รู้จักและเข้าใจโรคไบโพลาร์...สุขก็ที่สุดเหมือนจุดพลุ เศร้าก็ซึมจนไม่อยากทำอะไร

รู้จักและเข้าใจโรคไบโพลาร์...สุขก็ที่สุดเหมือนจุดพลุ เศร้าก็ซึมจนไม่อยากทำอะไร

อารมณ์ขึ้นลงรุนแรงเป็นช่วงๆ สุขมากไป เหวี่ยงผิดปกติ ซึมเศร้าอยากตาย ไม่ได้นิสัยเสีย แต่นี่อาจเป็นอาการของโรคอารมณ์แปรปรวน

เราอยู่ในยุคสมัยที่ความเจริญพรั่งพร้อม แต่กลับเป็นยุคที่ผู้คนเต็มไปด้วยความเครียด ความกังวล จนมีปัญหาสุขภาพจิตกันมากมาย นอกจากปัจจัยภายนอกที่กดดัน เคมีในสมองเองก็เป็นสาเหตุสำคัญ แต่คนส่วนใหญ่ไม่เคยพิจารณาว่านั่นคืออาการของโรค คิดเองว่าเป็นปัญหาด้านอารมณ์ส่วนตัว โดยเฉพาะโรคอารมณ์แปรปรวน ซึ่งไม่ใช่เพราะคนนั้นเป็นจอมเหวี่ยง อารมณ์ขึ้นลงเร็ว หรือนิสัยเสีย แต่อาจเป็นอาการของโรคอย่างหนึ่ง

ในงานเสวนาเปิดตัว “โครงการอุ่นรัก อุ่นใจ ไบโพลาร์ Healthy mind, Happy life” โดยแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยรายงานว่า

คนไทยประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ มีปัญหาสุขภาพจิต แต่มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มาพบแพทย์ และยังพบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวนหรือ ไบโพลาร์ ดิสออร์เดอร์ – Bipolar Disorder หลายแสนคน จากรายงานการให้บริการผู้ป่วยจิตเวชของประเทศไทย กรมสุขภาพจิต และคลังข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2559 พบว่า มีผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ ทั้งสิ้น 32,502 คน จากผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด 712,359 คน ซึ่งยังมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่ทราบว่าตนป่วย หรือไม่กล้ามาพบแพทย์

ไม่ว่าจะจากเหตุไหน เมื่อไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะมีอาการมากยิ่งขึ้น อาจเกิดอันตรายได้ทั้งกับตัวผู้ป่วย คนใกล้ชิด และสังคมรอบข้าง เพราะผู้ป่วยมักใช้ความรุนแรง ทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว บางรายมีอาการซึมเศร้าถึงขั้นฆ่าตัวตาย จากสถิติพบว่าคนไข้ 1 ใน 5 สามารถฆ่าตัวตายได้สำเร็จ

ที่จริงแล้วหากได้รับการรักษา ผู้ป่วยก็สามารถทำงานใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำให้สังคมไม่เสียทรัพยากรบุคคลที่มีค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วย

แปรปรวนอย่างไรจึงจะไบโพลาร์

ทุกคนมีอารมณ์ขึ้นลงได้เสมอ แต่เปลี่ยนแปลงอย่างไรจึงถือว่าเป็นโรคไบโพลาร์?

ศ.นพ. รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อธิบายว่าโรคนี้มักพบอาการในวัยผู้ใหญ่ แต่ระยะหลังก็พบในอายุน้อยลง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากสารเคมีในสมอง และพันธุกรรม แต่ปัจจัยภายนอก เช่น ความเครียด ปัญหาต่างๆ ก็เป็นสาเหตุ ที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ผิดปกติจากคนทั่วไป

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ pic1_resize

ศ.นพ. รณชัย คงสกนธ์ 

โรคนี้ค่อนข้างวินิจฉัยได้ยากโดยเฉพาะในวัยเด็กและวัยรุ่น เพราะเด็กมักมีการแสดงอารมณ์แรงอยู่แล้ว ส่วนวัยรุ่นก็มีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน ทำให้พ่อแม่ไม่เข้าใจ คิดว่าวัยรุ่นแค่แปรปรวน หรือเป็นแค่เด็กไฮเปอร์ ไม่น่าจะต้องเข้ารับการรักษา

