เปิดประตูเงินล้าน ‘บ้านรังนก’

เปิดประตูเงินล้าน ‘บ้านรังนก’

ในความมืดและห้องอับ คือความลับของขุมทรัพย์มูลค่ามหาศาล

อาคารหลายชั้นตั้งตระหง่านอยู่กลางเมือง บางหลังอยู่ใกล้ทะเล แม้จะแตกต่างด้วยที่ตั้ง แต่หน้าตาอันมีคาแรกเตอร์ก็บ่งบอกให้รู้ว่านั่นคือ ‘บ้านรังนก’ เหมือนกัน

รังนกถูกแบ่งเป็นสองประเภทคือ รังนกถ้ำ และรังนกบ้าน สำหรับรังนกถ้ำคือรังนกตามธรรมชาติเกิดจากนกแอ่นไปอาศัยและทำรังในถ้ำซึ่งส่วนมากอยู่ตามเกาะ นกเหล่านี้กินแมลงทั้งบนเกาะและป่าชายเลน เมื่อแหล่งอาหารตามธรรมชาติมีไม่เพียงพอจำนวนไม่น้อยจึงบินมาหากินในเมือง และอาศัยอยู่ตามบ้านเรือน จนเกิดไอเดียสร้างบ้านให้นกอยู่ โดยคิดค่าเช่ากับเจ้านกน้อยเป็นรังที่สุดท้ายคนทำธุรกิจนี้บอกว่า อย่างไรนกก็ต้องทิ้งรังอยู่ดี

หลายคนเคยเห็น ‘บ้านรังนก’ เพราะหน้าตามีเอกลักษณ์ แต่หลายคนยังไม่รู้จักในรายละเอียด จะพาไปไขกุญแจ เปิดประตู แล้วปีนบันไดขึ้นไปดูธุรกิจนี้กัน

  • วิมานรังนก

เมื่อไม่นานนี้เว็บไซต์ซื้อขายออนไลน์ชื่อดังของจีนอย่าง Taobao ประมาณการตัวเลขมูลค่ารังนกพร้อมดื่มในประเทศจีนราวปีละ 99,000 ล้านบาท เค้กอภิมหายักษ์ใหญ่นี้เย้ายวนให้เข้าไปตัดแบ่งชิ้นเค้ก ขนาดตัวเลขนี้เพิ่งปรากฏ แต่หลายสิบปีผ่านมาประเทศไทยก็มีบ้านนกผุดขึ้นมากมาย

ได้เวลาไขกุญแจเผยความลับ กมลศักดิ์ เลิศไพบูลย์ นักธุรกิจรังนกและนักวิจัยรังนก เปิดเผยว่าการทำบ้านรังนกมีหลักการไม่กี่ข้อ คือ ทำบ้านให้เหมือนถ้ำ มืด ชื้น มีระบบระบายอากาศ หากมีเสียงเรียกนกเข้ามายิ่งมีโอกาส

ในรายละเอียดการสร้างบ้านนก ไม่ใช่แค่มีตึกหรือมีบ้านแล้วมาก่อผนังฉาบปูนให้ทึบแล้วเจาะช่องให้นกเข้า-ออกเท่านั้น มีหลายต่อหลังทำอย่างไม่รู้ ผลลัพธ์คือ ‘ร้าง’

กมลศักดิ์ บอกว่า ตั้งแต่ปี 1990 มีองค์ความรู้จากฝั่งอินโดนีเซียหลั่งไหลเข้ามา เกิดเป็นธุรกิจให้คำปรึกษาการสร้างบ้านรังนก บางรายขายฝันที่เป็นจริง บางรายเพียงขายฝันสลาย ในรายที่ประสบความสำเร็จบ้านต้องเริ่มจากทำเลทอง

“ต้องดูว่าทำเลนั้นมีนกอยู่ไหม เหมือนเปิดร้านอาหารถ้าไม่มีคนผ่านไปผ่านมาก็ขายไม่ได้ บ้านนกต้องอยู่ใกล้แหล่งอาหารเพราะนกไม่ต้องไปหากินไกล หลักๆ เมื่อก่อนคือสร้างบ้านนกใกล้บ้านที่มีนกอยู่แล้ว อาศัยธรรมชาติ”

