จิบกาแฟ เที่ยวท้องนา คุยกับควาย ที่'นาเฮียใช้'

จิบกาแฟ เที่ยวท้องนา คุยกับควาย ที่'นาเฮียใช้'

หนึ่งในสถานที่สุพรรณบุรี ที่นักเดินทางต้องเช็คอิน นอกจากน่าเที่ยว มีอะไรให้ดูเยอะ ยังมีเบื้องหลังที่

เราเป็นครอบครัวเล็กๆ อยู่ในแผ่นดินไทย จึงต้องการตอบแทนผู้มีพระคุณ โดยน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทาง” นิทัศน์ เจริญธรรมรักษา (ทายาท เฮียใช้-พิชัย)กรรมการผู้จัดการ บริษัทนาเฮียใช้ จำกัด เล่าถึงศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย จังหวัดสุพรรณบุรี ที่หลายคนเรียกว่า นาเฮียใช้ โดยใช้งบประมาณของครอบครัวกว่า 60 ล้านบาท ทำเป็นแหล่งเรียนรู้ ทั้งเรื่องข้าว เทคโนโลยีการผลิต การเรียนรู้วิถีชีวิตคนไทยในอดีต และสถาปัตยกรรมไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

นอกจากแปลงนาที่ปลูกเป็นแถวเป็นแนวสวยงาม ยังสามารถชมวิวท้องนาจากหอเตือนภัยชาวนาได้ด้วย และยังมีเรือนไทยรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่เรือนแม่โพสพ, เรือนวิถีชาวนาไทยในอดีต และแปลงสาธิต ฯลฯ และที่นักท่องเที่ยวชอบมากเป็นพิเศษ คือ แปลงนารูปร่างต่างๆ อาทิ แผนที่ประเทศไทย  รวมถึงร้านกาแฟ และร้านอาหาร

และมากกว่านั้น ก็คือ คนที่ต้องการเรียนรู้วิถีชาวนาในมุมที่ลึกขึ้น นิทัศน์และทีมงานก็จะช่วยให้ความรู้ โดยเฉพาะเด็กๆ เขาอยากให้มาเรียนรู้

“โจทย์ของผมคือ รู้อย่างเดียวไม่พอ เด็กๆ ต้องสนุกด้วย นอกจากแปลงนา เรากำลังทำฐานตีเหล็ก ฐานเลื่อยไม้ทั้งต้นแบบภูมิปัญญาดั้งเดิม ห้องเรียนสีเขียวในแปลงกุยช่าย และอุโมงค์เผาถ่าน ส่วนนี้คงเปิดให้เรียนรู้ในปีหน้า”

20181028095336013 (1) -1-

ในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทยนาเฮียใช้ เชื่อมต่อกับแหล่งปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าว ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี บนพื้นที่ 86 ไร่ เปิดอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 หลังจากทำธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวมานานกว่า 18  ปี พวกเขาเลือกที่ลงทุนเองทั้งหมด เพราะไม่อยากทำตามกรอบของหน่วยงานใด

“คุณรู้ไหมธรณีประตูเรือนไทยสมัยโบราณ มีไว้เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษ หรือเรือนแม่โพสพ เราก็อยากให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องงมงาย  เป็นการแสดงถึงความกตัญญูรู้คุณข้าว โดยสะท้อนผ่านแม่โพสพ ความกตัญญูไม่เคยทำให้ใครตกต่ำ ถ้าคุณอกตัญญู แค่ข้าวจะกินก็ไม่มี” นิทัศน์ เล่าถึงแหล่งเรียนรู้นาเฮียใช้ ซึ่งพวกเขาเนรมิตให้สถานที่แห่งนี้ดูมีชีวิตชีวา

“อันดับแรกที่ทำ ผมคิดถึงชาวนา เพราะพวกเขายังไม่มีแหล่งความรู้ เวลาปลูกข้าว ก็ไม่รู้ว่าจะใช้พันธุ์ข้าวแบบไหน พันธุ์ไหนต้านทานโรคหรือไม่ต้านทาน และวิธีการปลูก ผมก็เลยมาตั้งแปลงนาสาธิต และอยากตอบแทนแผ่นดินนี้ด้วย อยากให้เยาวชนหรือใครก็ตามที่เข้ามาที่นี่ได้เห็น ได้ฟัง และเรียนรู้ แล้วจะเข้าใจว่า คนไทยมีภูมิปัญญาไม่แพ้ชาติไหน แค่เรือนไทยอย่างเดียว คุณก็เรียนรู้ไม่หมดแล้ว”

