อรุณรุ่ง...ที่ริมน้ำเจ้าพระยา

อรุณรุ่ง...ที่ริมน้ำเจ้าพระยา

วัดอรุณและสายน้ำเจ้าพระยา คือแลนด์มาร์คของกรุงเทพฯ และเป็นมุมพักกายสงบใจเพราะใคร ๆ ก็รักเจ้าพระยา...

 

          “ตอนแรกที่ทำคิดแค่ว่า เมื่อเรามาถึงแล้วเราอยากจะมาอีก จะทำยังไง...

          อยากจะให้มีวิวอย่างนี้ให้คนอื่นที่เขาไม่เคยเห็นวิวกรุงเทพจริง ๆ มาเห็นและรู้จักกรุงเทพมากขึ้น”

          เป็นความคิดแต่แรกเริ่มของ พ.ญ.ปิยะนุช รักพาณิชย์ แห่ง Arun Residence group ผู้ก่อตั้ง อรุณ เรสซิเดนซ์ (Arun Residence) บูทีคโฮเทลเล็ก ๆ ถนนมหาราช บริเวณชุมชนท่าเตียน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้ามวัดอรุณราชวราราม

20181102120123302rere

         ชวลิต ชววรรณ อินทีเรียร์ของ อรุณ เรสซิเดนซ์ กับ พ.ญ.ปิยะนุช รักพาณิชย์

          จากความคิดของคุณหมอ ก่อร่างสร้างฝันเป็นโรงแรมเล็ก ๆ จำนวน 6 ห้อง ที่ปลุกผู้เข้าพักยามเช้าด้วยยอดพระปรางค์วัดอรุณ และกล่าวราตรีสวัสดิ์ด้วยแสงตะวันเรืองรองสะท้อนสายน้ำเจ้าพระยา หรือบางคืนที่ฟ้ากระจ่าง หมู่ดาวก็จะช่วยขับกล่อมให้นอนหลับฝันดี

          “ตอนนั้นเดินดุ่ม ๆ เข้ามาแล้วเห็นเป็นตึกแถวที่ดูเหมือนร้าง เจ้าของตึกเขาให้คนงานมานอน เราก็เดินเข้ามาเห็นวิวอย่างนี้เลย”

20181102120305316rere

          สายน้ำเป็นพยาน.. “รักแรกพบ” ของคุณหมอเมื่อปี 2006 จนถึงวันนี้เกิดเป็นบูทีคโฮเทล ในยุคที่คำนี้ยังไม่เป็นที่รู้จัก ตามมาด้วย ศาลาอรุณ (Sala Arun) โรงแรมขนาดกะทัดรัดอีกแห่งหนึ่งในย่านเดียวกัน ที่ปรับปรุงจากตึกโกดังเก่า มีห้องพัก 9 ห้อง ซึ่งมองเห็นวิวแม่น้ำและพระปรางค์วัดอรุณเช่นกัน และ เชตุพน เกท (Chetuphon Gate) โรงแรมไซส์เอส รองรับลูกค้ากลุ่ม Economy ที่มีวิวเจดีย์วัดโพธิ์อยู่ด้านหน้า และวิวแม่เจ้าพระยากับวัดอรุณฯ อยู่ด้านหลัง ซึ่งเป็นร้านอาหารของโรงแรมในชื่อ Eat Sight Story

          “เริ่มต้นจริง ๆ คิดอยากทำร้านอาหารสุขภาพแบบออร์แกนิค เพราะมีเพื่อนเป็นแพทย์ที่ชอบปลูกผัก แต่ปรากฏว่าคิดไปคิดมาเรากับหุ้นส่วนก็เลยตกลงทำโรงแรม โดยปรับเปลี่ยนภายในใหม่ ภายนอกโครงสร้างเดิม ทำเป็นห้องพักและมีร้านอาหารกับบาร์อยู่ชั้นบนสุด”

20181102120305085rere

          เมื่อ 12 ปีก่อน ยังไม่ฮิต “ทำตึกแถวเป็นโรงแรม” เหมือนตอนนี้ ดังนั้นหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งของคุณหมอ คุณชวลิต ชววรรณ จึงรับหน้าที่เป็นอินทีเรียร์ ดีไซเนอร์ ปรับตรงโน้นตรงนี้จากโครงสร้างหลักคือตึกแถวริมถนนท่าเตียน

