เล่าเรื่องริมน้ำเจ้าพระยาผ่านศรัทธาสถาน วัด มัสยิด โบสถ์ และศาลเจ้า

เล่าเรื่องริมน้ำเจ้าพระยาผ่านศรัทธาสถาน  วัด มัสยิด โบสถ์ และศาลเจ้า

วัด มัสยิด โบสถ์ และศาลเจ้า คือศรัทธาสถาน ศูนย์กลางชุมชนที่สะท้อนภาพชีวิตริมสายน้ำเจ้าพระยา

แม่น้ำคือหัวใจในการก่อตั้งชุมชนมาแต่อดีต แม่น้ำเจ้าพระยาในโซนภาคกลางก็เช่นกัน สายน้ำได้พัดพาตะกอนดินมาทับถมจนเกิดเป็นความอุดมของทรัพยากร และการคมนาคมทางน้ำที่เป็นการจราจรหลักแต่โบราณ จากเมืองหน้าด่านสู่ราชธานีของสยาม สถานที่สำคัญจึงเริ่มขึ้นริมฝั่งแม่น้ำซึ่งผ่าใจกลางเมืองหลวง แล้วขยายออกไปเรื่อยๆ

พื้นที่สองฝั่งริมน้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะบริเวณศูนย์กลางแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อย่างพระราชบรมมหาราชวัง และพื้นที่รายรอบ ยังคงเป็นทำเลทองของการพัฒนา บนประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่ครั้งเมืองบางกอกยังเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยา ยุคที่การค้าเจริญรุ่งเรือง มีการเชื่อมต่อกับนานาประเทศ บางกอกจึงเป็นเมืองรวมคนหลากเชื้อชาติหลายวัฒนธรรมมาแต่ครั้งนั้น จากการค้าสู่ธุรกิจใหญ่ มีชุมชนเก่าแก่เป็นรากฐาน พัฒนาขึ้นมาจากผู้คน และศูนย์รวมจิตใจของผู้คนก็คือ ‘ศรัทธา’

วัดพุทธ มัสยิด วัดคริสต์ และศาลเจ้า คือศรัทธาสถานที่เล่าเรื่องราวชุมชน รวมศูนย์ของผู้คนต่างศรัทธา ต่างที่มา แต่อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนบนสองฝั่งริมน้ำเจ้าพระยา และสร้างอัตลักษณ์ไม่เหมือนใคร

วัดพุทธ รากฐานราชธานี

ชาวพุทธในบางกอกประกอบด้วยผู้คนหลากเชื้อชาติ ทั้งไทย จีน มอญ เขมร ลาว ญวน วัดพุทธจึงกระจายตัวอยู่ทั่วไป ส่วนมากเป็นวัดที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดเทวราชกุญชร วัดราชาธวาส วัดราชผาติการาม วัดอรุณราชวราราม วัดโมลีโลกยาราม และวัดระฆังโฆษิตาราม เป็นต้น ด้วยพุทธศาสนามีพระมหากษัตริย์เป็นองค์อุปถัมภ์ ศาสนาจึงเจริญรุ่งเรือง วัดก็เป็นศูนย์กลางชุมชนหลายแห่ง

วัดอรุณราชวราราม พระอารามหลวงชั้นเอกที่เป็นดั่งแลนด์มาร์คของแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมทีชื่อวัดมะกอก มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชทานชื่อว่า ‘วัดแจ้ง’ เมื่อครั้งเสียงกรุงครั้งที่ 2 พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จล่องแม่น้ำเจ้าพระยาลงมาถึงรุ่งเช้าที่วัดมะกอก จึงเสด็จขึ้นไปสักการะพระมหาธาตุเจดีย์ ต่อมาได้มีการบูรณะและก่อสร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 1 โดยโปรดเกล้าฯ ให้รัชกาลที่ 2 เมื่อครั้งยังดำรงอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ เป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็พระราชทานชื่อ ‘วัดอรุณราชวราราม’ และเป็นวัดประจำพระองค์ 