“ส่วนใหญ่จะได้รับการวินิจฉัยล่าช้าไป 11 ปี”

แต่สำหรับในผู้ใหญ่ อาการจะชัด สังเกตได้จากพฤติกรรมเปลี่ยน การแสดงอารมณ์แปรปรวนรุนแรงผิดปกติ จนตัวเองและคนรอบข้างสัมผัสได้ เพียงแต่จะพาตัวเองไปพบแพทย์หรือไม่

รศ. นพ. ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ขยายว่า โดยทางพันธุกรรม ครอบครัวที่พ่อแม่ป่วยโรคนี้ ลูกก็จะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นกันทุกคน รวมถึงการเลี้ยงดู หากทำให้เด็กมีความเครียด หรือไม่สามารถปรับตัวได้ ก็เสี่ยงต่อการกระตุ้นให้เกิดโรคมากขึ้น

สุดโต่งสองขั้ว

อาการของผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ จะมีอารมณ์แปรปรวนผิดปกติ ต่างกันชัด 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งคือ อารมณ์คลั่ง หรือ Mania ในช่วง Manic Episode ในช่วงนี้ผู้ป่วยจะรื่นเริงสนุกสนานผิดปกติ เคลิบเคลิ้ม ช่างพูดช่างคุย มีพลังในการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่มีเหน็ดเหนื่อย มีความมั่นใจมาก จับจ่ายเต็มที่ คึกคัก ขาดความยับยั้งชั่งใจ หากถูกห้ามหรือขัดขวางในสิ่งที่ต้องการจะหงุดหงิด ฉุนเฉียว ในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบมีอาการหลงผิดแบบมีพลังวิเศษ หรือมีความสามารถพิเศษเหนือคนอื่นจนถึงมีภาวะหวาดระแวงได้

อารมณ์อีกขั้วคือ อารมณ์ซึมเศร้า หรือ Depression ในช่วง Depressive Episode ผู้ป่วยจะเบื่อหน่าย ซึมเศร้า ร้องไห้ง่าย กินไม่ได้ การนอนผิดปกติ (นอนตลอดเวลา นอนไม่หลับ หรือไม่นอนเลย) หมดหวัง รู้สึกชีวิตตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่มีคนสนใจ ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่อยากทำอะไรเลย และอาจคิดฆ่าตัวตาย

ในแต่ละช่วงจะมีอาการต่อเนื่องราว 2 สัปดาห์ – 1 เดือน โดยมีผลกระทบทั้งด้านอารมณ์ พฤติกรรม และความคิด อาจจะสลับกัน หรือมีช่วงที่ปกติ หรือมีช่วงอาการผสม หรือ Mixed Episode คือมีทั้ง Mania และ Depression ผสมกัน ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน หงุดหงิด โกรธ ตื่นตระหนก นอนไม่หลับ รู้สึกตัวเองมีความสำคัญ ความซึมเศร้าเข้ามาผสมบางส่วน รู้สึกว่าไม่มีใครช่วยได้ ผิดบาป มีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย

ความน่ากลัวของไบโพลาร์

“เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งที่หมวยมองลงไป แล้วเห็นพื้นข้างล่างเรียกให้เราลงไปอยู่ด้วยกัน หมวยก็กำลังจะกระโดดลงไป แต่มีคนที่บ้านช่วยมาจับตัวเอาไว้”

หมวย- สุภาภรณ์ คำนวณศิลป์ อดีตนักแสดง เผยให้ฟังในงาน เธอป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ตั้งแต่ราว 20 ปีที่แล้ว ที่คนไทยยังแทบไม่รู้จักโรคนี้เลย แต่เธอพาตัวเองเข้ารับการรักษาจนหายเป็นปกติ

