วิถีใหม่ในย่านเก่า ณ ริมน้ำเจ้าพระยา

วิถีใหม่ในย่านเก่า ณ ริมน้ำเจ้าพระยา

กลิ่นอายดั้งเดิมของชุมชนริมน้ำผนวกเข้ากับวิถีใหม่แห่งยุคสมัย เกิดเป็นไลฟ์สไตล์สร้างสรรค์ที่สร้างเสน่ห์ให้กับย่านริมเจ้าพระยา

‘เจ้าพระยา’ ไม่ใช่แค่ชื่อแม่น้ำ หากแต่ยังเชื่อมต่อไปถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องมาหลายยุคหลายสมัย

นับเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาล้วนมีนัยยะสำคัญทางประวัติศาสตร์ในด้านต่างๆ เช่น ความสำคัญด้านการค้าซึ่งเด่นชัดตรงสองฝั่งแม่น้ำทางด้านทิศใต้พระนคร อันประกอบไปด้วย ย่านสำเพ็ง เยาวราช ถนนทรงวาด เรื่อยมาถึงตลาดน้อย ท่าดินแดน และคลองสาน

“ไปหาอะไรกินแถวทรงวาด”“ไปชอปปิงที่สำเพ็ง”“เดินเล่นแถวคลองสาน” และอีกฯลฯ คือคำพูดในปัจจุบันซึ่งสะท้อนคาแรคเตอร์ของชุมชนเก่าเหล่านี้เป็นอย่างดี

ส่วนความสำคัญด้านวัฒนธรรม มีตัวอย่างเด่นชัดในฝั่งตอนเหนือ อาทิ ย่านบางพลัด ฝั่งธน, เขตสามเสน ฝั่งพระนคร ซึ่งมีวัดโบราณสมัยอยุธยา มีชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงอยู่ใกล้ชิดกับแม่น้ำลำคลอง ในขณะที่ฝั่งพระนครจะมีโบราณสถานซึ่งอยู่ในย่านชุมชนเก่าแก่ อาทิ บ้านยวน บ้านเขมร ยาวไปถึงเขตดุสิต ซึ่งมี วังบางขุนพรหม วังเทวะเวสม์

ย่านเก่ากลิ่นอายใหม่

ถึงเช่นนั้นหากจะถามว่าย่านใดในพื้นที่รอบแม่น้ำเจ้าพระยาที่ดูคึกคักที่สุดในยามนี้ คำตอบคงหนีไม่พ้นฝั่งถนนเจริญกรุง ซึ่งตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไปมาก จากย่านเก่าซึ่งเหลือเพียงร่องรอยความเจริญในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4-5 เมื่อไม่ถึงสิบปีก่อน กลายเป็นย่านที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานใหม่และความคิดสร้างสรรค์ ผลิดอกออกผลเป็นร้านค้า ร้านอาหาร แกลเลอรี่ โฮสเทลร่วมสมัยที่ก่อตั้งโดยคนรุ่นใหม่

ย่านเจริญกรุง เป็นพื้นที่ใจกลางเมืองที่ครอบคลุม 4 เขต คือ บางรัก สุรวงศ์ สี่พระยา และสีลม มีจุดเด่นคือ เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศ

บทความเรื่อง ‘Yet Charoenkrung Creative? คน อนาคต เจริญกรุง’ โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ซึ่งสำรวจความเป็นไปในย่านเจริญกรุงในช่วงปี 2560 ตอนหนึ่งระบุว่า อัตราการเติบโตของธุรกิจเกิดใหม่ในย่านเจริญกรุงสูงเป็นอย่างมาก โดยมากกว่าร้อยละ 70 เป็นธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มที่มีการเสนอรูปแบบและการออกแบบและเมนูที่แปลกตาแตกต่างไปจากเดิม

ขณะที่ร้อยละ 85 ของธุรกิจเกิดใหม่มักอยู่ในอาคารเก่า อย่างเช่น ในโรงงาน โกดัง หรืออาคารคูหาแบบโบราณ พร้อมๆ กับที่นักลงทุนมีแนวโน้มต้องการรักษาความดั้งเดิมของอาคารและปรับปรุงพื้นที่ภายในให้น่าสนใจ โดยไม่ทำลายโครงสร้างเก่าทิ้ง

ทั้งนี้นักลงทุนธุรกิจใหม่เกือบทั้งหมด ตั้งใจดึงดูดลูกค้าด้วยศักยภาพของย่านเจริญกรุง ทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเมื่อจำแนกประเภทนักลงทุนพบว่า มากกว่าร้อยละ 50 เป็นคนยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ชื่นชอบการเสพศิลปะ อย่างเช่น ฝรั่งเศส และอิตาลี

“เป็นเพราะนักลงทุนต่างมองเห็นและต้องการสร้างธุรกิจในย่าน โดยพิจารณาจากลักษณะเศรษฐกิจ วัฒนธรรมที่มีมายาวนาน และลักษณะภูมิประเทศริมน้ำ ที่ส่งผลต่อการคมนาคมและวิวทิวทัศน์ที่งดงามและเป็นเอกลักษณ์” ส่วนหนึ่งของผลสำรวจบอก

