Road Kills ทางตายสัตว์ป่า

Road Kills ทางตายสัตว์ป่า

เมื่อถนนอาจกลายเป็นสุสาน มองการณ์ไกลอีกนิดก่อนคิดตัดผ่านพื้นที่อนุรักษ์

ถนนคอนกรีตอย่างดีตัดผ่านผืนป่าอุดมสมบูรณ์ ด้านหนึ่งมันทำหน้าที่พาผู้คนไปหาความสุขท่ามกลางความสวยงามของธรรมชาติ ทว่า อีกด้านที่หลายคนมักมองผ่านๆ คือการเป็นแดนสังหารของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่

Road Kills หรือการที่สัตว์ป่าต้องจบชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนน คือหนึ่งในเหตุแห่งการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีวาทกรรมการพัฒนาเป็นตัวขยายความรุนแรงของปัญหาภายใต้ความเชื่อที่ว่า ถนนดีๆ มีความจำเป็นต่อมนุษย์มากกว่าสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์

เมื่อไม่นานมานี้ กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ได้แถลงรายงานซึ่งระบุว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 โลกได้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ไปแล้วเกือบ 60 เปอร์เซนต์

ถามว่า อะไรคือป้จจัยที่ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียสูญพันธุ์ของสัตว์มากที่สุด ระหว่าง...การล่า การสร้างเขื่อน ขยะที่ไม่ย่อยสลาย สารเคมีในการเกษตร การสร้างถนน

“คำตอบคือการสร้างถนน” นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดประเด็น

  IMG_2775

เส้นทางอันตราย

ยิ่งใกล้ช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ดูเหมือนว่าสัญญาณอันตรายจะยิ่งดังมากขึ้น เคยมีการสำรวจพื้นที่ที่สัตว์มีความเสี่ยงสูงในการถูกรถชน โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พบว่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติใกล้กรุงนำมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งสัตว์ที่ตกอยู่ในอันตราย ได้แก่ ลิง เก้ง กวาง แมวดาว

ลำดับต่อๆ มาที่มีสถิติสูสีกันก็คือ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดจันทบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา

ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ.2542 เคยมีการศึกษาเรื่อง ‘ผลกระทบของถนนที่ตัดผ่านป่าต่อการสูญเสียสัตว์มีกระดูกสันหลังในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน’ โดยไสว วังหงษา และกัลยาณี บุญเกิด นักวิชาการประจำสถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทรา สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ให้ตัวเลขไว้เตือนใจว่า ถนนสาย 3259 ช่วงตัดผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ระหว่างกิโลเมตรที่ 15-30 มีสัตว์ป่าถูกรถชนตายปีละกว่า 14,000 ตัว

หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2555 ได้มีมติ ครม. ให้ปิดการจราจรถนนเส้นดังกล่าวโดยกำหนดเป็นช่วงเวลา เช่นตั้งแต่ 21.00 น. ถึง 05.00 น. และได้มีการศึกษาผลกระทบอีกครั้งระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2556 ถึงเดือนตุลาคม 2557 โดยกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ปรากฎว่าสัตว์มีกระดูกสันหลังถูกรถชน/ทับตาย ประมาณ 2,923 ตัว ในจำนวนนี้กลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกพบตายมากที่สุด รองลงมาได้แก่ สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และนกตามลำดับ โดยอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักเกิดในช่วงเวลา 18.00–21.00 น. ก่อนปิดไม่ให้รถเข้าออก และแม้ว่าตัวเลขสัตว์ที่เสียชีวิตจะลดลง แต่ปริมาณรถที่ขับผ่านถนนเส้นนี้กลับเพิ่มขึ้นถึงหนึ่งเท่าตัว นั่นเป็นเหตุผลให้มีข้อเสนอในการปิดถนนเส้นนี้อย่างถาวร

