พุทธศักราชอัสดงฯ กับความจริงของวงการวรรณกรรมไทย

พุทธศักราชอัสดงฯ กับความจริงของวงการวรรณกรรมไทย

ดับเบิลซีไรต์ ความจริง และความเป็นไปของวงการวรรณกรรมไทยคลื่นลูกใหม่

หลังจากประกาศผลรางวัลซีไรต์ ที่วีรพร นิติประภา สามารถคว้ารางวัลทรงเกียรตินี้ได้เป็นครั้งที่ 2 แม้เธอจะไม่ได้คาดหมาย เพราะผลงานเล่มแรกก็เพิ่งได้ไป แต่สำหรับนักอ่านที่ได้อ่านทั้ง 2 เล่มนี้แล้ว หาก “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ได้ซีไรต์ แล้วเหตุใด “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” จะไม่ได้ล่ะ?

เย็นย่ำหลังจากวันประกาศผล ร้านหนังสือก็องดิด (Candide Books) ย่านคลองสาน จัดงานพบปะกับนักเขียนดับเบิลซีไรต์หมาดๆ เพื่อให้นักอ่านได้สอบถามแสดงความเห็นต่อหนังสือเล่มนี้

81320

จริงๆ แล้ววงเสวนาเกี่ยวกับ “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” จัดกันมาบ่อยครั้ง ในหลายกรอบคิด แม้แต่การเดินชมเมืองในมุมของภูมิสถาปัตยกรรม ยังทำกันมาแล้ว

หนังสือพูดถึงความทรงจำและสะท้อนความจริงที่หลายคนมองข้าม ท่ามกลางกระแสเอเชียนมาแรงอย่าง “Asian Rich Crazy” และ “เลือดข้นคนจาง” ที่เราเห็นภาพครอบครัวจีนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาตั้งรกรากในประเทศไทย (และทั่วโลก) จนสำเร็จเป็นเจ้าสัวไปหลายตระกูลนั้น แท้จริงยังมีครอบครัวจีนอีกมากที่พังพาบไปกับกระแสชีวิตและไม่เคยได้ถูกพูดถึง ในฐานะลูกหลานเชื้อสายจีน วีรพรขอฉายภาพนั้นขึ้นมา ภายใต้โครงสร้างของสังคมที่บีฑาทุกชีวิตให้ย่อยยับ แต่น้อยคนจะยกขึ้นมากล่าวถึง ปล่อยให้เป็นฝุ่นผงในความจำที่พร่าเลือน

คืนนั้น นอกจากแบ่งปันความคิดต่อหนังสือซีไรต์ล่าสุดแล้ว การพูดคุยยังพิงไปถึงความจริงของวงการวรรณกรรมไทยที่น่าสนใจด้วย

นาฏกรรมอัสดง

ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง เจ้าของร้านหนังสือก็องดิด เริ่มดำเนินการเสวนาด้วยข้อสังเกตว่าชีวิตตัวละครทุกตัวในงานเขียนของวีรพรจะดำเนินไปสู่โศกนาฏกรรม เพราะนักเขียนไม่เชื่อในสุขนาฏกรรมหรือ?

วีรพรตอบให้เราเห็นความจริงของทุกชีวิตว่า “ทุกการกระทำของมนุษย์ถูกผลักดันมาจากความกลัวและความทุกข์ มากกว่าความสุข” แม้ฉากโศกของหนังสือจะเข้มข้นราวเกินจริง แต่เมื่อคิดตามแล้ว เราต่างประสบสิ่งนั้นอยู่ทางตรง ทางอ้อม และหลายครั้ง โดยไม่ตั้งใจ ความกลัวซ่อนลึกก็ขับเคลื่อนให้เราทำบางอย่างที่ลงเอยในแง่ลบ นี่คือความสากลที่คนเข้าถึงได้

