'สุวรรณฉัตร' แท็กซี่ใจบุญ รับส่งผู้ป่วย ผู้พิการ

'สุวรรณฉัตร' แท็กซี่ใจบุญ รับส่งผู้ป่วย ผู้พิการ

แค่ฝนตก รถติด ก็เรียกแท็กซี่ยากแล้ว แต่แท็กซี่คนนี้ทำมากกว่านั้น ไม่ใช่แค่รับและส่ง ยังช่วยอุ้มไปถึงโรงพยาบาล

 

       ใช่ว่า...ชีวิตไม่มีทางเลือก อยู่ที่ว่าจะเลือกแบบไหน 

      เหมือนเช่น สุวรรณฉัตร พรหมชาติ แท็กซี่จิตอาสาที่ให้บริการรับส่ง(ฟรี)สำหรับคนพิการ คนป่วย และไม่ใช่แค่ขับรถไปส่ง ยังช่วยอุ้มจากเตียงที่บ้านไปถึงโรงพยาบาล เขาทำแบบนี้มานานกว่ายี่สิบปี

     เพราะเขาเองก็เคยผ่านความลำบากและยากจนมาก่อน บ่อยครั้งไม่มีกิน แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือจากคนที่ไม่เคยรู้จักเลย ทำให้ตระหนักรู้ว่า ควรใช้ชีวิตให้มีคุณค่าต่อผู้อื่น

“ชีวิตคนเราจะแค่เรียนหนังสือ ทำงาน แก่ เข้าเตาเผา ชีวิตมีแค่นี้เองหรือ” สุวรรณฉัตร เล่าบนเวที The Givers Network 2018 ซึ่งจัดเป็นปีแรก ที่เซ็นทรัลเวิลด์ โดยหลายหน่วยงานช่วยกันจัด อาทิ มูลนิธิเพื่อคนไทย .มูลนิธิดีทีแฟมิลี่ส์  ฯลฯ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนงานด้านจิตอาสาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

เขาเล่าถึงชีวิตแต่ละวันให้ฟังว่า ต้องตื่นตั้งแต่ตี 2 ตี 3 หรือไม่ก็ตี4 เพราะมีผู้ป่วยจองคิวให้ไปรับประมาณ 4 คน บางทีมีขาจรเพิ่มอีกสามคน 

"สิ่งที่ผมทำ ก็ซ้ำๆ ซากๆ ไปรับ ไปส่งผู้ป่วย นั่นทำให้เพื่อนๆ ที่รู้จักกัน มองว่า ผมไม่เต็ม” 

และการทำงานในลักษณะนี้ เขาต้องใส่เข็มขัดพยุงหลัง ปลอกแขน ผ้ากันเปื้อน และหน้ากากอนามัย(บางครั้ง) เพื่อป้องกันการติดเชื้อทั้งผู้ป่วยและตัวเขา

“ทุกๆ วันผมจะเปิดรับคิวช่วงสองทุ่มถึงสี่ทุ่ม บางทีต้องอุ้มคนป่วยจากชั้นสี่บ้าง เข้าไปในชุมชนสลัมบ้าง บางครั้งอุ้มออกมาสองกิโล โดยให้ญาติช่วยถือเก้าอี้ตาม เหนื่อยตรงไหนก็พักตรงนั้น เพื่อพาคนป่วยไปหาหมอ”

เขาช่วยเหลือผู้ป่วยโดยไม่รังเกียจ และบางครั้งผู้ป่วยก็ไม่สามารถบังคับการขับถ่ายได้

“บางคนเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย มีแผลกดทับ มีกลิ่นเหม็น ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ญาติไม่กล้าแตะ เราก็อุ้มขึ้นรถ บางทีรถเหม็นมาก เราก็ต้องเอาแอลกอฮอล์เช็ค” สุวรรณฉัตร เล่า และบอกว่าคนที่เราเคยช่วยอุ้มขึ้นรถ บางคนเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ญาติที่มีฐานะดี ก็บริจาคอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยทั้งหมดผ่านเรา 