ต่อมาความรู้เริ่มเพิ่มพูนกันมากขึ้น เรื่องอุณหภูมิ ความชื้น กลิ่น เสียง จึงเข้ามามีบทบาทในการสร้างบ้านรังนก หากสร้างถูกหลักจะควบคุมอุณหภูมิได้ ความชื้นก็จะควบคุมได้เช่นกัน สำหรับเรื่องกลิ่นและเสียงเป็นองค์ประกอบที่เสริมเข้าไปให้บ้านรังนกสมบูรณ์

จากข้อมูลของสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจรังนกแอ่น (ประเทศไทย) การเลือกทำเลที่ตั้ง จะต้องอยู่ในเกณฑ์ดังนี้ 1.อยู่ในตำแหน่งเส้นทางบินของนก หรือถนนนก 2.อยู่ใกล้แหล่งหาอาหารของนก และแหล่งน้ำจืด 3.อยู่ใกล้แหล่งนก (บ้านนกของคนอื่น) 4.บ้านนกสมัยใหม่ควรอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม 5.ควรอยู่ห่างไกลจากแหล่งมลพิษ และ 6.หลีกเลี่ยงตำแหน่งที่จะมีผลกระทบจากชุมชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมองไกลเป็นร้อยปี

ซึ่งการออกแบบบ้านรังนกที่มีขนาดเหมาะสมทางธุรกิจคือ มีความกว้าง 2 ห้อง คือกว้าง 8-10 เมตร มีความยาว 3 ห้อง คือยาว 12-15 เมตร จำนวน 3-5 ชั้น ความสูงระหว่างชั้น 2.5-3 เมตร หรือ 3-3.5 เมตร ภายในห้องต้องติดตั้งไม้กระดานให้นกเกาะนอนและทำรัง ทำเป็นช่องๆ คล้ายตารางหมากรุก อุณหภูมิและความชื้นต้องอยู่ในระดับเหมาะสม ติดตั้งลำโพงในตำแหน่งที่ถูกต้อง เป็นต้น

  • บ้านนี้มี (รัง) นก

เมื่อหลายสิบปีก่อน ครอบครัวของ พิชามญชุ์ อัครยศพงศ์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ พอส รังนก เดิมทีทำธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา ใช้ชั้นหนึ่งของบ้านเพื่อทำบริษัท แต่ชั้นสองและชั้นสามไม่ได้ใช้ประโยชน์ประจวบเหมาะกับมีคนแนะนำว่าควรลองทำเป็นบ้านรังนก โดยใช้บริการที่ปรึกษาจากประเทศมาเลเซีย เพราะยุคนั้นยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ในประเทศไทย ทุนก้อนแรกที่ลงไปประมาณ 2-3 ล้านบาท ซึ่ง ณ สมัยนั้นราคารังนกประมาณกิโลกรัมละ 50,000-70,000 บาท เป็นตัวเลขที่คุ้มค่าที่จะลงทุน และเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะหลังจากทำไม่นานก็คืนทุน

“การที่เราทำเป็นเจ้าแรกๆ เป็นโอกาส เพราะนกจะค่อนข้างเยอะ สมัยนั้นอาหารอุดมสมบูรณ์ และคนก็ยังทำไม่เยอะ ตอนนั้นที่ทำส่วนมากเป็นพ่อค้าคนจีนเข้ามาถึงที่บ้าน รับซื้อไป เราก็คิดว่าได้ราคาดีแล้ว แต่พอมีโอกาสได้ไปอยู่เมืองจีนจริงๆ พบว่ามันคนละเรื่องเลย ต่างกันประมาณ 3 เท่าตัว ปัจจุบันสมมติราคาแบบล้างแล้วบ้านเราประมาณ 50,000-60,000 บาท ที่เมืองจีนจะขึ้นเป็นราคาแสนกว่า หรือถ้าวางในห้างจะยิ่งแพง แพงได้ถึงกิโลกรัมละล้าน”

