ฝัน (ไม่) เฟื่อง 'เมืองบนน้ำ'

คนไทยอยู่ร่วมกับน้ำจนอยู่ใน DNA แต่วันหนึ่งที่พวกเราเฮกันขึ้นบก นอกจากจะลืมมรดกยังอาจนับเป็นความดัดจริต!

จากโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังดำเนินการ สู่ความตั้งใจส่งเสริมให้แม่น้ำเจ้าพระยา-รัตนโกสินทร์ เป็น ‘มรดกโลก’ ด้วยข้อเท็จจริงที่หลายคนไม่รู้หรือแสร้งไม่รู้ว่า แม่น้ำสายนี้กำลังโคม่า

ความเป็นผู้ป่วยขั้นวิกฤตคือแม่น้ำเจ้าพระยาถูกทำให้ผิดธรรมชาติหมดสิ้น ความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติกับธรรมชาติ และระหว่างธรรมชาติกับวิถีชีวิตถูกบิดเบือน ทั้งที่คุณค่าของเจ้าพระยาอยู่ในข่าย ‘มรดกโลก’ อย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะเรื่องการตั้งถิ่นฐานของมนุษยชาติบนพื้นที่ลุ่มชุ่มน้ำ แต่ด้วยความไม่เข้าใจธรรมชาติและพัฒนาผิดธรรมชาติมาตลอด

จากการศึกษาเพื่อพัฒนาอย่างเหมาะสม สู่แนวคิดต่างๆ มากมายที่ อาจารย์รณฤทธิ์ ธนโกเศศ ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษามรดกโลกเจ้าพระยา เคยเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานคร ผู้ใหญ่ในรัฐบาล ซึ่งท่าทีของคนเหล่านั้นก็ค่อนข้างสนใจในแนวคิด แต่ด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรืออะไรก็ตามแต่ ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษามรดกโลกเจ้าพระยาบอกว่าแผนที่กำลังพัฒนาไม่ใช่อย่างที่คณะศึกษาตั้งใจไว้ ภาพของเมืองที่คนอยู่ร่วมกับน้ำ เจ้าพระยาได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจึงต้องถูกนำมาขีดเส้นใต้กันใหม่

แทบจะต้องถอนหายใจยาวๆ กับการพัฒนาที่บ้านเราทำกันมาหลายสิบปีเพื่อขับไสไล่ส่ง ‘น้ำ’ ให้ไกลจากตัว ทั้งที่วิถีชีวิตของคนไทยแต่ดั้งเดิมอยู่กับสายน้ำ ทั้งยังมี ‘ภูมิปัญญา’ หรือเรียกให้ทันสมัยหน่อยว่า ‘องค์ความรู้’ เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกับน้ำมากมาย แต่ก็มลายหายไปเกือบหมด เช่น ระบบคันดินคูน้ำ แม้จะดูโบราณ แต่อาจารย์รณฤทธิ์บอกว่าเนเธอร์แลนด์ยังใช้ระบบนี้เพื่อพัฒนาพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยในปัจจุบัน จากความเป็น ‘หนึ่งในตองอู’ ด้านนี้ กลายเป็นต้องไปตามหลังต่างชาติที่เห็นคุณค่า

“เรื่อง Floating เราแทบจะหายไปเกือบหมด ถึงกับต้องไปเที่ยวดูกันทั้งที่แต่ก่อนมันคือพื้นฐานการอยู่อาศัยในลุ่มน้ำ เช่น เราต้องไปดูเรือนแพที่อุทัยธานี ไปเที่ยวแพเมืองกาญจนบุรี เป็นต้น ผมว่าน่าเสียดาย เพราะแต่ก่อนมันคือสันดานหรือ DNA แต่เดี๋ยวนี้มันไปอยู่ที่เนเธอร์แลนด์

