วิถีเขื่องใน ‘ข้าว ปลา นา น้ำ’

วิถีเขื่องใน ‘ข้าว ปลา นา น้ำ’

อีสานที่ว่าแล้งและไม่ค่อยมีอะไรจะเป็นเพียงภาพจำเก่าๆ เพราะหัวเมืองแห่งอีสานอย่างอุบลราชธานีจะป่าวประกาศของดีที่มีทั้ง ‘ข้าว ปลา นา น้ำ’

จากตัวเมืองอุบลราชธานีเพียง 30 กิโลเมตรโดยประมาณ เหมือนได้เข้าสู่ดินแดนแห่งท้องทุ่ง ตั้งแต่ต้นข้าว, ใบหญ้า, คันนา รวมทั้งไอดินกลิ่นควายก็ลอยลมให้รู้สึกสดชื่นอย่างประหลาด พร้อมกับเป็นการสะกิดบอกผู้มาเยือนอย่างเราให้รู้ตัวว่ามาถึงอำเภอเขื่องในเรียบร้อยแล้ว

ในอำเภอเขื่องในมีหลายหมู่บ้านหลายตำบล ความน่าทึ่งคือในทุกแห่งมีของดีแตกต่างกันออกไป เรียกได้ว่าเหมือนเป็นอำเภอที่รวบรวมเสน่ห์ทุกด้านของชาวอุบลไว้ค่อนข้างครบถ้วน จนทำให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เลือกเป็นหนึ่งในพื้นที่วิจัยการท่องเที่ยววิถีชาวนาไทย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าอำเภอเขื่องในพร้อมและครบเครื่องเรื่องรองรับการท่องเที่ยวจริงๆ

46526235_2037369756321826_2080099558200705024_o

 

  • ทั้งหอมทั้งนัวที่บ้านหัวดอน

บ้านหัวดอนเป็นหมู่บ้านลำดับต้นๆ เมื่อเข้ามาในอำเภอนี้ เป็นเสมือนหน้าด่านรอต้อนรับนักเดินทางต่างถิ่น ด้วยอาชีพหลักของคนหัวดอนยังเป็นชาวนา อะไรต่อมิอะไรที่นี่จึงเกี่ยวพันกับข้าว โดยเฉพาะวิถีการทำนาที่เน้นปลูกเพื่อกินในครอบครัว เหลือค่อยขาย ทำให้ข้าวของหมู่บ้านนี้มีคุณภาพเป็นเลิศ คิดง่ายๆ ใครจะอยากกินข้าวแย่ๆ เมื่อปลูกเองได้ก็เลือกที่จะปลูกให้ดีที่สุด และเมื่อพูดถึงข้าวที่ดีงามคงหนีไม่พ้น ‘ข้าวหอมทุ่ง’ ข้าวพันธุ์พิเศษซึ่งปลูกได้แค่บางพื้นที่ แน่นอนว่าหัวดอนปลูกได้

ชื่อข้าวหอมทุ่งไม่ได้ตั้งอย่างมั่วซั่ว แต่เพราะคุณสมบัติพิเศษตรงที่มีกลิ่นหอมหวน ออกรวงก็หอมทั่วทุ่ง ยิ่งหุงก็หอมไปเจ็ดบ้านแปดบ้าน ถึงจะมีคนนำเมล็ดพันธุ์มาจากพิบูลมังสาหาร ทว่าหลังจากนั้นกลายเป็นข้าวประจำถิ่นไปแล้วเพราะปลูกได้ดีบนสภาพภูมิประเทศเอื้ออำนวย คือ มีน้ำท่วมขังบ่อย แต่ข้าวหอมทุ่งมีลำต้นสูงหนีน้ำได้ และมักเก็บเกี่ยวในฤดูน้ำหลากช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน อดีตชาวบ้านบางคนต้องพายเรือเพื่อเกี่ยวข้าวหอมทุ่งเลยทีเดียว

แต่ใช่ว่าจะมีเพียงข้าวหอมทุ่งที่กลับมานิยมปลูกกัน ข้าวเศรษฐกิจยอดฮิตอย่างหอมมะลิก็ปลูกแพร่หลายควบคู่กับหอมทุ่ง ทุ่งนาและหม้อข้าวของคนบ้านหัวดอนจึงหอมคูณสองด้วยข้าวที่พวกเขาปลูกอย่างตั้งใจ