แม้จะเริ่มต้นด้วยบ้านหนึ่งหลัง เป็นอาคารพาณิชย์ 5 ห้อง ใช้ชั้นสอง ชั้นสาม และต่อเติมอีกหนึ่งชั้นทำบ้านรังนก เก็บรังนกได้เดือนละเกือบ 20 กิโลกรัม (ด้วยความถี่เก็บสองสัปดาห์เก็บหนึ่งครั้ง) ส่วนในฤดูวางไข่จะเก็บไม่ได้ ต่อมาเมื่อธุรกิจขยายจากบ้านหนึ่งหลังเพิ่มเป็นสองหลัง อยู่ในอำเภอหาดใหญ่และอำเภอสะเดา

อย่างที่รู้กันว่าตลาดรับซื้อรังนกที่ใหญ่ที่สุดของโลกคือประเทศจีน ยิ่งความต้องการทุกวันนี้เพิ่มมากขึ้นตลาดยิ่งเติบโต จีนจึงเป็นปลายทางสินค้าของนักธุรกิจบ้านรังนก สำหรับการส่งออกรังนกบ้านของไทยยังเป็นสีเทาๆ คือยังติดขัดข้อกฎหมายหลายข้อ เทคนิคมากมายจึงถูกงัดมาใช้ ตั้งแต่เรื่องสายป่านที่ยาวไปจนถึงการเลี่ยงบาลี

“เรามีคอนเนคชั่นที่จีน มีหุ้นส่วนที่นั่น โชคดีที่เราได้ภาษาจีนและเคยไปอยู่ที่นั่นหลายปี ถ้าเป็นคนอื่นก็ต้องขายตามลานประมูลหรือรอคนซื้อตามบ้าน มูลค่าในลานประมูลทั้งปีประมาณพันล้านบาท แต่จริงๆ อาจไม่ถึง น่าจะ 20 เปอร์เซ็นต์เองมั้งของคนที่มีบ้านรังนก เอาไปประมูลมีค่าธรรมเนียมด้วยนะ เสียเวลาทั้งวัน บางทีโดนตีราคาต่ำกว่า” นักธุรกิจบ้านรังนกเล่าให้ฟัง

สำหรับรังนกที่ส่งไปขายที่จีนจะมีศูนย์กลางอยู่เมืองหนานหนิง กวางสี แต่จะส่งไปแบบธรรมดาคงไม่ได้ จึงต้องอาศัยเอเจนซี่ขนส่งสินค้า เจ้าของรังนกต้องส่งสินค้าไปตีราคาตามน้ำหนัก โดยต้องแจ้งว่านี่คือรังนกซึ่งก็ทำให้ราคาประเมินค่าส่งพุ่งสูงขึ้นทันที ยกตัวอย่างส่งของทั่วไปไปจีนกิโลกรัมละ 80-100 บาท พอเป็นรังนกค่าส่งจะประมาณกิโลกรัม 2,000-3,000 บาท ส่วนเรื่องเทคนิคของเอเจนซี่แม้แต่เจ้าของรังนกก็ยังไม่ทราบ ซึ่งแน่นอนว่าเต็มไปด้วยความเสี่ยง ทั้งถูกจับและสินค้าเสียหาย

แต่กว่าจะมีนก มีรังนกให้ส่งออก กลยุทธ์สำคัญไม่แพ้สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ คือ การล่อหลอกให้นกเข้ามา หากเห็นบ้านรังนกแล้วลองเงี่ยหูฟัง บางครั้งอาจได้ยินก่อนเห็นตัวบ้านเสียอีก เสียงนกดังระงมอาจชวนให้คิดว่าเป็นเสียงนกในบ้านส่งเสียงร้อง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะนั่นคือเสียงตามสาย ถึงขนาดที่คนทำอัลบั้มขายเป็นจริงเป็นจัง

43422139_1974273202631482_341364932693983232_o

ธีรพร ปริญญากร นักออกแบบวางระบบอาคารนกแอ่น เป็นคนหนึ่งที่ผลิตเสียงนกแอ่นสำหรับล่อให้นกเข้าบ้าน เขาบอกว่าเสียงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคือหนึ่งในระบบของบ้านรังนก ความชื้น อุณหภูมิ กลิ่น และเสียง