เหล่านี้อาจเป็นเพียงแค่หนังตัวอย่าง หรือหลักฐานจากงานวิจัยไม่กี่ชิ้นที่มีในประเทศไทย แต่ก็ยืนยันได้ถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตของสัตว์ป่าในเขตอนุรักษ์หากมีถนนตัดผ่าน ซึ่ง ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักฯอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ยังมีเส้นทางอันตรายอีกไม่น้อยกว่า 75 จุด ที่ตัดผ่านพื้นที่อุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือผืนป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบและรบกวนการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า ทำให้แต่ละปีมีสัตว์ป่าถูกรถชนตายจำนวนมาก จำเป็นต้องดำเนินการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

“แนวทางคือต้องทำแนวเชื่อมต่อผืนป่าในรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น ทำทางยกระดับ หรือทำอุโมงค์เชื่อมผืนป่า เพื่อให้สัตว์สามารถข้ามไปมาได้โดยไม่เกิดอันตราย”

E9968734-6_1

หายนะของระบบนิเวศ

แม้จะมีการออกแบบสะพาน ทางลอด หรือทางยกระดับเพื่อเชื่อมผืนป่าที่ถูกถนนตัดขาด แต่ความสูญเสียสูญพันธุ์ก็ยังเป็นผลกระทบที่ยากจะหลีกเลี่ยงเมื่อมีสิ่งก่อสร้างแปลกปลอมเกิดขึ้น นั่นเพราะไม่ใช่แค่การถูกรถชน แต่ถนนยังนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมของสัตว์ป่า

นพ.รังสฤษฎ์ สรุปผลกระทบของถนนต่อความหลากหลายทางชีวภาพไว้ในการเสวนาเรื่อง ‘ถนนในป่าอนุรักษ์ ความพอดีอยู่ตรงไหน’ ว่านอกจากการตายและบาดเจ็บจากการถูกรถชน ก็ยังมีเรื่องของการทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ การแบ่งแยกถิ่นอาศัย การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสัตว์ การนำพาการบุกรุกของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำ มลพิษทางเสียง น้ำ อากาศ รวมถึงการส่งเสริมการลักลอบตัดไม้และการล่าสัตว์

“พื้นที่อนุรักษ์ ถ้าเราไปทำถนนตัดผ่านเป็นส่วนๆ มันจะเกิดปัญหาตามมามากมาย ภาษาทางนิเวศเรียกว่า Ecological Armageddon มันคือหายนะ เพราะการที่เราหั่นป่าเป็นที่พื้นที่เล็กๆ จะทำให้อัตราการสูญพันธุ์รวดเร็วมาก

 แต่ก่อนเราอาจเข้าใจว่าผลกระทบมันเกิดกับสัตว์ป่าบางชนิดที่ต้องการพื้นที่ในการหากินเยอะ อย่างช้างหรือเสือ แต่จริงๆ ยังมีสัตว์ชายขอบ อย่างสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ซึ่งก็มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเหมือนกัน รวมถึงสัตว์ประเภทที่มีบทบาทในการผสมเกสร การกระจายพันธุ์ต่างๆ มันกระทบกันหมดเลย เพราะฉะนั้นมันส่งปฏิกิริยาลูกโซ่ แล้วมันเกิดการสูญพันธุ์อย่างโหดร้าย”

คุณหมอนักอนุรักษ์ให้ภาพว่า โลกใบนี้เหมือนถูกถนนแบ่งเป็น 6 แสนกว่าชิ้น ขีดวงเฉพาะประเทศไทยซึ่งมีอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯมากกว่า 200 แห่ง ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าแต่ละแห่งถูกคั่นไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรมและถนนจนป่าเหล่านั้นไม่ได้ติดกันเป็นผืนใหญ่เลย

“ผลกระทบที่เรามองไม่เห็นคือ สัตว์ป่าหลายชนิดเปลี่ยนนิสัยไปหากินกลางคืนทั้งในในอดีตไม่ใช่ แต่เพราะถนนที่นำมนุษย์เข้ามา ทำให้มันต้องเลี่ยงไปหากินกลางคืนซึ่งความสำเร็จในการล่าลดลง สุขภาพก็แย่ลง โอกาสที่จะมีลูกดำรงเผ่าพันธุ์ก็ลดลง”