81315

หลังจากอ่านเล่มแรกหลายคนปวารณาตัวเป็นแฟนคลับหนังสือของ “พี่แหม่ม” วีรพร และส่วนใหญ่เมื่ออ่านเล่มที่ 2 ก็จะเป็นแฟนที่เหนียวแน่น ครึ่งหนึ่งของคนที่อยู่ในงานเป็นเช่นนั้น เพราะงานเขียนของวีรพรแม้จะอ่านยาก เพราะคนอ่านต้องมีสมาธิอยู่กับประโยคอันซับซ้อน การเรียงต่อกันของคำที่คัดมาอย่างดี กระชับแต่มาเป็นพรืดราวกับบีบอัดความหมายจำนวนมากลงไปใน 1 ประโยค อีกทั้งพุทธศักราชอัศดงฯ ยังมีเรื่องราวหนักหน่วงจนต้องหยุดอ่านเป็นพักๆ ทอดถอนใจด้วยเหตุผลนานา นี่คือประสบการณ์ร่วมของผู้อ่านหนังสือเล่มนี้

เรื่องของวีรพร ถึงจะอ่านยาก แต่พอคุยกับนักเขียนแล้วปลอบประโลม

อีกครึ่งหนึ่งของผู้มางานคือยังอ่านไม่จบ ยังไม่ได้อ่าน และไม่เคยอ่านงานของวีรพรเลย แต่มาเพราะอยากรู้ว่านักเขียนซีไรต์ที่ได้ดับเบิลซีไรต์นั้นเป็นอย่างไร

วีรพรบอกว่าเธอไม่ได้เป็นนักเขียนที่เก่งฉกาจ “เราเป็นคนตะบี้ตะบัน อยู่กับตัวเอง อยู่หน้าคอม ใช้เวลานานกว่าคนอื่น” เวลา 3 ปีกับหนังสือยาว 300 กว่าหน้า แบกเรื่องราว แก้ไขฉากชีวิต และวิธีการเล่าของตัวละครอยู่เนิ่นนาน

81316

ปก “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ฉบับแปลภาษาอังกฤษ

หลายคนเข้าใจว่าเธอฝึกมือกับเล่มแรก แล้วปล่อยของเต็มที่เมื่อมาถึงเล่มที่ 2 แต่วีรพรบอกว่าเล่มแรกต่างหาก เพราะตั้งใจว่าหากมีหนังสือเล่มแรกแล้วไม่มีคนอ่าน เธอจะไปขายหมูปิ้งแทน ทว่า “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ก็เป็นหนังสือขายดี ตีพิมพ์ 2 -3 ครั้งก่อนที่จะได้รางวัลซีไรต์

ความเป็นวีรพรกับวงวรรณกรรม

นันทนุช อุดมละมุล อาจารย์ด้านวรรณกรรม คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตั้งข้อสังเกตว่างานเขียนของวีรพรมีสไตล์เฉพาะตั้งแต่เล่มแรก แถมยังเป็นสไตล์ที่แหวกขนบและสร้างสรรค์ จนน่าจะส่งอิทธิพลต่อวงการ นักเขียน หรืองานใหม่ๆ ที่จะออกมา ในฐานะที่ดวงฤทัยอยู่ในวงการหนังสือมานาน ทั้งเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัดและเจ้าของร้านหนังสือคิดว่า

“น่าจะมีผล 2 แบบ คือ สร้างนักเขียน เป็นแรงบันดาลใจกระตุ้นให้คนเขียนมากขึ้น แต่ไม่ได้เป็นแบบวีรพร เพราะการเขียนแบบนี้ยากมาก ต้องใช้สมาธิสูงมาก ต้องเข้าไปในเรื่องมาก จึงจะปล่อยออกมาได้ขนาดนี้”

และสิ่งที่ดวงฤทัยเห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่ง คือบุคลิกของวีรพรนั้นเข้าถึงง่าย ไม่มีภาพลักษณ์นักเขียนมือรางวัลผู้สูงส่ง

