด้วย ตอนนี้คุยไปถึงฟาซาด(facade) ด้านนอกด้วยเพื่อแสดงให้เห็นถึงการออกแบบตกแต่งอาคารในสมัยก่อน”

จิตรกรรมฝาผนัง และลวดลายจิตรกรรมของ “ท่านกูฏ” ชักนำนักดนตรี นักโบราณคดี จิตรกร และสถาปนิกมาร่วมด้วยในเวลาต่อมา

033 (Large)

“เมื่อ 40-50 ปีที่แล้วดุสิตธานีเป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพฯ เป็นโรงแรมไฮโซที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ และเป็นงานออกแบบที่นำความเป็นไทยมาใส่ โดยการนำพระปรางค์วัดอรุณมาเป็นต้นแบบ ผมบอกไปยังคณะสถาปัตย์ว่าเคยเห็นงานจำลองโมเดลวัดอรุณของทางคณะสถาปัตย์ที่นำไปโชว์ในงานสถาปนิกแฟร์ประณีตและสวยงามมาก เลยติดต่อไปว่ามาทำโมเดลดุสิตธานีเก็บไว้มั้ย ไหนๆก็จะไม่มีแล้วเรามาทำให้ดีกันเลย จึงเป็นที่มาของการทำหุ่นจำลองดุสิตธานีสูง 2 เมตร” คณบดี คณะโบราณคดีกล่าว

นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็จะมาศึกษาเรื่องของลายซึ่งเป็นผลงานของท่านกูฏ ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ เป็นงานวิจัยชิ้นหนึ่งเลย เพราะกล่าวได้ว่าท่านกูฏเป็นศิลปินยุคก้าวหน้าในช่วงเวลานั้น ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ จะมาคัดเลือกชิ้นงานสะสมว่าชิ้นไหนควรเก็บและจัดทำข้อมูลเอาไว้”

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ดำเนินการไปแล้ว ยังไม่รวมการทำงานของศิลปินจากคณะจิตรกรรมฯ ที่อยู่ในช่วงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ได้รับแรงบันดาลใจจากดุสิตธานี กำหนดจัดแสดงให้ชมก่อนโรงแรมปิดให้บริการ

ในส่วนของคณะดุริยางคศาสตร์ผู้เป็นต้นเรื่องก็จะนำบทเพลง “ดุสิตธานี”ที่แต่งไว้เมื่อ 30 ปีก่อนนำมาเรียบเรียงดนตรีใหม่

สิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน มีข้อดีคือจิตใจของผู้ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ การจัดเก็บจดหมายเหตุ”ดุสิตธานี”ครั้งนี้ก็เช่นกัน

20170705180141232 (1) (Large)

11 (Large)_1

030 (Large)_1