จับผ้าไทยใส่ 'แอพฯ'

จับผ้าไทยใส่ 'แอพฯ'

คนรักผ้าไทย อยากได้ผ้าไทยทอมือ ผ้าไหม ย้อมสีธรรมชาติ ผลิตอย่างประณีต ไม่ต้องบุกไปถึงกลุ่มทอผ้าของแม่ ๆ ป้า ๆ หรือตามชุมชนคนทอผ้าเลี้ยงไหมอีกแล้ว เพราะตอนนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ จับ ผ้าไทยใส่แอพฯ ให้คนรักผ้าไทยและนักออกแบบตามหาผ้าไทยได้ตามต้องการ    

 

 

           อุมาพร สุขม่วง มอบภาพที่ระลึกให้กับช่างทอผ้า (2)

        อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ อุมาพร สุขม่วง (ซ้ายมือ)

            อุมาพร สุขม่วง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ บอกเล่าถึง โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ ด้วย คัลเลอร์ ไอดี เลเบลลิ่ง (Color ID Labelling) ว่า

          “เป็นแอพพลิเคชั่นที่รวบรวมผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติของคนไทยจากแหล่งที่ดีที่สุด จำนวน 20 แห่ง จาก 6 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เพื่อยกระดับผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนที่ชื่นชอบผ้าไทย รวมถึงกลุ่มดีไซเนอร์ที่ต้องการใช้ผ้าไทยในการออกแบบเสื้อผ้า ในแอพพลิเคชั่นรวบรวมข้อมูล ภาพถ่าย และภาพเคลื่อนไหว เป็นกระบวนการผลิต การทอ การย้อม จากกลุ่มทอผ้าชั้นฝีมือ ซึ่งแต่ละแห่งมีจุดเด่นและกระบวนการย้อมสีที่แตกต่างกัน เราจึงใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์ค่าสี เพื่อกำหนดเฉดสีออกมาในรูปแบบรหัสตัวเลขที่เป็นสากล ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการอ่านค่าสีให้กับผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ เพื่อให้ผู้ใช้แอพฯ สามารถเลือกเฉดสีผ้าที่ต้องการอย่างสะดวกมากขึ้น และสามารถสั่งผลิตกับทีมช่างได้โดยตรงจากข้อมูลแหล่งผลิตภายในแอพฯ ซึ่งเราหวังไว้ว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการผ้าทอให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล”

ภาพนิทรรศการผ้าไทย (17)

       นิทรรศการผ้าตัวอย่างจากกลุ่มทอผ้า 20 แห่ง   

    Fashion Show (1)    

    Fashion Show (10)   Fashion Show (13)   Fashion Show (16)

       แฟชั่นโชว์จากแบรนด์ นาดีน เจดีน ตัดเย็บจากผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ

       คัลเลอร์ ไอดี เลเบลลิ่ง จัดงานเปิดตัวที่ร้าน QUAINT สุขุมวิท 61 ในรูปแบบนิทรรศการนำเสนอผ้าตัวอย่างจากกลุ่มทอผ้า 20 แห่ง ต่อด้วยการแสดงแฟชั่นโชว์จากแบรนด์ นาดีน  เจดีน (Nadyn Jadyn) โดยครีเอทีฟ ไดเร็คเตอร์ ณัฏฐิญาณ์ สุขสถาน ที่นำผ้าไทยจากชุมชนผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ นำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าร่วมสมัยในคอลเลคชั่น กลีบใบ เฮือไฟ (เรือไฟ) สายน้ำ

          ทำไมต้องมีไอดีระบุค่าสี โสรญา รอดประเสริฐ นักวิทยาศาสต์ชำนาญการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ เล่าถึงที่มาของโครงการนี้ว่า

          “เนื่องจากเราเจอว่ามีโอท็อปหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มเอมีต้นทุนที่สูงมากเนื่องจากใช้วัตถุดิบที่ดี แต่พอเวลานำมาจำหน่ายพบว่าลูกค้าไปเทียบระหว่างกลุ่มเอกับกลุ่มดี แล้วเกิดคำถามว่าทำไมกลุ่มเอแพงกว่ากลุ่มดีเยอะ เอากำไรมากไปหรือเปล่า แต่จริง ๆ เกิดจากกระบวนการทำงาน เช่น การทอผ้าของกลุ่มเอใช้ไหม 15 เส้น แต่กลุ่มดีใช้ 2 เส้น ซึ่งก็ทำให้ต้นทุนต่างกันหลายเท่า และมีเรื่องการย้อมสีอีก การใช้เปลือกไม้ย้อมสีธรรมชาติกับเคมีต้นทุนก็ต่างกันมาก