หรือการอยู่ในเรือ สมัยก่อนเราก็ตัวพ่อตัวแม่ เราอยู่เรือกันทั้งนั้น ในสมัยปลายรัชกาลที่ 3 ต่อรัชกาลที่ 4 มีบันทึกไว้โดยชาวอังกฤษที่เดินทางมาสยามทางเรือ ภาพแรกที่เขาเห็นคือเรือสำเภาจะจอดเทียบท่าน่าจะช่วงเจริญกรุง เขาบอกว่าสมมติแม่น้ำแบ่งเป็นสามส่วน เรือนแพเข้ามาข้างละหนึ่งส่วนกว่าๆ เหลือช่องให้เรือสำเภาแล่นได้นิดเดียว เรือสำเภาต้องชะลอเลยนะ และจะจอดขึ้นท่าต้องเดินผ่านแพเพื่อขึ้นแผ่นดิน”

45643846_2016876531704482_4809375584876494848_o

พอพูดถึงเรือนแพแบบนี้ หลายคนอาจติดภาพที่เคยเห็น แต่อาจารย์รณฤทธิ์ชวนคิดว่าถ้าตัดภาพหน้าตาเรือนแพออกไป แล้วข้ามไปเนเธอร์แลนด์ ถึงจะภาพไม่เหมือนกัน แต่แก่นสารคือสิ่งเดียวกัน ซึ่งนับเป็นวิถีการอยู่อาศัยที่ยั่งยืนของมนุษย์

จากกรณีตัวอย่างมรดกโลกในยุโรป พบว่าคนที่อยู่อาศัยในบริเวณบึงหรือที่ลุ่มน้ำ เช่นพวกไวกิ้ง หรือชาวเมืองยอร์คในอังกฤษ เขาอยู่บนน้ำเหมือนกัน เพียงเป็นรูปแบบการตั้งเสาสูง ไม่ใช่เรือนแพ

“เดิมทีเราไม่เคยเจอ Floating ที่ไหนบนโลก นอกจากที่นี่ แล้ววันดีคืนดีมันก็ไปผุดที่เนเธอร์แลนด์ เป็น Floating ในปัจจุบัน ซึ่งเขาพัฒนามาได้ 30-40 ปีเท่านั้น มีรุ่นพี่คนหนึ่งทำโครงการศึกษาในภาพใหญ่ ตั้งแต่ขอบปริมณฑลด้านบนจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ท่านเล่าถึงการได้พบผู้เชี่ยวชาญชาวเนเธอร์แลนด์ว่ามีความแปลกประหลาดที่เขาสงสัยว่า เรามีภูมิปัญญา มีองค์ความรู้ที่ยังใช้ได้ แต่ประเทศเขานำไปใช้ตั้งแต่คอนเซปต์ไปจนถึงโครงสร้าง เรื่อง Floating ถูกบรรจุอยู่ในแกนสำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยของยูเนสโก แล้วตัวพ่อตัวแม่ตอนนี้คือเนเธอร์แลนด์ แต่ถ้าเราย้อนไปไม่ต้องถึงสมัยอยุธยา เอาแค่รัชกาลที่ 4 ตัวพ่อตัวแม่คือเรา แต่เราเสียไปแล้ว”

กลายเป็นเรื่องชวนขำปนขื่นที่ว่าทั้งที่บ้านเราเป็นเมืองน้ำ แต่ผังเมืองกลับเป็นผังเมืองแห้ง โดยใช้วิธีปรับถมพื้นที่แทนที่จะอยู่ร่วมกับน้ำอาจารย์รณฤทธิ์บอกว่าศาสตราจารย์เดชา บุญค้ำ บิดาแห่งวงการภูมิสถาปัตยกรรมของไทยเคยกล่าวไว้ว่า ผังเมืองของไทยทุกจังหวัดขวางน้ำ เป็นผังเมืองที่ ‘ผิดผี’ ซึ่งผีในที่นี้คือธรรมชาติที่เราไม่สามารถขวางได้ แต่เราดันขวาง

“ญี่ปุ่นไม่เคยชนะสึนามิ ทั้งที่มีเงิน มีเทคโนโลยี มีองค์ความรู้ อเมริกาไม่เคยชนะเฮอริเคน แต่เรากำลังบอกว่าจะชนะน้ำ ผมว่าเรากร้าวเกินไปแล้ว” อ.รณฤทธิ์กล่าว

