หลงแสงสี เจริญกรุงยามราตรี

หลงแสงสี เจริญกรุงยามราตรี

มีเพียงวันนี้อีกวันเดียวเท่านั้นที่จะได้ชมเทศกาลแห่งแสงไฟ AWAKENING Bangkok ที่จัดแสดงหลายจุดในย่านเจริญกรุง ถ้าสนใจค่ำนี้ชวนกันท่องราตรีไปกับแสงสีได้เลย

จะเริ่มต้นตรงไหนดี Warehouse 30 ไปรษณีย์กลางบางรัก มัสยิดฮารูณ หรือ โอพีเพลส ได้หมด แต่สายกินอย่างเราขอเริ่มที่โรงแรมปริ๊นซ์เธียเตอร์ก่อน โดยรองท้องกันก่อนออกเดินทางด้วยโจ๊กปรินซ์ ร้านเก่าแก่ที่ได้รางวัลดาวมิชลิน ประเภทบิบ กูร์มองด์ (ร้านอาหารอร่อยคุ้มค่าในราคาย่อมเยา) และเกี๊ยวน้ำหมูสับท็อปด้วยเป็ดย่างร้านประจักษ์ ร้านหนึ่งในตำนานบนถนนเจริญกรุงที่เปิดมานานร่วมร้อยปีแล้ว

4 (Large)

อิ่มกันแบบเบาๆที่ขอเล่าแบบอายๆว่ามีตบท้ายด้วยน้ำแข็งไสตรงปากซอยเข้าถนนศรีเวียงทางเข้าโรงแรมปริ๊นซ์เธียเตอร์อีกถ้วย เดินเข้ามาก็ปะทะกับ สตรีท กราฟฟิตี ผลงานของ 3 ศิลปินได้แก่ Danny Figueroa จากเยอรมนี Kashink จากฝรั่งเศส และมือบอน จากประเทศไทย อันเป็นส่วนหนึ่งของ Street กิจกรรมที่จัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสและสถาบันเกอเธ่ประเทศไทยกับองค์กรระดับท้องถิ่น จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนไปจนถึง 1 ธันวาคม ถือได้ว่าเป็นกำไรของผู้ชมท่องราตรีชมงานประติมากรรมแสงแล้วยังได้ชมสตรีทอาร์ตไปพร้อมกันเลย

cc

มาเข้าโรงแรมที่เคยเป็นโรงหนังเก่าแก่กันค่ะ สถานที่แห่งนี้ตรึงตากันด้วยผลงานติดตั้งบริเวณทางเข้า แคลิฟอร์เนียดรีม โดย Splendour Solis Collective ที่นำเอาคำยอดฮิตของหนุ่มสาวชาวอเมริกันที่ชวนให้คิดถึงย่านเจริญกรุงในยุค80-90 ที่หนุ่มนิยมนัดสาวมาดูหนังกัน ผลงานชิ้นนี้ใช้กระจกเงาสองฝั่งสะท้อนกลับไปมา ยามที่เดินผ่านเหมือนเรากำลังเดินเข้าสู่โลกคู่ขนาน ชวนให้รู้สึกตื่นเต้นที่จะเข้าไปชมผลงานด้านใน

จากโรงหนังเก่าแก่ที่ปิดตัวไปนานสิบปี เมื่อได้รับการบูรณะให้กลายเป็นโรงแรมขนาด 26 ห้องที่คงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและกลิ่นอายของโรงภาพยนตร์ในยุคที่คอมพิวเตอร์ยังไม่เกิดได้อย่างน่าชม บนเวทีเดิมจัดแสดงผลงาน Rhythm of Reflection โดย Spark Industries สะท้อนแนวคิดหลักของ เทศกาลแห่งแสงไฟ AWAKENING Bangkok ได้เป็นอย่างดีโดยที่ศิลปินถ่ายทอดเรื่องราวของเจริญกรุงในมิติของพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจสำคัญเป็นเวลายาวนนาน ทั้งยังเต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมไทย จีน แขกและตะวันตก สื่อสารออกมาในรูปของแสงสี “การสะท้อนและหักเหของแสง เปรียบเสมือนการเข้าไปสู่อนาคตของย่านเจริญกรุง”

1 (Large)

