‘ควนขนุน’ ในน้ำมีปลา ในนามีความสุข

‘ควนขนุน’ ในน้ำมีปลา ในนามีความสุข

ค้นหาความสุขเรียบง่ายในวันที่ข้าวออกรวง กับการท่องเที่ยววิถีชาวนา พัทลุง

  ภาพแปลงนาสีเขียวสดเบื้องหน้าผืนน้ำริมทะเลสาบกว้าง อาบไล้ด้วยแสงทองของดวงตะวันที่ใครบางคนส่งมาเรียกน้ำย่อย เหมือนมีพลังบางอย่างดึงดูดให้เรามาถึงที่นี่ พร้อมๆ กับคำเชิญชวนให้ลิ้มลองอรรถรสของการเดินทางอีกรูปแบบหนึ่งในนาม ‘การท่องเที่ยววิถีชาวนา’ ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

o2e37b5077889d2176fca7d48b3a68c61_4620693218538563538_๑๘๑๐๒๗_0021

 

จากนาร้างสู่นาอินทรีย์

ต้นตาลสูงฉลูดสลับไปกับแปลงนาและบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ห่างๆ ต้นเดือนตุลาคม ข้าวในนาบางแปลงเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง ลุงอำมร สุขวิน ชาวนาเจ้าถิ่นบอกว่า พื้นที่นี้มีทั้งนาปีและนาปรัง ถ้ามาในช่วงเดือนพฤษภาคมจะได้ชมการทำขวัญข้าว แต่ช่วงนี้ก็เดินเล่นสวยๆ เก็บภาพรวงข้าวไหวเอนล้อเล่นลมไปพลางๆ ก่อนไปฟังเรื่องราววิถีข้าววิถีชาวนากันที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่าช้างฟื้นฟูเศรษฐกิจและวิสาหกิจชุมชนบ้านสวน ซึ่งมีนาอินทรีย์ตัวอย่างของ มาลี พันธ์วงค์ ประธานกลุ่มฯ ให้ได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

“ในอดีตชาวบ้านที่นี่ทำนากันเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากความสมบูรณ์ของพื้นที่ที่ติดกับทะเลสาบและลำคลองปากประ-ท่าสำเภา แต่ต่อมาการทำนาของชุมชนบ้านท่าช้างต้องปรับตัวตามระบบเศรษฐกิจและนโยบายจากส่วนกลางที่สนับสนุนการผลิตข้าวเพื่อจำหน่าย ประกอบกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามฤดูกาล เกษตรกรจึงได้รับการส่งเสริมให้ปลูกข้าวสายพันธุ์ใหม่แทนสายพันธุ์ท้องถิ่น เพื่อตั้งรับกับดินฟ้าอากาศที่ผันผวน” มาลี เริ่มต้นเล่าความหลัง

แต่หลังจากวิถีชาวนาเปลี่ยนจาก ‘ปลูกไว้กิน’ เป็น ‘ปลูกไว้ขาย’ หนี้สินจากค่าปุ๋ยค่าสารเคมีก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ชาวนาส่วนหนึ่งจึงถอดใจไปทำสวนยางพาราและรับจ้างทั่วไป ช่วงนี้เองที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่าช้างฟื้นฟูเศรษฐกิจ ถือกำเนิดขึ้นภายใต้แนวคิดที่อยากรื้อฟื้นการทำนาแบบดั้งเดิม ไปพร้อมๆ กับการดูแลสุขภาพทั้งของเกษตรกรและผู้บริโภคให้ห่างไกลจากสารเคมีให้มากที่สุด

นาปลอดสารเคมี คือคำตอบในช่วงแรก ส่วนพันธุ์ข้าวที่ผ่านการเลือกสรรก็คือ ‘ข้าวสังข์หยด’ ข้าวที่ได้ชื่อว่ามีความทนทานต่อสภาพอากาศ