แนวคิดเมืองบนน้ำจึงหมายถึงการใช้องค์ความรู้มากมายที่คนไทย (เคย) มี ตั้งแต่คันดินคูน้ำ ที่ไม่ต้องปรับถมทั้งเมืองให้วุ่นวาย การใช้ระบบโครงข่ายน้ำซึ่งประกอบด้วยสายเล็กและสายใหญ่ ทั้งหมดนี้ธรรมชาติสอนมนุษย์ไว้หมดแล้ว ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษามรดกโลกเจ้าพระยายกตัวอย่างว่าถ้ามีโดรนในสมัยอยุธยาจะเห็นระบบของธรรมชาติ มนุษย์เพียงจัดรูปแบบบวกกับภูมิปัญญา เกิดเป็นเรือนไทย เรือนแพ ซึ่งเป็นเพียง ‘ภาพ’ แต่แก่นสารคือการลอยอยู่อย่างสง่างาม ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักดิ์ วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยาเรียกว่า นิเวศวิทยาวัฒนธรรม

หากนับกันจริงๆ ภูมิปัญญาของคนไทยลุ่มน้ำที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติหายไปไม่นานนัก คือราวๆ ปีพ.ศ. 2530 เท่านั้น เป็นช่วงที่ประเทศไทยค่อนข้างร่ำรวย พัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว แต่พัฒนาอย่างขาดองค์ความรู้

หรือย้อนไปไกลอีกหน่อยประมาณพ.ศ. 2503 ที่มีแผนพัฒนาสังคมแห่งชาติ เป็นยุคแรกที่ไทยทำผังเมืองรวม ซึ่งอาจารย์รณฤทธิ์บอกว่าไม่เลว คือ ผังเมืองรวมแรกๆ ที่สหรัฐอเมริกามาช่วยทำเป็นผังเมืองแนวเหนือ-ใต้ตามลำน้ำ แต่ผังเมืองปัจจุบันกลายเป็นแนวตะวันตก-ตะวันออก คือขวางทางน้ำ

“วันนี้เราก็ยังไม่ปรับตัวอะไรเลย เรายังคิดกันว่าเรามีความสามารถของเรา เทคโนโลยีของเราซึ่งก็ไปลอกเขามาทั้งนั้น เทคโนโลยีที่เรามีจริงๆ คือการตั้งถิ่นฐานแบบระบบคูน้ำดันดิน เรื่องเรือนเสาสูง และเรื่อง Floating ทั้งแพและเรือ

ฝรั่งเขาก็แปลกใจว่าไทยมีความรู้ เขาเอาไปพัฒนา ขายความรู้นั้นด้วยนะครับ เรากลับนิ่งสนิท และไม่ว่าเมื่อไรที่เราทำเรื่อง Floating เราหาวิศวกรเก่งๆ เรื่องนี้ไม่ได้ เราต้องไปเชิญวิทยากรจากเนเธอร์แลนด์ ต้องไปดูงานที่นั่น ผมทราบมาว่ารัฐบาลและกรุงเทพมหานครเคยไปดูงาน ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลอะไรถึงไม่เชื่อ”

45636888_2016876445037824_747584404133511168_o

แม้รูปแบบการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะไม่ตรงสเป็ก แต่ในฐานะที่ปรึกษาฯ เขาได้เผยถึงแนวทางพัฒนาที่สอดคล้องกับธรรมชาติ คือเมื่ออยู่บนน้ำอย่าทำโครงสร้างใหญ่ ให้สังเกตพืชพรรณในน้ำ อย่างต้นลำพู ต้นโกงกาง ล้วนไม่ใช่ต้นไม้ใหญ่อันแข็งกร้าว ตรงกันข้ามกับในบางประเทศที่ต้องทำโครงสร้างใหญ่และแข็งเพื่อให้ในน้ำนั้นโล่งเพื่อให้เรือผ่านได้ ไม่ต้องอื่นไกลก้มมองที่โคนเสาสะพานใหญ่ๆ จะมีน้ำวนขนาดใหญ่ เพราะเมื่อน้ำไหลมาจะถูกโคนเสาตัดน้ำแล้วน้ำวกกลับเข้ามาเกิดเป็นน้ำวัน จากการศึกษาที่ชุมชนวัดเทวราชกุญชร พบว่าน้ำวนบริเวณนั้นขนาดเล็กมาก เพราะยังไม่มีเขื่อนระหว่างเรือนเสาสูงกับแม่น้ำ