“เคยคุยกับสำนักพิมพ์ด้วยกันว่า จะมีหนังสือบางเล่มที่ขู่คนอ่าน อ่านแล้วรู้สึกยิ่งใหญ่ จากความยิ่งใหญ่ของนักเขียน ชื่อเรื่อง หน้าปก แต่เรื่องของวีรพร ถึงจะอ่านยาก แต่พอคุยกับนักเขียนแล้วปลอบประโลม คุณวีรพรสร้างกลุ่มนักอ่านวรรณกรรมขึ้นมาด้วย เพราะคนอ่านรู้สึกว่าเขาเป็นมากกว่านักเขียน บางคนเรียกว่าแม่ เราไม่ค่อยเห็นบรรยากาศของนักเขียนมือรางวัลคลุกคลีกับคนอ่านขนาดนี้”

ความจริงของรายได้นักเขียนวรรณกรรม

วรรณกรรมต่างจากนิยายอย่างไร ฟากตะวันตกอธิบายได้ชัด เมื่อแยกนิยายให้เป็น Fiction คือเรื่องแต่ง และ Literature คือวรรณกรรม ที่มีงดงามภาษาและเนื้อหาลุ่มลึก ซึ่งต้องการการสร้างสรรค์และขัดเกลาจากนักเขียนสูง กับนักอ่านก็เช่นกัน หลายครั้งที่เราอ่านนิยายเล่มหนาจบอย่างรวดเร็ว เพราะอ่านง่ายและสนุก แต่สำหรับงานวรรณกรรมแม้เล่มบาง แต่ใช้เวลาอ่านนาน เพราะต้องการการอ่านและย่อยสารที่สอดแทรกอยู่สูง วรรณกรรมมีบางอย่างติดตรึงและชวนขบคิด แม้บางเล่มไม่สนุกเท่านิยาย ตลาดวรรณกรรมไทยจึงมีทางไปยากกว่า

ถ้านักเขียนคนหนึ่งทำงาน 3 – 5 ปีเพื่อให้ได้งานชิ้นหนึ่ง ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะได้พิมพ์ไหม แล้วอาสาเอาจิตวิญญาณของตัวเองไปทำอะไรแบบนั้น ถือเป็นความกล้าหาญมากนะครับ

วีรพรบอกว่าเป็นนักเขียนนั้นแสนจน หากเทียบชั่วโมงทำงานกับรายได้แล้ว “คิดง่ายๆ ตอนได้ซีไรต์เล่มแรก เราจะได้พิมพ์ 100,000 ก๊อปปี้ ได้ก๊อปปี้ละ 18 บาท เป็นเงิน 1 ล้าน 8 แสนบาท ดูเป็นก้อนมหึมาน่าเร้าใจ แต่ใช้เวลาเขียน 3 ปี พิมพ์มาแล้ว 2 ปี ถึงจะได้เงินจำนวนนี้ หาร 60 เดือน ได้เดือนละ 13,000 ยังไม่ได้หักภาษี หักแล้วไม่ต่างจากกรรมกรค่ะ แถมไม่มีสวัสดิการเลย นี่คือชีวิตจริง นี่คือนักเขียนซีไรต์ ที่ทำรายได้เยอะแล้วนะคะ”

หากเทียบจากยอดขาย ดวงฤทัยบอกว่า วรรณกรรมแปลมีคนอ่านเยอะกว่ามาก ส่วนวรรณกรรมไทยหากไม่ได้ซีไรต์หรือรางวัลอะไรเลย ก็มีที่ทางวางน้อย (แม้ที่ร้านจะมีมาก แต่ก็ขายได้น้อยกว่า) ยากที่จะได้ตีพิมพ์ หรือนักเขียนต้องลงทุนพิมพ์เอง ซึ่งเธอว่าเข้าใจสำนักพิมพ์ดี เพราะขายได้น้อยจริงๆ

ปรมัตถกร ปรเมธีกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ สำนักพิมพ์มติชน เสริมความจริงนี้

“พูดกันตามตรงยอดพิมพ์ของหลายสำนักพิมพ์ทุกวันนี้มีน้อยมาก 1,000 หรือ 1,500  ถ้า 2,000 เล่มนี่หรูมากแล้ว ฉะนั้น ถ้านักเขียนคนหนึ่งทำงาน 3 – 5 ปีเพื่อให้ได้งานชิ้นหนึ่ง ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะได้พิมพ์ไหม แล้วอาสาเอาจิตวิญญาณของตัวเองไปทำอะไรแบบนั้น ถือเป็นความกล้าหาญมากนะครับ