“ข้าวพื้นบ้านดั้งเดิมของพัทลุงเคยมีอยู่ถึง 30 สายพันธุ์ แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแค่ไม่กี่สายพันธุ์ เช่น ข้าวสังข์หยดพัทลุง เมร่หอม เฉี้ยงพัทลุงและปิ่นแก้ว” มาลี กล่าว ก่อนจะเล่าต่อว่า จากนาปลอดสาร ชาวนาสมาชิกได้ร่วมแรงร่วมใจค่อยๆ พัฒนามาเป็น ‘นาอินทรีย์’ พร้อมทั้งสร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองให้กับกลุ่มด้วยการไม่ขายข้าวเปลือกให้พ่อค้าคนกลาง แต่นำข้าวเปลือกมาแปรรูปเป็นข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือ เพิ่ม ’คุณค่า’ และ ‘ราคา’ ไปพร้อมกัน

o2e37b5077889d2176fca7d48b3a68c61_4620693218538563538_๑๘๑๐๒๗_0018

ในที่สุดดอกผลจากการรื้อฟื้นวิถีชาวนาที่รักษาสภาพแวดล้อมก็นำมาซึ่งความภาคภูมิใจ เมื่อข้าวของกลุ่มได้รับเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์สุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทยประจำปี พ.ศ. 2547 และปี พ.ศ. 2555 ประเภทผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือ

“จากกลุ่มเล็กๆ ปัจจุบันพื้นที่นาอินทรีย์ของเราขยายขอบเขตเพิ่มขึ้นรวมแล้วก็ราวๆ 300 ไร่แล้ว” คำบอกเล่าส่งผ่านพร้อมรอยยิ้มกว้าง ตามมาด้วยคำเชิญชวนให้ลองซ้อมเกี่ยวข้าวแบบชาวพัทลุงดูสักตั้ง

o2e37b5077889d2176fca7d48b3a68c61_4620693218538563538_๑๘๑๐๒๗_0016

ก้มๆ เงยๆ งกๆ เงิ่นๆ อยู่ครู่ใหญ่ สาวร่างบางจากเมืองกรุงก็ได้ข้าวติดมือมากำเล็กๆ เอาเป็นว่า...รอดจากคมเคียวมาได้ก็ถือว่าบุญโข แต่ที่ดูท่าทางจะไม่รอดก็คือความร้อนแรงของแสงอาทิตย์ตอนใกล้เที่ยง ชาวนาจำเป็นเห็นทีจะต้องวางมือ ขณะที่ท้องไส้เริ่มส่งเสียงเรียกร้อง...

พี่ป้าน้าอาที่นี่ไม่ใจร้าย หยิบห่อข้าวเล็กๆ ส่งให้ แกะใบตองออก ข้างในมีข้าวเหนียวดำกับปลากรอบ น่ากินขนาดนี้จะรออะไร...ว่าแล้วทุกอย่างก็อันตรธานหายไปในพริบตา

ลุงอำมร ในหมวกของกรรมการโครงการวิจัยท่องเที่ยววิถีชาวนา อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น บอกว่า ถ้าใครอยากดื่มด่ำกับวิถีชาวนาให้ลึกซึ้ง แนะนำให้ติดต่อทางกลุ่มฯมาก่อน รูปแบบการท่องเที่ยวที่ชาวบ้านภูมิใจนำเสนอจะเริ่มต้นที่สถานีหาดใหญ่ นั่งชมวิวทิวทัศน์สองข้างทางมาลงสถานีรถไฟปากคลอง ตำบลมะกอกเหนือ จากนั้นชุมชนจะไปรับด้วยรถสองแถวหรือรถสามล้อพ่วง เพื่อมาดูแปลงนา ทดลองทำนาด้วยตนเอง ส่วนจะดำนาหรือเกี่ยวข้าวขึ้นอยู่กับช่วงเวลา เสร็จแล้วค่อยล้อมวงกินข้าวห่อใบตอง อิ่มหนำสำราญค่อยเดินทางต่อไปยังสถานที่ใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็น วัดสำคัญ โรงสีไฟ ทะเลน้อย บ้านปากประ เพื่อเรียนรู้เรื่องราวที่เชื่อมโยงไปกับวิถีชาวนา

o2e37b5077889d2176fca7d48b3a68c61_4620693218538563538_๑๘๑๐๒๗_0019

 