นอกจากนี้เขายังทำ โรงสีข้าวพอเพียง เพื่อให้นักเรียนรู้ว่า เมื่อสีข้าวเปลือกแล้วได้อะไรบ้าง ไม่ว่าแกลบ รำข้าว ปลายข้าว และทำได้ทั้งข้าวสวย ข้าวต้ม แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า

“เรามีฐานคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว ก่อนจะนำไปปลูก ต้องผ่านเครื่องคัด ”่

แปลงนาที่เห็นสุดลูกหูลูกตา นอกจากเป็นทิวทัศน์ในการถ่ายภาพของนักท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นศูนย์เรียนรู้โมเดลการผลิตต้นกล้า การปักดำโดยใช้เทคโนโลยีจากไต้หวัน

“ผมตั้งใจทำแปลงต้นกล้าขึ้นมา เพื่อเสริมศักยภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว วิธีการปลูกที่ดี เราทำแบบปักดำ จะมีรถปักดำหลายประเภทให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ ”

-2-

20181028095216208 หากเล่าถึงต้นตระกูลเฮียใช้ที่มาจากเมืองจีน พ่อแม่ของเขาเริ่มจากหาบของขายแลกข้าว จากนั้นเฮียใช้ที่เป็นคนขยัน อดทน และซื่อสัตย์ก็ผันตัวมาเป็นพ่อค้าข้าวเปลือก จนมาถึงรุ่นลูก มีเพียงนิทัศน์ที่รับช่วงเรื่องข้าว จากค้าข้าวเปลือกหันมาผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแบรนด์เฮียใช้ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2540 ทำให้เขาเข้าใจเรื่องข้าวทั้งระบบ ตั้งแต่การเลือกเมล็ดพันธุ์ กรรมวิธีการปลูกและการค้าข้าว

“ผมอาจทำนาไม่เก่งเท่าชาวนา แต่ผมส่งเสริมชาวนาปลูกเมล็ดพันธุ์ประมาณ 300 ครอบครัว ตอนนี้ข้าวราคาถูกมาก ชาวนาเริ่มไม่ซื้อเมล็ดพันธุ์ แต่เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง ผมก็ผลิตหัวเชื้อให้กับชาวนาที่ตั้งใจจะขายเมล็ดพันธุ์ ตอนที่เริ่มทำแหล่งเรียนรู้ ผมก็คิดแค่ว่าให้ชาวนามาเรียนรู้ มีนักเรียนมาเดินเที่ยว แต่ทำไปทำมาเริ่มเห็นช่องทางมากกว่านั้น นั่นก็คือการเรียนรู้แบบลงลึก”

ว่ากันว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวเฮียใช้ติดอันดับ 1 ใน 5 เมล็ดพันธุ์คุณภาพดีของประเทศ ส่วนการจำหน่าย นิทัศน์ บอกว่า อาจเป็นรองผู้ผลิตรายใหญ่ เพราะต้นทุนสูงกว่า

“ผมนำวิธีการผลิตกล้าจากไต้หวันมาใช้ทั้งระบบ ผมไปดูงานที่ไต้หวัน เพราะเห็นว่าตอบโจทย์ได้ ถ้าผมต้องการเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ ผมต้องปักดำเป็นแถวเป็นแนว เวลามีข้าว วัชพืช ที่เรียกว่าข้าวโดด ข้าวเด้ง ชาวนาเก็บออกได้หมด เหลือแต่ต้นที่ปักดำ และมีเครื่องคัดกรอง มีการวิเคราะห์และทดสอบการงอกของเมล็ดพันธุ์”

 ฉะนั้นคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวของเขา ทำให้มั่นใจได้ว่า สูงกว่าที่อื่น ดังนั้นราคาจึงสูงตามไปด้วย เนื่องจากระบบที่เขานำมาใช้

