โลกของโรฮิงญา ในมุม 'ปู-ไปรยา'

โลกของโรฮิงญา ในมุม 'ปู-ไปรยา'

การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ไม่ใช่แค่เอาขวดน้ำและผ้าห่มไปให้ ยังมีปัญหาที่ซับซ้อนกว่านั้น

 

ช่วงที่ ปู ไปรยา ลุนด์เบิร์ก นักแสดงและนางแบบ ทูตสันถวไมตรีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในค่ายกูตูปาลอง ประเทศบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 8-10 ตุลาคม 2561

หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมต้องไปช่วยชาวโรฮิงญา....

ปูบอกว่า การทำงานเรื่องมนุษยธรรม ไม่ได้มองเรื่องการเมือง เพราะการเมืองคือ การวางทัศนคติอยู่ที่ความคิดเห็น 

"ปูไม่ได้มีความคิดเรื่องการเมือง แต่มีความคิดเห็นในสิ่งที่ถูกต้อง ต้องการช่วยเหลือบุคคลที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง” 

และอีกหลายคำตอบเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย รวมถึงเรื่องราวบางเสี้ยวในชีวิตของเธอ...

 

การเยี่ยมผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในค่ายกูตูปาลองเป็นอย่างไรบ้าง

ที่ค่ายผู้ลี้ภัยกูตูปาลอง เป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตปู ทำให้ตระหนักว่า เราน่าจะร่วมกันช่วยเหลือผู้ลี้ภัยโรฮิงญา เพราะไม่ได้เป็นแค่ผู้ลี้ภัย แต่เป็นคนไร้สัญชาติด้วย ในค่ายกูตูปาลองมีผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเก้าแสนคน ในจำนวนนั้น 52 เปอร์เซ็นต์เป็นเด็กและผู้หญิง เป็นครั้งแรกที่ไปค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญา แล้วได้เห็นเด็กเป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งไม่ได้เห็นในค่ายผู้ลี้ภัยอื่นๆ และมีหลายอย่างน่าเป็นห่วง สถานที่และค่ายผู้ลี้ภัยมีปัญหาซับซ้อน เจอมรสุม ดินถล่ม ปัญหาสุขภาพอนามัย มีหลายอย่างที่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือ

ปูพบหญิงชายคู่หนึ่งเดินทางมาถึงค่ายได้ 12 วัน พวกเขาเดินผ่านป่าและอุ้มลูกหนึ่งขวบมาด้วย พอถึงค่ายผู้ลี้ภัยลูกก็จากไปแล้ว ในฐานะคนไทย ถ้าเราต้องลี้ภัยออกจากบ้านตัวเอง โดยไม่รู้ว่า ข้างหน้าจะเจออะไร สูญเสียคนในครอบครัว มันเป็นเรื่องน่าเศร้ามาก และตอนนี้มีผู้ลี้ภัยทั้้งโลก 68 ล้านคน ซึ่งไม่ใช่ปัญหาไกลตัว แม้ UNHCR จะช่วยเหลือทุกอย่าง รัฐบาลไทยส่งแพทย์ไปช่วยรักษา เพื่อให้เขาอยู่ในสถานที่ปลอดภัย แต่งบประมาณขาดเป็นอย่างมาก 

ประสบการณ์ครั้งล่าสุด เปลี่ยนความคิดคุณยังไง

เราก็เหมือนทุกคน เวลาอ่านข่าวผู้ลี้ภัย เรามองเพียงตัวเลข เห็นแค่กลุ่มคนเดินทางมาพร้อมครอบครัว หิ้วของ อุ้มลูก แต่พอปูนั่งตรงข้ามผู้หญิงคนหนึ่ง เธอบอกว่า ช่วงจังหวะที่ข้ามเรือ คลื่นที่ซัดมา ทำให้ลูกแปดเดือนของเธอหลุดลงทะเล เห็นลูกจมน้ำ ความรู้สึกของมนุษย์คนหนึ่ง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตและปลอบเขาได้ หรือทำให้สถานการณ์ดีขึ้น พวกเขาไม่ได้อยากอพยพ แต่ไม่มีที่อยู่ ก็เลยต้องลี้ภัยมาพร้อมครอบครัว