“เรากำลังเข้าใจผิด จนกระทั่งเคยชิน ทั้งที่ในอดีตเราอยู่บนน้ำเป็นพันปี อยู่บนเรือนเสาสูง บนเรือนแพ ถ้าเราย้อนกลับไปร้อยปีแล้วคุยให้บรรพบุรุษฟังเขาคงงงว่าอยู่กันมาตั้งเป็นร้อยปี พวกเอ็งอยู่กันมาไม่ถึงร้อยปี เอ็งทำมาดัดจริตว่าอยู่บนน้ำไม่ได้เสียแล้ว ทำเป็นไม่คุ้นเคยเสียแล้ว ทั้งที่นั่นคือสันดานของเรา...”

เรื่องภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของบรรพบุรุษไทยยังมีให้ตื่นเต้นอีกมากมาย เช่น การที่นักธรณีวิทยาชาวญี่ปุ่นเดินทางมาศึกษาที่ไทยแล้วพบว่ากรุงเทพฯมีภูมิสัณฐานตั้งอยู่บน Old Barrier Island (เกาะสันดอนโบราณ) ซึ่งอยุธยาเป็น Old Barrier Island เก่ากว่า อาจารย์รณฤทธิ์บอกว่าประหลาดใจมากที่คนโบราณรู้ได้อย่างไรว่าทั้งสองราชธานีต้องอยู่บนพื้นที่นี้ แต่มาถึงวันนี้จากที่เรารักน้ำกลายเป็นความกลัวและพยายามหลีกเลี่ยง ในขณะที่หลายประเทศในฝันของหลายคนมีจำนวนคูคลองเพิ่มมากขึ้นคูคลองบ้านเราค่อยๆ หายไป จะเห็นได้ว่าเมื่อฝนตกมากน้ำจากภาคเหนือไหลบ่ามาแทบจะอยู่กันไม่ได้แล้ว กลับไปสู่คำถามว่าทำอะไรกับคูคลองบ้าง เราหลงลืมอะไรหรือเปล่า

“หากวันใดวันหนึ่งที่เจ้าพระยา-รัตนโกสินทร์ได้รับเป็นมรดกโลก เราจะเหลือหลักฐานทางกายภาพอันเป็นคุณลักษณะเด่นมากมายที่เป็นคุณค่าโดดเด่นในระดับสากล คือ Outstanding Universal Value ซึ่งเป็นสองประเด็นหลักที่จะพิจารณาในขั้นแรกถ้าคุณอยากเสนอเมืองหรืออะไรก็แล้วแต่ไปสู่กระบวนการประกวดในระดับมรดกโลก

ซึ่งโอกาสที่เจ้าพระยา-รัตนโกสินทร์จะได้เป็นมรดกยังมีอยู่ ตอนที่เราทำโครงการเราเชิญผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านมรดกโลกมา ท่านบอกว่ามีโอกาส เพียงแต่ว่าหากเรายังพัฒนาผิดคนละอย่างสองอย่างแบบทุกวันนี้ เรายังอยากที่จะคิดยกกำแพงกันน้ำท่วมขึ้นมาอย่างเดียว โดยไม่คิดวิธีอื่น และไม่เคยศึกษาถึงสภาพธรรมชาติอันแท้จริง ผมอยากให้คนที่เกี่ยวข้องนำศาสตร์พระราชาในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้อย่างจริงจังสักทีเถิด เราต้องคำนึงถึงพ่อแม่คือธรรมชาติอย่างละเอียดก่อนจะทำอะไรก็ตามที่เรียกว่าวัฒนธรรม มิเช่นนั้นสิ่งที่ท่านหวังว่าจะ ‘วัฒนะ’ มันจะไม่ ‘วัฒนา’ มันจะนำไปสู่ความเสื่อม”

45751599_2016876348371167_8379306973442605056_o

ถึงจะไม่กี่สิบปีที่ประเทศไทยพัฒนาที่อยู่อาศัยบนผังเมืองแบบแห้ง วิถีชีวิตคนบนบกกลายเป็นสิ่งปกติ แหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่งถูกถม อาคารบ้านเรือนต่างๆ ก็ผุดขึ้นจนแออัด แต่เมื่อแนวคิดเมืองบนน้ำถูกปลุกขึ้นมาให้รับรู้อีกครั้ง ใช่ว่าจะจบลงแค่รู้ว่ามี แต่ยังไม่สายหากจะปรับเปลี่ยนเรียนรู้สู่อนาคตของเมืองทั่วโลก