“ระบบที่ผมสร้างขึ้นมา ทำให้ต้นทุนผมแพง ไม่ตอบโจทย์ราคาข้าวที่ถูกในปัจจุบัน เพราะชาวนาไม่มีทุน จึงต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ด้วยระบบเชื่อร้านค้า ชาวนาไม่ได้ซื้อกับเราโดยตรง ส่วนเมล็ดพันธุ์รายอื่นต้นทุนถูกกว่าเมล็ดพันธุ์ของเรา 1-2 บาท ในช่วง 3-4ปี เมล็ดพันธุ์ของผม ชาวนานำไปปลูกขายแล้วมีกำไร เมื่อมีกำไรก็อยากได้เมล็ดพันธุ์ที่ดี แต่ก็มีชาวนาที่คิดว่า หากขายข้าวแล้วขาดทุนเหมือนเดิม ก็เอาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ปลูกแล้วงอกก็พอแล้ว"

แม้ยอดขายเมล็ดพันธุ์ข้าวเฮียใช้จะไม่ได้ติดอันดับต้นๆ แต่เมล็ดพันธุ์ข้าวนาปรังของเขา ไปไกลถึงตะวันออกกลาง

“แม้เมล็ดพันธุ์ที่ปลูกเพื่อส่งต่างประเทศ ไม่ใช่เมล็ดข้าวออร์แกนิค แต่เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ปลอดภัย เพราะผมเอาชนะวัชพืชไม่ได้ โรคแมลงผมยังพอทำได้ ส่วนตลาดข้าวในประเทศที่ร่ำรวย อย่างฮ่องกง จีน ยุโรป พวกนี้กินข้าวหอมมะลิ ไม่ได้กินข้าวนาปรัง มีเงินซื้อข้าวแพง ที่มีลักษณะคลีนและอินทรีย์”

ดังนั้นเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เฮียใช้ส่งออก จึงไม่ใช่กลุ่มประเทศร่ำรวย เป็นประเทศที่ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ราคาสมเหตุสมผล

“ถ้าคุณทำเมล็ดพันธุ์อินทรีย์เมื่อไหร่ คุณสู้เขาไม่ได้เลย อินทรีย์ทำให้ต้นทุนต่อไร่ถูกลง แต่ทำให้ต้นทุนต่อต้นแพงขึ้น เพราะมีความเสี่ยงเยอะ หากเมล็ดพันธุ์ที่ใช้เคมีได้ผลผลิตตันหนึ่ง ถ้าใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์จะได้ผลผลิตประมาณ 600 กิโลกรัม ส่วนต่างทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แม้จะมีคนบอกว่าอินทรีย์ทำให้ต้นทุนต่อไร่ถูกลง ก็จริง แต่ผลผลิตน้อยลง”

-3-

ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ภาคเอกชนรายนี้ พัฒนาไปอีกขั้นในเรื่องเทคโนโลยีการปลูกข้าว พวกเขาเก็บข้อมูลและวางแผนการปลูก รวมถึงเลือกเทคโนโลยีปักดำจากไต้หวัน  โดยแต่ละสายพันธุ์มีความโดดเด่นต่างกัน

“ผมมีข้อมูลว่า ควรปลูกข้าวพันธุ์อะไร ช่วงเวลาไหน ถ้าทำนาตอนนี้(ปลายตุลาคม ) อีกสองเดือนข้าวจะออกรวงตรงกับฤดูหนาว ข้าวไทยส่วนใหญ่กลัวอากาศหนาว เพราะหนาวแล้วเมล็ดจะลีบ พันธุ์ที่ต้านทานอากาศหนาวดีที่สุดคือ ข้าวพันธุ์กข.57 ถ้าต้องการปลูกให้ออกรวงเร็วๆ ต้องใช้ข้าวพันธุ์กข.71 ปลูกแค่ร้อยวันได้ผลผลิต ซึ่งเป็นความรู้ที่ชาวนานำไปใช้ได้เลย โดยที่นี่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวนาปรัง 12 สายพันธุ์ เพราะเราอยู่ในเขตชลประทาน จึงไม่ได้ปลูกข้าวนาปีเหมือนทางอีสาน”