46511028_2037369722988496_8224820135131611136_o

ข้าวที่ได้มานอกจากกินกันตามปกติแล้ว ยังถูกแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่างๆ เช่น ข้าวเหนียวก็ทำเป็นข้าวจี่หอมกรุ่น กินอุ่นๆ ในช่วงอากาศหนาวเย็น ไม่ใช่แค่ได้กินข้าวจี่แต่บรรยากาศระหว่างจี่ข้าวหน้าเตา ได้สนทนาสารทุกข์สุกดิบ คือความอบอุ่นทั้งร่างกายและจิตใจ

ที่บ้านหัวดอนนี้ ช่วงปลายฤดูหนาวจะมีงานบุญข้าวจี่และบุญคูณลาน (กุ้มข้าวใหญ่) ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกมากองรวมกัน ร่วมฟังเทศน์ฟังธรรม และจี่ข้าวมาทำบุญกันในรุ่งเช้าของอีกวัน ส่วนข้าวเหนียวและข้าวเจ้าที่นำมากองรวมกันก็จะนำมาขายราคาถูกให้ชาวบ้านที่ต้องการข้าว ส่วนรายได้ก็ถวายวัด

นอกจากนี้ข้าวยังแปรรูปในอีกหลายแบบ เช่น ข้าวพอง กระยาสารท รสชาติถูกปากตั้งแต่ลูกเล็กเด็กแดงยันคนเฒ่าคนแก่

46508979_2037370112988457_2493658609058054144_o

 

  • วิวร้อยล้านแห่งบ้านชีทวน

หลายคนคงเคยเห็นภาพสะพานข้ามทุ่งนาในหลายจังหวัด บางแห่งเพิ่งสร้างเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ที่บ้านชีทวน ตำบลถัดจากบ้านหัวดอนประมาณ 1 กิโลเมตร มี ขัวน้อย เป็นสะพานข้ามทุ่งนาที่มีความเป็นมายาวนาน แม้จะถูกปรับเปลี่ยนวัสดุตามยุคสมัยแต่หัวใจของขัวน้อยยังเหมือนเดิม

บนพื้นที่นารวม (มีหลายเจ้าของบนนาที่มองดูเหมือนเป็นผืนเดียวกัน) สะพานคอนกรีตขนาดไม่กว้างนัก ทอดยาวจากฟากหนึ่งไปอีกฟากหนึ่งด้วยระยะทางเกือบ 300 เมตร หน้าที่แต่ดั้งเดิมของ ‘ขัวน้อย’ คือเพื่อใช้สัญจรไปมาระหว่างชุมชนของข้าทาสบริวารกับชนชั้นศักดินา ตั้งแต่เมื่อราว 200 ปีก่อน สมัยนั้นขัวน้อยสร้างจากไม้เนื้อแข็งทั้งเสาและคาน ปูด้วยกระดานไม้จากเรือกระแซงเก่า ต่อมาปี 2535 ไม้ผุพังจึงเปลี่ยนเป็นสะพานคอนกรีตจนถึงปัจจุบัน โดยยังคงเชื่อมหมู่ที่ 1 บ้านชีทวนกับหมู่ที่ 7 บ้านหนองแคน เหมือนเดิม

46742257_2037369819655153_6309722620463939584_o

ความสวยงามของวิวบนขัวน้อยแตกต่างกันไปตลอดทั้งปี เช่น ช่วงก่อนฤดูเก็บเกี่ยวนาจะเป็นสีเหลืองทอง เมื่อต้องแสงอาทิตย์ยามเย็นจะสวยงามจนอาจจะเผลอนั่งชมโดยลืมไปว่าหลังจากฟ้ามืดแล้วยุงจะชุมเพียงใด หรือช่วงออกพรรษาขัวน้อยจะคึกคักที่สุด เพราะจะมีพิธีตักบาตรเทโวบนขัวน้อย ตั้งแต่เช้าตรู่ชาวบ้านทั้งชีทวนและใกล้เคียงจะแต่งชุดสุภาพห่มสไบตามประเพณีมาต่อแถวรอพระสงฆ์จากวัดศรีธาตุเจริญสุขเดินบิณฑบาตร แรงศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาแสดงออกผ่านภาพผู้คนตลอดแนวขัวน้อยไม่ขาดสาย ทันทีที่พระสงฆ์เดินรับบาตรทุกคนดูตั้งอกตั้งใจกับการทำบุญครั้งนี้ ยิ่งมีนาข้าวสีเขียวขจีเพราะเป็นช่วงฤดูทำนายิ่งทำให้ประทับใจจนต้องยกให้ขัวน้อยเป็นวิวร้อยล้านแห่งบ้านชีทวนกันเลย