หลากหลายสไตล์ริมน้ำ

หากย่านเจริญกรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุดป๊อบ เป็นย่านสร้างสรรค์ และเป็นทำเลทองของผู้คนที่อยากทำธุรกิจใหม่ๆ แล้วกิจกรรมเช่นใดบ้างที่ย่านแห่งนี้มีไว้เพื่อรองรับผู้มาเยือน

จากการสำรวจและสอบถามพบว่า นักท่องเที่ยวในย่านเจริญกรุงมักเป็นฝั่งยุโรปกับกลุ่มเอเชียซึ่งมาเป็นหมู่คณะผ่านรถบัสนำเที่ยว และกิจกรรมของนักท่องเที่ยวที่มาในละแวกนี้คือการชอปปิง การเดินเล่นในเมือง รวมถึงการนั่งเรือชมทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยา

หัวหน้าไกด์คนไทยที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวกับกลุ่มทัวร์ฝรั่งเศส บอกว่า ย่านเจริญกรุงตอบสนองกลุ่มลูกค้าของเธอได้ในหลากหลายด้าน เช่น ถ้าใครอยากจะเดินชมเมืองเก่า ชมสถาปัตยกรรมเก่า อาร์ตแกลลอรี่ ที่นี่ก็สามารถเข้าถึงได้ ขณะเดียวกันถ้าต้องการหาความสดใสให้กับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ อย่างแหล่งชอปปิง ร้านอาหาร การนั่งเรือ หรือกิจกรรม Outdoor อื่นๆ ที่แห่งนี้ก็ตอบสนองด้วยเช่นกัน

“กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวยุโรปจะต้องการอย่างมากคือ การล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา อาจจะเป็นช่วงรับประทานอาหารกลางวันหรือมื้อเย็นไปด้วย จากการสำรวจความคิดเห็นของลูกค้า พวกเขาพอใจกับกิจกรรมนี้มาก เพราะเขาเองได้ชมทัศนียภาพของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ทานอาหารอร่อยๆ ไปด้วย และผู้คนในละแวกนี้ก็ไม่พลุกพล่านเกินไป เมื่อเทียบกับการทัวร์ชมวัดในฝั่งพระนครซึ่งไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทัวร์แบบไหนก็ต้องไป”

นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบเรื่องค่าใช้จ่ายกับประเทศซึ่งเป็นทางเลือกอื่นๆ เช่นประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียด้วยกันเอง หรือประเทศในอเมริกาใต้ก็ต้องถือว่าประเทศไทยคุ้มกว่า ครบครันมากกว่า ”

ในช่วงที่มีแขกหน้าใหม่เข้ามาเยี่ยมเยือนมากขึ้น ในย่านสีลมและเจริญกรุงเองก็มีอาร์ตแกลเลอรี่เปิดใหม่ขึ้นหลายที่ แต่ละที่มีความพิเศษและโดดเด่นต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นศิลปะในประเทศหรือจากต่างประเทศ เช่นเดียวกับการจัดงานซึ่งมักมีการเข้ามาใช้พื้นที่นี้ทำกิจกรรมอยู่บ่อยๆ

ส่วนโปรแกรมการท่องเที่ยวในลักษณะ Outdoor ที่สะดุดตาก็น่าจะเป็น CO VAN KESSEL (โคแวนเคสเซ่ลไบค์ทัวร์) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการจักรยานรอบเมือง ซึ่ง วรรณภา สหะวิเศษไชยชาญ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ให้สัมภาษณ์ว่า นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการทัวร์จักรยานชมเมืองมักเป็นชาวเนเธอร์แลนด์กว่าร้อยละ 70 รองลงมาเป็นยุโรปประเทศอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เยอรมัน

กิจกรรมของที่นี่จะใช้วิธีการเดินทางด้วยเท้า เรือ และจักรยานเท่านั้นเพื่อให้เข้าถึงเสน่ห์ของชีวิตความเป็นอยู่ของคนในบริเวณนี้อย่างแท้จริง

“เราเน้นการพาเดินทางลัดเลาะไปตามซอกซอยที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยรถยนต์ และเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีเวลา มีโปรแกรมตั้งแต่ 3 ชั่วโมง 5 ชั่วโมง 9 ชั่วโมง หรือเป็นแบบมิดไนท์ทัวร์ ทำให้ลูกทัวร์ได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ถ้าเป็นกรุ๊ปที่ใช้เวลามากเราจะใช้บริการขนส่งมวลชนอื่นๆ เช่น เรือโดยสาร รถไฟ พาไปถึงละแวกลาดกระบัง หัวตะเข้ หรือฝั่งมหาชัยก็มี แต่ถ้าเป็นทัวร์เบสิคจะอยู่ในละแวก เจริญกรุง ธนบุรี คลองสาน ตลาดน้อย อันนี้เป็นแพ็กเกจหลักๆ”