“ธุรกิจเกี่ยวกับเสียงในต่างประเทศถือเป็นเรื่องใหญ่โตมากเลยนะ เขาขายแผ่นซีดีแผ่นเป็นหมื่น ต้องอะไรขนาดนั้น ผมก็มาฟัง แล้วบังเอิญได้รู้จักเพื่อนในวงการรังนกที่อยู่ต่างประเทศ ก็ชวนกันว่ามามิกซ์เสียงกันเองไหม เพราะเรารู้แล้วว่านกมีพฤติกรรมตอบสนองเสียงแบบไหน เช่นเดือนนี้ฝนตก นกกินอิ่ม เดือนนี้เป็นฤดูผสมพันธุ์ เป็นฤดูรักของเขา ก็ใส่เพลงรัก เพลงที่เกิดอาหารเกี้ยวพาราสี เรียกร้องให้เข้าคู่กัน”

หลังจากลองปล่อยขายแล้วมีกระแสตอบรับเชิงบวก ธุรกิจเสียงนี้จึงเดินหน้าไปพร้อมกับงานออกแบบวางระบบและให้คำปรึกษา จนตอนนี้เพลงในสังกัดของเขามีทั้งหมดหลายสิบเพลง ซึ่งมีเพลงฮิตหลายเพลง เช่น เพลงปาเจโร่ มีการตอบรับดีมากในประเทศมาเลเซีย

  • บ้านรังนก ‘นก’ หรือ ‘ไม่นก’

“ขณะนี้ประเทศอินโดนีเซียมีบ้านรังนกหลายแสนหลัง มีปริมาณรังนกมากกว่า 600 ตันต่อปี ในมาเลเซียเป็นธุรกิจที่รัฐบาลมองว่าทำให้ GDP โตได้ รัฐบาลส่งเสริมการทำบ้านนกอย่างจริงจัง ขณะนี้มาเลเซียมีมากกว่า 70,000 หลัง มีผลผลิตมากกว่า 400 ตันต่อปี และมีการวางแผนที่จะส่งรังนกเข้าจีนอย่างเป็นทางการ ขณะที่ไทยเราอยู่ในโลกมืดตลอด รังนกไทยเมื่อก่อนเป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย เพราะเรามีรังนกถ้ำเป็นหลัก เมื่อเรามีรังนกบ้านมากขึ้นแต่เราถูกกีดกันด้วยกฎหมาย ธุรกิจจึงกลายเป็นสีเทาๆ ในไทยเราเชื่อว่ามีมากกว่า 10,000 หลัง เฉพาะมูลค่าก็มากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี”

ตัวเลขต่างๆ ที่ กมลศักดิ์ ยกมา รวมถึงการสร้างบ้านนกแบบนี้ในประเทศไทย แม้จะดูเป็นเหมือนโอกาสและมีมูลค่ามากมาย แต่ปัจจุบันยังติดขัดในข้อกฎหมาย โดยเฉพาะในพรบ.สงวนพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ.2535 ระบุว่า ห้ามผู้ใดเก็บ ทำอันตราย หรือครอบครองรังสัตว์สงวน สัตว์คุ้มครอง มีความผิด เว้นแต่ได้รับอนุญาต ซึ่งการละเว้นดังกล่าวยังจำกัดอยู่แค่สัมปทานรังนกถ้ำ ไม่ครอบคลุมรังนกบ้าน จึงกลายเป็นความผิดตามมาตรา 21 มีโทษทั้งจำทั้งปรับ ทั้งยึดของกลาง