ผ้าไทยทอมือย้อมสีธรรมชาติ (3)

         เช่น การย้อมครั่ง ถ้าอยากให้ได้สีแดงสดสวยต้องใช้ครั่ง 7 กิโล ต่อเส้นไหม 1 กิโล ซึ่งครั่งกิโลละ 250-300 บาท แค่ต้นทุนย้อมครั่งต่อไหม 1 กิโล ก็คือสองพันกว่าบาทได้ไหมแค่กิโลเดียว เลยเป็นที่มาของการให้เฉดสี คนที่ย้อมสีธรรมชาติดีมากเขาจะมือเที่ยงและแม่นมาก ซึ่งกลุ่มนี้เป็นระดับครูช่าง เราก็มาคิดว่าถ้าเราสามารถคัดเลือกกลุ่มนี้ให้มาเจอกับดีไซเนอร์ได้ น่าจะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการโอท็อปได้ดีขึ้น เลยเสนอโครงการบูรณาการของกระทรวงวิทย์ฯ และกระทรวงมหาดไทยโดยผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ เช่น สกลนคร นครพนม มุกดาหาร สุรินทร์ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ พอได้ 6 จังหวัดแล้วเราทำทำหนังสือไปถึงผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้ส่งชื่อมาเพื่อจัดสัมมนาอย่างเข้มข้น เลือกและคัดออกมาตอนแรกได้ 150 กลุ่ม ให้ดีไซเนอร์และนักการตลาดมาเลือกผ้า ดูว่าของใครดี โดยสุ่มให้คะแนนจากผ้าของแม่ ๆ ป้า ๆ ส่วนอีกกลุ่มเป็นผ้าไหม จะเลือกบ้านที่ทำผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ และเป็นไหมบ้านสาวมือ ราคาของไหมจะแบ่งเกรด เช่น ไหมน้อยราคาหนึ่ง ไหมลวกคือไหมไม่คัดเกรด อีกประเภทคือไหมสาวเครื่อง เราจะเลือกไหมบ้านสาวมือและย้อมสีธรรมชาติ แล้วเรามาคัดว่าจะเลือกพัฒนากลุ่มไหน

ผ้าไทยทอมือย้อมสีธรรมชาติ (4)

ทั้งหมดเลือกได้ประมาณ 30 กลุ่ม จาก 6 จังหวัด จากนั้นฝึกอบรมและลงพื้นที่ เช่น กลุ่มที่ทำฝ้ายเข็นมือย้อมสีธรรมชาติ เป็นฝ้ายที่ปลูกเองในจังหวัด เขาก็เก็บดอกฝ้ายมาเอามาปั่นเป็นเส้นด้าย แล้วย้อมด้วยสีธรรมชาติแท้ ๆ เช่น ย้อมคราม, ครั่ง ส่วนกลุ่มทำไหมก็ย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งปกติจะไม่ค่อยทำกันเนื่องจากราคาสูง ก็จะมีกลุ่มคนทำไหมที่เข้าโครงการจากสุรินทร์ มี 3 กลุ่ม ชัยภูมิ 2 บุรีรัมย์ 1 ไหมเวลาที่เราได้ผ้าตัวอย่างมาจะนำมาทดสอบที่สถาบันอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดูว่าค่าคงทนต่อสี ต่อแสง และคงทนต่อการซัก (ตกสีหรือเปล่า) ซึ่งค่าที่ได้มาจากสองกลุ่มคือฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ และไหมย้อมสีธรรมชาติ ต้องผ่านการคัดเลือกอันดับแรกคือ การทอต้องสม่ำเสมอ มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ และสีต้องไม่ตก เราก็คัดจาก 30 เหลือ 20 กลุ่ม จากนั้นให้ดีไซเนอร์ทดลองเอามาตัดชุด ส่วนนักการตลาดจะลงพื้นที่ถ่ายทำเพื่อทำแอพพลิเคชั่น ซึ่งจะมีรายละเอียดทั้งหมด เช่น บ้านที่ผ่านการคัดเลือกมานี้อยู่ที่ไหน มีขั้นตอนการทออย่างไร ตั้งแต่เตรียมเส้นด้ายไปจนถึงกระบวนการย้อมและการทอ ในแอพจะบอกอีกว่า ค่าสีตัวนี้ตรงตามมาตรฐานตามที่กำหนด พอได้ผลมาแล้วก็นำมาบรรจุลงในแอพพลิเคชั่น”