สำหรับค่าบริการนั้นก็จะแบ่งเป็นหลายระดับ เช่น ทัวร์ 3 ชั่วโมงจะอยู่ที่ 950 บาท ทัวร์ 5ชั่วโมงอยู่ที่ 1650 บาท ทัวร์ 9ชั่วโมงอยู่ที่ 2,100 บาท ซึ่งราคาทั้งหมดนี้จะรวมถึงค่าตั๋วโดยสารรถไฟฟ้า ตั่วเรือ ตั๋วรถไฟเข้าไปด้วย

“ถ้าถามว่าย่านนี้เปลี่ยนไปไหม ก็คิดว่าเปลี่ยนไปนะ จากชุมชนเก่าก็กลายเป็นตึก เป็นการรีโนเวทให้ดูดีขึ้น มีโครงการใหญ่ๆ เข้ามาลงทุน แต่ถ้าถามว่านักท่องเที่ยวเยอะไหม คิดว่ายังทรงๆ ในระดับเท่าเดิม เพราะคนที่จะมาเดินแถวนี้ ก็จะค่อนข้างเฉพาะกลุ่มหน่อย”

IMG_20181026_123158 IMG_20181026_120050

วันข้างหน้าชุมชนริมน้ำ

ถึงตรงนี้ย่านริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งเจริญกรุงก็คงจะคึกคักอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับฝั่งคลองสานที่อยู่ห่างกันเพียงนั่งเรือข้ามฝากในราคา 4.50 บาท ยิ่งผสมกับในวันที่อภิมหาโปรเจคอย่างไอคอนสยาม (ICONSIAM) เปิดตัวอย่างเป็นทางการ นั่นก็น่าจะทำให้ย่านเจริญกรุงคึกคักเป็นอย่างมาก

พื้นที่รอบริมน้ำเจ้าพระยากำลังกลายเป็นต้นแบบย่านพัฒนาร่วมสมัยเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว นักลงทุน และผู้ประกอบการ ชูโรงด้วยการพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสานระหว่างพาณิชยกรรมดั้งเดิมและพาณิชยกรรมแบบสร้างสรรค์ เห็นได้ชัดจากการที่ปัจจุบันเจริญกรุงเป็นทำเลที่รวบรวมแหล่งไลฟ์สไตล์เชิงสร้างสรรค์ไว้มากที่สุดอีกแห่งของกรุงเทพฯ อาทิ ศูนย์การค้า River City Bangkok เป็นย่านศิลปะ, ธุรกิจสร้างสรรค์ เช่น ร้านค้าในWarehouse30, หน่วยงานอย่าง TCDC นอกจากนั้นยังมีในพื้นที่ใกล้เคียงอย่าง The Jam Factory, LHONG1919, โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านตลาดน้อย, โครงการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำยานนาวา, พื้นที่อนุรักษ์ย่านคลองสาน และโครงการ Creative District Foundation ซึ่งเป็นการรวมตัวของศิลปินท้องถิ่น

ผลการสำรวจข้อมูลจาก TCDC ตอนหนึ่งบอกว่า เจริญกรุงมีพื้นที่ว่างมากพอที่จะสามารถพัฒนา ต่อยอด และยกระดับสู่การเป็นย่านสร้างสรรค์ ตลอดถึงการพัฒนาให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษได้ เช่นเดียวกับประเทศผู้นำทางด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์อื่นๆ ของโลก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวกันของนวัตกรรมและแรงงานฐานความคิด รวมถึงเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศมักถูกขับเคลื่อนผ่านพื้นที่เมืองเป็นหลัก

IMG_20181026_115730

ถึงเช่นนั้นการพัฒนาในย่านที่ว่าก็ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ดังนั้นการพัฒนาเจริญกรุงและย่านริมน้ำเจ้าพระยาอื่นๆ จึงต้องกำหนดขอบเขตการพัฒนาย่านให้ชัดเจน สร้างความเข้าใจเรื่องประเภทของธุรกิจสร้างสรรค์ ขณะที่นโยบายของรัฐเองก็ต้องพัฒนาแผนอื่นๆให้สอดคล้องกับย่านชุมชนริมน้ำไปพร้อมๆ กันด้วย

ที่สำคัญคือสาธารณูปโภค ขนส่งสาธารณะที่ต้องพัฒนาให้สะดวกและครอบคลุม ดึงดูดผู้มาเยือนและเจ้าของอาคารพาณิชย์ที่มีประวัติศาสตร์และมีเอกลักษณ์แต่ยังกลับถูกปล่อยทิ้งร้าง ให้กลับมามีชีวิตชีวา ใช้ประโยชน์ได้อย่างร่วมสมัย

ให้ไลฟ์สไตล์ใหม่ในย่านเก่าผสมผสานกันไป ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้าของพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาแห่งนี้