คุณหมวย_resize

หมวย- สุภาภรณ์ คำนวณศิลป์ 

“ตอนแรกคนรอบข้างไม่เข้าใจ คิดว่าหมวยเป็นบ้า เป็นคนเหวี่ยงวีน ช่วงนั้นควบคุมสติไม่ได้ ปกติเราอาจจะโกรธแค่ระดับ 5 แต่คนที่เป็นโรคนี้ โกรธได้ถึงระดับ 100 หมวยพยายามควบคุมอารมณ์แต่ทำไม่ได้ เพราะสารเคมีในสมองไม่เท่ากัน เริ่มจากความผิดหวังเรื่องที่ไม่คาดคิด หมวยไม่อยากทำอะไร ไม่อาบน้ำ ไม่นอน ไม่ออกไปไหน 7 วัน ช่วงนั้นโปแตสเซียมตกต้องถูกนำตัวส่งห้อง ICU ก่อนหน้านี้ มีอาการขึ้นๆ ลงๆ แบบสองขั้ว เวลามีความสุขก็แทบจะอยากจุดพลุ แต่ถ้ามีอะไรสะกิดปั๊บมันจะดิ่งลงมา รู้สึกว่าต้องฆ่าตัวตายเดี๋ยวนี้ จนรู้สึกว่าเริ่มรับมือไม่ไหวก็เลยไปหาหมอดีกว่า”

ประกันภัยในบ้านเราไม่รับบุคคลที่เป็นไบโพลาร์ ดิสออร์เดอร์ และโรคที่เกี่ยวกับเคมีในสมองไม่เท่ากัน

ส่วน ดีเจเคนโด้ - เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร ซึ่งมาแชร์ประสบการณ์ที่เคยป่วยเป็นไบโพลาร์ เพื่อจุดประกายคนที่กำลังป่วยหรือคนที่มีโอกาสเป็นโรคนี้ ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็สามารถหายใช้ชีวิตปกติได้

เขาบอกว่าตัวเองเป็นคนที่ทำทุกอย่างให้ดีเลิศ รวดเร็ว เหมือนเป็นไฮเปอร์มาตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นก็ยังทำสิ่งต่างๆ ด้วยพลังเต็มที่แบบไม่ธรรมดา เมื่อนึกย้อนไปเขาคิดว่าอยู่ในช่วงอารมณ์คลั่ง ความเต็มที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ แต่เมื่อผิดหวัง ก็ซึมเศร้าจนไม่อยากทำอะไร เขารู้สึกว่าพฤติกรรมเปลี่ยนไปเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว

ดีเจเคนโด้ และคุณแม่บนเวที_resize (1)

ดีเจเคนโด้ - เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร และคุณแม่ พรทิพย์ พจนสุนทร

“ช่วงที่ผมป่วยระยะ Mania มีอาการถึงขั้นคิดว่าสามารถเข้าทรงได้ คิดว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษ นี่คืออาการของโรคเลย โดยค่อยๆ ขยับขึ้นไป เช่น ฉันเก่ง เก่งมาก และมีอำนาจวิเศษ บางคนถึงขั้นคิดว่าตัวเองเหาะได้ ขึ้นไปบนตึกแล้วกระโดดลงมา เนื่องจากสมองสั่งให้มีพฤติกรรมเช่นนั้น

"ส่วนด้านพฤติกรรมก้าวร้าว ผมเคยถึงขั้นชี้หน้าว่าแขกรับเชิญและผู้ร่วมงานด้วยถ้อยคำรุนแรงและหยาบคาย และเมื่อเข้าสู่ระยะ Depressed ก็รู้สึกไม่อยากจะทำอะไร นอนไม่หลับ อยากจะอยู่แต่บนเตียง ไม่อยากทำงาน ร้องไห้ ถึงขั้นทำร้ายตัวเอง ทั้งหมดคือเราถูกครอบด้วยโรค เมื่อรู้ไม่ทัน รักษาไม่ทันก็จะเกิดความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจของตัวเองและครอบครัว จึงอยากเป็นกระบอกเสียงให้คนเข้าใจว่าผู้ป่วยไบโพลาร์ ‘ไม่ใช่คนบ้า ไม่ใช่คนโรคจิต’ แต่จัดอยู่ในกลุ่มของโรคทางอารมณ์ที่จะสามารถรักษาหายได้ด้วยยาและจิตบำบัด การไปหาจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไรเลย การไปหาจิตแพทย์เป็นสิ่งที่ดีมาก เมื่อได้ปรึกษาเราจะตัดเรื่องอารมณ์ความคิดออกไป และมีสติมากขึ้น”