เมื่อได้ลงพื้นที่ รู้เลยว่า ชีวิตมีค่า ลูกเขาก็มีค่าเท่าลูกปูในอนาคต พ่อเขาก็มีค่าเท่ากับพ่อของปู แล้วปูเป็นใครที่จะตัดสินว่าเขาไม่ควรได้รับความช่วยเหลือ ทัศนคติในการช่วยเหลือก็เลยเปลี่ยน และความซับซัอนในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ต้องมองหลายๆ ด้าน ไม่ใช่แค่เอาขวดน้ำและเอาผ้าห่มไปให้พวกเขา เรากำลังพูดถึงคนหลักล้านไม่มีที่ไป แล้วเราในฐานะเพื่อนร่วมโลก จะช่วยเหลือเขายังไง

คนไทยมองว่า ปัญหาผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องไกลตัว แล้วคุณมองยังไง

คนไทยมองว่าเรื่องเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นกับพวกเขา เราก็หวังเช่นนั้น ชาวซีเรียก็เคยคิดว่า เขาไม่มีทางเป็นผู้ลี้ภัย ถ้าเรามองว่าไกลตัว แล้ววันหนึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นกับเรา ในวันนั้นเราจะทำยังไง ปูไม่ได้บอกว่า เราคนไทยต้องช่วยเหลือทุกอย่าง แต่สิ่งแรกที่เราต้องการคือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติ       ทุกครั้งที่ได้ยินคนที่สูญเสียพ่อ สูญเสียลูก คำพูดเดียวที่เราพูดคือ เสียใจ ปูพูดคำนี้เกินร้อยครั้ง เราคนเดียวช่วยไม่ได้เยอะ ต้องอาศัยคนทั้งโลกร่วมกันคิดและหาทางแก้วิกฤติผู้ลี้ภัย เราอยากทำอะไรมากกว่าคำว่าเสียใจ

การเยี่ยมผู้ลี้ภัยโรฮิงญา คุณประทับใจเรื่องใดมากที่สุด

เราไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยมาหลายค่าย เด็กๆ จะเดินมาสังเกตพวกเราก่อน ปูสังเกตว่าเด็กจะไม่ร้องไห้ เพราะเขาแกร่ง เด็กๆ ที่เดินมา 7 วันโดยไม่มีน้ำ ไม่มีข้าว ชั่วโมงนั้นน้ำตาก็ไม่ช่วยคุณแล้ว สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดคือ ความแกร่งของผู้ลี้ภัย ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวว่า ถ้าประเทศต้นทางปลอดภัย ฉันอยากกลับบ้าน พร้อมครอบครัว

การได้พบปะผู้ลี้ภัย เป็นบุญอันประเสริฐ ชีวิตนี้ไม่เคยเจอกลุ่มคนที่ได้พบความรุนแรงและสูญเสียระดับนี้ พวกเขาไม่โทษใครเลย และมีความหวังว่า วันหนึ่งเขาจะได้กลับบ้าน

ก่อนจะไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในค่ายกูตูปาลอง คุณศึกษาปัญหาของพวกเขามากน้อยเพียงใด

 ก่อนจะมาทำงานให้ UNHCR ประมาณ 4 ปีกว่าๆ เริ่มจากเป็นอาสาสมัคร และถูกแต่งตั้งเป็นทูตสันตถวไมตรี ปูได้ติดตามข่าวจาก BBC และCNN ได้เห็นภาพและวีดิโอชาวโรฮิงญาอยู่บนใต้ท้องเรือรู้สึกสงสาร และที่เข้ามาทำงานตรงนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับความเข้าใจทางการเมืองหรือความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศต้นทาง แต่ปูเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องมนุษย์ธรรม โดยไม่ได้ศึกษาอะไรมาเลย ทำเพราะความเมตตา และใจอยากจะทำ

ไม่ได้สนใจปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา ?