อีกหนึ่งเรื่องที่อยากให้มนุษย์เงี่ยหูฟัง ก็คือการรบกวนของเสียง ซึ่งหลังจากมีถนน แน่นอนว่าเสียงรถยนต์ทั้งที่สัญจรธรรมดา และที่มาเป็นคาราวานบิ๊กไบค์ โฟร์วิล คือการรบกวนความปกติสุขของเจ้าถิ่น โดยเฉพาะกับ นก ซึ่งเป็นสัตว์สื่อสารโดยใช้เสียง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่การปฏิเสธถนนแทบเป็นไปไม่ได้ การลดความรุนแรงของผลกระทบจึงเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องคำนึงถึง แน่นอนว่า ‘ถนนคอนกรีต’ ที่ช่วยเพิ่มความเร็วของรถยนต์ย่อมไม่ใช่คำตอบที่ดี

“ความรุนแรงของผลกระทบขึ้นอยู่กับการออกแบบถนนด้วย ก่อสร้างยังไงให้ลดผลกระทบ การจัดการปริมาณนักท่องเที่ยว การจัดการยวดยานพาหนะ เหล่านี้มีทฤษฎีอยู่ว่าจะทำอย่างไร แต่ในทางปฏิบัติก็....” นพ.รังสฤษฎ์ ทิ้งท้ายไว้ให้คิด

IMG_2717

โจทย์ใหม่ที่แก่งกระจาน

ไม่ว่าจะคิดดีแล้ว หรือยังไม่ได้คิดให้รอบคอบ โครงการปรับปรุงพื้นผิวจราจรถนนพะเนินทุ่ง (สายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง) ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กำลังเป็นวาระใหม่ให้นักอนุรักษ์ได้ออกแรงคัดค้านอีกครั้ง โดยมีเหตุผลสำคัญนอกเหนือจากผลกระทบที่จะเกิดทั้งระหว่างและหลังการก่อสร้าง คือการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

“ผมได้เดินป่าครั้งแรกเมื่อเปิดอุทยานแก่งกระจานได้ปีนึง พ.ศ.2524 ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ เดินป่าต้นแม่น้ำเพชร ได้เห็นป่าที่สมบูรณ์ ได้เห็นทุกอย่างสวยงามไปหมด เกิดความรักติดตรึงไว้ในใจมาตลอด พอทราบข่าวเรื่องถนนนี่ใจหายไปหมดเลย รู้สึกเศร้า รับไม่ได้เลย” จำลอง วิลัยเลิศ คนเมืองเพชรเล่าความรู้สึก

ขณะที่ วิทวัส นวลอินทร์ มัคคุเทศก์ที่เดินป่าแก่งกระจานมานาน บอกว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรก ในอดีตเคยมีการลักหลับสร้างถนนมาแล้ว

“ย้อนหลังไปสัก 10 ปีที่แล้ว ในยุคที่ถนนลาดยางมีตั้งแต่ด่านสามยอดไปถึงโป่งพรม ยุคนั้นการไปเที่ยวแก่งกระจานมีความสุขมาก คนที่เข้าไปจะชอบดูนกดูสัตว์ก็ขับเข้าป่าอย่างช้าๆ เรามีโอกาสได้เห็นหมาไน หมาจิ้งจอก แม้แต่เก้ง พอเลยเข้าไปถึงบ้านกร่าง เราก็เดินต่อไปเรื่อยๆ สามารถเจอนกข้ามถนนได้ มันไม่มีอะไรไปรบกวน...