วัดอรุณฯ จึงถือเป็นศาสนสถานที่เป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งราชธานี ชุมชนบริเวณหลังวัดอรุณและเขตบางกอกใหญ่ มีการตัดคูคลองเพื่อการสัญจรและการค้ามาแต่สมัยอยุธยา จึงมีบ้านเรือน วัด และศาสนสถานต่างๆ ตามริมน้ำหลายแห่ง แม้เรือกสวนที่เคยมีมากแต่อดีตจะเปลี่ยนโฉมหน้าไป แต่ภูมิปัญญาเก่าอย่างงานฝีมือ การประดิษฐชุดละครรำ ฯลฯ ก็ยังคงอยู่ให้ชวนค้นหาอีกมาก วัดอรุณฯ เป็นตัวอย่างศูนย์กลางชุมชนพุทธได้เป็นอย่างดี

มุสลิมบางกอก

ชุมชนมุสลิมตั้งรากฐานที่เมืองบางกอกราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 22 หรือช่วงอยุธยาตอนปลาย แรกเริ่มตั้งถิ่นฐานอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก แถบบางกอกน้อย มีมัสยิดบางกอกน้อยเป็นศูนย์กลางของชุมชน มาในสมัยกรุงธนบุรี ได้ขยายชุมชนไปย่านบางกอกใหญ่ มีมัสยิดต้นสนเป็นศูนย์กลางชุมชน และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ชุมชนมุสลิมได้ขยายมาตั้งถิ่นฐานแถบบางอ้อ มีมัสยิดบางอ้อเป็นศูนย์กลางชุมชน

ส่วนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นชุมชนชาวมุสลิมที่เป็นชาวมลายู หรือชาวปัตตานีที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งโปรดเกล้าให้ตั้งบ้านเรือบริเวณบางลำพู หรือถนนตานีในปัจจุบัน มีมัสยิดจักรพงษ์เป็นศูนย์กลางชุมชน ชาวมุสลิมในย่านนี้เป็นกลุ่มช่างทองรูปพรรณฝีมือดี ในอดีตมีชาวมัสยิดนี้ใช้ความรู้เชิงช่างนี้เข้าไปถวายงานโรงกษปณ์ รับผิดชอบการแกะเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่ตอนนี้เครื่องปั๊มเข้ามาแทนที่งานฝีมือ อีกทั้งงานที่ละเอียดนี้หาผู้สืบทอดได้ยาก

วัฒนธรรมมุสลิมส่งอิทธิพลหลายอย่าง ที่เห็นเด่นชัดคืออาหาร อย่างแกงมัสมั่น แกงเขียวหวาน แกงต่างๆ ก็ไม่ใช่แกงไทยแต่ดั้งเดิม เป็นอิทธิพลที่ส่งไปถึงอาหารในรั้วในวัง และกลมกลืนเข้าสู่สำรับไทยในที่สุด

มัสยิดต้นสน ย่านกุฎีจีน บางกอกใหญ่ สร้างขึ้นโดยชาวมุสลิมที่ถูกเกณฑ์และทำหน้าที่รักษาป้อมปืนใหญ่ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในยุคแรกเป็นอาคารไม้มุงจาก อยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ จึงเรียกว่า “กุฎีใหญ่” ต่อมาสร้างเป็นอาคารปูน และปลูกต้นสนที่ทางเข้า จึงเรียกมัสยิดต้นสน

มัสยิดบางอ้อ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนการสร้างศาสนสถาน ชาวมุสลิมในชุมชนอาศัยในแพริมแม่น้ำ เจ้าของที่ดินมัสยิดได้ชวนขึ้นมาละหมาดบนฝั่ง จนช่วยกันสร้างศาสนสถานขึ้น เป็นอาคารไม้ทรงหกเหลี่ยม ชื่ออาคารเจริญวิทย์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบอาหรับที่งดงามมาก ภายหลังเมื่อมีสมาชิกมากขึ้น จึงได้สร้างอาคารปูนขึ้น