Rhythm of Reflection โดย Spark Industries

eye

Eyes on me ของFrom/Object/to studio

จากโรงแรมปริ๊นซ์เธียเตอร์ เรามุ่งหน้าไปยังเจริญกรุงซอย 38 โอพีเพลส เป็นจุดที่ติดตั้งงานศิลปะหลายชิ้นทั้งในอาคารและภายนอก ภาพดวงตาที่ฉายลงบนตัวอาคารในผลงาน Eyes on me ของFrom/Object/to studio ดึงดูดสายตาเราให้มองในทันใด ทั้งๆที่ในความเป็นจริงเราแทบไม่ได้มองอาคารหลังนี้เลยก็ได้ในยามที่เราผ่านมาแถวนี้ ถ้ามองอีกมุมหนึ่งอาคารหลังนี้ต่างหากกลับเฝ้ามองความเป็นไปของวิถีชีวิตและผู้คนที่สัญจรไปมา

ใครกันนะที่จัดงานศิลปะแห่งแสงไฟให้เราได้เห็นอีกมุมหนึ่งของกรุงเทพฯยามราตรี ได้เห็นผลงานศิลปะจากนักออกแบบแสงฝีมือดีๆ แถมยังได้ทำความรู้จักกับสถานที่หลายแห่งที่มีคุณค่าและความหมายที่สะท้อนความเป็นเจริญกรุงได้อย่างมีเรื่องราว

ท่ามกลางผู้คนมากมายที่มาชื่นชมและถ่ายภาพกันอยู่นั้น เราได้พบกับคุณต้อม – พงศ์สิริ เหตระกูล กรรมการบริหารเครือสำนักพิมพ์แม่บ้าน เจ้าของมีเดียแบรนด์ชื่อดังอย่าง นิตยสารแม่บ้าน ไนลอน (NYLON) และ ไทม์เอาท์แบงค็อก (Time Out Bangkok) ผู้จัดงานด้วยจังหวะที่พอดีทำให้ได้ทราบถึงที่มาของการจัดงาน AWAKENING Bangkok ขึ้นเป็นครั้งแรก

“ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นเนื้อหาการท่องเที่ยวที่ทำได้ในเมืองไทยแน่ๆ และคนจะชอบด้วย ผมเห็นงานแบบนี้ในต่างประเทศบ่อยๆ ที่ซิดนีย์ สิงคโปร์ เนื้อหางานประมาณนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี เรารู้สึกว่าซีนริมน้ำเราก็ไม่แพ้ใครนะ เกิดในเมืองไทยได้ ถ้าไม่มีใครทำเลยก็เสียดาย

ตั้งใจอยากให้เป็นงานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ด้วย เราได้เห็นประโยชน์ของงานแล้วด้วย คือ ชุมชนแฮปปี้ โรงหนังปริ๊นซ์ก็บอกว่าเขาขายดี มัสยิดฮารูณก็มีการเปิดร้านขายขนมกันแล้ว ชุมชนก็ดูแฮปปี้กับงาน ถ้าเป็นไปได้ในอนาคตอยากให้ขยายพื้นที่ได้มากกว่านี้ ข้ามฟากแม่น้ำไปด้วยได้ยิ่งดีเลย” คุณต้อมบอกกับเรา

จากนั้นเขาก็พาเราไปพบกับผลงานศิลปะที่จัดแสดงในบ้านพักตำรวจน้ำ บ้านไม้หลังเก่าแก่ที่หลายคนซ่อนความสงสัยว่าจะเก็บซ่อนความงามของกาลเวลาไว้มากน้อยเพียงใด ความลับที่เก็บงำไว้เผยคำตอบในวันนี้นี่เอง

“เจริญกรุงมีเนื้อหามานาน แต่บางจุดดูเหมือนถูกทิ้งร้าง เช่นบ้านพักตำรวจน้ำ ชิ้นงานที่อยู่รอบบ้านจะพูดถึงเรื่องราวประมาณนี้ เช่น งานชื่อกวัดแกว่ง ศิลปินนำสิ่งของจากในชุมชนที่ปกติเราคงไม่ได้มอง นำมาสื่อความหมายใหม่โดยนำไฟไปวนรอบมัน จุดประสงค์ต้องการให้คนเข้าไปกวัดแกว่งสายไฟ เพื่อเล่นกับแสงไฟ

งานที่อยู่บนพื้นชื่อว่า ร่องรอย เล่นกับพื้นเพราะว่าสิ่งของเมื่อถูกทิ้งไว้ก็จะกองอยู่ที่พื้น เลยเล่นไฟที่พื้น” คุณต้อมกล่าวถึงชิ้นงานที่จัดแสดงบริเวณพื้นทางเดินก่อนนำไปสู่ตัวบ้านอายุร้อยปี

6 (Large)