"ผมก็คัดกรองนำไปให้ผู้ป่วยที่เราไปช่วย เพราะบางคนต้องนอนบนพื้นกระดาน พื้นปูน และไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ เราก็เป็นสะพานบุญให้ โพสต์เพื่อขอบคุณคนที่แบ่งปันให้คนอื่น เคยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ให้ที่นอนผม ไปช่วยคนที่ขาดแคลนไม่อั้น หรือคนที่อยู่อเมริกา โอนเงินมาให้ซื้ออุปกรณ์ให้ผู้ป่วย”

สำหรับเขาแล้ว การเป็นสะพานบุญ ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต และต้องรักษาสิ่งนี้ไว้ 

"เงินที่คนบริจาคมา เวลาเอาไปซื้อของ ต้องมีใบเสร็จส่งให้เขาดู เพื่อให้คนป่วยขอบคุณคนให้ด้วย ในช่วง 20 ปีที่ผมเป็นจิตอาสา มีปัญหาอื่นๆ อีีกเยอะ หลายคนไม่รู้สิทธิเรื่องการเบิกจ่ายเบี้ยคนพิการ เบี้ยผู้สูงวัย  คนป่วยบางคนก็ไม่รู้ว่า ตัวเองมีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ เราก็ประสานงานให้ใช้สิทธิ บางทีต้องอุ้มคนป่วยไปที่ธนาคาร หรือสำนักที่ดิน เพื่อทำธุรกรรม”

ปัญหาที่เขาเล่า ยังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดมาช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม แม้กระทั่งระบบธนาคารหลายแห่ง ก็ยังไม่มีระบบช่วยเหลือให้คนป่วย คนพิการ หรือคนสูงวัย ทำธุรกรรมได้ง่ายขึ้น

“เคยอุ้มผู้ป่วยไปหาหมอ มีหลายคนไม่ได้ยากลับบ้าน เพราะไม่มีเงิน หรือมีผู้ป่วยบางคน มีเงินในธนาคารเป็นหมื่นเป็นแสน แต่ไม่สามารถเอาเงินออกมาใช้ได้ เพราะป่วยเป็นเส้นเลือดสมองตีบ จำรหัสบัตรเอทีเอ็มไม่ได้ ผมเคยอุ้มผู้ป่วยไปเบิกเงินที่ธนาคาร ต้องไปเถียงกับนายธนาคาร จนผู้ป่วยได้เงิน ไม่ว่าผู้ป่วยตัวเล็กหรือตัวใหญ่ เวลาไปถอนเงินก็ต้องแบกไป ชีวิตคนเราไม่แน่นอน บางคนเคยทำงานเป็นข้าราชการ พอป่วยก็ไม่อยากให้ใครเห็น ผมก็ช่วยพาไปน แล้วอุ้มไปหาหมอ "

      สุวรรณฉัตร บอกอีกว่า “ถ้าผมตายวันนี้ พรุ่งนี้ ผมไม่เสียดายชีวิต ผมได้ใช้พลังในชีวิตใ่ห้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ผมไม่ต้องรอให้รวยก่อน แล้วค่อยทำ”

และหลายคนก็ต้องแปลกใจ ทั้งๆ ที่สุวรรณฉัตร เรียนจบแค่ระดับประถม แต่มีภรรยาเป็นหมอ คือ แพทย์หญิงจำเนียร พรหมชาติ โดยปัจจุบันเธอเข้าโครงการเกษียณก่อนกำหนด ลาออกจากราชการ เพื่อมาช่วยสามีทำงานจิตอาสา 

นอกจากนี้ืทั้งสองยังช่วยกันทำโต๊ะเก้าอี้นำไปแจกให้โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ช่วงเสาร์อาทิตย์ไปช่วยกันทำที่ศูนย์ฝึกงานไม้ศิษย์เอก  ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยมีนิพนธ์ เจียมสมบัติ จิตอาสาอีกคนเป็นหัวเรือใหญ่

“ที่เราทั้งสองมีวันนีี้ เพราะศีลเสมอกัน” 

