เรื่อง ‘ไข่’ …ใครก็เกี่ยว

เรื่อง ‘ไข่’ …ใครก็เกี่ยว

เมื่อ ‘ไข่’ มีเรื่องราวมากกว่าแค่อาหาร แต่เป็นการบริหารความต้องการที่ใครๆก็อยากสร้างสมดุล

ไข่เจียว, ไข่ดาว, ไข่ต้ม, ข้าวผัดไข่ และอีกสารพัดเมนูไข่ คืออาหารยอดนิยมของคนไทยก็จริง แต่รู้ไหมว่าผลการสำรวจอัตราการบริโภคไข่ไก่ของคนไทยในปี 2558 ยังน้อย โดยอยู่ที่อัตราเฉลี่ย 220 ฟอง/คน /ปี ขณะที่ในปี 2560 เขยิบมาอยู่ที่ราวๆ 252 ฟอง/คน/ปี

ยิ่งเมื่อเทียบกับชาติอื่นในเอเชียพบว่า อัตราส่วนการบริโภคไข่ในไทยยังน้อยกว่ามาก อาทิ ประเทศจีนซึ่งมีอัตราการบริโภคอยู่ที่ 340 ฟองต่อปี ญี่ปุ่น 300 ฟองต่อปี ขณะที่ชาติซึ่งบริโภคไข่ไก่มากที่สุดคือประเทศเม็กซิโก อยู่ที่ 430 ฟอง/คน /ปี

ข้อมูลจากคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไข่ไก่และผลิตภัณฑ์ บอกว่า การบริโภคมากน้อยยังขึ้นอยู่กับถิ่นอาศัย อาทิ ผู้ที่อาศัยในเขตเมืองอย่างกรุงเทพฯ ปริมณฑล 3 จังหวัด คือนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร บริโภคไข่ในอัตราเฉลี่ยมากกว่าจังหวัดอื่น โดยอยู่ที่ 245 ฟอง/คน/ปี ขณะที่ประชากรในจังหวัดนอกจากนี้บริโภคเฉลี่ยที่ 190 ฟอง/คน/ปี มากกว่านั้น จังหวัดใดที่มีประชากรน้อยกว่า 1 ล้านคน การบริโภคยิ่งน้อยลงไปอีก

“อัตรการบริโภคมากน้อยอธิบายได้หลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักคือความสะดวก ต้นทุนและราคาของไข่ เพราะแม้จะมีแหล่งผลิตอยู่ใกล้ๆ แต่ถ้าไม่ได้ซื้อที่หน้าฟาร์ม กระบวนการขนส่งในพื้นที่ไกลจะมีต้นทุนสูงกว่า สมมติจากหน้าฟาร์มราคา 2.50 บาท พอเข้าสู่ล้งไข่ สู่การขนส่งไปถึงผู้ค้าปลีก ราคาจึงสูงขึ้นตาม ทำให้ความนิยมในการบริโภคไข่ในพื้นที่ห่างไกล เปลี่ยนไปสู่การหาแหล่งโปรตีนที่มีราคาถูก หรือหาได้ง่ายกว่า เช่น ในพื้นที่ชนบทเขาอาจจะยังจับปลาได้ เลี้ยงสัตว์เป็นอาหารเองได้ ไข่ไก่จึงไม่ใช่อาหารที่หาได้ง่ายเหมือนในเขตเมือง”น.สพ.กิตติ ทรัพย์ชูกุล ประธานคณะทำงานรณรงค์การบริโภคไข่ไก่ และหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg board) อธิบาย

ราคาค่าไข่

ถ้าเราอยู่ในเมืองใหญ่ ไข่ไก่ก็น่าจะเป็นอาหารที่หาได้ง่ายที่สุด เราบริโภคมันในทุกโอกาส ตั้งแต่เป็นส่วนประกอบบนโต๊ะบุฟเฟต์มื้อหนัก เรื่อยไปจนถึงวันใกล้สิ้นเดือนที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปใส่ไข่ มื้อเบาๆ ก็ช่วยพาเราให้พ้นจากความหิวได้

นอกจากโปรตีน วิตามิน โฟเลท และสารอาหารอีกฯลฯ ที่อยู่ในไข่แล้ว ไข่เต็มไปด้วยความผูกพันกระทั่งเป็นความคุ้นเคยและเคยชิน จนผู้บริโภคแทบไม่รู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของมัน แต่ถึงเช่นนั้นผลกระทบกับเรื่องราคาไข่ก็เป็นเรื่องที่ไม่รู้ไม่ได้ อย่างในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดสภาวะไข่ล้นตลาด จนไข่มีราคาต่ำ นำไปสู่การเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่

มาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า ราคาไข่ที่ตกลงเกิดจากการบริโภคที่ต่ำลงอย่างมากในช่วงเทศกาลกินเจและปิดภาคเรียนเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จึงมีปริมาณไข่สะสมเป็นจำนวนมาก

ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาไข่ที่ออกสู่ตลาดขนาดฟองค่อนข้างเล็ก ซึ่งไข่ไก่เบอร์เล็กราคาจะถูกตามไปด้วย ทำให้ราคาไข่เฉลี่ยลดลงกว่าช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้เกษตรกรและภาคผู้ผลิตพยายามแก้ปัญหาไข่ไก่ที่ค้างสะสม และร่วมกันรักษาเสถียรภาพราคาอย่างดีที่สุด ตั้งแต่การเร่งปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงไม่ให้อายุเกิน 78 สัปดาห์ รวมถึงเร่งรัดการส่งออกไข่ไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น พร้อมร่วมกับกรมการค้าภายในการจำหน่ายไข่ไก่ในราคาพิเศษ

“ทุกปีราคาไข่จะตกต่ำมากที่สุดในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งปีนี้ตรงกับช่วงโรงเรียนปิดเทอมพอดี ทำให้ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมถึงปัจจุบัน อุตสาหกรรมไก่ไข่ต้องประสบกับภาวะราคาตกต่ำซ้ำซ้อน จากอัตราการบริโภคที่ซบเซาอย่างมาก ปัจจุบันราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มจากการสำรวจทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ฟองละ 2.30 บาท” มาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าว (‘เผยราคาไข่ไก่ลด ช่วงกินเจ-ปิดเทอม คาดกลับมาดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์’ กรุงเทพธุรกิจ 7 พ.ย.61)

ทั้งนี้ปัจจุบันไทยมีปริมาณพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ที่ให้ผลผลิตจำนวน 521,860 ตัว แม่ไก่ไข่ยืนกรงจำนวน 56-57 ล้านตัว ให้ผลผลิตไข่เฉลี่ยประมาณ 44-45 ล้านฟองต่อวัน หรือ 16,060 ล้านฟองต่อปี เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรไทยที่ประมาณ 66.58 ล้านคนแล้ว เท่ากับมีการบริโภคไข่ปีละ 243 ฟองต่อคน หรือทานไข่เพียงคนละ 0.66 ฟองต่อวันเท่านั้น

ขณะเดียวกันปัจจัยการผลิตและการบริโภคไข่ไก่ยังขึ้นอยู่สถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคระบาด จำนวนการนำเข้าแม่พันธุ์ สภาพอากาศ อาทิ ช่วงเมษายน คือช่วงอากาศร้อนจัด แม่ไก่เกิดความเครียด ทำให้ปริมาณไข่น้อยลง

เศรษฐศาสตร์การไข่

แม้ว่า‘ไข่ไก่’ จะไม่ต่างอะไรกับการเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมีกลไกอุปสงค์-อุปทาน เป็นตัวกำหนดราคาก็จริง แต่ถึงเช่นนั้นการเร่งหรือลดจำนวนการผลิตไข่ไก่ ให้ทันกับความต้องการของตลาดนั้นทำได้ยาก

ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเคยเก็บข้อมูลวงจรของอุตสาหกรรมไข่ไก่ อธิบายว่า ผู้ผลิตจำเป็นต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 21 สัปดาห์ในการวางแผน เริ่มตั้งการนำเข้าปู่ย่าพันธุ์แม่ไก่ การควบคุมสภาวะแวดล้อมให้แม่ไก่ออกไข่ได้ตามแผนที่วางไว้

“เมื่อจำนวนไข่ไก่ที่คาดการณ์ไว้ไม่เป็นไปตามแผน อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่า ไม่สอดคล้องกับความต้องการ นั่นเป็นสาเหตุให้ราคาแกว่ง” นี่คือการอธิบายแบบภาพใหญ่

ราคาไข่ขึ้นอยู่กับขนาด และช่องทางการซื้อขาย เพราะมีให้เลือกตั้งแต่หน้าฟาร์มที่ราวๆ 2.50 บาท จนถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้า ที่สร้างราคาได้หลายสิบ เช่น ไข่ออร์แกนิค ไข่ออนเซ็น ไข่ปรุงรสพร้อมรับประทาน

เมื่อเทียบสัดส่วนต้นทุนต่อราคาขาย ราคาไข่ในประเทศไทยไม่ได้ต่างจากราคาของประเทศอื่น แต่หากเทียบกับรายได้ขั้นต่ำ ดร.วรรณวิภางค์  บอกว่า ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอย่างอังกฤษ อเมริกา เนเธอร์แลนด์

ยกตัวอย่างจากการเก็บข้อมูลราคาไข่ขนาดเดียวกันในช่วง ธันวาคม 2560 ซึ่งไข่ 1 แพ็ค จำนวน 15 ฟอง ถูกตั้งราคาขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ราคา 79 บาท ขณะที่ในซุปเปอร์มาร์เต็ตแบรนด์เดียวกันในประเทศอังกฤษอยู่ที่ราคา 1.19 ปอนด์สเตอร์ลิง หรือราวๆ 50.94 บาทโดยประมาณ

“ถ้าพูดกันตรงๆ สำหรับผู้ซื้อ ยิ่งราคาไข่ถูก ผู้ซื้อก็ยิ่งชอบ ราคาไข่ที่ถูกจึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มนั่นคือเกษตรกร จึงต้องมีเอ้กบอร์ดที่คอยควบคุม และสร้างกลไกให้อุปสงค์และอุปทานตรงนี้มีความสมดุล เพราะสำหรับราคาไข่ การควบคุมที่ดีที่สุดคือการให้กลไกราคาที่เกิดจากความต้องการและการผลิตทำงานอย่างเสรี”