“ผมอาจพูดเหมือนทีเล่นทีจริง เคยพูดกับเพื่อนๆ และศึกษาดูจากประเทศญี่ปุ่น แล้วย้อนกลับมาดูเราตอนเกิดสึนามิทางภาคใต้ เราเคยคุยกันเล่นๆ ว่าคนไทยโชคดีที่ธรรมชาติไม่ค่อยมารื้อ นานๆ มารื้อทีหนึ่ง ญี่ปุ่นกับอเมริกาธรรมชาติมารื้อให้บ่อยๆ อเมริกานี่เราได้ยินได้ฟังต่อเนื่องทุกปีเรื่องพื้นที่เกิดพายุเฮอริเคน และได้เห็นพัฒนาการเกี่ยวกับกฎหมายหรือการตั้งถิ่นฐานที่เปลี่ยนไป อันเป็นผลจากการที่พายุเฮอริเคนแคททรีนา เขาพบว่าตอนพายุเฮอริเคนมาบ้านพังหมดเลย เหลืออยู่หลังเดียวเป็นเรือนเสาสูง พายุเฮอริเคนจะนำมาฝนมาและน้ำท่วมแต่เรือนนี้อยู่ได้

รัฐบาลโอบามาออกกฎหมายเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานให้เป็นเรือนเสาสูงนะครับ พื้นที่ที่เกิดเฮอริเคนให้เป็นเรือนเสาสูง มีเรือ ถ้าเราเอาหลังคาทรงไทยใส่เข้าไป เอาต้นไม้ไทยๆ ใส่เข้าไป มันคือบ้านเรือนไทยเลย ในขณะที่ไทยเราลืมเรื่องพวกนี้หมดแล้ว เมื่อไรก็ตามที่เราสร้างบ้าน สร้างถนน เราถมหมดเลย เราไม่เคยศึกษาดินน้ำลมไฟอย่างละเอียด แตกต่างตรงที่ของเขาธรรมชาติมากวาดไปถ้าคุณอยู่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม”

สำนวน ‘ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา’ จึงเหมาะสมกับวิธีคิดแบบสบายๆ ของบ้านเราทีเดียว อาจารย์ยังยกตัวอย่างพื้นที่ที่เกิดสึนามิภาคใต้บ้านเรา จากความหวาดกลัวจนบอกว่าจะไม่อยู่ตรงนั้นแล้ว สุดท้ายก็กลับมาอยู่กันเหมือนเดิมหรืออาจจะหนาแน่นกว่าเดิมเสียอีก ลืมไปว่าหากเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยจะเป็นอย่างไร

“บรรพบุรุษสร้างสิ่งงดงามตั้งแต่ความรู้จนกระทั่งการลงมาปฏิบัติ จนเกิดเมือง เกิดการตั้งถิ่นฐาน หลายแห่งเป็นบทเรียนให้เรา ใช้เวลาเป็นพันปี แต่เราใช้เวลาในการทำลายมัน (อย่างกรณีการสูญสลายไปของเมืองบนน้ำของไทย คือตั้งแต่ปีพ.ศ. 2503 ที่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มีผังเมืองรวม หรือพ.ศ. 2520-2530 ที่มีการถมคูคลองทั่วกรุงเทพฯ) เราใช้เวลานิดเดียวเอง ถ้าเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้เรารู้จักความผิดแล้วเราต้องรีบแก้ เพราะนี่เป็นความผิดที่ไม่อาจให้อภัย ไม่ควรคิดว่ามันแก้ไม่ได้หรือแก้ยาก”

  หาก ‘มรดกโลกเจ้าพระยา’ ยังเป็นฝันที่น่าใฝ่ ภูมิปัญญาเก่าเรื่อง ‘เมืองบนน้ำ’ ควรจะถูกหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง แม้ไม่อายประเทศอื่นที่นำองค์ความรู้เดียวกันไปพัฒนาจนก้าวไกล ก็ละอายใจต่อบรรพบุรุษก็ยังดี

45651738_2016876391704496_4213467594318938112_o