แต่ที่นี่ไม่ได้มีดีแค่ขัวน้อย ความเป็นชุมชนโบราณมีประวัติการตั้งถิ่นฐานมาไม่น้อยกว่า 300 ปี หลักฐานบางชิ้นสืบสาวไปได้ถึงหลักพันปี เช่น พระพุทธวิเศษ ที่วัดทุ่งศรีวิไล พระพุทธรูปศิลาแลงปางสมาธินาคปรก มีอายุกว่า 1,000 ปี หรือในยุคทวารวดี

46511111_2037369859655149_5166342347050450944_o

ธรรมาสน์สิงห์เทินบุษบก ที่วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ ก็เป็นอีกโบราณวัตถุที่บอกเล่าความเป็นมาและวิถีชีวิตคนชีทวนซึ่งผูกพันกับพระพุทธศาสนาอย่างไม่ขาดกัน มีหลักฐานว่าธรรมาสน์สิงห์ฯ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2468 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2470 โดยพระอุปัชฌาวงศ์ เจ้าอาวาสวัดในขณะนั้นและชาวเวียดนามชื่อ แกวเวียง

มัคคุเทศก์น้อยประจำวัดนี้ให้ข้อมูลว่าธรรมาสน์สิงห์ฯ เป็นประติมากรรมปูนปั้นเล่าเรื่องราวในพระพุทธศาสนา มีรูปพระเวสสันดร นางมัทรี กัณหา ชาลี ชูชก ด้านล่างจะเป็นตัวสิงห์รองรับเรือนธรรมาสน์เอาไว้ และมีลายพรรณพฤกษา ก้อนเมฆ ผสมผสานกัน ซึ่งธรรมาสน์สิงห์ฯ รวมไปถึงหอแจก (ศาลาการเปรียญ) ทั้งหลังของวัดนี้ได้จดทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว ธรรมาสน์สิงห์ฯ จึงไม่ได้มีไว้สำหรับนั่งเทศน์แล้ว ยกเว้นในงานเทศน์ปฐมสมโภชซึ่งเป็นงานใหญ่ของบ้านชีทวนในช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น

46693444_2037370199655115_4918344342604611584_o

นอกจากนี้ยังมี สัตภัณฑ์ (เชิงเทียน) เก่าแก่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นเครื่องตั้งเทียนในพิธีกรรมทางศาสนา ทำจากไม้แกะสลักลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจกสี ปัจจุบันเก็บรักษาที่วัดธาตุสวนตาล ซึ่งมีเรือขุดโบราณอายุ 300 ปี ที่ขุดจากไม้ตะเคียนต้นเดียว ยาว 24 เมตร กว้าง 2.7 เมตร ขุดพบในแม่น้ำชีเมื่อปี พ.ศ.2537 และที่วัดนี้มี พระธาตุสวนตาล เป็นสถูปหรือเจดีย์ประธานของวัดก่อด้วยอิฐฉาบด้วยพระทาย (พระทายคือ การนำหินมาบดหรือตำให้ละเอียดผสมกับน้ำอ้อย ยางบง หนังควายแห้งเผาไฟแล้วตำ ผสมกันในหลุมดินแล้วตำให้ละเอียดเนื้อเดียวกัน จะมีคุณภาพหรือความเหนียวคล้ายกับปูนซีเมนต์) เป็นรูปทรงเลียนแบบพระธาตุพนม ฐานกว้าง 30 ฟุต สูง 60 ฟุต เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านอย่างมาก ในงานบุญใหญ่ต่างๆ เช่น บุญบั้งไฟหลังจากแห่งขบวนบั้งไฟจะมาจบที่วัดนี้เพื่อรำประกวดและถวายพระธาตุสวนตาล

46707236_2037370219655113_5626551752128987136_o

 

  • ท่าศาลา เมืองปลาและน้ำ

ในตำบลชีทวน มีอีกหนึ่งหมู่บ้านที่เป็นอีกพาร์ทของวิถีชีวิต ด้วยความที่ บ้านท่าศาลา อยู่ติดแม่น้ำชี ชาวบ้านจึงไม่ได้มีชีวิตอยู่กับแค่ ‘ข้าว’ เพราะมีน้ำและปลาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ตลอดทั้งปี ไม่ว่าน้ำจะมากหรือน้อย ชาวบ้านท่าศาลาหาปลาได้เสมอ แต่ในช่วงเดือนนี้ (ตุลาคม-มกราคม) คือช่วงพีคสุดจะหาปลาได้มาก ตลอดแนวแม่น้ำกว่า 20 กิโลเมตรคือพื้นที่ทำมาหากิน เว้นเพียงเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำด้านหน้าวัดอัมพวันวนาราม ทำให้ไม่ว่าจะชาวบ้านจะจับปลาได้มากแค่ไหนก็ยังมีโอกาสให้ปลาได้เกิดและเติบโต