หนังสือเป็นงานที่ต้องใช้เวลาในการเสพ ขณะที่เพลงใช้ 3 นาที ภาพยนตร์ใช้ 2 ชั่วโมง เขาแนะว่า แม้วรรณกรรมจะอ่านยาก หากลองฝ่าไปให้เข้าถึงเนื้อหาสัก 30 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเห็นทิศทางของหนังสือแล้ว

“การเขียนหนังสือคือการทำงานศิลปะซึ่งหล่อเลี้ยงวิญญาณ แต่กายก็ต้องหล่อเลี้ยงนะ วิธีที่จะทำให้ร่างกายและวิญญาณไปด้วยกันนั่นคือหนังสือต้องขายได้ หลายคนจึงเลือกไม่เขียนงานวรรณกรรม ไปเขียนนิยายหรืองานที่สนุกสนานกว่า เช่น นวนิยายโรแมนติก

"เมื่อก่อนผมก็เป็นบรรณาธิการนวนิยายโรแมนติก ซึ่งขายง่าย เพราะเรื่องไม่ซับซ้อน ยอดพิมพ์ประมาณ  3,000 – 5,000 เล่ม ตอนหลังมีขายอีบุ๊คด้วย ก็เพิ่มรายได้ให้นักเขียน สำหรับ 1 ปก พิมพ์ 1 ครั้ง นักเขียนจะได้ประมาณ 70,000 – 100,000 บาท นี่คือนักเขียนแบบไม่มีรางวัลใดๆ เลยนะครับ แต่งานวรรณกรรมจะโหดร้ายกว่า ผมว่ายากมาก เอาจริงๆ พูดตามตรงขนาดงานซีไรต์ ก็ยังแอบโหด อย่างงานพี่แหม่ม 5 ปีกับเงินล้านกว่าบาท หักนั่นนี่แล้วได้น้อยมาก”

วรรณกรรมไทยอัสดงหรือรุ่งอรุณ

แม้แง่รายได้ของนักเขียนวรรณกรรมจะดูน่าใจหาย แต่ความเห็นจากนักเขียน นักแปล และนักอ่าน อย่างสฤณี อาชวานันทกุล มองวรรณกรรมไทยในช่วง 10 ปีให้หลัง ในแง่ผลงานถือว่าน่าสนใจและกำลังสร้างเสียงที่ชัดเจน

“ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ขอพูดชื่อนักเขียนที่ชอบนะคะ อย่างพี่แหม่ม วีรพร, พี่ม่อน อุทิศ เหมะมูล, คุณภูกระดาษ คุณจิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ ท่านเหล่านี้ คิดว่านี่คือคลื่นที่กำลังสร้างอะไรบางอย่าง เวลาอ่านไม่ได้คิดเชื่อมโยงแต่ละเล่มนะคะ แต่ด้วยแนวคิดที่ท่านเหล่านี้สนใจ เรื่องเหตุการณ์ โครงสร้าง หรือความทรงจำ เราควรจะเรียกได้แล้วว่านี่คือคลื่นลูกใหม่ของวรรณกรรมไทย

“นี่เป็นคลื่นที่มีพลังและน่าตื่นเต้นมากในฐานะคนอ่าน ตั้งแต่วิธีการเล่าเรื่อง ภาษาที่ใช้ ซึ่งกำลังสร้างอะไรที่เป็นของเราเอง จริงๆ ไม่ได้อ่านวรรณกรรมไทยเยอะ อ่านวรรณกรรมต่างประเทศมากกว่า มีบางช่วงที่อ่านแล้วรู้สึกว่าวรรณกรรมไทยมีการเลียนแบบลีลาหรือวิธีการนำเสนอแบบนักเขียนต่างประเทศมา แต่ผลงานของท่านเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกว่านี่คือเสียงของวรรณกรรมไทยและคลื่นลูกใหม่ ฉะนั้น ถ้าจะมีการส่งเสริมให้มีการอ่านวรรณกรรมไทย ก็ควรจะมีการจัดกิจกรรมให้เกิดการตระหนักรู้ว่านี่คือคลื่นลูกใหม่ของวรรณกรรมไทย หรือต้องจัดชื่อกลุ่ม ชื่อประเภทของงานประมาณนี้ขึ้นมา”

