สถานีริมทางญี่ปุ่น VS ร้านประชารัฐไทย...ความต่างบนความเหมือน?

สถานีริมทางญี่ปุ่น VS ร้านประชารัฐไทย...ความต่างบนความเหมือน?

สำรวจความสำเร็จของสถานีริมทางในญี่ปุ่น ฝันให้ไกลไปให้ถึงของร้านประชารัฐสุขใจในบ้านเรา

เทรนด์ท่องเที่ยวญี่ปุ่นยังคงมาแรง แต่หมุดหมายของคนทั่วไปยังคงไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวหลักๆ รวมถึงแหล่งชอปปิงทั้งหลาย ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีความพยายามที่จะผลักดันให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักกับสถานที่ใหม่ๆ ผ่านการเดินทางไปยัง ‘เมืองรอง’ ที่มีเอกลักษณ์ความน่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งหนึ่งในรูปแบบการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดความสมดุลนี้ ดำเนินการผ่าน ‘สถานีริมทาง’ (Roadside station) ที่ว่ากันว่าเป็นความเหมือนที่แตกต่างกับ ‘ร้านประชารัฐสุขใจ’ ของไทย

 

ถอดความรู้ ‘สถานีริมทาง’

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1993 เป็นต้นมา หรือ ราว 25 ปีที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น โดยมีสถานีริมทางเป็นแนวนโยบายหนึ่งของการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระดับประเทศ กับการท่องเที่ยวท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า เมืองรอง เพื่อกระจายรายได้ให้แก่ท้องถิ่น ลดการพัฒนาแบบกระจุกตัว ซึ่งส่งผลทางบวกด้านอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น ความนิยมในแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย หรือรายได้ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย

“ญี่ปุ่นประสบสถานการณ์เดียวกับไทยที่ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงสูงวัย ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ของสถานีริมทางนอกจากจะทำให้เกิดอาชีพและรายได้ ยังทำให้คนรุ่นใหม่หวนกลับมาพำนักยังบ้านเกิดมากขึ้น” ผศ.เบญจางค์ ใจใส แดร์ อาร์สลานิออง คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงโครงการวิจัย การใช้พื้นที่สาธารณะในการพัฒนาชุมชนของประเทศญี่ปุ่น กรณีศึกษาบทบาทของสถานีริมทาง หรือ Roadside Station โดยการสนับสนุนของฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ่

อาจารย์เบญจางค์เล่าถึงความพิเศษของสถานีริมทางว่า คล้ายกับสถานีเติมน้ำมันบ้านเราที่นักเดินทางส่วนใหญ่เลือกใช้บริการพักรถ เข้าห้องน้ำ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และซื้อของฝาก ต่างกันตรงที่ในบ้านเราจะดำเนินการโดยเอกชน ขาดการเชื่อมโยงกับท้องถิ่น หรืออาจจะมีบ้างก็เป็นเพียงส่วนน้อย

สถานีริมทางของญี่ปุ่น ไม่มีน้ำมันให้บริการ แต่มีสถานที่ให้พักรถและเข้าห้องน้ำสะอาด 24 ชั่วโมง มากกว่านั้นคือ การเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยว และเป็นสถานที่กระจายสินค้าของท้องถิ่น แก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เป็นแหล่งนัดพบของเกษตรกร ผู้ผลิต และ ผู้บริโภค ซึ่งแต่ละแห่งจะมีนายสถานีรับผิดชอบดูแล บริการจัดการ ทั้งในส่วนของสถานีและการมีส่วนร่วมของชุมชน

เช่นที่ สถานีโทะมิอุระ มีการนำผลโบชูบีวะ (บีวะ) ผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดชิบะมาวางขาย ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว ยังสร้างเอกลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวให้กับพื้นที่ “หากจะลิ้มรสบีวะที่อร่อยต้องมาที่จังหวัดชิบะ” ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกด้านการท่องเที่ยวให้กับผู้หลงใหลใน ‘ความเฉพาะ’ ของแต่ละท้องถิ่นด้วย

สถานีแรก1

 