หลังจากนั้นพออุทยานฯเริ่มมีการโปรโมทเรื่องทะเลหมอกก็มาถึงยุคที่มีการลักหลับสร้างถนนลาดยาง ในช่วงที่แก่งกระจานปิด 3 เดือน มีการสร้างถนนตั้งแต่โป่งพรมไปถึงบ้านกร่าง คือประมาณ กม.10 ไปถึง กม.15 ตอนนั้นชาวบ้าน ผู้ประกอบการ หรือไกด์ท้องถิ่น ไม่มีใครรู้เลย เปิดอุทยานฯมาอีกที ถนนลาดยางมาจากไหน”

คำถามเก่ายังคาใจท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ด้วยตา ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าที่หายหน้าไป หรือซากสัตว์ที่อยู่ข้างทาง ไม่นานความกังวลครั้งใหม่ก็กลับมาพร้อมกับจินตนาการถึงถนนคอนกรีตอย่างดีที่จะนำพานักท่องเที่ยวไปยังจุดที่ถือเป็นหัวใจของอุทยานฯ นั่นคือ 'พะเนินทุ่ง'

“สภาพตรงนั้นมันเป็นทางอยู่แล้ว ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าการที่เขาจะมาสร้างถนนคอนกรีตได้มีการศึกษาผลกระทบเบื้องต้นหรือป่าว ส่วนตัวผม สิ่งที่มองเห็นจากเขาใหญ่คือ roadkills ทุกครั้งที่ขึ้นไปผมจะเห็นทั้งลิงทั้งกวาง สัตว์น้อยใหญ่ถูกรถชน ผมไม่เคยหยุดรถถ่ายภาพเลย บอกตรงๆ ว่าทำใจไม่ได้ ซึ่งเราไม่อยากให้ภาพเหล่านั้นมาฉายซ้ำที่แก่งกระจาน ไม่อยากให้มันเกิดขึ้นกับสัตว์ที่แก่งกระจาน

ผมเชื่อว่าถ้าถนนเส้นนี้เสร็จ เมื่อก่อนในการที่จะขับรถขึ้นลงมันต้องใช้ความระมัดระวัง หลังจากนี้ผมว่าไม่ใช่แค่สัตว์ตาย มีโอกาสที่จะได้เห็นคนตายจากอุบัติเหตุแน่นอน” วิทวัส แสดงความกังวล

และแม้ว่าจะมีการชี้แจงจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ธัญญา เนติธรรมกุล ว่าเป็นเพียงการปรับปรุงผิวถนนเดิมซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว ไม่ได้เป็นการตัดถนนขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่และอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าและระบบนิเวศโดยรวม

ดร.ดุสิต งอประเสริฐ นักวิจัยประจำกลุ่มนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ยกตัวอย่างการศึกษาผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์กับการใช้ชีวิตของเสือดาวในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่เคยเก็บข้อมูลตั้งแต่บริเวณด่านสามยอดจนถึงบ้านกร่างซึ่งเป็นถนนลาดยางว่า ยิ่งมีความถี่ของการใช้ถนนหรือมีคนใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวมากเท่าไร ก็ยิ่งมีผลต่อพฤติกรรมของเสือดาว โดยเสือจะพยายามหลีกเลี่ยง หากจำนวนรถจำนวนคนเยอะขึ้นก็เลี่ยงไปหากินตอนกลางคืนซึ่งทำให้หาอาหารลำบากขึ้น การปรับปรุงถนนจึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาให้รอบคอบ

“ข้อเสนอก็คือ ควรจะมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว จำนวนรถ จำนวนคนให้เหมาะสม”

ในมุมนี้ดูเหมือนว่าถนนคอนกรีตไม่น่าจะตอบโจทย์ เพราะหากไล่เลียงมาตั้งแต่ต้น ถนนนั่นแหละที่นำพาผู้คน รถยนต์ และความตายมาสู่สัตว์ป่า

ทางออกของปัญหา Road Kills จึงไม่มีอะไรได้ผลมากไปกว่า การยุติการผ่าป่าสมบูรณ์ด้วยถนนสายมรณะ!

......................................................................

(ภาพที่ 2-4 จาก นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์)