“ส่วนการสร้างบ้านรังนกก็ผิด เพราะคุณต้องระบุว่าสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัย เพื่อการพาณิชย์ ต้องระบุชัด แต่บ้านรังนกระบุไม่ได้ อย่างที่ทุกคนเห็นว่าทุกหลังเป็นแท่งๆ ประตูหน้าต่างไม่มี มีแค่รูระบายอากาศและให้นกเข้า-ออก มันจะเป็นบ้านคนได้อย่างไร มันจะถูกกฎหมายได้อย่างไร กลายเป็นปัญหาคนพยายามหลีกเลี่ยง เขียนอีกแบบสร้างอีกแบบ บางพื้นที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่มีความรู้ ออกใบอนุญาตให้โดยเป็นอาคารเลี้ยงสัตว์ แต่ถ้าเป็นอาคารเลี้ยงสัตว์ก็มีข้อกฎหมายผังเมือง คือห้ามเลี้ยงสัตว์ในเขตชุมชน”

การสร้างความเดือดร้อนรำคาญก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้บ้านรังนกถูกตั้งข้อหาจำเลยสังคม เช่น กลิ่น เสียง พาหะนำโรค ฯลฯ อาทิเรื่องเสียงที่ถูกเปิดเพื่อเรียกนก มีกรณีร้องเรียนไปที่หน่วยงานว่าเสียงดังรบกวนผู้อาศัยข้างเคียง เมื่อดูใน พ.ร.บ.สาธารณสุขระบุว่าเสียงต้องไม่ดังเกิน 70 เดซิเบล ตรงนี้กมลศักดิ์ตั้งคำถามว่าขึ้นอยู่ว่าวัดจากจุดใด เป็นต้น

ขณะที่กฎหมายพันกันอิรุงตุงนัง บ้านรังนกหลายหลังถูกสร้างขึ้นเต็มไปหมด ไม่ใช่แค่ภาคใต้ แต่กระจายไปทุกภาค บางหลังประสบความสำเร็จมีนกย้ายสำมะโนครัวเข้าอยู่เป็นชุมชนใหญ่ บางหลังเงียบเหงาไม่มีทีท่าแม้แต่คืนทุน ทว่าสิ่งที่ทุกหลังกำลังเผชิญเหมือนกันคือความมืดมิด มืดยิ่งกว่าความมืดในบ้านรังนกเสียอีก เพราะความไม่ชัดเจนของกฎหมาย คนทำธุรกิจก็ไม่รู้จะเดินหน้าต่ออย่างไรดีนอกจากดันทุรังทำโดยหลีกเลี่ยงต่างๆ นานา

คนสืบทอดธุรกิจนี้จากครอบครัวอย่าง พิชามญชุ์ เล่าถึงความครุมเครือนี้ว่า “ทีแรกก็ไม่รู้เราทำผิดกฎหมาย เพราะใครๆ เขาก็ทำ ส่วนมากเป็นคนจีนที่ชั้นหนึ่งทำค้าขาย ชั้นสองชั้นสามว่าง ไม่ได้อยู่ก็ต่อเติมให้นกอยู่เพื่อเพิ่มมูลค่า

ถ้ารัฐบาลทำให้รังนกบ้านถูกกฎหมายคงจะดีขึ้นเยอะ เพราะทุกวันนี้มีเอเจนซี่มาติดต่อซื้อไปขึ้นห้าง ขึ้นโรงแรมเยอะมาก แต่เราทำไม่ได้เพราะรังนกไทยไม่ถูกกฎหมาย ประเทศอื่นเขานำไปไกลแล้ว ยิ่งพอมีเรื่องฟ้องร้องเราก็รู้สึกแย่ นี่เราขาข้างหนึ่งอยู่ในคุกเหรอ ทั้งที่เราเห็นใครๆ ก็ทำ เยาวราชก็ขายกันเยอะแยะ เราสับสนนะ เรื่องกฎหมายเราอยากให้รัฐบาลชัดเจน ไม่มีใครอยากทำผิดกฎหมาย เราพร้อมเสียภาษี เพียงแต่ช่วยสนับสนุนเราให้ทำมาหากินหน่อย”

ระหว่างที่คนทำธุรกิจบ้านรังนกยืนงงในดงกฎหมาย และระหว่างที่ตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจจากธุรกิจนี้กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทุกประเทศ ภาครัฐคงต้องทบทวนและรีบสรุปให้ได้ว่าจะถูกหรือผิด “เอาไงแน่?”

43462695_1974273189298150_6348044174104723456_o