คนท้องถิ่นต้องได้ประโยชน์

“ที่นี่ไม่เน้นเสี่ยง แต่เน้นให้คนท้องถิ่นได้ประโยชน์” ซูซูกิ เคนจิ นายสถานีโทะมิอุระ จังหวัดชิบะ เปิดประเด็นแล้วอธิบายต่อว่า ประโยชน์ส่วนแรกคือ เกษตรกร สามารถนำผลบีวะตกเกรดมาจำหน่ายเพื่อแปรรูป แทนที่จะทิ้งหรือขายในราคาถูก ส่วนที่สองคือ กลุ่มสุภาพสตรีและผู้สูงอายุมีรายได้จากการแปรรูปบิวะสดเป็นบิวะกระป๋อง ก่อนที่จะส่งให้กับผู้ประกอบการไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้วนำกลับมาจำหน่ายที่สถานี ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากผลบิวะมีมากกว่า 50 ชนิด

เพื่อให้เห็นภาพ ซูซูกิ พาเดินชมมุมต่างๆ ของสถานีโทะมิอุระ ที่สร้างขึ้นในลักษณะอาคารโดมชั้นครึ่ง ภายในแยกออกเป็นโซนต่างๆ 5 โซน เริ่มจากบริเวณด้านหน้าจะมีโต๊ะสำหรับจัดวางเอกสารเส้นทางท่องเที่ยวและสินค้าต่างๆ มีร้านไอศกรีมจากผลบีวะ ให้ผู้มาเยือนได้ชิม ถัดเข้ามาบริเวณโถงตรงกลางเป็นแหล่งช้อปของฝาก ที่ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์จากผลบีวะ เช่น น้ำบีวะ แยมบีวะ ขนมปังบีวะ เจลลี่บีวะ เป็นต้น

ด้านข้างฝั่งซ้ายใช้เป็นจุดนั่งพัก บริเวณเดียวกันนี้ยังมีโซนอาหารไว้บริการ โดยออกแบบให้ดูโปร่ง สามารถมองผ่านกระจกไปชมแปลงผัก แปลงดอกไม้ แปลงนา และภูเขาได้ ส่วนโซนด้านขวา จะเป็นร้านขายของสด จำพวกผักคะน้า ซูกีนี เห็ดหอมสด และผักผลไม้พื้นถิ่นชนิดอื่นๆ อย่างแตงโม เมล่อน ส่วนผลสดๆ ของโบชูบีวะ ไฮไลท์ของที่นี่ ซูซูกิบอกว่าต้องมาช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงจะได้ชิมและชมผลบนต้นซึ่งปลูกรอบๆ สถานีแห่งนี้

สถานีแรก 5

นอกจากผัก ผลไม้ และอาหารสด ที่นี่ยังมีสัตว์ตัวเล็กๆ อย่างแมงคาม หรือด้วงกว่างขนาดต่างๆ จัดเรียงใส่กล่องพลาสติก ทำให้นึกถึงการละเล่นของเด็กต่างจังหวัดที่จับแมงคามมางัดเขาต่อสู้กัน ซึ่งในเมืองไทยเองเริ่มหาดูได้ยากแล้ว

และด้วยความหลากหลายและเอกลักษณ์เฉพาะของผลิตภัณฑ์จากผลบีวะ ทำให้สถานีโทะมิอุระมีรายได้หลักร้อยล้านเยนต่อปี เช่น ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีรายได้ถึง 300 ล้านเยน หรือ ประมาณ 100 ล้านบาทไทยเลยทีเดียว

 

ความพิเศษต้องมาก่อน

อีกหนึ่งสถานีริมทางที่แตกต่างออกไปทั้งในส่วนของอาคาร ผู้คนและผลิตภัณฑ์ นั่นคือ สถานีคาวาบะ เดนเอ็นพลาซา จังหวัดกุมมะ ที่นี่มีครบทุกอย่างตามแบบฉบับ One Stop Service ทว่าสิ่งสำคัญที่ต้องขีดเส้นใต้คือ ‘วิธีคิด’

“ทุกคนที่มาซื้อของ หรือทานอาหารที่นี่ ต้องได้สิ่งที่ดีระดับพรีเมี่ยมและความสุขกลับไป” Tsukida Soukatsu นายสถานีคาวาบะ เดนเอ็นพลาซา เผยถึงวิธีคิดในการบริหารสถานีให้ประสบความสำเร็จ ก่อนจะเล่าว่า เดิมผลผลิตทางการเกษตรของหมู่บ้านคาวาบะมีแค่ ข้าว แอปเปิ้ล และผักสดทั่วไป แต่หลังจากที่สร้างสถานีริมทาง ผลผลิตทางการเกษตรก็ถูกนำมาสร้างภาพลักษณ์ และพัฒนาต่ออย่างต่อเนื่อง จนได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภค เช่น ผลเบอร์รี่และแอปเปิ้ลนำมาทำเป็นไอศกรีม ข้าวที่อยู่ตามท้องทุ่งกลายเป็นเมนูขนมปังสารพัดชนิด รวมถึงสินค้าประเภทเบียร์ ขณะที่หมูที่เลี้ยงในฟาร์มก็นำมาทำเป็นแฮมและไส้กรอก