ย้อนตำนานโรงสีไฟ

ถ้าเริ่มต้นที่สถานีรถไฟปากคลอง ซึ่งในอดีตเป็นเส้นทางการค้าข้าวระหว่างจังหวัดพัทลุงกับปีนัง มาเลเซีย และสิงคโปร์ ข้ามแยกแล้วลัดเลาะมาตามทางลาดยางราว 300 เมตร จะเห็นโกดังโครงสร้างไม้ผสมสังกะสีสูงกว่าตึก 2 ชั้น สีสนิมบนสังกะสีและบานไม้บางส่วนที่ผุพังสะท้อนให้เห็นร่องรอยที่คงผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร

ที่นี่คือโรงสีเก่าแก่ อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์การทำนาที่ยังอยู่ในความทรงจำ โรงสีไฟมิตรบำรุง สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เคยเป็นโรงสีข้าวที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในจังหวัดพัทลุง ทุกวันนี้แม้สภาพโดยรวมจะผุพังไปตามกาลเวลา แต่ร่องรอยที่หลงเหลือยังคงบ่งบอกถึงความรุ่งเรืองในอดีต 

สุรศักดิ์ ศิริพงศ์ เจ้าของโรงสีไฟมิตรบำรุง เล่าถึงเส้นทางของโรงสีไฟแห่งนี้ว่า โรงสีเริ่มก่อตั้งตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ช่วงหนึ่งกิจการค้าข้าวเฟื่องฟู โรงสีจึงต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตตามความต้องการข้าวในตลาด โดยเฉพาะการส่งข้าวออกไปยังปีนัง มาเลเซีย และสิงคโปร์ จากโรงสีธรรมดาที่เคยใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็ก เปลี่ยนมาเป็น ‘โรงสีไฟ’ ที่ใช้หม้อต้มจากการเผาแกลบหรือเปลือกของเมล็ดข้าวเพื่อให้พลังงานความร้อน จนเกิดเป็นความดันไอน้ำขับเคลื่อนกลไกของระบบเครื่องจักรกล ซึ่งเขาบอกว่า เครื่องจักรภายในต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ตอนนั้นใช้เงินลงทุนไปมากแค่ไหนไม่มีตัวเลขที่แน่นอน รู้แต่ว่าปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นโรงสีขนาดใหญ่อย่างที่เห็น

“สมัยก่อนโรงสีเราใหญ่ที่สุดในจังหวัด เดินเครื่อง 24 ชั่วโมง กำลังผลิตต่อวัน 80-90 เกวียน 1 เกวียนก็ 1,000 กิโลกรัมข้าวเปลือก พอหยุดไปก็อยากเก็บโรงสีไว้แบบนี้ ไม่อยากรื้อออกเพราะอยากให้ลูกหลานได้เห็น ผมว่าโรงสีไฟเป็นเหมือนอนุสรณ์สะท้อนภูมิปัญญาของคนยุคหนึ่งที่ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว เลยอยากรักษาโรงสีไฟไว้เป็นเอกลักษณ์และให้คนได้ศึกษา” สุรศักดิ์ กล่าวในวันที่โรงสีแห่งนี้หยุดทำการไปแล้วกว่า 8 ปี หรือตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2553 เมื่อหลายสิ่งหลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป

เราไล่สายตาไปตามโครงสร้างเก่าคร่ำ เหมือนภาพในอดีตจะค่อยๆ แจ่มชัด คงจะดีกว่านี้หากสถานที่อันน่าทึ่งถูกปรับใช้ให้เป็นอนุสรณ์แห่งความรุ่งเรืองของวิถีข้าวในพื้นที่ที่ชาวนายังคงยืนหยัด 'หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน' ต่อไป

o2e37b5077889d2176fca7d48b3a68c61_4620693218538563538_๑๘๑๐๒๗_0022

 