วัดคริสต์กับความรู้ตะวันตก

ชาวคริสต์มาตั้งถิ่นฐานในเมืองบางกอกตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นชาวโปรตุเกสที่เจ้ามารับราชการทหาร และในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งพระราชทานที่ดินบริเวณสามเสนซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาก่อตั้งชุมชนชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ได้พระราชทานที่ดินบริเวณบางกอกใหญ่ ฝั่งตะวันตกของเจ้าพระยา ให้เป็นที่ตั้งถิ่นฐาน โดยมีวัดซางตาครูสเป็นศูนย์กลางชุมชนชาวคริสต์ 

วัดซางตาครูส หรือที่เรียกว่าวัดกุฎีจีน เนื่องจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้ชาวคาทอลิกเชื้อสายโปรตุเกสไปตั้งบ้านเรือนใกล้กับศาลเจ้ากุฎีจีน (เกียนอันเกง) ชุมชนวัดซางตาครูสนี้เป็นย่านที่มีความเจริญทางการค้าและวิทยาการ เนื่องจากรับเอาความรู้จากมิชชันนารีและชาวตะวันตกที่นำเข้ามาเผยแพร่ เช่น โรงเรียนวัดซางตาครูส โรงพิมพ์ของหมอบรดเลย์ ร้านค้าและคลังสินค้าของนายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ ร้านถ่ายรูป เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีชุมชนชาวญวนและชาวเขมรซึ่งเข้ารีตได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในย่านสามเสน ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย มีศูนย์กลางที่วัดนักบุญฟรังซิสซาเวียร์ และวัดคอนเซ็ปชัญ

วัดนักบุญฟรังซิสซาเวียร์ เป็นศาสนสถานแห่งชุมชนบ้านญวนสามเสน ส่วนมากเป็นคนไทยเชื้อสายญวนที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิค ที่ลี้ภัยมาจากเวียดนามในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งนายทหารผู้ใหญ่ชาวคาทอลิค ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานชาวญวนเข้ารีตเหล่านี้ไปชุบเลี้ยง จึงพระราชทานที่ดินติดกับวัดคอนเซ็ปชัญ ให้เป็นที่ตั้งบ้านเรือน นอกจากจะพระราชทานทรัพย์เพื่อการกินอยู่แล้ว ยังพระราชทานทรัพย์เพื่อสร้างโบสถ์หลังแรก ในชื่อ วัดแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์

วัดคอนเซ็ปชัญ ชุมชนชาวคริสต์นี้มีประวัติการตั้งถิ่นฐานมาแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่พระราชทานพื้นที่ในย่านสวนพลูให้อาศัยและสร้างศาสนสถานแก่ชาวโปรตุเกสที่มารับราชการทหาร ทำสงครามให้พระองค์ ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าให้ชาวเขมรอพยพ 500 คนที่ถูกกวาดต้อนมา ให้มาอยู่รวมกับชาวโปรตุเกสในสวนพลู อาชีพดั้งเดิมของชุมชนสามเสนคือการประมงน้ำจืด และการต่อเรือ

ศาลเจ้าจีน ศรัทธาและการค้า

มีหลักฐานว่าชาวจีนเริ่มอพยพเข้ามายังสยามในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 - 24 หรือช่วงตอนปลายสมัยอยุธยา โดยชาวฮกเกี้ยนเป็นกลุ่มแรก แต่ต่อมาชาวแต้จิ๋วคือกลุ่มชาวจีนที่มาลงหลักปักฐานมากที่สุดในเมืองไทย และยังมีกลุ่มชาวจีนแคะ จีนไหหลำ และจีนกวางตุ้ง รวมเป็น 5 สายหลัก นอกจากการค้าและการเป็นปัจจัยหลักให้เศรษฐกิจกรุงเทพฯ พัฒนาแล้ว ศาลเจ้าคือวัฒนธรรมแห่งความศรัทธาที่ชาวจีนร่วมกันสร้างไว้ในชุมชน