สถานีสอง 2

“อย่างที่ผมบอก ทุกอย่างต้องทำออกมาให้ดี ลูกค้าเห็นแล้วจะต้องชอบและซื้อ ผักผลไม้ของชุมชนไม่ต้องปลูกเยอะ ให้ปลูกเท่าที่ดูแลได้และทั่วถึง ตามความสมดุลของทรัพยากรต้นทุนในท้องถิ่น สังเกตจากผักและผลไม้ที่วางจำหน่ายในสถานีนี้มีแบรนด์ที่หลายหลาย ผลผลิตเพียงหนึ่งกล่องก็สามารถนำมาวางจำหน่ายได้” นายสถานีสะท้อนมุมมองในการยกระดับผลิตผลทางการเกษตรให้กลายเป็นสินค้าพรีเมี่ยม

 

ไทยสำรวจ ญี่ปุ่นสำเร็จ

สินค้าที่พัฒนาขึ้น ณ สถานีริมทาง ไม่เพียงวางจำหน่ายในท้องถิ่นนั้นๆ แต่ยังส่งออกไปยังต่างประเทศ แน่นอนว่าเมื่อมีงาน การจ้างงานย่อมเกิดขึ้น พนักงานจำนวน 200 คนของสถานี, 104 คนอยู่ในหมู่บ้านคาวาบะ ที่เหลือเป็นคนจากชุมชนโดยรอบ และในจำนวนนี้พบว่ามีการหวนกลับคืนถิ่นฐานเดิมของคนรุ่นใหม่ โดยในแต่ละปีจะมีการคัดเลือกคนรุ่นใหม่ออกไปศึกษาเล่าเรียน เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาท้องถิ่นด้วย

อาจารย์เบญจางค์ สรุปข้อดีของสถานีริมทางของญี่ปุ่นว่า ได้สร้างการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นอย่างแท้จริง ทั้งในส่วนของรายได้ผู้สูงอายุ สตรี และเกษตรกรรายย่อย แม้ในพื้นที่ที่มีผลผลิตจำนวนน้อย ขณะเดียวกันยังประหยัดค่าขนส่ง ผู้บริโภคได้รับผลผลิตที่มีความสดใหม่ ที่สำคัญเกษตรกรสามารถกำหนดราคาสินค้าด้วยตัวเอง จากการทำอุตสาหกรรมขั้นที่ 6 คือเป็นทั้งผู้ผลิตวัตถุดิบ แปรรูปและจำหน่าย

กรณีศึกษานี้นำมาสู่โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลไทยที่มีนโยบายจะนำโครงการสถานีริมทางของประเทศญี่ปุ่น หรือ MICHINOEKI มาเป็นแนวทางในการส่งเสริมการกระจายตัวของสินค้าและการท่องเที่ยวในประเทศ รายงานการวิจัยของอาจารย์เบญจางค์ระบุว่า สถานีริมทางกว่า 1,100 สถานี ในประเทศประเทศญี่ปุ่นไม่ได้ประสบความสำเร็จทางด้านการค้าทุกสถานี บางสถานีขาดทุนต่อเนื่อง 

สถานีสอง 3

แต่หากเปรียบเทียบระหว่าง ‘สถานีริมทางของญี่ปุ่น’ กับ ‘ร้านประชารัฐสุขใจ’ ของไทย จะเห็นความต่างชัดเจนในเรื่องสถานที่ และกระบวนการทำงานของสถานีริมทางซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ มีบทบาทด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชนที่เป็นระบบอย่างเห็นได้ชัด โดยประชาชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในฐานะผู้ผลิตวัตถุดิบ รวมถึงการแข่งขันที่เข้มข้น ทำให้เกิดความพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ตลอดจนการส่งเสริมของรัฐต่อการสร้างสถานีริมทางอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดี ภายใต้ความแตกต่างของสถานีริมทางกับร้านประชารัฐสุขใจ ปัจจัยที่ได้การจากศึกษาเปรียบเทียบคือกุญแจดอกสำคัญที่จะไขประตูสู่ความสำเร็จในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้กับประเทศต่อไป