พักใจในโฮมสเตย์ชาวนา

ไหนๆ ก็อินกับวิถีชาวนามาค่อนวันแล้ว เย็นย่ำค่ำลงจะมีอะไรดีไปกว่าการพักบ้านชาวนา กินข้าวกินปลาตามประสาคนท้องถิ่น ที่นี่มีโฮมสเตย์ของสมาชิกเกษตรกรเครือข่ายวิชชาลัยรวงข้าวอยู่หลายหลังให้นักท่องเที่ยวได้ใช้ชีวิตติดนาขนานแท้

บ้านไหนหาปลาก็จะได้กินปลา บ้านไหนปลูกผักก็จะได้กินผัก อย่างบ้านของ สมทรง เพ็ชรพรรณ หนึ่งในโฮมสเตย์ที่ปลูกผักและสมุนไพรอินทรีย์ไว้รับประทาน เจ้าของบ้านจะพาแขกที่มาพักไปเก็บพืชผักมาปรุงอาหาร รอบๆ บ้านมีทั้ง ถั่วฝักยาว ถั่วพูสีม่วง น้ำเต้า พริกไทย มะนาว พริก ขี้เหล็ก ฟ้าทะลายโจร หญ้าไผ่น้ำ และหญ้าหนวดแมว ทำเป็นเมนูหน้าตาบ้านๆ แต่อร่อยปลอดภัย

สมทรงบอกว่าวิธีนี้จะช่วยฟื้นฟูการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ต้องหาซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทใหญ่ ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ปรับแต่งให้พืชเติบโตขึ้นได้เพียงรอบวัฏจักรเดียว นอกจากนี้ยังช่วยรักษาสมดุลการกินทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภค ทำให้ได้รับประทานพืชผักปลอดสารพิษ และมีตู้ยาสามัญประจำบ้านที่เป็นสมุนไพรต่างๆ ไว้ดูแลตนเอง

“การปลูกพืชผักอินทรีย์ไม่ยาก แค่ต้องเอาใจใส่และให้เวลาดูแล ทำตั้งแต่คัดเมล็ดพันธุ์ เตรียมดิน ทำปุ๋ยอินทรีย์ และทำน้ำหมักสำหรับกำจัดวัชพืชเอง ใช้เวลามากหน่อยแต่ก็ได้ผลผลิตที่มีมูลค่าและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค”

กินไปพลางฟังเรื่องเล่าไปพลาง ชาวบ้านบอกว่าคนที่นี่รักในวิถีแบบดั้งเดิม ไม่ใช่แค่การหาอยู่หากิน แต่ยังคงรักษาพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับข้าวไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำขวัญข้าว หรือการสมโภชพระแม่โพสพก่อนเริ่มต้นการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป

“ถ้ามีโอกาสอยากเชิญชวนให้มาท่องเที่ยว สัมผัสวิถีวัฒนธรรมของชาวนา ตั้งแต่พิธีกรรมทำขวัญข้าว การเก็บเกี่ยว และเร็วๆ นี้เรากำลังจะเปิดพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่รวบรวมเครื่องไม้เครื่องมือในการทำนา อยากให้มาชมกัน” ลุงอำมร ฝากชวนคนที่สนใจใช้ชีวิตเรียบง่ายตามประสาคนบ้านนอกบ้านนา

o2e37b5077889d2176fca7d48b3a68c61_4620693218538563538_๑๘๑๐๒๗_0030

ถึงตอนนี้กับเนื้อหาในวงสนทนาที่กำลังออกรส คำเปรียบเปรยที่ว่า “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” อาจใช้ไม่ได้กับ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เพราะที่นี่มีมากกว่านั้น... 

พื้นที่แห่งนี้มีความหลากหลายของระบบนิเวศ มีทรัพยากรธรรมชาติที่เกื้อหนุนชีวิตผู้คน และมีภูมิปัญญาที่แอบอิงอยู่กับฐานทรัพยากร ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะผู้คนมีสำนึกในการใช้ชีวิตอย่างไม่เอารัดเอาเปรียบและสอดคล้องไปกับวิถีธรรมชาติ ซึ่งหากให้นิยามเพิ่มเติมคงต้องบอกว่า

เป็นวิถีชาวนาที่ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แล้วในอาหารก็ยังมียาอีกด้วย”