ราคาไข่ใบละไม่กี่บาทของคนบางคน จึงเกี่ยวพันกับใครอีกหลายคน โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งราคาไข่ที่ตกลงส่งผลถึงรายได้ ความสามารถ ถึงขนาดชี้เป็นชี้ตายตัดสินใจทำอาชีพขายไข่เลยทีเดียว

เป้าหมาย 300 ฟองต่อปี

“มากินไข่กันเถอะ” ไม่ใช่คำชักชวนเล่นๆ เพราะนี่คือหนึ่งในถ้อยคำที่เราชักชวนให้ประชาชนบริโภคหันมาบริโภคไข่ให้มากขึ้น น.สพ. กิตติ กล่าวว่า โครงการรณรงค์บริโภคไข่ไก่ของคนไทย 300 ฟอง เกิดขึ้นตามแผนยุทธศาสตร์ไก่ไข่ พ.ศ.2557-2561 เพื่อกระตุ้นคนไทยบริโภคไข่ไก่เพิ่มเป็น 300 ฟอง/คน/ปี ในปี 2561

ตัวเลขนี้มาจากการคำนวณสารอาหารจากไข่ ซึ่งเหมาะสมกับช่วงอายุ ได้แก่ ทารกอายุ 6 เดือน ซึ่งเหมาะสมกับการรับประทานไข่วันละครึ่งฟอง อายุ 7-12 เดือน วันละครึ่งฟองหรือหนึ่งฟอง, เด็กวัย 1-5 ปีและเด็กวัยเรียน, หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร วัยรุ่น ผู้ใหญ่วัยทำงาน ผู้สูงอายุสุขภาพดีวันละ 1 ฟอง ส่วนผู้ป่วยเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง อยู่ในอัตราเฉลี่ยไม่เกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์หรือตามคำแนะนำของแพทย์ จากนั้นนำเอาตัวเลขของประชากรในแต่ละช่วงวัยมาคำนวณกับสัดส่วนไข่ที่ควรรับประทาน

“ผลลัพธ์ที่ได้คือประชากรไทย ควรกินไข่เฉลี่ย 302 ฟอง ต่อคน ต่อปี แต่เรากำหนดกลมๆ เป็นที่ 300 ฟอง”

“เราเคยมีความเชื่อที่ว่าไม่ควรกินไข่ทุกวัน กินไข่มากๆ แล้วจะเป็นอันตราย เราต้องกำจัดความคิดนี้ออกไป จึงเลือกที่จะจับมือกับทีมแพทย์ คนทำงานด้านสุขภาพ เพื่อจะช่วยให้ข้อมูลว่าไข่สามารถรับประทานทุกวันได้ และถ้ากินอย่างถูกต้อง สุชภาพก็จะดี” คณะกรรมการรณรงค์บอกถึงแผนการขับเคลื่อนเพิ่มการบริโภคไข่ที่เป็นรูปธรรมที่สุด

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคซึ่งระบุว่า ประเทศยังมีการขาดโปรตีนซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดภาวะสุขภาพด้านพัฒนาการและการเจริญเติบโตในเด็ก โดยจากการสำรวจภาวะโภชนาการของเด็กอายุ 6-14 ปี พบว่าเด็กช่วงประถมวัยในเขตชนบทยังคงมีปัญหาการขาดโปรตีน อย่างน้อยถึงร้อยละ 20 และเมื่อได้ทดลองแก้ไขปัญหาด้วยการรับประทานไข่ไก่อย่างน้อยเป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าการให้รับประทานไข่ไก่เสริมไปกับมื้ออาหาร 3 ฟองต่อสัปดาห์ มีผลทำให้ระดับโปรตีนในเลือดเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในระดับปกติได้

น.สพ. กิตติ มองว่า การรณรงค์บริโภคไข่ยังต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลักๆ 3 อย่าง ได้แก่ 1.การจัดให้มีการบริโภคในต่างจังหวัด ซึ่งจะช่วยลดเหตุผลด้านราคา ความสะดวกสบาย ในการเข้าถึงสินค้า 2.การช่วยให้การบริโภคไข่ สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย คือการจัดการในโรงเรียนให้เด็กได้กินไข่ทุกวัน กินอย่างถูกต้อง

3.การส่งเสริมการสร้างแบรนด์ของเกษตรกร ซึ่งต้องทำแบรนด์ตนเองแล้วขายตรงไปยังผู้บริโภค ไม่ใช่การทำโดยบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น เราต้องให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลายมากกว่านี้ เกษตรกรต้องอยู่รอดจากการผลิตและการตลาด กำไรต้องตกอยู่ที่เกษตรกรมากกว่าคนกลาง

ที่สำคัญ มาตรฐานไข่ต้องดี ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคให้ได้

เพราะถ้าไข่ดี รสชาติอร่อย รูปลักษณ์โดนใจ

ใครๆ ก็คงไม่อยากพลาด จริงไหม??