ส่วนสายพันธุ์ข้าวที่เขานำมาขยาย ส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานรัฐ เขาบอกว่า รัฐมีทั้งงบและมีโจทย์ว่าต้องทำเพื่อชาวนา แต่บางอย่างก็เดินผิดทาง

“ผมเคยเป็นนายกสมาคมเมล็ดพันธุ์ข้าว 4 ปี ผมเห็นการทำงานของกรมการข้าว ทั้งๆที่พวกเขามีโจทย์ชัดอยู่แล้ว แต่ต้องตีโจทย์ให้แตกว่า ณ ตอนนี้ชาวนาและตลาดข้าวต้องการข้าวแบบไหน แทนที่คุณจะทำแบบนั้น คุณกลับเอาความสำเร็จเก่าๆ มาเป็นความภูมิใจ ไม่ได้ก้าวไปให้ถูกทาง ตอนนี้ปัญหาคือ งบประมาณการวิจัยพันธุ์โดนตัด แทนที่เจ้าหน้าที่จะทุ่มเทการวิจัย แต่ต้องมาทำงานส่งเสริมการปลูก  นักวิจัยเวียดนามมาดูงานที่แปลงนาผม พวกเขาเจาะลึกเรื่องการพัฒนาข้าวอย่างเดียว เขามีโจทย์ว่า ต้องผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้อร่อย ต้านทานโรค และผลผลิตสูง”

เมื่อพูดถึงการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว นิทัศน์ บอกว่า เวียดนามไปไกล ยอมลงทุนเรื่องวิจัยเยอะมาก แต่ไทยเอานักวิชาการไทยไปส่งเสริมการเกษตร ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ของนักวิจัย เป็นหน้าที่นักส่งเสริมการเกษตร

"คุณต้องทำการวิจัยพันธุ์ข้าว เพราะตอนนี้วัดกันที่งานวิจัย แม้จะวิจัยพัฒนาออกมาได้เมล็ดเดียว แต่สามปีขยายได้ทั้งประเทศ หรือได้พันธุ์ข้าวที่ดีต้นเดียว คุณภาพจะเป็นที่ยอมรับในตลาด โลก หากข้าวต้านทานโรคได้ดี ผลผลิตสูง คุณชนะเลย ซึ่งเวียดนามใช้ยุทธศาสตร์นี้ ทั้งๆที่ พื้นที่ของเขาเป็นภูเขาและใช้พื้นที่เกือบหมดแล้ว 

ส่วนพม่าผลิตข้าวเพิ่มขึ้นปีละล้านตัน ไทยส่งออกข้าวปีละ 12 ล้านตัน พม่ามีศักยภาพเรื่องแรงงานราคาถูกและลุ่มน้ำอิรวดี ใหญ่กว่าเจ้าพระยาสองเท่า ได้เปรียบในเรื่องดินและแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ อีกไม่เกิน 5-10 ปีเราอาจส่งออกข้าวแพ้พม่า ” นิทัศน์ เล่า และหวั่นเกรงว่า ในอนาคตไทยอาจเสียแชมป์การขายข้าวในอันดับต้นๆ ของโลก

 “ในระยะยาวคนไทยอาจแพ้พม่า ทั้งเรื่องการปลูกข้าวและค้าข้าว ดังนั้นเราควรส่งเสริมชาวนาไทยให้ทำนาให้ถูกต้อง สิ่งที่ไม่จำเป็นก็ตัดออก อย่างการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี ทำให้มีต้นทุนที่มากเกินไป ก็ให้น้อยลง และต้องมีหน่วยงานที่เกษตรกรยอมรับ เพราะเรามีช่องว่างระหว่างผู้ปฏิบัติกับวิชาการตลอดมา”

แม้ธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวของเขาจะประสบความสำเร็จแล้ว เขาก็ไม่คิดจะขยายธุรกิจต่อ แต่ไม่หยุดพัฒนาสายพันธุ์ข้าว

“นี่คือความพอเหมาะพอดีสำหรับเรา ถ้าขยายมากกว่านี้ ผมดูแลไม่ไหว เพราะคุณภาพอาจต่ำ ผมก็เลยคิดว่า อยากทำอะไรเพื่อตอบแทนผู้มีพระคุณในรูปแบบศูนย์การเรียนรู้”

 ...........................

  20181028095048077