คนที่ประสบความสำเร็จหลายคนเป็นไบโพลาร์ เพราะได้เจอกับความสำเร็จแล้ว พยายามค้นหาว่าจะไปทางไหนต่อ แต่กลับชนเพดาน ก็กลายเป็นความเครียด

ความเข้าใจคือเงื่อนไขสำคัญ

“ครอบครัวคือ 100 เปอร์เซ็นต์ที่มีผลต่ออาการของผู้ป่วยโรคทางจิตเวช”

ศ.นพ. รณชัย บอกว่า การปฏิบัติตัวของครอบครัวที่จะทำให้ผู้ป่วยแย่ลงมี 4 ประการคือ 1.ใช้อารมณ์กับผู้ป่วย 2.ขัดแย้งกับผู้ป่วย 3.พยายามควบคุมหรือจัดการกับชีวิตผู้ป่วย และ 4.ไม่ยอมรับในตัวผู้ป่วย นี่คือสิ่งที่ครอบครัวต้องระวัง

ด้านหมวย สุภาภรณ์ก็ย้ำเรื่องความเข้าใจของคนรอบข้าง “ชีวิตตอนนี้มีความสุขดีค่ะ ตอนที่หายป่วยใหม่ๆ ยังไม่มีงาน แฟนและคนรอบข้างก็ให้กำลังใจ ให้อดทนนะ ฝ่าฟันไปให้ได้นะ ชีวิตไม่ได้ต้องการอะไร แค่มีคนที่ฝ่าฟันไปด้วยกันก็พอ แฟนและคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญมากที่ทำให้ชีวิตหมวยดีขึ้นมากๆ เข้าใจโลกมากค่ะ” และตัวผู้ป่วยเองก็ต้องลุกขึ้นสู้ “ต้องมีความตั้งใจที่จะหาย เราก็จะหายได้”

ส่วนพรทิพย์ พจนสุนทร คุณแม่ของดีเจเคนโด้ คือตัวอย่างที่ดีของความเข้าใจ คุณแม่คือคนที่สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของดีเจเคนโด้ เนื่องจากน้องสาวของเขาก็ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์เช่นกัน “ก่อนป่วย เขาเป็นคนที่ทำงานจริงจัง ขยัน เป็นพวกเจ้าโปรเจคที่อยากทำอะไรก็ไม่ชอบให้ใครมาขวาง มาเตือน แต่มาวันหนึ่งที่ผิดหวังก็ไม่อยากทำอะไรเลย” คุณแม่ปล่อยให้เขาพักเต็มที่ 2 วัน 2 คืน แต่ปลุกใจให้ลุกขึ้นสู้เมื่อวันทำงานมาถึง ซึ่งดีเจเคนโด้ก็สามารถทำได้ตามปกติ สลับกับความซึมเศร้าเมื่อจบงาน เขาเริ่มสังเกตตัวเอง แล้วปรึกษาแพทย์ เข้าสู่กระบวนการรักษา ท่ามกลางกำลังใจจากครอบครัว

เป็นได้ หายได้ ทำงานได้

โรคนี้ไม่ได้มีอาการตลอด ช่วงปกติที่ผู้ป่วยสามารถทำงาน เข้าสังคมได้ตามปกติ และยิ่งรับการรักษา ก็ยิ่งเป็นปกติ มีคนดังที่ประสบความสำเร็จมากมายออกมายอมรับว่าตัวเองเป็นโรคไบโพลาร์ด้วยซ้ำ

“คนที่ประสบความสำเร็จหลายคนเป็นไบโพลาร์ เพราะได้เจอกับความสำเร็จแล้ว พยายามค้นหาว่าจะไปทางไหนต่อ แต่กลับชนเพดาน ก็กลายเป็นความเครียด” หมวย สุภาภรณ์ขยายความ

รศ. นพ. ชวนันท์ ชาญศิลป์ pic3_resize (1)