นันทนุชเห็นพ้องว่านักเขียนกลุ่มดังกล่าวมีบางสิ่งที่เป็นจุดร่วมกัน โดยไม่ใช่สไตล์การเขียน แต่อาจเป็นบริบท เป็นความเหมือนลึกๆ ข้างในที่ไม่ได้ออกมาในเนื้องานชัดแจ้ง เธอว่าอาจเรียกว่าเป็น “วรรณกรรมหลัง พ.ศ. 2549” หรือเปล่า? เพราะเป็นยุคที่มีความปริแตกบางอย่างของสังคม มีสิ่งที่ถูกกดทับ และต้องการสื่อสารออกมามาก

วรรณกรรมไทยต้องสนับสนุน

การอ่านวรรณกรรมที่มีโครงเรื่องซับซ้อนเป็นการบ่มพื้นฐานความคิดไปสู่การสร้างสรรค์หลายแขนง หากเราต้องการสนับสนุนวรรณกรรมไทย ต้องเปลี่ยนความคิดที่ว่าวรรณกรรมไทยยังวนเวียนกับประเด็นเดิมๆ

“ผมว่าคนที่ตัดสินอะไรแบบนั้น เขายังอ่านไม่หมด เพราะถ้าอ่านหมดจะเห็นว่า 10 ปีให้หลัง หลังจากอุทิศ เหมะมูล ได้ซีไรต์จาก “ลับแลแก่งคอย” วรรณกรรมไทยมันไปไกลมาก ถ้าเอาให้ตรงที่สุด ผมว่าตั้งแต่รุ่นที่ปราบดา หยุ่น ได้ วงการวรรณกรรมไทยเปลี่ยนไปมาก พอ ซะการีย์ยา ได้กวีฉันทลักษณ์ ก็ยิ่งเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดี และยังมีคนอื่นๆ อีก แต่ก็มีช่วงทรงๆ พอมาพี่แหม่มได้ เทรนด์เปลี่ยนเลย คนหันมาพูดเรื่อง โครงสร้างที่ใหญ่และซับซ้อน แต่เล่าด้วยภาษาละเมียด” ปรมัตถกร เสริม

แต่หนังสือเป็นงานที่ต้องใช้เวลาในการเสพ ขณะที่เพลงใช้ 3 นาที ภาพยนตร์ใช้ 2 ชั่วโมง เขาแนะว่า แม้วรรณกรรมจะอ่านยากกว่านิยาย หรือหนังสือฮาวทู แต่หากลองฝ่าไปให้เข้าถึงเนื้อหาสัก 30 เปอร์เซ็นต์ของทั้งเล่ม ก็จะเห็นทิศทางของหนังสือแล้ว แล้วดูว่าจะไปต่อได้ไหม และที่จริงราคาหนังสือในหลักร้อยบาท ก็น่าจะช่วยกันสนับสนุนได้

หากเสียงจากนักอ่านอย่างนันทนุชเห็นต่างว่า “มุมมองของนักอ่านก็ยังติดอยู่ว่าใครเขียน ถ้าเราไม่รู้จัก หนังสือก็ไม่ใช่อะไรที่เปิดดูผ่านๆ แล้วซื้อได้เลย ยอมรับว่าราคาไม่ได้แพงขนาดนั้น แต่สำหรับการสุ่มซื้อโดยไม่รู้เลยก็ยาก โดยเฉพาะวรรณกรรมไทย แต่วรรณกรรมแปลซื้อได้ เพราะนักเขียนที่สำนักพิมพ์เลือกมาแปลก็มีชื่ออยู่แล้ว ถ้ามีงานของนักเขียนที่ไม่เป็นที่รู้จัก แต่งานดีมาก สำนักพิมพ์ก็ต้องทำประชาสัมพันธ์ให้โดยเฉพาะ ไม่ต่างอะไรจากการขายเพลงอินดี้ ที่ต้องลงทุนลงแรงโฆษณาให้หน่อย”

