รักต่างวัย ไม่น่ารอด?

รักต่างวัย ไม่น่ารอด?

ลองอ่่านเรื่องสนุกๆ พร้อมข้อมูลงานวิจัยที่เปรียบเปรยให้เห็นภาพ

 

ในสังคมต่างๆ การมีคู่ครองที่อายุต่างกันมากๆ เช่น เป็นสิบปีขึ้นไป มักจะโดนถากด้วยสายตา หรือไม่ก็จิกด้วยคำพูด ถ้าผู้ชายแก่กว่า ก็มีตั้งแต่หลอกเด็ก ไปจนถึงโคแก่ชอบกินหญ้าอ่อน ส่วนสาวสองพันปีก็มีตั้งแต่กินเด็ก ไปจนถึงไก่แก่แม่ปลาช่อน แม้แต่นิยายไทยก็มีเรื่องที่ตัวละครอายุต่างกันมากๆ อย่างคู่อาเดียวกับหลานจอยใน “สลักจิต”

ในภาษาอังกฤษก็มีนะครับศัพท์ทำนองนี้ เรียกว่าเป็นคู่แบบ “พฤษภา–ธันวา (May–December)” ซึ่งก็ฟังดูรู้ว่ามีนัยไม่ดีเท่าไหร่

หากไปดูข้อมูลประชากรสหรัฐฯ ที่ทำออกมาในปี ค.ศ. 2013 จะพบว่า มีฝ่ายสามีที่อายุแก่กว่า 2–3 ปี อยู่ราว 20.4 เปอร์เซ็นต์(ขณะที่กลับกันมีอยู่แค่ 6.5เปอร์เซ็นต์) ถ้านับที่ฝ่ายชายอายุแก่กว่า 4–9 ปีก็จะมีถึง 24.9 เปอร์เซ็นต์ (กรณีฝ่ายหญิงแก่กว่า 4–9 ปีมีแค่ 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น) เฉพาะสองกลุ่มนี้ รวมๆ กันก็เกือบครึ่งแล้วนะครับ

ถ้าดูที่ความแตกต่างมากกว่านี้คือ 10 ปีขึ้นไป ก็ยิ่งน้อยลงไปอีกคือ คือ ฝ่ายชายอายุมากกว่ารวมแล้ว 7.4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้หญิงทำแบบเดียวกันแค่ 1.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ตัวเลขในออสเตรเลียและสหราชอาณาจักรก็ใกล้เคียงกันมาก

นี่เป็นกรณีคู่ชาย–หญิง ถ้ากรณีของคู่ชาย–ชาย หรือ หญิง–หญิง ความห่างของอายุจะมากกว่าสักหน่อย

ทำไมการมีคู่ครองที่อายุต่างกันมากหน่อย จึงกลายเป็นเรื่องไม่ดีไปได้ในสายตาของคนจำนวนมาก?

การแต่งกับคู่วัยใกล้เคียงกันไม่น่าแปลกอะไร เพราะเติบโตมาในวัฒนธรรมและสภาพสังคมที่ใกล้เคียงกัน หรือ “generation เดียวกัน” จึงพูดคุยกันรู้เรื่องมากกว่า แต่หากอธิบายกันตามหลักวิวัฒนาการ ผู้หญิงกับการมีลูกถือว่าเป็นการลงทุนที่มีต้นทุนสูงมาก (เทียบกับผู้ชายไข่ทิ้งไว้แล้วก็ไป) จึงต้องการหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมกับตัวเธอเองและลูก ซึ่งหาได้มากกว่าในชายที่อายุมากกว่า เพราะต้องใช้เวลาในการสั่งสม แต่ในทางกลับกัน ผู้หญิงอายุมากไม่ดึงดูดนักตามธรรมชาติ เพราะความเยาว์วัยย่อมหมายถึง ความสมบูรณ์ในการเจริญพันธุ์และโอกาสในการมีลูกมากกว่า

แต่ความเจริญในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็อาจจะทำให้ “ช่องว่าง” ตรงนี้แคบลง รวมไปถึงผู้หญิงที่ดูแลตัวเองดี รู้จักแต่งเนื้อแต่งตัว ก็อาจดูอ่อนวัยกว่าจริงมากก็ได้ ผมมีเพื่อนผู้หญิงตัวเล็กๆ อายุใกล้ 50 ปี แต่มีวัยรุ่นฝรั่งมาจีบ เพราะคิดว่าอายุไม่น่าเกิน 20 ปลายๆ หรือ 30 กว่าแค่นั้น

ที่เล่ามายังไม่น่าประหลาดใจนัก แต่สงสัยไหมครับว่า คู่ที่อายุต่างกันมากๆ เหล่านี้มี “ชีวิตคู่” ที่ยั่งยืนคงทนเพียงใด?