ผ้าไทยทอมือย้อมสีธรรมชาติ (10)rere

       การทำงานมีขั้นตอนชัดเจน ในฐานะผู้ลงพื้นที่และพัฒนาผ้าไทยให้ถึงขีดสุด อธิบายเพิ่มเติมว่า

      “ถือว่ากลุ่มที่คัดเลือกมาเป็นแฮนด์คราฟต์100% บ้านไหนยังไม่ได้จีไอ (ข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) เราก็จะส่งเสริมให้เขาได้จีไอด้วย เรามั่นใจว่าเป็นดีไซน์ออร์แกนิค และแอพฯ จะช่วยให้ยูสเซอร์เลือกผ้าได้อย่างมั่นใจ

       ส่วนคัลเลอร์ไอดี เป็นการรับประกันว่าจะได้เฉดสีที่ถูกต้องชัดเจน เช่น บ้านนี้ย้อมได้นับร้อยสีธรรมชาติ ไล่เฉดจากแดงถึงเหลือง ถ้าดีไซเนอร์อยากได้สีไหนก็บอกได้เลย ผู้ประกอบการก็สามารถทำได้และสั่งซื้อได้ เขาจะทำ 40 เมตร เพื่อให้ดีไซเนอร์ตัดเป็นไซส์ S, M, L ได้ จากเมื่อก่อนเวลาคนซื้อไปบอกผู้ประกอบการว่าต้องการสีนี้ระดับนี้บางทีก็ไม่นุ่ง แต่กลุ่มชุมชนต่าง ๆ ที่เราคัดเลือกมานี้บอกเฉดไหนก็จะได้สีนั้น เช่น สีครามเฉดนี้นะก็จะได้ตามต้องการเลย”

ภาพนิทรรศการผ้าไทย (18)

ภาพนิทรรศการผ้าไทย (3)

     วิสาหกิจชุมชนผ้าทอย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ

       โครงการทำแอพฯ ใช้เวลาร่วม 1 ปี ตั้งแต่คัดเลือก ลงพื้นที่ คุยกับนักออกแบบและนักพัฒนา ฝึกอบรมอย่างเข้มข้น และนำผืนผ้าของแต่ละชุมชนมาทดสอบ

ภาพนิทรรศการผ้าไทย (1)

     กลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านระงอล จ.สุรินทร์

  ภาพนิทรรศการผ้าไทย (25)     กลุ่มทอผ้าไหมสีธรรมชาติบ้านดู่ จ.สุรินทร์

       “แอพฯ นี้ชาวบ้านได้ประโยชน์สูงสุด เพราะหลังจากมีผู้ประกอบการโอท็อปเกิดขึ้นมากมีหลายกลุ่มปะปนกัน เราจึงทำให้เป็นมาตรฐานให้ผู้ซื้อมั่นใจ ปีต่อไปจะขยายโครงการไปภาคเหนือ เรามีเครือข่ายส่งรายชื่อมาแล้วเราแอบไปดู ดูว่าเขาทำฝ้ายเข็นมือจริงมั้ย สาวไหมจริงมั้ย ย้อมสีธรรมชาติจริงมั้ย ถ้าได้สามข้อนี้ครบจะคัดเลือกมาเข้าโครงการคัลเลอร์ ไอดีฯ”

ภาพนิทรรศการผ้าไทย (20)

         ปฏิบัติการควานหาช้างเผือกในป่าเริ่มขึ้นอีกครั้ง เพื่อตามล่าหาผ้าไทยมาใส่แอพฯ...

หมายเหตุ: ดาวน์โหลด “คัดเลอร์ ไอดี เลเบลลิ่ง” ได้บน APP STORE และ PLAY STORE ได้ทันที