          “ย่านนี้เดิมเป็นตึกแถว ปัจจุบันชาวบ้านก็ยังอาศัยอยู่ บางบ้านเป็นโกดังเก็บสินค้าที่เรียกว่า ยี่ปั๊ว เช่นพวกนม น้ำตาล ที่ขนส่งทางเรือ ลงเรือที่ท่าน้ำไปอยุธยา ไปสุพรรณฯ ตอนนี้หลายบ้านก็ยังทำอยู่ พอเราเริ่มทำโรงแรมตอนแรก ๆ ก็ยังไม่ค่อยมีคนรู้ บางคนเดินหลงเข้ามาก็มี พอสักพักหนึ่งเริ่มมีแขกมาพัก ถ่ายรูปไปข้างหลังมีแบ็คกราวด์วัดอรุณ แล้วพูดกันปากต่อปากก็เลยเริ่มรู้จักมากขึ้น”

IMG_7263rere

          คุณหมอเสริมว่า วัดอรุณฯ เป็นเหมือนแลนด์มาร์คของกรุงเทพ เช่นเดียวกับวิวสายน้ำเจ้าพระยา ที่มองเท่าไหร่ก็ไม่เบื่อ ส่งผลให้ลูกค้าช่วงแรกของ “อรุณ เรสซิเดนซ์” ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ

เนื้อย่าง

  IMG_7169rere    IMG_7186rere       

         “แต่ตอนนี้แขกคนไทยกับต่างชาติเท่า ๆ กันแล้ว แต่แขกที่มาก็จะรู้ว่าโรงแรมนี้ไม่มีที่จอดรถ เขาจะมาทางเรือกัน เคยเจอคนอยู่สุขุมวิท พาลูกเล็ก ๆ มาเดินปากคลองตลาด เขาอยากมาเห็นบรรยากาศย่านนี้ตอนเช้า ๆ อยากมาใส่บาตร ตอนเช้าพระจากวัดอรุณฯ จะนั่งเรือข้ามฟากมาบิณฑบาตแถวนี้ พระจากวัดโพธิ์ก็มี ท่านจะเดินเรียงมาเป็นสาย ซึ่งภาพอย่างนี้คนไทยหลายคนก็ไม่เคยเห็น ชาวบ้านก็จะใส่บาตร เป็นวิถีของชุมชนย่านนี้ พอถึงเทศกาลตรุษจีน ชาวบ้านก็จะพากันไปไหว้เจ้า บริเวณนี้มีศาลเจ้าจีน 4 แห่ง มีการแสดงงิ้วด้วย”

20181102120305461rere

          จากตึกแถวริมน้ำกลายเป็นโรงแรม ความวุ่นวายเล็ก ๆ เริ่มเกิดขึ้น

          “ความที่เราไม่เคยทำโรงแรมมาก่อน เราก็ไม่รู้ว่าจะสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน บางคนขับรถเข้ามาเลย (ในซอยประตูนกยูง) ลูก ๆ เขาเคยวิ่งเล่นก็ต้องระวัง สักพักเราก็รู้ว่าอาจทำให้ชีวิตเขาเดือดร้อนก็เลยให้เด็กไปยืนรอหน้าปากซอย บอกลูกค้าว่าไม่ต้องเอารถเข้ามานะคะไม่มีที่จอด ไม่มีที่กลับรถนะเราก็ต้องอธิบาย อีกอย่างหนึ่งคือชาวบ้านแถวนี้เขาไม่ได้ปิดบ้านนะ เขาจะวางโต๊ะเก้าอี้ตรงหน้าบ้านแล้วออกมานั่งคุยกัน กินข้าวกันไป มีเด็กก็วิ่งเล่นในซอย พอเรารู้สึกว่ามาทำให้เขาเดือดร้อนเราก็กังวล ขยะเราก็เหม็น เราก็ขอให้ กทม.มาเก็บขยะถี่ขึ้นกว่าปกติ จากนั้นก็อธิบายกับพนักงานว่า ถ้าเพื่อนบ้านมาคุยหรือร้องเรียนอะไรก็ให้เพื่อนบ้านมาอันดับหนึ่ง ลูกค้ามาอันดับสอง