การทำงานเรื่องมนุษยธรรม ปูไม่ได้มองเรื่องการเมือง เพราะการเมืองคือ การวางทัศนคติอยู่ที่ความคิดเห็น ปูไม่ได้มีความคิดเรื่องการเมือง แต่มีความคิดเห็นในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะต้องการช่วยเหลือบุคคลที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง

จริงๆ แล้วการมีความเห็นทางการเมือง มันจะมีความขัดแย้ง ถ้าไปทำงานการเมือง มันก็จะอีกด้านหนึ่ง เหตุผลที่เราทำคือ การช่วยเหลือคน โดยไม่มองว่าเขาเป็นคนชาติอะไร สีผิวและศาสนาอะไร หรือมีความคิดเห็นการเมืองแบบใด

คุณเจอคำถามเรื่องการเมืองบ่อยไหม

 มีคำถามแบบนี้ตลอด ปูพูดตลอดว่า ความคิดเห็นถ้าสร้างความขัดแย้ง เป็นสิ่งที่ไร้ค่า  แต่ความคิดเห็นที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เป็นสิ่งที่ดี ถ้าใครต้องการความคิดเห็นก็ต้องไปขอจากนักวิเคราะห์ นักการเมืองดีกว่า แต่ถ้าต้องการรู้ว่า เราช่วยเหลือยังไง เราต้องตอบได้

ถ้าจะแก้ปัญหาโรฮิงญาระยะยาว ต้องทำยังไง

ทุกประเทศต้องมีส่วนช่วยในเรื่องนี้ ปูไม่ได้พูดแค่วิกฤติชาวโรฮิงญา ยังมีอาฟริกา ซีเรีย วิกฤติผู้ลี้ภัย 68 ล้านคน เราจะมองเป็นเรื่องไกลตัวไม่ได้ เพราะหมายถึงความปลอดภัยในทุกประเทศ ถ้าพวกเขาไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา แล้วเขาเป็นความรับผิดชอบของใคร ก็เป็นเพื่อนมนุษย์กันทุกคน ถ้าถามว่าจะแก้ปัญหาระยะยาวยังไง ปูมองว่าไม่มีทางแก้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลทุกประเทศ และประชาชนทุกประเทศต้องช่วยกัน

อันดับแรกที่ต้องช่วยเหลือคือเรื่องอะไร

ข้อ 1.ต้องมอบความคุ้มครองให้พวกเขา ช่วย UNHCR หางบประมาณ ข้อ 2. สร้างการรับรู้ และการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงทัศนคติก่อน และทัศนคติ ไม่ได้แปลว่า เราจะต้องลงมือทำด้วยตัวเอง แต่มันคือคำพูด ความคิดและความเมตตาที่มีต่อพวกเขา ถ้าเสียงคนๆหนึ่งมีความเมตตาบวกขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นยี่สิบสามสิบล้านคน เชื่อว่ามันจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในเรื่องนี้

อย่าลืมว่า ถ้าเราปรับทัศนคติเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยได้ แล้วเข้าใจว่า ผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นจากความขัดแย้ง ความรุนแรงจากสงครามของกลุ่มที่มีทัศนคติแตกต่างกัน ทำให้คนต้องลี้ภัยออกจากประเทศตัวเอง ถ้าเราเข้าใจว่านี่คือเหตุผลที่สร้างผู้ลี้ภัยขึ้นมา เราก็จะเรียนรู้ถึงบทเรียนของความรุนแรง และสร้างสันติภาพในโลกนี้ 10-30 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ก็ยังไม่เรียนรู้บทเรียนของความรุนแรง และตัวเลขผู้ลี้ภัยก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรามองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แล้วอะไรเป็นเรื่องใหญ่ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์

