ออกแบบชุมชนผู้สูงวัยในที่อยู่อาศัย

ออกแบบชุมชนผู้สูงวัยในที่อยู่อาศัย

ผู้สูงอายุไม่ได้นั่งทำงานฝีมืออยู่ชานเมืองแบบที่เราเคยเข้าใจ แต่พวกเขาเลือกใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ และมองหาสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองคุ้นเคย

สังคมผู้สูงวัยเป็นเรื่องที่ใครๆก็พูดถึง เช่นเดียวกับแนวคิดของการสร้างสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัยให้กับกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งปัจจุบันนี้ก้าวหน้าไปมาก

เมื่อไม่นานมานี้ ‘จุดประกาย’ เคยเล่าถึงรูปแบบการอยู่อาศัยของผู้สูงวัยในญี่ปุ่นซึ่งมีจุดเด่นเรื่องการสร้างชุมชนของผู้สูงอายุ รวมถึงมีรูปแบบการบริหารจัดการที่ชัดเจน เกิดธุรกิจที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงวัยหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น 1.การพัฒนาที่อยู่อาศัยในรูปแบบ Nursing Home และบริหารจัดการผ่านบริษัท 2. การลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยในโครงการขนาดใหญ่ มีสถานดูแลผู้สูงอายุ โรงเรียน ที่ทำกิจกรรมสำหรับเด็กในพื้นที่ละแวกเดียวกัน เพื่อให้คนทุกวัยสามารถอยู่ร่วมกันได้ 3.ธุรกิจรีโนเวตที่อยู่อาศัย และ 4. ธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์ Home Material and Product Innovation สำหรับผู้สูงวัย

รติวัฒน์ สุวรรณไตรย์ สถาปนิกบริษัทโอเพนบอกซ์ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ศึกษาแนวคิดการออกแบบสำหรับผู้สูงอายุ โดยเขามองว่า จากการศึกษาไลฟ์สไตล์ปัจจุบันของผู้สูงอายุเช่นในทวีปยุโรป พบว่า ผู้สูงอายุไม่ได้นั่งทำงานฝีมือ เย็บปักถักร้อยอยู่ชานเมืองเหมือนที่เราเคยเข้าใจ แต่ผู้สูงอายุเลือกที่จะใช้ชีวิตชุมชนในเมืองใหญ่ๆ และมองหาสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองคุ้นเคย

_n1a3343

“พวกเขามักเลือกที่อยู่อาศัยย่านที่มีระบบการขนส่ง สาธารณูปโภคสะดวกสบาย มีโรงพยาบาลพร้อม มีสถานที่น่าสนใจสำหรับชุมชน เช่น พิพิธภัณฑ์ โรงละคร ร้านอาหาร และเป็นย่านซึี่งมีความปลอดภัยสูง โดยวัดจากสถิติของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในเมืองนั้นๆ โดยในแถบยุโรป เมืองที่เป็นที่นิยม ก็เช่น เมืองซูริค ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมัน เมืองสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ส่วนในแถบเอเชีย ประเทศที่จัดอันดับว่ามีผู้สูงอายุเป็นอันดับหนึ่งคือ ญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะใช้ชีวิตในเมืองใหญ่เช่นกัน เช่น โตเกียว เกียวโต ฟูกุโอกะ”

unnamed

ไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุเช่นนี้ไม่ต่างอะไรจากเมืองไทย ซึ่งพบว่ากลุ่มคนวัยนี้ยังสนุกสนานกับการใช้ชีวิตในเมือง ออกไปเล่นกีฬา หาร้านอาหารอร่อยๆ ที่มีการตกแต่งสวยงามเพื่อสังสรรค์กับเพื่อนฝูงและครอบครัว ติดต่อสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆไม่ต่างจากวัยรุ่น ยิ่งในด้านการตลาดหลายประเทศพบว่า ผู้ใหญ่วัย 55 ปีขึ้นไปแล้ว มีกำลังซื้อ มีเวลา และไม่คิดมากในการตัดสินใจซื้อสินค้าเมื่อเทียบกับวัยรุ่นหรือวัยทำงาน ทำให้ปัจจุบันนี้สินค้าออนไลน์หันมาจับลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น

dsc_5050

รติวัฒน์ มองว่า เมืองไทยได้จัดพื้นรองรับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุและมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากที่ผู้สูงอายุที่ไม่มีครอบครัวดูแลมีทางเลือกเดียวคือ บ้านพักคนชรา ก็เปลี่ยนไปเป็นที่พักรูปแบบใหม่ใกล้ชุมชนมากขึ้น เพิ่มกิจกรรมภายในให้หลากหลายขึ้น และบางแห่งก็มีการนำพื้นที่สีเขียวเข้ามาช่วยให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น