มีงานวิจัยที่ทำในมหาวิทยาลัยเอมอรีในปี 2014 (A. Francis-Ta (2014) SSRN, Sep 15) ที่ทำในคู่แต่งงานที่เพิ่งหย่าร้าง 3,000 คู่ นักวิจัยพบว่าช่องว่างอายุสัมพันธ์กับการหย่าร้าง โดยคู่ที่อายุต่างกันไม่เกิน 5 ปี มีอัตราหย่าร้างน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด หากเทียบกับคู่ที่อายุต่างกัน 10–20 ปี

อายุต่างกันมากๆ คือ หายนะกระนั้นหรือ?

อาจจะเร็วเกินกว่าจะสรุปเช่นนั้นได้นะครับ ย้อนกลับไปในปี 2008 มีงานวิจัยที่วิเคราะห์ฐานข้อมูลในอังกฤษและเวลส์ พบว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างอายุในคู่หย่าร้างแต่อย่างใด

แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ ข้อมูลที่ใหม่ขึ้นมาอีกกลับแสดงว่า คู่แบบอาเดียวหลานจอยแบบนี้ กลับมีสัดส่วนที่แสดงความพึงพอใจในชีวิตสมรสสูงกว่าคู่อายุไล่เลี่ยกัน คือสูงถึง 3 ใน 4 เลยทีเดียว (S.G. Skentelbery (2016) Evol Behav Sci 10(2), 142–7) อีกทั้งคู่เหล่านี้ยังมีระดับความเชื่อใจสูงกว่า และมีความหึงหวงอิจฉาริษยากันต่ำกว่าอีกด้วย

อันที่จริงคู่หญิงอายุมากกว่า ก็เคยมีรายงานมานานก่อนหน้านี้แล้วว่า เป็นคู่สมรสสุขสบายดีมากกว่า “ค่าเฉลี่ย” อายุต่างกันน้อยๆ หรืออายุเท่ากัน เช่นเดียวกัน (J.J. Lehmiller (2008) Psych Woman Quarterly, March 1)

สับสนใช่ไหมครับ ทำไมทำวิจัยแล้วได้ผลแตกต่างกันเช่นนี้? นี่แหละครับ งานวิจัยจริงๆ บางทีก็เป็นแบบนี้ บางทีก็เป็นผลจากกลุ่มตัวอย่างที่แตกต่างกันแค่นั้น บางทีก็จากกระบวนการทำวิจัยว่า ใช้วิธีการที่รอบคอบรัดกุมแค่ไหน

ขณะที่บางทีก็แค่เป็นเพราะใช้กลุ่มตัวอย่างที่เล็กเกินไป และกลุ่มตัวอย่างกระจายอย่างไม่ทั่วถึงด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง

ในงานวิจัยข้างต้น ระบุว่า คู่อายุต่างกันลิบลับที่เกิดปัญหาขึ้นภายหลัง ไม่พึงพอใจกับชีวิตคู่เท่าที่ควร ก็มีผลจากปัจจัยและผลกระทบด้านครอบครัวเดิมของตัวเอง จากพวกเพื่อนๆ และจากคนในชุมชน ที่เป็นเสมือนตัวฉุดรั้งในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานอยู่กินกันแบบนี้...ต่างหาก

ผลกระทบแบบนี้เกิดกับคู่เพศเดียวกันเช่นเดียวกัน

ปัจจัยสำคัญปัจจัยสุดท้ายที่อาจส่งผลได้แก่ “ช่วงอายุ” ของคนทั้งสองเองด้วย เช่น คู่อายุ 20 ปีกับ 30 ปี จะส่งผลด้านความแตกต่างมากกว่าคู่อายุ 40 ปีกับ 50 ปี

แต่สุดท้ายแล้ว ชีวิตคู่ที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีความเห็นและความเชื่อเกี่ยวกับคุณค่าและเป้าหมายของความสัมพันธ์ มีความใกล้ชิดไว้ใจกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในความสำเร็จของอีกฝ่าย และช่วยกันแก้ปัญหาแบบสร้างสรรค์

ทั้งหมดที่ว่ามานั้น ดูแล้วก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับอายุสักเท่าไหร่นะครับ