คุณบอกว่า จะทำงานเพื่อสังคมไปตลอดชีวิต แล้วจะทำในรูปแบบไหน

ทุกครั้งที่เจอคำถามนี้ คนจะเข้าใจว่า ต่อไปปูคงจะจัดตั้งมูลนิธิ ซึ่งการก่อตั้งมูลนิธิใช้วุฒิภาวะค่อนข้างสูง ในอนาคตอยากช่วยเรื่องการศึกษาในประเทศไทย เด็กที่ไม่ได้รับโอกาสที่จะไปโรงเรียน อยากทำโครงการครูอาสาสมัครไปลงพื้นที่ แต่ ณ เวลานี้ยังไม่มีโครงการที่จะทำอะไร เพราะยังไม่ได้มีวุฒิภาวะสูงพอที่จะทำอะไรลึกซึ้งขนาดนั้น เราต้องรู้ลึกซึ้งจริงๆ ถึงปัญหา และวิธีแก้

ในอนาคตคงได้เห็นคุณทำงานเรื่องการศึกษา

ตอนนี้ก็ทำได้แค่ให้ทุนการศึกษาเด็กๆ แต่การก่อตั้งมูลนิธิ ยังไม่พร้อม ยังอายุไม่ถึง 30 และการที่เราจะสัญญากับคนๆ หนึ่งว่า จะดูแลเขาไปทั้งชีวิต หรือดูแลองค์กรทั้งชีวิต มันเป็นความรับผิดชอบที่ใหญ่ ตอนนี้ก็เลยโฟกัสไปที่งานสหประชาชาติก่อนคะ

ย้อนไปถึงชีวิตส่วนตัวสักนิด กว่าคุณจะมาถึงจุดนี้ ต้องพัฒนาตัวเองมากน้อยเพียงใด

ถ้ามองในแง่ทัศนคติ จะเรียกว่าพัฒนาตัวเองก็ใช่ ก็พัฒนาตัวเองทุกปี พอมีอายุมากขึ้น ปูเรียกว่าปรับทัศนคติตัวเอง และการที่เรารับรู้เรื่องราวดีๆ ฟังข่าวสาร อ่านหนังสือก็ช่วยเเสริมให้เราพัฒนาตัวเอง  จึงไม่เชื่อเรื่องการเข้าคอร์สอบรม 

ปูเชื่อว่าไม่มีมนุษย์คนไหนสมบูรณ์แบบ ปูเองกว่าจะมาถึงวันนี้ ก็ต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เข้าวงการแฟชั่นและบันเทิงตั้งแต่อายุ 14 ปี ตอนนี้อายุ 29 ทุกๆ ปีก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีวุฒิภาวะที่ดีขึ้น เหตุผลที่เปลี่ยนแปลงเยอะในด้านการทำงานสังคม การดูแลตัวเองและสุขภาพ ก็เพราะสองสิ่งที่ซื้อไม่ได้คือ กาลเวลาและสุขภาพ

งานสังคมที่ทำ ปูไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคนดีอะไรหรอก แต่รู้สึกว่าอาชีพดาราถูกก่อตั้งเพราะสังคม คนซื้อหนังหรือสินค้าที่เราเป็นพรีเซ็นเตอร์ เพราะปูเป็นดาราและเขาติดตามเรา ก็เลยรู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบที่ต้องมีต่อสังคม 

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่กำลังค้นหาตัวเอง คุณมีคำแนะนำอย่างไร

คนเราไม่ต้องค้นหาตัวเองหรอกคะ ลองสังเกตชีวิตตัวเองในทุกๆ วัน แล้วจะเข้าใจว่าไม่มีอะไรถาวร ไม่ว่าชื่อเสียง เงินทอง ความสุข ความทุกข์ ทุกอย่างมีขึ้นและมีลง ชีวิตจึงต้องเดินไปเรื่อยๆ ทุกวันที่ต้องแก้ปัญหา เจอความทุกข์หรือความสุข มันเป็นบทเรียนที่เราเรียนรู้ตัวเองและสังคม 