หนึ่งเรือธงวงการวรรณกรรม

นักเขียนมือรางวัลจัดว่าเป็นเรือธงไม่เพียงแต่ของสำนักพิมพ์ แต่รวมถึงวงการวรรณกรรมด้วย จึงอาจเป็นหน้าที่ของสำนักพิมพ์ที่จะเป็นแกนนำในการหาวิธีส่งเสียงของวรรณกรรมให้ออกไปสู่ผู้อ่านทั่วไป ให้รู้ว่างานวรรณกรรมไทยควรค่าแก่การอ่าน และไม่เพียงนักเขียนมือรางวัล แต่นักเขียนที่มีภาษา สำเนียง และความลึกซึ้งในงานอีกมากมาย ก็ต้องหาวิธีสื่อสารกับคนอ่านให้ได้

43188573_1680872462021425_5620615995656765440_n

ภาพประกอบโดย นักรบ มูลมานัส

งานของวีรพร นิติประภา จัดว่าเป็นเรือธงของวงการวรรณกรรม ด้วยลีลาภาษาแหวกแนว เนื้อเรื่องมีความเป็นไปน่าติดตาม และมีเสน่ห์เฉพาะ ปรมัตถกรเล่าวิธีที่ทางมติชนผลักดันงานในมือของตัวเองให้ฟัง

“เราให้พี่แหม่มเป็นเรือธงเลย ชูความเป็นป๊อบ ป๊อบในความหมายของวรรณกรรม ความป๊อบนี้เชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ ผมเห็นว่ามีคนเข้าหาพี่แหม่มทุกวัยเลย ผมกับน้องๆ ที่มติชนสถาปนาให้พี่แหม่มเป็นเทพีพังก์ ฉะนั้น ในความเชื่อมโยงของพี่แหม่ม จะมีความสลับซับซ้อนแบบนี้ ขึ้นอยู่กับใครเป็นผู้เชื่อมโยง ผมว่าสิ่งนี้มีความแมส ทำให้ภาพลักษณ์ของตัวนักเขียนและงานเข้าถึงง่ายขึ้น ผมไม่เคยเห็นนักเขียนซีไรต์เป็นแบบพี่แหม่ม ที่เป็นทั้งนักเขียน ศิลปิน แม่ค้า นักเล่าเรื่อง คุณพี่ใจดี รวมอยู่ในคนๆ เดียว เชื่อมโยงกับหลายคน นี่คือปรากฏการณ์ของซีไรต์ปีนี้ และให้ภาพของแวดวงวรรณกรรมไทยในยุค 10 ปีให้หลังด้วย

“ในแง่ของการผลักดันเชิงการตลาด เราทำงานด้วยสะดวก เพราะเรื่องเล่าของพี่แหม่มเปิดช่องให้เอามาทำมากมาย สนุก และร่วมยุคสมัยของคนรุ่นนี้ หากสำนักพิมพ์จะเลือกงานของนักเขียนมาพิมพ์ ไม่อยากให้เลือกโดยมองว่าจะขายได้หรือไม่ แต่ให้มองว่าเรื่องเล่าของนักเขียนท่านนั้น สัมผัสอะไรได้บ้าง ซื่อสัตย์ระดับไหนได้บ้าง อย่าเพิ่งคิดว่าขายไม่ได้หรอก ผลักดันยาก ในเมื่อยังไม่ได้ลองเลย เพดานค่าต้นฉบับของประเทศนี้ไม่ได้แพง ไม่ได้แพงอะไร อยากให้ลองกัน”

งานเขียนดีๆ กำลังมาแรงเป็นคลื่นลูกใหม่ ถ้าสำนักพิมพ์ผลักดัน ผู้อ่านอย่างเราก็น่าเป็นแรงหนุน วงการวรรณกรรมไทยจะได้หมุนไปข้างหน้า