Amorosarerr

          พนักงานบางคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์มาทำงาน จะบึ้น ๆ เสียงดังเข้ามาในซอย เราบอกเลยว่าให้ดับเครื่องแล้วเข็นเข้ามาจอดจะได้ไม่ส่งเสียงดัง และเราก็บอกชาวบ้านด้วยว่า ถ้ามีลูกหลานสนใจจะมาทำงานกับเรา (โรงแรม 3 แห่ง ร้านอาหาร 4 แห่ง) ก็มาสมัครเลยยินดีรับ เราสอนงานให้ขอให้เป็นคนที่รักชุมชน กลายเป็นว่าชาวบ้านมาช่วยลากกระเป๋าแขกมาส่งถึงโรงแรม เราก็ไม่กล้าทำอะไรที่หักหาญน้ำใจเขาจากที่เขาเอ็นดูเรามาตลอด”

20181102120303817rere

          เพื่อนบ้านน่ารัก ชุมชนน่าอยู่ ห้องพักเล็ก ๆ ที่สะอาดสะอ้านพร้อมอาหารเช้ารับอรุณที่หน้าวัดอรุณฯ ก็ยังเป็นที่พักในฝันของใครหลายคน คุณชวลิต ในฐานะนักตกแต่งภายใน รับภาระในการจัดแจงแปลงโฉมตึกเก่าให้เป็นห้องสวย บอกว่า

          “การตกแต่งเน้นปรับเปลี่ยนด้านใน ภายนอกเหมือนเดิม สิ่งที่ยากคือระบบน้ำจะค่อนข้างยุ่งทุกตึก โดยเฉพาะที่ “ศาลา อรุณ” เป็นตึกแถวเก่าเพดานสูงเลยทำให้ซอยพื้นที่ทำเหมือนชั้นลอยได้ มีทั้งบันไดเวียนทำใหม่ บันไดเดิม ส่วนของตกแต่งเราก็ค่อย ๆ แต่ง ค่อย ๆ ปรับปรุงไปเรื่อย ๆ”

20181102120304837rere

          ห้องพักแต่ละห้องตกแต่งไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ มีเฉดสีและลวดลายของงานตกแต่งที่แตกต่างแต่ไม่แตกแยก ดูกลมกลืนและผสมผสานในสไตล์ที่อินทีเรียร์บอกว่าเป็น “เอเชียน คอนเทมโพรารี่”

          “เรามีของตกแต่งเยอะ เก็บไว้เป็นคลังเลย ความที่ชอบเดินทาง บางคนก็ซื้อมาฝาก บางทีเราก็ซื้อเก็บ ๆ เอาไว้เยอะ แล้วค่อย ๆ นำมาตกแต่งทีละส่วนทีละห้อง เช่น ประตูไม้เก่าซื้อมาจากแม่สอด ตอนซื้อก็ไม่รู้หรอกว่ามีเยอะขนาดนี้เพราะมันวางซ้อน ๆ กัน ตอนนั้นจะใช้สัก 20 บาน พอคนขายถามก็เลยบอกว่าเอาหมด ปรากฏว่ามีถึง 400 บาน เราก็ค่อย ๆ นำออกมาใช้”

20181102120303997rere

          ประตูไม้เก่าตกแต่งเป็นประตูจริงและใช้ตกแต่ง จัดวางอย่างมีจังหวะ ดูสวยงามละมุนตา เช่นประตูไม้เก่าสีถลอกใช้เป็นประตูห้องน้ำ ประตูจากประเทศที่ผ่านสงครามที่ยังรอยกระสุนก็ใช้งานได้จริง ประตูไม้ตกแต่งจากกระดูกอูฐสีขาวมาจากประเทศอินเดีย หีบไม้โบราณลายสวย ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ แจกัน นาฬิกา รวมถึงภาพวาด ภาพพิมพ์ ที่ให้อารมณ์วินเทจ ของตกแต่งเหล่านี้มาจากจตุจักร เชียงใหม่ เมียนมา เวียดนาม อินเดีย ตุรกี และภูฏาน

IMG_8869rere

  IMG_8878rere   20181102120124155rere        

        กระเบื้องลายสวยดูหลากหลาย บ้างจัดวางใหม่ใส่กรอบ ภาพเขียนสี และภาพวิวทิวทัศน์ดูไม่แปลกแยก คนตกแต่งภายในบอกว่าจะเรียกว่าเป็นงานตกแต่งที่ผสมผสานศิลปะตะวันตกกับตะวันออก และสื่อถึงความเป็นไทยชัดเจน

        และยังคงเสน่ห์ของวิถีชุมชนชาวท่าเตียน ที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำ เสมอมา...

 

 หมายเหตุภาพ: Arun Residence, ประเสริฐ เทพศรี