กวัดแกว่ง

ww

ร่องรอย

“สมัยก่อนเป็นอาคารของสโมสรตำรวจน้ำ ผลงานแบ่งเป็น 2 ส่วน ด้านหน้าอุทิศให้กับลวดลายของตัวบ้านเลย จุดที่นำไฟไปส่องเป็นจุดที่ต้องการเน้นขื่อ แป คานไม้สามนิ้วสมัยนี้ไม่มีอีกแล้ว เน้นโครงสร้างที่เป็นจุดเด่นอาคาร

ข้างในสุดเป็นจัดวางแชนเดอเลียร์ 3 ชิ้นทั้งหมดนี้ตั้งชื่อว่าฟลอร์เฟื่องฟ้า เนื่องจากสมัยก่อนที่นี่เป็นสโมสรที่มีชื่อเสียงในการจัดงานเลี้ยงลีลาศ ศิลปิน Leftover Studio ออกแบบไฟซีนนี้ความยาว 20 กว่านาที พรีเซ้นต์แชนเดอเลียร์ เรียงจากขวาไปซ้ายเพื่อให้เห็นว่าที่สุดท้ายจะถูกทิ้งลงพื้น เหมือนบ้านที่ถูกทิ้งร้างไว้” ผลงานชิ้นนี้แนะนำให้ชมกันนานๆเพื่อที่จะได้เห็นซีนไฟที่ซ่อนไว้ตามช่วงเวลาจัดแสดง

11 (Large)

"ฟลอร์เฟื่องฟ้า" บ้านพักตำรวจน้ำ

12 (Large)

"ฟลอร์เฟื่องฟ้า" ผลงาน Leftover Studio

 เราลัดเลาะตามตรอกจากมัสยิดฮารูณที่ทำให้เห็นความเชื่อมโยงของชุมชนคริสต์จากโบสถ์อัสสัมชัญ ชุมชมอิสลามที่มีกำแพงติดต่อกับวัดม่วงแคของชาวพุทธพอดี แล้วเราก็มายืนอยู่หน้าไปรษณีย์กลางอีกหนึ่งจุดที่รวบรวมผลงานศิลปะแสงไฟไว้มากมาย กระซิบดังๆว่าอย่าลืมเดินลงไปในชั้นใต้พบกับผลงานของนักออกแบบแสงที่ทำงานให้คอนเสิร์ตบิกเมาน์เท่น วันเดอร์ฟรุ้ต เป็นสเตจไลท์ติ้งประจำวงสล็อตแมชชีน พบกับการแสดงไฟแบบสื่อผสมงานชิ้นนี้มีซีน 12 นาที จากนั้น 5 นาทีถัดไปเป็นไฮไลท์ที่ตื่นเต้นทีเดียว

BN8A5144 (Large)

ผลงาน Antenna of Letter ผลงานของกลุ่ม Living Spirit 

ขอส่งท้ายด้วยผลงาน Antenna of Letter ผลงานของกลุ่ม Living Spirit ศศิศ สุวรรณปากแพรก หนึ่งในทีมนักออกแบบเล่าถึงแนวคิดในการสร้างงานว่า

“เราพยายามทำให้สปิริตที่มองไม่เห็นมองเห็นขึ้นมา ผลงานชิ้นนี้วางอยู่หน้าไปรษณีย์กลางบางรัก เราเลยสื่อสารขึ้นมาเป็นเสาสัญญาณคอยส่งตัวอักษรเพราะที่นี่เป็นที่ส่งจดหมาย

เสามี 26 แท่งตรงกับตัวอักษรภาษาอังกฤษ A-Z กดตัวอักษรที่แป้นไฟจะสว่างขึ้นมา แทนตัวอักษร ถ้าไม่กดก็จะเป็นแสงเล่าเรื่องราวไปเรื่อยๆตอนจบจะเป็นแสงสีขาวเพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคตการสื่อสารจะเกิดอะไรขึ้น”

เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตของการสื่อสารจะเป็นอย่างไร แต่วันนี้เราได้รู้ว่าการสื่อสารด้วย “แสง”ในเทศกาล AWAKENING Bangkok ได้ปลุกความตื่นรู้ของผู้คนให้มีต่อย่านเจริญกรุงที่มีทั้งมุมสว่างไสว บางมุมที่ถูกทิ้งร้าง มองผ่าน ให้มีชีวิตชีวาในหลายมิติ

ผลงานศิลปะที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้มีด้วยกันถึง 29 ชิ้นงาน เดินกันเพลิน เดินกันสนุก แต่ละจุดมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำอธิบายและแจกแผ่นพับระบุสถานที่จัดแสดงพร้อมข้อมูล

วันนี้ 25 พฤศจิกายน จัดแสดงวันสุดท้ายแล้วอยากชวนให้ไปชมกัน

เพราะ “ศิลปะทำให้เมืองน่าอยู่”