ศาลเจ้าเกียนอันเกง ย่านกุฎีจีน เป็นศาลเจ้าเทพเจ้ากวนอิม สร้างโดยชาวจีนฮกเกี้ยน ซึ่งตามเสด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมาตั้งถิ่นฐานที่คลองบางกอกใหญ่ เมื่อคราวตั้งกรุงธนบุรี ศาลเจ้าแห่งนี้หันหน้าเข้าหาแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างในรูปแบบนิยมของชาวฮกเกี้ยน ครั้งนั้นมีศาลเจ้าอีก 2 แห่งสร้างขึ้นพร้อมกัน เมื่อรัชกาลที่ 1 ขึ้นครองราชย์ และย้ายราชธานีไปฝั่งพระนคร ชาวจีนแถบนี้จึงอพยพข้ามฝั่งตามไป ศาลเจ้าทั้งหมดจึงถูกทิ้งร้าง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้มีชาวจีนกลุ่มหนึ่งเดินทางมาจากฮกเกี้ยน ซึ่งเป็นต้นบรรพบุรุษของสกุล ‘ตันติเวชกุล’ และ ‘สิมะเสถียร’ มากราบไหว้ที่ศาลเจ้าย่านนี้ และพบว่าทรุดโทรมเกินบูรณะ จึงรื้อแล้วสร้างรวมกันใหม่ คาดว่าก่อสร้างเสร็จราวรัชกาลที่ 3 และบูรณะอีกครั้งในรัชกาลที่ 5 ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่มาของการต่อท้ายชื่อ ‘กะดี - กุฎี’ เป็นกุฎีจีน

ศาลเจ้ากวนอู ย่านคลองสาน เป็นหนึ่งในศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุด มีหลักฐานว่าเทพเจ้ากวนอูองค์ที่เก่าแก่ที่สุด ชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาตั้งถิ่นฐานแถบคลองสาน ได้อัญเชิญมาจากมณฑลฝูเจี้ยน ราวปี พ.ศ. 2279 รัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และมีเจ้าสัวอัญเชิญเทพเจ้ากวนอูมาเพิ่ม ช่วงรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 รวมเป็น 3 องค์ ศาลเจ้ากวนอูหันเข้าหาแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านกาลเวลามาด้วยศรัทธาของคณะกรรมการศาลเจ้าและผู้ที่เลื่อมใส

ศาลเจ้าโจวซือเก๋ง ย่านตลาดน้อย สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนที่ เคยตั้งรกรากอยู่แถบกุฎีจีน ชาวจีนย่านนี้นิยมประกอบอาชีพตีเหล็กอยู่บริเวณริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ปลายสำเพ็งไปจนถึงสถานทูตโปรตุเกส อันเป็นที่ตัั้งของตลาดน้อย ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้งศาลเจ้าโจวซือเก๋ง อันเคยปรากฎใน ‘นิราศชมตลาดสำเพ็ง’ ของนายบุศย์ สมัยรัชกาลที่ 5 พื้นที่รอบศาลเจ้านี้มีความเจริญด้านเศรษฐกิจ เพราะเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่ของชาวจีน จึงพากันอพยพเข้ามาอยู่ในย่านนี้ ปัจจุบันเป็นแหล่งค้าเหล็กและอะไหล่เครื่องจักร