เมื่อพูดถึงปลาแม่น้ำชี บางคนรู้ดีว่าคือปลาคุณภาพ เพราะเป็นปลาแม่น้ำ ต้องแหวกว่ายอยู่ตลอดเนื้อจึงแน่นและอร่อยเพราะมีความอุดมสมบูรณ์ ที่นี่จึงเป็นแหล่งรวมร้านขายปลา ไม่ว่าจะต้องการปลาชนิดใดก็มีหมด ทั้งปลาตะเพียนทอง ปลาตะเพียนขาว ปลากระทิง ปลาโจก ปลาชะโด ปลาเค้า ฯลฯ นอกจากจะกินกันปกติ ขายกันปกติ ที่บ้านท่าศาลายังขึ้นชื่อเรื่อง ปลาส้ม ด้วย เพราะเนื้อแน่น มัน อร่อย ไม่ใส่สารกันบูด แถมยังใช้ข้าวเหนียวคุณภาพปลูกเองมาหมักปลา แค่นึกก็น้ำลายสอแล้ว

46514630_2037370299655105_7902488496038739968_o

ส่วนเรื่องการแปรรูปข้าวของบ้านนี้ก็โดดเด่นด้วย 'ข้าวปุ้น' หรือขนมจีน เรียกได้ว่าหากไม่นับข้าวเหนียวและข้าวเจ้า นี่คืออาหารหลักอีกอย่างของคนท่าศาลา ไม่ว่าจะงานเทศกาลงานบุญใดๆ เจ้าภาพจะทำขนมจีนรับรองแขกเหรื่อ โดยยังเน้นทำเส้นเอง ทำน้ำยาเอง ครกกระเดื่องที่นี่จึงยังได้ทำหน้าที่ต่อเนื่อง ตำข้าวสารที่ผ่านการหมักด้วยน้ำเปล่าถึง 3 คืน โดยล้างทุกคืน ตำไปพลิกไปด้วยความสามัคคีจนละเอียดเป็นแป้งหมัก นำมาบีบเป็นเส้นลงในหม้อน้ำร้อนที่ต้องอาศัยความชำนาญเพื่อให้เส้นยาว ไม่ขาดตอน พอเส้นสุกดีก็ตักขึ้นมาจับเรียงลงตะกร้า จะพร้อมกินหรือพร้อมขายก็ตามแต่ ยิ่งได้น้ำยากะทิโรยปลาย่างหอมๆ ราดจนชุ่มเส้นขนมจีน บอกเลยว่า “แซบ”

46641724_2037370139655121_5931745715796574208_o

 

  • สวมผ้าไหมไปทำนา ที่บ้านหนองบ่อ

หลายคนคงเคยได้ยินประโยคทำนองว่า “อีสานแล้ง” ตำนานเรื่องพญาแถนจึงเป็นของคู่กันกับความเชื่อเกี่ยวกับการขอฝน ทั้งเรื่องบั้งไฟ และกลวิธีอื่นๆ

กลองตุ้ม เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ชาวบ้านใช้ตีประกอบการฟ้อนรำเพื่อขอฝน เรียกรวมกันว่า ฟ้อนกลองตุ้ม เอกลักษณ์ของการฟ้อนกลองตุ้มคือฝ่ายชายแต่งกายเป็นหญิง คือนุ่งซิ่นหมี่ ส่วนฝ่ายหญิงแต่งกายเป็นชาย คือนุ่งโสร่งไหม เมื่อผิดธรรมชาติพญาแถนจะไม่พอใจแล้วเทน้ำลงมาชำระล้าง กลายเป็นฝนที่พวกเขาต้องการ

46511083_2037370239655111_4415596400310484992_o

ไม่ว่าตอนนี้อีสานจะแล้งเหมือนเดิมหรือไม่ หรือพญาแถนจะจับได้หรือยังว่ากำลังถูกหลอก แต่เสียงกลองตุ้มก็ยังคงดังอยู่ในหลายๆ วาระ ไม่เพียงแค่ในช่วงขอฝนอีกต่อไป เมื่อการท่องเที่ยวกำลังกลายเป็นรายได้สำคัญของชุมชน การฟ้อนกลองตุ้มจะมีบ่อยขึ้นเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว และเพื่อแสดงให้นักท่องเที่ยวได้เห็นว่านี่คือนาฏศิลป์ของชาวหนองบ่อที่สืบทอดมาจนทุกวันนี้