ถ้าย้อนถึงความลำบากในชีวิต สุวรรณฉัตร บอกว่า เคยกินแม้กระทั่งดิน เพราะยากจนมาก

“เราก็รอดตายมาหลายครั้ง ก็เลยอยากทำสิ่งๆ นี้ ตอนเด็กๆ ไปโรงเรียนก็ไปล้างจานแลกอาหาร บางครั้งรองเท้าไม่มีใส่ เดินบนดินลูกรัง ผมเรียนถึงประถม 3 ก็บวชเณร สึกมาทำงานก่อสร้างกับพ่อ ผมไปทำงานที่ไหนก็เจอคนเอาเปรียบ ไม่ได้ค่าแรง ได้แค่ข้าวกิน เคยลำบากมาเยอะ คงมีกรรมต้องชดใช้ ผมเป็นนครศรีธรรมราช เคยนั่งรถไฟมาทำงานในกรุงเทพฯ แต่ถูกหลอกไปทำงานบนเรือที่ชุมพร ระหว่างรอที่ท่าเรือ เกิดอุบัติเหตุ คิดว่าออกเรือไม่ได้แล้ว 

แต่เจ้าของเรือจ่ายเงินค่านายหน้าไปแล้ว ก็ต้องไป ทั้งๆ ที่แผลจากอุบัติเหตุ ไม่ได้ใส่ยารักษาเลยเป็นเวลาแปดวัน ผมถูกซ้อมถูกตี จนหลบหนีออกมาได้ ต้องนอนไข้ขึ้นอยู่ที่สถานีรถไฟชุมพร คนเดินผ่านไปผ่านมาทั้งวัน ผมก็หลับไม่รู้สึกตัว จนมีคนมาเขย่าตัว ซื้อข้าว ซื้อน้ำและตั๋วรถไฟฟ้าให้ นั่นเป็นแรงบันดาลให้ผมอยากทำความดี”

เมื่อตั้งต้นว่าจะทำชีวิตให้มีคุณค่า ทำสิ่งดีๆ ให้ผู้อื่นบ้าง เขาก็มุ่งมั่นทำงาน 

“คนอื่นจะทำกับเรายังไง เราจำขึ้นใจว่า อย่าไปทำกับคนอื่นแบบเดียวกับที่เขาทำกับเรา เมื่อมาอยู่กรุงเทพฯ ผมทำงานโรงงานกระดาษ ได้ค่าแรงวันละ 70 บาท และที่สุดมาเป็นยาม โดยตำรวจเจ้าของบริษัทบอกว่า จะให้ค่าแรงวันละ 250 บาท เห็นว่าไม่มีญาติ ก็ให้ที่พักฟรี ค่าข้าวฟรี ทำงานมาห้าเดือน ไม่ได้เงินสักบาท ทวงเงินก็ไม่ได้ เคยเห็นคนถูกซ้อม และวันหนึ่งก็เจอกับตัวเอง ตอนที่เดินไปขอเงินเดือนเพื่อส่งกลับบ้าน เขาจับแขนล็อคกุญแจมือแล้วซ้อม เมียเขาเป็นอาจารย์ก็นั่งดูเฉย แต่ลูกน้องที่เห็นตาแดงๆ สงสารเรา จนผมออกมาทำงานเป็นช่างเชื่อม แล้วมาขับแท็กซี่มีอิสระได้เงินเยอะกว่า ”

เมื่อมาสู่อาชีพขับแท็กซี่ แรกๆ เขาก็มีปัญหาจำเส้นทางไม่ได้ จนบางครั้งผู้โดยสารอาสาขับรถเอง เพราะรีบไปธุระ และสิ่งที่เขาปฎิบัติเสมอต้นเสมอปลาย ก็คือ ไม่ปฎิเสธผู้โดยสาร

“ผมไปทุกที่ ฝรั่งขึ้นรถมา หนวดเครารุงรัง ผมก็ไม่ปฎิเสธ ตอนเขาลงจากรถ ตบหลังผมนิดหนึ่งแล้วให้ผมหนึ่งร้อยดอลล่าร์ ผมตกใจว่าทำไมให้เงินเยอะ มารู้ภายหลังว่า เขาเรียกแท็กซี่หลายคันแต่ไม่รับเลย และส่วนใหญ่เรียกค่าโดยสารเยอะ เราทำให้เขาพึ่งพอใจ ไม่เอาเปรียบ ไม่โกง ส่งเขาถึงที่หมาย เขาก็เลยอยากตอบแทน”