รศ. นพ. ชวนันท์ ชาญศิลป์

การรักษาโรคไบโพลาร์หลักๆ คือการใช้ยา ควบคู่กับการทำจิตบำบัด “ที่จริงแล้วก็ไม่ใช่โรคที่รักษายาก แต่สิ่งที่ยากคือการพาตัวเองไปรักษา” รศ. นพ. ชวนันท์อธิบาย โรคนี้หายได้ แต่ก็กลับมาเป็นได้ถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ จากหลายปัจจัยกระตุ้น การรักษาต่อเนื่องจึงสำคัญที่สุด

ข้อบ่งชี้อย่างง่ายที่รศ. นพ. ชวนันท์แนะนำคือ 1. การนอนผิดปกติ นอนไม่มีคุณภาพ นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป 2. พฤติกรรมเปลี่ยน 3. มีปัญหากับคนรอบข้าง หากมีอาการครบควรมาพบแพทย์ทันที

การคุ้มครองเชิงโครงสร้างกับผู้ป่วยจิตเวช

“ประเทศนี้อนุญาตให้คนบ้าได้แค่ 15 วัน” ศ.นพ. รณชัยกล่าวประชดระบบประกันสุขภาพของประเทศที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่บุคคลที่รักษาอาการป่วยทางจิตเพียง 15 วัน หากป่วยเกินจากนั้นต้องจ่ายด้วยตัวเอง ทั้งที่โรคจิตเวชต้องการเวลาในการบำบัด

บริษัทประกันเอง ก็ไม่รับลูกค้าที่มีประวัติ หรือกำลังรักษาปัญหาทางสุขภาพจิตอยู่

“ประกันภัยในบ้านเราไม่รับบุคคลที่เป็นไบโพลาร์ ดิสออร์เดอร์ และโรคที่เกี่ยวกับเคมีในสมองไม่เท่ากัน พี่หมวยถูกเอาชื่อออกจากประกันภัย ซึ่งพี่หมวยคิดว่าไม่เหมาะสม เพราะว่าเราก็เสียภาษีเหมือนทุกคน แต่ทำไมเราเจ็บป่วยแบบนี้กลับไม่รองรับ ซึ่งก่อนที่จะถูกวินิจฉัยก็ทำประกันได้ตามปกติ พอป่วยเขาก็ตัดชื่อออกเลย เพราะเดี๋ยวนี้ค้นหาข้อมูล ดูแค่ตัวยาก็รู้แล้วว่าเราเป็นโรคอะไร เมืองไทยไม่มีสวัสดิการอะไรเลย ที่จริงควรมีประกันสุขภาพรองรับ เพราะเป็นโรคที่หายได้ เหมือนเป็นหวัด ตอนนี้ไม่มีเบี้ยอะไรเลยที่รองรับโรคทางจิตเวช” หมวย สุภาภรณ์กล่าวชัดเจน

ส่วนกฎหมายที่คุ้มครองหากผู้ป่วยจิตเวชกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65

“ผู้ใดกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้กระทำความผิด ยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง เพราะยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

หากแพทย์เซ็นรับรองว่าผู้นั้นเป็นโรคทางจิตเวช ก็ไม่ต้องรับโทษ “แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ ไม่เข้ามาตรา 65 เพราะช่วงกระทำผิดมีอาการ แต่พอให้การในศาลกลับอยู่ในช่วงปกติ ฉะนั้นจึงมีผู้ป่วยไม่น้อยที่ต้องโทษอยู่ในคุก” ศ.นพ. รณชัยเล่าให้ฟัง หากจะคุ้มครองผู้ป่วยโรคนี้จึงต้องย้ำเรื่องอาการที่เกิดขึ้นในช่วงกระทำผิด

ท้ายที่สุด สังคมที่เข้าใจเรื่องโรคจิตเวชคือสิ่งจำเป็น รศ. นพ. ชวนันท์ย้ำว่า

“นอกจากผู้ป่วยและญาติแล้ว สังคมต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ให้โอกาส และลดอคติ มองผู้ป่วยจิตเวชและไบโพลาร์ไม่ต่างจากจากผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่สามารถรักษาได้ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเข้าสู่กระบวนการรักษาและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเช่นเดียวกับคนทั่วไป”