“ในฐานะสถาปนิก ผมมองว่าสิ่งที่สำคัญที่ต้องเริ่มคือการสร้างชุมชนผู้สูงอายุ(Aging community) ที่เน้นสร้างพื้นที่ที่ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ต่อกันนั่นเอง อย่างการออกแบบอาคารพักอาศัยแบบคอนโดมิเนียมสำหรับผู้สูงอายุสิ่งแรกที่ต้องคิดคือพื้นที่อยู่อาศัยนี้จะไม่ใช่เพียงแค่การออกแบบอาคารที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ต้องคิดถึงการอยู่อาศัยเพื่อการใช้ชีวิตอย่างแท้จริง ทำอย่างไรให้มนุษย์คนหนึ่งสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด เน้นการพบปะกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ใหม่ เริ่มจากจัดแต่ละกลุ่มเป็นชุมชนเล็กๆ มีพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกัน ให้พบปะเห็นหน้ากันจนคุ้นเคย ให้เกิดเป็นชุมชนขนาดเล็กที่เหนียวแน่น แล้วจากชุมชนเล็กๆ นั้น ก็สามารถขยายออกมาทำกิจกรรมภายนอกร่วมกับกลุ่มอื่นๆได้ ในขณะเดียวกันต้องปลอดภัย สะอาด มีเจ้าหน้าที่ใส่ใจดูแลมีพื้นที่สีเขียวในโครงการมากกว่าร้อยละ 50 เพื่อให้ได้อยู่ใกล้กับธรรมชาติจริงๆ”

dsc_4569

การสร้างชุมชนที่ว่านี้มีโมเดลที่ได้ผลดีในเมืองโทยาม่า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแต่เดิมเป็นเมืองที่มีชุมชนคนวัยทำงานอยู่แล้ว แต่ได้มีการเชื้อเชิญให้ผู้สูงอายุเข้ามาอยู่อาศัย และสร้างหลักสำคัญ 3 ประการ คือ การพัฒนาระบบขนส่งให้พร้อม การดึงผู้คนให้กลับเข้าสู่ชุมชน และนำกิจกรรม สิ่งอำนวยความสะดวก และสาธารณูปโภคต่างๆ เข้ามา โดยทางการมีการลดหย่อนภาษีให้ธุรกิจที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้สูงอายุเป็นพิเศษ ดึงดูดนักธุรกิจให้มาลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจสปา, คลาสเรียน, ศูนย์กายภาพบำบัด ฯลฯ รวมไปถึง คาเฟ่ ห้องสมุด สวนสาธารณะให้เป็นที่พบปะสังสรรค์ และพักผ่อนหย่อนใจได้

“อย่างคุณยายผม ตอนแรกเราก็คิดว่าคุณยายจะเปลี่ยนแต่พอมาลองสังเกตจริงๆ กลับพบว่าคุณยายไม่ได้อยากเก็บตัว ที่คุณยายเดินทางน้อยลงเพราะไม่ต้องการเป็นภาระใคร เลยลองซื้อเก้าอี้ไฟฟ้ามาติดรถซึ่งทำให้คุณยายสามารถขึ้นรถได้สบายไม่ต้องก้าว หลังจากนั้นคุณยายก็กลับมามีความสุขในการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ มีชีวิตชีวาอีกครั้ง”

พื้นที่อยู่อาศัยในทุกวัยของชีวิตได้จึงเป็นสถานที่ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามอายุของเจ้าของบ้าน ตั้งแต่ช่วงอายุที่ดูแลตัวเองได้ใช้ชีวิตปกติ ไปจนถึงช่วงที่ต้องมีคนช่วยดูแลตลอดเวลา รวมถึงเป็นสถานที่ซึ่งลูกหลาน เพื่อนฝูง ได้ใช้ชีวิตและมีการทำกิจกรรมร่วมกันได้

dsc_4509