เดิมทีการฟ้อนกลองตุ้มไม่มีท่าที่แน่นอน ต่อมาได้พัฒนาให้มีท่าเป็นมาตรฐานเพื่อสืบทอดให้คนรุ่นหลังได้ง่าย หลายท่าสะท้อนวิถี ความเชื่อ และวัฒนธรรมประเพณีของพวกเขา เช่น ท่าบัวตูมบัวบานหมายถึงการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ท่านกบินกลับรัง หมายถึงอาชีพของคนในชุมชนที่เช้าไปทำไร่ทำนา แล้วเย็นก็บินกลับมาหาครอบครัว โดยผู้แสดงจะสวม ‘ซวยมือ’ ที่ใช้ใส่นิ้วเวลาฟ้อน ชาวบ้านที่นี่ก็จะทำขึ้นแบบมีเอกลักษณ์เฉพาะ คือกลับไปใช้วัสดุเดิมที่ปู่ย่าตายายเคยทำ คือสานจากหวายเพราะยืดหยุ่นได้ แช่น้ำเพื่อให้นุ่มขึ้นเวลาสวมที่นิ้วแล้วจะไม่หลุด พันด้วยเส้นไหมแท้ให้กระชับ และด้วยความสามารถการทอผ้าของทุกบ้าน ชุดที่ใช้ในการฟ้อนกลองตุ้มก็จะเป็นชุดที่ทอกันเองอีกด้วย 

สำหรับเรื่องผ้าไหมทอมือของบ้านหนองบ่อคือที่สุดอย่างหนึ่ง ตั้งแต่คำกล่าวทีเล่นทีจริงว่า “ชาวบ้านหนองบ่อร่ำรวย ถึงขนาดสวมชุดผ้าไหมไปทำนา” ที่ว่าทีเล่นเพราะไม่เกี่ยวกับรวยหรือจน ส่วนที่ว่าทีจริงเพราะพวกเขาสวมชุดผ้าไหมไปทำนากันจริงๆ

46510960_2037370026321799_5075032008057421824_o  

ชาวบ้านที่นี่ทอผ้าไหมใช้เองมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษด้วยเหตุผลว่าอยู่ไกลจากตัวเมืองหรือตลาด จึงทอผ้าเองจนมีลายเอกลักษณ์คือ ลายปราสาทผึ้ง และ ลายลูกแก้ว ย้อมด้วยมะเกลือ โดยทอแบบ 5 ตะกอ คือการทอผ้าไหมเหยียบแบบ 5 ตะกอบหรือ 5 ไม้ ทำให้ผ้านูนเป็นลายทั้งสองด้าน การทอแบบนี้ผ้าไหมจะแน่นมาก สำหรับความแตกต่างของลายลูกแก้วกับปราสาทผึ้งคือ ลายลูกแก้วจะใช้ไหมลืบที่มีเส้นใหญ่ทอเป็นลายลูกแก้วเพื่อสวมใส่ไปทำนาหรือทำงานอื่นๆ ส่วนลายปราสาทผึ้งเป็นลายเก่าแก่ ทำขึ้นเลียนแบบ ปราสาทผึ้ง ในงานศพ เดิมทีนิยมสวมใส่ลายนี้ในงานบุญผะเหวด (เทศน์มหาชาติ) เพียงงานเดียว แต่ปัจจุบันนิยมสวมใส่มากขึ้นเพื่อสวยงามและได้โชว์ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ 

ถึงทุกบ้านจะทอผ้าใช้เองได้ แต่เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเป็น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านหนองบ่อ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากผ้าทอในทุกกระบวนการตั้งแต่ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม ย้อมไหม ทอ มัดหมี่ ฯลฯ ที่บ่งบอกถึงความเอาจริงเอาจังคือชาวบ้านช่วยกันแกะลายผ้าโบราณที่มีในครอบครัว จนได้ลายผ้าที่แทบจะสูญหายกลับมาเก็บไว้แล้วสานต่อเป็นภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป

46756149_2037370089655126_7761843705962561536_o

 ... 

ยิ่งนึกทบทวนถึงคำกล่าวเชิงลบที่ว่า “อีสานแล้งและไม่ค่อยมีอะไร” ก็อยากจะไปควานหาคนต้นคิด แล้วพามาดูที่นี่เสียเหลือเกิน ใครจะเชื่อว่าทั้งอำเภอจะอัดแน่นด้วยของดีมีคุณภาพและทรงคุณค่าได้มากมายขนาดนี้ ยังไม่รวมอีกหลายอย่างที่ไม่ได้กล่าวถึงในแต่ละบรรทัดข้างต้น สมกับเป็นดินแดนแห่ง ‘ข้าว ปลา นา น้ำ’ จริงๆ

46679501_2037370052988463_9130151051595350016_o

46811570_2037369989655136_5817357005693648896_o