ศาลเจ้าโรงเกือก หรือศาลเจ้าฮ้อนหว่องกุง เป็นอีกศาลเจ้าริมเจ้าพระยา ย่านตลาดน้อย สร้างโดยกลุ่มพ่อค้าจีนแคะ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ชื่อศาลเจ้ามีที่มาจากบริเวณนี้เคยเป็นแหล่งผลิตรองเท้าในอดีต ตลาดน้อยเป็นย่านการค้าที่เคยรุ่งเรืองมาก ต่อเมื่อศูนย์กลางธุรกิจย้ายไปแหล่งอื่น ความซบเซามาเยือนกระทบถึงศาลเจ้าที่ไม่คึกคักอย่างแต่ก่อน แต่ยังคงมีการจัดงานประจำปี เพื่อฉลองเทพเจ้า ให้ผู้คนในชุมชนได้ระลึกถึง

กุฎีจีน - ย่านมุสลิม จีน พุทธ คริสต์ 

อ่านมาถึงตรงนี้ ชื่อของกุฎีจีน ปรากฏขึ้นหลายครั้ง ย่านเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยานี้ มีชุมชนหลากเชื้อชาติอาศัยอยู่ ตั้งแต่ชาวมุสลิม ชาวจีนหลายมณฑล ชาวไทย และชาวโปรตุเกสอยู่ร่วมกัน “กะดี” เป็นคำเรียกศาสนสถานของชาวมุสลิม แต่ท้ายที่สุดก็กลายมาเป็นชื่อของศาสนสถานของหลายศาสนา และมีการเติมคำว่า “จีน” ต่อท้าย เมื่อกำเนิดศาลเจ้าเกียนอันกงขึ้น เสียงที่เรียกเพี้ยนไปเป็น “กุฎีจีน” ก็กลายเป็นชื่อชุมชน ชื่อขนมฝรั่งที่มีกำเนิดจากฝรั่งโปรตุเกสในย่านนี้ เป็นตัวอย่างชุมชน 'พหุสังคม" ที่สายน้ำพัดพาความหลากหลายมีผสมปนกันจนไม่ต้องแยกว่าใครเป็นใคร

พัฒนาการบนย่านเก่า

แม้ปัจจุบัน สิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคนจะมีมากกว่าาศรัทธา แต่ศรัทธาสถานเหล่านี้ก็มีเรื่องราวและสถาปัตยกรรมอันเป็นมรดกที่มีคุณค่า และนำมาต่อยอดสู่ความร่วมสมัยได้ ตอนนี้จึงมีการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ตีความและถ่ายทอด โดยคนรุ่นใหม่สู่คนรุ่นต่อไปและนักท่องเที่ยว อย่างสตรีทอาร์ต ที่นำมาเชื่อมโยงกับเอกลักษณ์ชุมชน และดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้มาสัมผัส หรือการเดินทัวร์ ปั่นจักรยานลัดเลาะตามตรอก ไปสำรวจพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต รวมถึงกิจกรรมสร้างสรรค์บนศรัทธาสถาน เช่น เซียมซีล้ำสมัยที่ศาลเจ้าโรงเกือก ใน Bangkok Design Week ครั้งที่ผ่านมา หรืองานศิลปะติดตั้งหลายชิ้นที่วัดอรุณราชวรารามใน Bangkok Art Biennale ที่กำลังมีอยู่ตอนนี้ ก็เพิ่มบทบาทของสถานที่ และปรับตัวไปสู่บริบทใหม่ที่ไปกับโลกได้

การหวนมองย่านเก่าผ่านศรัทธาสถาน ทำให้ได้วัตถุดิบสำหรับสร้างสรรค์สิ่งใหม่บนพื้นฐานที่หยั่งรากแข็งแรง

 - - - - - - - -

อ้างอิง:

พัฒนาการชุมชนโบราณริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดย กลุ่มวิจัยและพัฒนางานโบราณคดี สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร

ศาลเจ้า ศรัทธาสถานแห่งบางกอก โดย สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร

กรุงเทพฯ น่ารู้ ตอน ย่านเก่าเล่ากรุง โดย ชลธร วงศ์รัศมี สำนักพิมพ์มติชน

prachatai.com/journal/2015/01/57425