ทุกวันนี้เห็นคุณทำงานเยอะมาก วางเป้าหมายไว้แค่ไหน

การที่เราประสบความสำเร็จ เรามีโอกาสมากกว่าคนอื่น และสามารถแบ่งปันโอกาสนี้ให้กับคนอื่น ก็เลยโฟกัสว่า ฉันทำงานเพื่อชีวิตที่ดีสำหรับครอบครัวและตัวฉัน รวมถึงสังคม ถ้าเราไม่มีรายได้ ไม่มีชื่อเสียง ก็ช่วยอะไรใครไม่ได้

เป็นคนที่มีความคาดหวังสูง ?

ทุกคนจะคิดว่า ปูเป็นคนมีความคาดหวังสูง แต่คนไม่ค่อยรู้ว่า ไม่คาดหวังอะไรเลย เราทำทุกอย่างเพราะใจอยากทำและจะออกมาดีเอง เพราะที่ผ่านมาคาดหวังมาเยอะแล้ว วัยนี้ก็เลยไม่คาดหวัง ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ

ถ้าอย่างนั้นจัดสมดุลในชีวิตยังไง

ถ้าติดตามปูตั้งแต่ 8 ปีที่แล้วจนถึงวันนี้ ปูเจอมรสุมเป็นร้อยๆ เรื่อง เคยอกหักมาเยอะ ขึ้นๆ ลงๆ เป็นเรื่องจริงในชีวิตไปรยา ตอนนี้ก็เลยเฉยๆ ในวันที่เราขึ้น เราก็ทำให้ดีที่สุด ในวันที่คนอาจจะมองว่า ไปรยาไม่ดี เราก็แก้ไขพัฒนาตัวเอง ไม่มีอะไรมากกว่านั้น อีกอย่างถ้าความทุกข์ไม่มี ปัญญาไม่เกิด ปูเคยอยู่ในจุดที่เข้าวงการแล้วดังมาก จากนั้นไปเรียนต่อหายจากวงการ กลับมามีชื่อเสียงอีกรอบ มันเป็นวัฎจักร กระแสไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า

ปูเป็นคนใช้ชีวิตสบายๆ เดินข้างถนนได้ วินมอเตอร์ไซค์ก็ใช้สุดฤทธิ์ ไม่ได้เป็นคนติดห้างสรรพสินค้า เป็นคนมีวินัยสูง ปกติมีความคิดเป็นระบบอยู่แล้ว ต้องทำอะไรก็ทำ ในวันว่างก็พักสมอง ออกกำลังกายสัปดาห์ละสามวัน วิ่งสวนลุมบ้าง เล่นเวท เล่นพิลาทิส มีเทรนเนอร์บ้าง ไม่มีบ้าง กิจกรรมที่ชอบมากที่สุดคือ วิ่ง เวลาวิ่งได้สมาธิมากที่สุดสำหรับคนไฮเปอร์

เป้าหมายสูงสุดที่วางไว้ในชีวิตคือเรื่องใด

 วางไว้ว่า ต้องเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคม หวังว่า เราไม่ได้มาอยู่บนโลกนี้แล้วสูญเปล่า ได้ทิ้งอะไรดีๆ ให้กับโลกนี้ก่อนที่เราจะจากไป

 

.....................

หมายเหตุ : สามารถร่วมบริจาค ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาผ่าน SMS พิมพ์ 30 ส่งมาที่ 4642789 (เพื่อบริจาคครั้งละ 30 บาท) หรือ โทร.02-2062144 (จันทร์-ศุกร์ 09.00-18.00 น.) ดูรายละเอียดได้ที่ www.unhcr.or.th

 

  ค่ายโรฮิงญา1_181010_0014